"ความซื่อสัตย์ (Integrity) ในการทำงาน"
คุณเคยถามตัวคุณเองหรือไม่ว่า "คุณมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน" มาก น้อยเพียงใด...ซึ่งแน่นอนว่า คุณต้องตอบว่า "คุณมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน"...ความซื่อสัตย์จึงเป็นคุณลักษณะที่สำคัญและเป็นที่ต้องการในทุกองค์การ ซึ่งความซื่อสัตย์นอกจากจะหมายถึงการรักษาความลับ ผลประโยชน์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของส่วนราชการแล้ว ความซื่อสัตย์ยังหมายรวมไปถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่บิดเบือนจากความเป็นจริง และการปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎของส่วนราชการ และยังพบว่าอีกว่ามีหลายองค์การได้กำหนดความซื่อสัตย์เป็นวัฒนธรรมองค์การ (Corporate Culture) หรือคุณค่าร่วม ( Core Value) ที่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อที่อยากให้บุคลากรทุกคนปฏิบัติ
แล้วทำไม?...คุณจะต้องมีความซื่อสัตย์ในการทำงาน ..... ความซื่อสัตย์ในการทำงานจะส่งผลโดยตรงต่อคุณลักษณะส่วนบุคคล ( Personal Attribute) ของตัวคุณเองที่คนอื่นมองหรือรับรู้ในตัวคุณว่าเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์หรือไม่ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผลต่อเนื่องไปยังหน่วยงานและองค์การของคุณเอง ทั้งนี้คุณลักษณะของความซื่อสัตย์จะมีความสำคัญและส่งผลต่อตัวคุณและต่อหน่วยงานหรือส่วนราชการของคุณ...สรุปได้ดังต่อไปนี้
1. การได้รับ ความไว้วางใจ จากหัวหน้างานของคุณ พนักงานที่มีความซื่อสัตย์ย่อมทำให้หัวหน้างานพร้อมและกล้าพอที่จะมอบหมายงานที่สำคัญหรือเป็นความลับของหน่วยงานให้กับคุณ เพราะหัวหน้าไว้วางใจตัวคุณเพราะรู้ว่างานที่มอบหมายให้ไปนั้นคุณต้องทำเสร็จและข้อมูลที่คุณทำนั้นมีความถูกต้องอย่างแน่นอน
2. ความน่าเชื่อถือ ได้ของตัวคุณ คุณจะได้รับการยอมรับและการกล่าวถึงในทางที่ดีจากบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งผู้มาใช้บริการของคุณเอง เช่น ยอมรับว่าคุณมีความรับผิดชอบและความตั้งใจทำงาน เนื่องจากคุณไม่เคยที่จะขาดงานหรือมาสาย รวมทั้งข้อมูลที่คุณให้นั้นมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบันเสมอ
3. สร้างผลงาน ( Performance) ของตัวคุณ ความซื่อสัตย์ทำให้คุณมีโอกาสทำงานใหญ่หรือสำคัญ ซึ่งอาจเป็นงานที่มีผลกระทบต่อหน่วยงานหรือส่วนราชการ โดยคุณจะมีโอกาสแสดงฝีมือการทำงานของคุณและโอกาสนี้เองย่อมจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผลผลการปฏิบัติงาน ( Performance) และมูลค่าเพิ่ม ( Added Value) ของตัวคุณเอง
4. รักษาผลประโยชน์ของส่วนราชการ...หากคุณมีความซื่อสัตย์แล้วล่ะก็ ย่อมหมายถึงคุณไม่ได้เอาเปรียบหน่วยงานและส่วนราชการแล้ว เนื่องจากคุณทำงานอย่างเต็มที่ ได้ปฏิบัติตามระเบียบและรักษาทรัพย์สินของส่วนราชการ และรวมถึงคุณไม่เอาความลับของส่วนราชการไปเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ ซึ่งหมายถึงคุณกำลังรักษาผลประโยชน์ให้กับหน่วยงานและส่วนราชการของคุณเอง
หากจะวัดหรือประเมินความซื่อสัตย์ได้อย่างไร?... เช่น หากถามว่านาย ก มีความซื่อสัตย์มากกว่านาย ข นั้น เราจะพิจารณาหรือประเมินได้จากอะไรได้บ้าง และเพื่อทำให้ส่วนราชการสามารถประเมินหรือวัดความซื่อสัตย์ได้ จึงทำให้ส่วนราชการได้กำหนดความซื่อสัตย์เป็นพฤติกรรมหรือความสามารถอย่างหนึ่ง ( Competency) ซึ่งสามารถกำหนดได้เป็นความสามารถหลัก ( Core Competency) ที่เป็นความสามารถหรือพฤติกรรมที่ใช้วัดหรือประเมินบุคลากรสำหรับทุกคนและทุกตำแหน่งงาน
