หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ลาหู่ห้วยปลาหลด : หนังสือทำเองกะมือ


 

 

          ค่ำคืนนั้นแม้อยู่ในยามข้างขึ้น แต่ก็ไร้แสงจันทร์และระยิบพราวจากดวงดาว ด้วยเมฆฝนปกคลุมฟากฟ้าจนหนาทึบ มีเพียงแสงสว่างเพียงไฟพร่ามัวพุ่งเป็นเส้นจากกระบอกไฟฉายส่องนำทางไปเบื้องหน้า...

          เส้นทางดินที่ย่ำเดินไปบัดนี้เฉอะแฉะเจิ่งนองด้วยน้ำฝนที่ยังตกต่อเนื่องมาหลายเพลา...

          ชายคนหนึ่ง นำเด็กชายอายุไม่กี่ขวบพาดหลังมัดสะพายด้วยผ้าขาวม้า แล้วสวมผ้ายางคลุมทับป้องกันการเปียกปอน ย่ำเดินไปบนเส้นทางที่เปรอะเปื้อนดินโคลนท่ามกลางสายฝนที่ยังไม่มีวี่แววจะสร่างซา เขาเดินนำหน้าพ่อแม่เด็กน้อยที่อยู่บนหลังไปอย่างทะมัดมะแมง ขณะที่คนเดินตามต่างลื่นเป๋ไปมาด้วยไม่คุ้นชินกับเส้นทางและการเดินลุยทางโคลนในยามค่ำมืด

          เด็กชายคนนั้นไข้ขึ้นสูงจัดถึงขั้นเพ้อ ผู้พ่อและแม่ทำทุกทางไข้ก็ยังไม่ยอมลด ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านแนะนำให้นำเด็กน้อยออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในตัวจังหวัด ซึ่งอยู่ห่างออกไปเกือบครึ่งร้อยกิโล ความยากลำบากมิใช่ความไกลของหนทาง แต่ทางออกจากหมู่บ้านกว่า ๕ กิโลเมตรในขณะนี้ไม่อนุญาติให้ยานยนต์ชนิดใดสัญจรได้ ยกเว้นการเดินเท้าซึ่งมีอยู่เพียงหนทางเดียว ผู้เฒ่าคนนั้นเอ่ยปากบอกให้ลูกชายวัยฉกรรจ์แบกเด็กน้อยออกไปส่งโรงพยาบาลก่อนจะสายเกินการณ์

          เด็กชายคนนั้นคือผมเอง...

          ผมรอดชีวิตด้วยเดินทางไปถึงมือหมอ ทั้งนี้เป็นเพราะความเอื้อเฟื้อของชาวลาหู่บ้านห้วยปลาหลดผู้หนึงที่เดินแบกผมออกมาจากหมู่บ้านระยะทางกว่า ๕ กิโลเมตร และเดินเท้าต่ออีก ๕ กิโลเมตร เพื่อไปขึ้นรถสำหรับส่งผมไปโรงพยาบาล

          พ่อและแม่ผมเป็นลูกจ้างประจำของกรมประชาสงเคราะห์ ถูกส่งเข้าไปทำงานอยู่ในหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาบ้านห้วยปลาหลด ในยามคราวเคราะห์เมื่อผมเจ็บป่วย ครอบครัวของเราถูกสงเคราะห์โดยชาวบ้านที่พ่อเข้าไปทำงานสงเคราะห์ในหมู่บ้านตามคำสั่งของราชการ

          มีเรื่องราวของหมู่บ้านห้วยปลาหลดที่น่าสนใจและอยู่ในความทรงจำของชาวบ้านจำนวนหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือการเสด็จเยี่ยมราษฎรษ์ของในหลวงพร้อมกับพระบรมวงศานุวงษ์หลายพระองค์ คราวนั้นพ่อและแม่ผมได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด แต่ผมก็ไม่มีความทรงจำในเรื่องนี้ด้วยยังไร้เดียงสาเกินกว่าบันทึกเหตุการณ์นั้นไว้ได้