นอกจากนี้ยังสามารถกำหนดเป็นความสามารถในงาน ( Job Competency) ได้อีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมของความซื่อสัตย์นั้นสามารถกำหนดเป็นพฤติกรรมออกมาแยกเป็นระดับต่าง ๆ เพื่อใช้ประเมินผลและพัฒนาพนักงานได้ โดยขอยกตัวอย่างของการแบ่งพฤติกรรมความซื่อสัตย์ออกเป็น 5 ระดับ ดังต่อไปนี้
ระดับ |
ลักษณะพฤติกรรม |
1 (ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดอย่างมาก) |
• ให้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง เป็นเหตุให้เกิดปัญหาหรือความเข้าใจผิดได้ • หลีกเลี่ยงการตักเตือนหรือแจ้งผู้ที่ทำผิดระเบียบหรือกฎของส่วนราชการ • ปฏิเสธและไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยมักจะอ้างถึงผู้อื่นอยู่เสมอ • ละเมิดระเบียบหรือกฎของส่วนราชการอยู่เสมอ |
2 (ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่กำหนด) |
• ดูแลและรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของส่วนราชการบ้างเป็นบางครั้ง • ตักเตือนหรือแจ้งผู้ที่ทำผิดระเบียบหรือกฎของส่วนราชการเท่าที่จำเป็น • ไม่ประพฤติตนตามระเบียบหรือกฎของส่วนราชการเป็นบางครั้ง |
3 (ตามมาตรฐาน ที่กำหนด) |
• รับฟังและไม่นำข้อมูลของผู้อื่นมาเปิดเผย • ดูแลและรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของส่วนราชการอยู่เสมอ • ไม่นำทรัพย์สินของส่วนราชการมาใช้ประโยชน์ส่วนตัว • ประพฤติตนตามระเบียบหรือกฎของส่วนราชการอยู่เสมอ |
4 (สูง/เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด) |
• ไม่เปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานที่อาจสร้างความขัดแย้งหรือปัญหาให้เกิดขึ้นได้ • ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และเหมาะสมกับกลุ่มคน เวลา และสถานการณ์ • ตักเตือนสมาชิกในทีมเมื่อทำผิดระเบียบหรือกฎของส่วนราชการ • ยอมรับและหาทางแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานของตนเอง |
5 (สูง/เกินกว่า มาตรฐานที่กำหนดอย่างมาก) |
• แจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อพบเห็นพนักงานในองค์กรทำผิดระเบียบหรือกฎของส่วนราชการ • ปลุกจิตสำนึกให้สมาชิกทั้งภายในและภายนอกหน่วยงานมีจรรยาบรรณและคุณธรรมในการทำงานและในวิชาชีพของตน • นำทรัพย์สินของตนเองมาใช้เพื่อให้การทำงานประสพผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด |
ดังนั้น ความซื่อสัตย์จึงเป็นพฤติกรรมหรือความสามารถด้านหนึ่งที่คุณเองไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉย คุณควรเริ่มสำรวจตัวเองว่าคุณมีความซื่อสัตย์ในการทำงานหรือไม่ และอยู่ในพฤติกรรมระดับไหน ทั้งนี้ขอให้คุณเปิดใจพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเองให้มีความซื่อสัตย์ในการทำงาน ซึ่งคุณเองอาจลืมหรือคิดไม่ถึงว่าพฤติกรรมความซื่อสัตย์ของตัวคุณเองนั้นจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อสายตาของผู้อื่นและบุคคลรอบข้าง และจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงผลประโยชน์ที่หน่วยงานและส่วนราชการจะได้รับ...
ที่มา :www.hrcenter.co.th/HRKnowView.asp?id=252