          ผมยังคงวิ่งเล่นอยู่ในหมู่บ้านห้วยปลาหลดหลายปี จนกระทั่งอายุเลยเกณฑ์เข้าเรียนมาหนึ่งปี ในปีนั้นน้องชายคนถัดมาอายุครบเกณฑ์ ทั้งผมและน้องชายก็ออกจากหมู่บ้านห้วยปลาหลดมาพำนักที่บ้านเช่าในตัวเมืองเพื่อเข้าเรียนหนังสือพร้อมกันในชั้นเด็กเล็ก

          แม่ย้ายออกมาทำงานในสำนักงานศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ซึ่งอยู่ที่ดอยมูเซอ ส่วนพ่อวนเวียนไปมาระหว่างการอยู่ที่สำนักงานและการไปออกหน่วยที่บ้านห้วยปลาหลด

          ในช่วงที่ผมเรียนอยู่มัธยมต้น ช่วงนั้นพ่อถูกส่งไปอยู่ที่บ้านห้วยปลาหลด อยู่ในหมู่บ้านพ่อทำหน้าที่หลายอย่าง ดูเหมือนว่างานหลักจะเป็นการสอนหนังสือให้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนจึงเรียกพ่อว่าครู ผมมาภูมิใจภายหลังว่าแม้พ่อจบ ป.๔ แต่ก็มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย หลายคนเติบใหญ่ได้ดิยได้ดี ลูกศิษย์ของพ่อหลายคนคบหากับผมเป็นมิตรสหาย

          วันหนึ่งขณะที่พ่ออยู่ในหมู่บ้าน พระรูปหนึ่งธุดงค์ผ่านมา พ่อพบเห็นจึงนิมนต์ท่านอยู่จำวัดที่ชายป่าข้างหมู่บ้าน และได้ชักชวนชาวบ้านสร้างกุฏิเล็ก ๆ ให้ท่านอาศัยจำวัด พ่อเล่าว่าตอนนั้นชาวบ้านไม่รู้จักพระ เด็ก ๆ เห็นถึงกับวิ่งหนี พ่อบอกกล่าวให้ชาวบ้านรู้จักพระ ชักชวนให้ชาวบ้านใส่บาตรทำบุญทุกวัน ในที่สุดพระธุดงค์รูปนั้นก็ตัดสินใจปักหลักอยู่จำพรรษาที่หมู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

          ก่อนผมจะจบ ม.๓ ไม่นานนัก ก็มีเรื่องภายในหมู่บ้านห้วยปลาหลด ด้วยกรมป่าไม้จะประกาศพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีขอบเขตเข้ามาพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน ทั้งที่อยู่อาสัยและที่ทำมาหากิน กรมป่าไม้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ชาวบ้านอพยพ และได้จัดพื้นที่แห่งหนึ่งไว้รองรับ

          พ่อผมทำงานกับชาวเขามานาน พบเห็นประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการอพยพมามาก จึงได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบของชาวบ้านที่จะได้รับหากมีการอพยพถิ่นฐาน และได้พาชาวบ้านไปดูพื้นที่ที่ทางกรมป่าไม้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งก็พบว่าคำแนะนำของพ่อนั้นหนักแน่นน่าเชื่อถือ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ กระทั่งเกือบจะปะทะกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หลายต่อหลายครั้ง

          กรมป่าไม้รู้ว่าพ่อผมอยู่เบื้องหลัง ก็พยายามกดดันให้หน่วยงานต้นสังกัดย้ายออก ในที่สุดหน่วยพัฒนาชาวเขาบ้านห้วยปลาหลดต้องถูกถอดถอนออกไปด้วยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบกรมป่าไม้ ในระหว่างนั้นพ่อผมโดนลอบยิงถึงสองครั้ง แต่ก็สามารถรอดมาได้ อาจเป็นเพราะบุญกุศลที่พ่อได้บำเพ็ญมาตลอดชีวิตช่วยคุ้มครองให้พ่อปลอดภัย

          กรมป่าไม้ไม่สามารถย้านชาวบ้านออกนอกพื้นที่ได้ ก็พยายามกดดัน อาจเรียกได้ว่าถึงขนาดกลั่นแกล้งชาวบ้านหลายประการ เช่น ใช้กำลังเข้าจับชาวบ้านเมื่อชาวบ้านตัดไม้มาทำบ้าน ถางไร่ปลูกข้าว กระทั่งหาหน่อไม้และของป่าไปขายฯ ชาวบ้านอยู่ยากลำบากมากขึ้น แต่ก็ไม่ยอมทิ้งถิ่นฐานไปไหน

          พระธุดงค์ได้ให้คำแนะนำให้ชาวบ้านรักษาป่าแข่งกับกรมป่าไม้ กระทั่งเวลาผ่านไปราว ๒๐ ปีเศษ พื้นที่ของหมู่บ้านเป็นพื้นที่ที่ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ที่สุด สมบูรณ์กว่าพื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้ดูแลเสีย

          ผมเวียนเข้าออกในหมู่บ้านไม่กี่ครั้งหลังจากออกไปเรียนหนังสือ กระทั่งกลับมาอีกครั้งเมื่อคราวที่ผมบวชเป็นพระ ผมมาจำวัดอยู่ที่สำนักสงฆ์ห้วยปลาหลดราว ๑ เดือน จากนั้นก็ย้ายไปจำพรรษาที่เชียงใหม่ และหลังจากย้ายจากเชียงใหม่มาจำพรรษาที่อาศรมฯ ดอยมูเซอ ผมได้พาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปร่วมกันเป็นแรงงานสร้างโรงเรียนบ้านห้วยปลาหลด โดยการนำของพระธุดงค์รูปนั้น ทั้งนี้ได้รับการบริจาคเงินจากคหบดีในเมืองกรุงฯ หลายท่าน

          ปี ๒๕๔๖ ผมเข้าไปห้วยปลาหลดอีกครั้งในนามคณะทำงานรางวัลลูกโลกสีเขียว เพื่อพิจารณาส่งหมู่บ้านเข้ารับรางวัล ครั้งนั้นผมเป็นผู้เขียนข้อมูลเรื่องราวของหมู่บ้านประกอบการรับรางวัลของหมู่บ้าน ในบทความ “คิดใหม่ ทำได้ : การจัดการป่าของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” ซึ่งถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกของผมเกี่ยวกับหมู่บ้านนี้

          การเขียนบทความข้างต้นของผม ทำให้ผมเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับหมู่บ้านห้วยปลาหลดเป็นอันมาก มีข้อมูลและเรื่องราวที่รับรู้มาแต่ไม่สามารถบรรจุในงานเขียนนั้นได้ แต่ก็อยู่ในความทรงจำเป็นความประทับใจลึก ๆ ของตัวเอง และนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ผมชักชวนบรรดานักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเข้ามาทำงานเชิงวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยศิลปกร มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ซึ่งเป็นที่มาของบทความชิ้นต่อ ๆ มาของผม ไม่ว่าจะเป็น “ดนตรีลาหู่ : ลักษณะ บทบาทและการดำรงอยู่” และ “การจัดการความเจ็บไข้ ของชาวลาหู่บ้านห้วยปลาหลด”

          ขวบปีหลังมานี้ผมเข้าออกหมู่บ้านห้วยปลาหลดบ่อยขึ้น พามิตรสหายเข้าไปเยี่ยมเยียนทำกิจกรรมในหมู่บ้านบ่อยขึ้น และได้เป็นส่วนหนึ่งของแกนนำชาวบ้านในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

          ล่าสุดผมชักชวนกัลยาณมิตรจำนวนหนึ่งไปจัดค่ายฯ ให้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ชักชวนเด็ก ๆ เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของหมู่บ้าน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี การทำมาหากิน จนกลายเป็นที่มาของบทความเรื่อง “ประวัติการตั้งถิ่นฐานของชาวลาหู่บ้านห้วยปลาหลด” “รู้จักบ้านห้วยปลาหลด” และ “เทศกาลปีใหม่ลาหู่”

          ซึ่งบทความทั้งหมดนั้นผมได้รวบรวมเป็นหนังสือทำมือไว้ด้วยกัน เป็นหนังสือรวบรวมความรู้เกี่ยวกับบ้านห้วยปลาหลด ที่ผมตั้งใจทำขึ้นเพื่อมอบให้ชาวบ้านที่นี่

          ห้วยปลาหลดในทัศนะผมนั้นเป็นหมู่บ้านที่มีความน่าสนใจ น่าค้นหา และน่าอยู่ บรรดาเรื่องราวต่าง ๆ จากงานเขียนต่างวาระต่างโอกาสนี้น่าจะพอให้เหตุผลถึงความรู้สึกของผมได้ไม่มากก็น้อย...

 

http://www.4shared.com/document/jPb0LpfZ/huipalod1.html

โหลดหนังสือได้ ที่นี่ ครับ

 


หมายเลขบันทึก: 408966เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2010 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 10:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดี ครับ

เป็นบันทึกวัยเยาว์ที่น่าค้นหา สิ่งที่กล่าวอ้างถึงได้อย่างมากมายเลยนะครับ

ความมีน้ำใจถูกคุณหนานเกียรติซึบซับมาตั้งแต่ยังเยาว์เลยนะครับ

สิ่งที่มีอยู่ในตัวตน...ไม่ว่าเหตุผลใดก็สุกแล้วแต่

สิ่งนั้นย่อมแสดงออกมาให้สังคม ชุมชนเห็น

...

อดชื่นชมคุณไม่ได้

ขอบคุณมากนะครับที่เขียนบันทึกดี ดี มาให้อ่าน

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดี

ขอบคุณมาก ๆ ที่เข้ามาแวะเยี่ยมเยียน

ดีใจมาก ๆ ครับที่ชื่นชอบงานเขียนนี้

ขอบคุณอีกคร้ังที่เข้ามาชื่นชมนะครับ...

  • อ่านคำนำแล้วก็ทึ่ง
  • จะมาให้ความคิดเห็นหลังอ่านจบครับ
  • ดีใจที่พบหนังสือดีๆ
  • เป็นหนังสือให้ห้วยปลาหลดได้เลยครับ

ขอบคุณครับ อ.ขจิต

มีเวลาแวะไปเที่ยวห้วยปลาหลดด้วยกันนะครับ

ตอนนี้กำลังนั่งปริ้นหนังสือเล่มนี้ครับ

ต้ังใจจะเอาไปให้ชาวบ้านที่ห้วยปลาหลด

จะออกเดินทางเย็นนี้ครับ

...

เมื่อกี้เข้าไปขอคำปรึกษาที่บล็อคนะครับ

มีเวลาเป็นศิราณีให้หน่อยนะครับ ฮิ ฮิ...

อ.ขจิตครับ..

ใช่ครับหลักสูตรนี้แหละ

ต้ังใจว่าจะเรียนภาคปกติครับ เพราะค่าเรียนถูกกว่ามาก

เขาให้ส่ง proposal ๓ หน้า

ยังไม่รู้จะเขียนยังไงเลยครับ

เขาเขียนกันไงครับอาจารย์

พี่เกียรติครับ  ประมาณว่า ใกล้เคียงแบบนี้

องค์ประกอบในการจัดทำ Proposal

 

ประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

 

1)      ชื่อโครงการ

2)      ผู้ศึกษา

3)      อาจารย์ที่ปรึกษา

4)      หลักการและเหตุผล

5)      วัตถุประสงค์ของการวิจัย

6)      ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

7)      การทบทวนวรรณกรรม

8)      ขอบเขตการวิจัย

9)      นิยามศัพท์ (ถ้ามี)

10)   ตัวแปร (ถ้ามี)

11)   กรอบแนวคิดในการวิจัย (ถ้ามี)

12)   สมมติฐานการวิจัย (ถ้ามี)

13)   ระเบียบวิธีการวิจัย

-          ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง (ถ้ามี)

-          การสุ่มตัวอย่าง (ถ้ามี)

-          เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

-          การเก็บรวบรวมข้อมูล

-          การวิเคราะห์ข้อมูล

14)   ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย

15)   งบประมาณ

16)   บรรณานุกรม

 

แต่ที่ผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษครับ

 

น่าสนใจมากค่ะ..พี่ขอชื่นชมคนรักษ์ท้องถิ่นผู้เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆค่ะ..พวกเราต้องส่งเสริมเยาวชนของพวกเราให้ช่วยกันกลับมาปฏิบัติเช่นนี้บ้างนะคะ..ความเจริญจะได้ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ๆเท่านั้น..

 

 

 

                     

 

    

 

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ 

Ico32
นาง นงนาท สนธิสุวรรณ 
เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2553 17:14 
#2256935 [ ลบ ] 

ขอบคุณมาก ๆ ครับ
งานเขียนต่างวาระโอกาสกันนี้
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการลงไปจัดค่าย GTK ที่นั่น ซึ่งชาว GTK ร่วมสนับสนุนคนละเล้กละน้อยรวมท้ังพี่ใหญ่ด้วยครับ

 

สวัสดีค่ะ

อยากอ่านแต่โหลดไม่ได้

สวัสดีครับพี่คิม

Ico32
ยายคิม 
เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2553 18:31 
#2256996 [ ลบ ] 

เดี๋ยวผมส่งลิงค์ไปให้ใหม่นะครับ 
มีตัวเล่มจริง ๆ เตรียมไว้ให้พี่ด้วยครับ

สวัสดีค่ะ

ลืมบอก  วันนี้ไป NU BOOK FAIR  ที่ มน. ตั้งใจจะซื้อล่องไพรมาฝาก  คิดดูแล้ว  สั่งซื้อทางเน็ตถูกกว่า  ชุดละประมาณ ๑๘๐๐  บาท หากสั่งทางเน็ต  ประมาณ ๑๔๘๐  บาทค่าส่งฟรี

ได้หนังสือนวนิยายแปล  และเรื่องที่ถูกใจมาอ่านเล่น  นับแล้วได้มา ๖๑ เล่มแน่ะ

 

แวะเข้ามาโหลดไว้ก่อนค่ะ...เก็บเอาไว้

แล้วจะหาเวลาว่างๆ อ่านคลายเครียด พักสมองจากหนังสือเรียนค่ะ อิอิ

พี่ก็สนใจเรื่องแบบนี้เช่นกันนะแล้วจะโหลดบัดเดี๋ยวนี้..

ส่งสาวน้อยมาชวนไปลอยกระทงเน้อเจ้า 

  • คงถึงห้วยปลาหลดแล้ว
  • เอาที่พิสูจน์อักษรมาฝากก่อน
  • แล้วจะมาเพิ่มเรื่องเนื้อหานะครับ

หน้า 7  สู้รับ >>>>>สู้รบ

 

หน้า 8 นายจะแคะ >>>>>>จะแค๊ะ

 

หน้า 12 ครอบครัวยังไม่ให้ลูกเขย>>>>>>ครอบครัวยังไม่ได้ลูกเขย

 

หน้า 16 ข้าวพันธ์พื้นเมือง >>>>>>ข้าวพันธุ์พื้นเมือง

 

                 ข้าวจ้าว  >>>>>> ข้าวเจ้า

                 เคียวหนึบ  >>>>>>เคี้ยวหนึบ (ดีนะที่ไม่เป็นเคียวห่วย ฮ่าๆๆ)

หน้า 27 ตรงตัวแดงๆครับ  จากบ้านบ้าน  >>>>>>จากชาวบ้าน

         

          จากบ้านปู่จาร์ย >>>>>>จากบ้านปู่จารย์

หน้า 30 ประกาศเรียนลูกบ้าน >>>>>>ประกาศเรียกลูกบ้าน

หน้า 50 บรรทัดที่ 9 ซ่อมแวม >>>>>>ซ่อมแซม

                             13 วันนั้นย์ >>>>>>วันนั้นยังมี

                             15 ปลุกพืช>>>>>>ปลูกพืช

                     16 รักา >>>>>>รักษา

หน้า 52 ครั้นเนื้อ >>>>>>ครั่นเนื้อครั่นตัว

 

หน้า 53 บรรทัดที่ 15 ปุ่จารย์>>>>>>ปู่จารย์

                               23 ผู้ป่วยจะเป้น >>>>>>ผู้ป่วยจะเป็น

                                23 ต้องเป้น >>>>>>ต้องเป็น

หน้า 54 บรรทัดที่ 2 ชุดหนุง >>>>>>ชุดหนึ่ง

 

 

หนานเกียรติครับ

  • เสียดายไม่ได้ไปเยี่ยมเรือนลาหู่ตามที่นัดหมายไว้เดิม
  • อ่านลาหู่ห้วยปลาหลดแล้วประทับใจมากครับ
  • ฝีมือลีลาการเขียนล้ำหน้ารุดไกลครับ ร่วมเป็นกำลังใจครับ
  • ขอบคุณเรื่องเล่าดีๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท