National Institute for Child and Family Development : แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็กในโลกไอซีที ประสบการณ์จากประเทศแคนาดา


แนวคิดพื้นฐานในการจำแนกสถานการณ์อันเป็นปัญหาและโอกาสในด้านเด็กกับไอซีที มี ๓ ประการ คือ (๑) โอกาสหรือความเสี่ยงจากการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม (๒) โอกาสหรือความเสี่ยงจากพฤติกรรมจากการเข้าถึงและการใช้งานไอซีที และ (๓) โอกาสหรือความเสี่ยงในเชิงวัฒนธรรมในการใช้งานไอซีที

ระหว่างวันที่ ๒๓ ตุลาคม ถึง ๔ พฤศจิกายน ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาระบบการคุ้มครองเด็กในโลกไอซีที ที่ประเทศแคนาดา ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันระหว่างประเทศด้านสิทธิเด็กและการพัฒนา หรือ IICRD (International Institute for Child Rights and Development) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงกำไร สำนักงานตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย (University of Victoria) โดยการไปครั้งนี้ เดินทางไปในโครงการ Child Protection Partnership หรือ CPP ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายคนทำงานด้านการคุ้มครองเด็ก เป้าหมายของการเดินทางครั้งนี้ เพื่อไปศึกษาการบังคับใช้กฎหมาย (Law enforcement) ในการทำงานด้านคุ้มครองเด็กในโลกไอซีที (ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม >>)

ในด้านเครือข่ายของคณะผู้ศึกษา นอกจากคณะผู้ศึกษาจากประเทศไทยที่ประกอบด้วย พล.ต.ท ชัชวาลย์ สุขสมจิตร (ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) พล.ต.ต. โกศล พัวเวส รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ภาค ๒ คุณลัดดา ตั้งสุภาชัย กระทรวงวัฒนธรรม คุณสุดารัตน์ เสรีวัฒน์ จากมูลนิธิ FACE เรายังจะได้เจอเครือข่ายคนทำงานจากประเทศ บลาซิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากประเทศบลาซิล และ นักวิจัยจากสถาบันด้านการศึกษาอีกด้วย

ในด้านของหน่วยงานหรือองค์กรที่ไปศึกษาดูงาน แบ่งเป็น ๔ ลักษณะใหญ่ๆ กล่าวคือ

(๑) องค์กรด้านการปราบปรามผู้กระทำความผิด หน่วยงานหลักที่ไปศึกษาคือ RCMP หรือ Royal Canadian Mounted Police ซึ่งความน่าสนใจคือ เป็นองค์กรที่ระบบการทำงานเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศต่อเด็กเฉพาะ มีการเชื่อมโยงกับหลักสูตรการอบรมของโรงเรียนตำรวจด้านการสืบสวนสอบสวนในระบบไอซีทีโดยเฉพาะ และยังมีโปรแกรม CET ซึ่งเป็นโปรแกรมในการระบุตัวผู้กระทำความผิดในโลกออนไลน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ (ที่ได้รับการสนับสนุนเพราะทาง RCMP เขียนจดหมายไปบอกเล่าถึงสถานการณ์อันเป็นปัญหาด้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กกับทางบิลล์เกต ทางไมโคคซอฟท์จึงดำเนินการพัฒนาโปรแกรมนี้ขึ้นและมอบให้ทาง RCMP ในการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวน

เราเองก็มีหน่วยงานในการปราบปราม โดยหลักคือ กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ซึ่งเป้นหน่วยปฏิบัติการ ภายใต้ หน่วยงานด้านการสนับสนุนเชิงนโยบาย ของคณะอนุกรรมการกำหนดแนวทางในการปราบปรามสื่อที่ไม่ปลอดภัย ภายใต้คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ และยังมี เจ้าพนักงานตามกฎหมายตาม พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงไอซีที ซึ่งพบว่า เจ้าพนักงานของไทยเรายังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการสืบสวน สอบสวนการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีซึ่งมีความซับซ้อนทางเทคนิคอย่างมาก โดยเฉพาะการระบุตัวตนผู้กระทำความผิด

(๒) องค์กรด้านฐานข้อมูลและสร้างความตระหนักในสังคม โดยได้ไปศึกษา Canadian Centre for Child Protection เป็นองค์กรเอกชนที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาครัฐบาลของแคนาดา และ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์อย่างเช่น BELL ซึ่งมีการดำเนินการโครงการ Cybertip ซึ่งมีภารกิจหลัก ๒ ด้านคือ รับเรื่อง วิเคราะห์ปัญหาที่มีการร้องเรียน และ การสร้างความตระหนัก การให้การเรียนรู้เท่าทันสื่อกับสังคม ดดยมีหลักสูตรออนไลน์ที่มีการแพร่กระจายหลักสูตรผ่านทางระบบไอซีที และ มีการขยายหลักสูตรผ่านในระบบโรงเรียน

ในส่วนนี้ ดูไปก็คล้ายกับ มูลนิธิหลายแห่งในประเทศไทย ทั้ง มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ที่มีการร่วมมือกับองค์กรแบบ กทช และ ภาคเอกชน ในการจัดทำศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ หรือมีเว็บไซต์ของรัฐในการรับเรื่องร้องเรียน ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงไอซีที แต่ต่างกันใน ๒ ส่วนหลัก คือ ความเป็นเอกภาพและประสานงานของการทำงานของเครือข่าย พูดง่ายๆก็คือ ของเรายังไม่มีการจัดทำแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการทำงาน และ ระบบการบริหารจัดการฐานข้อมูลร่วมกันและบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพราะ ใน Cybertip สามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมายได้ทันที

อันที่จริงแล้ว ของไทยหากมีการพัฒนาการเชื่อมโยงการบริหารจัดการฐานข้อมูล โดยอาจเป็นไปได้ทั้ง การเชื่อมโยงฐานข้อมูลทางระบบเลย หรือ การเชื่อมโยงการจัดการฐานข้อมูลไม่ต้องผ่านระบบแต่เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และ บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้ง กฎหมายอาญาในการลงโทษผู้กระทำความผิด และ อาจใช้กฎหมายปกครองในการกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตโดย กทช ก็จะกลายเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจ

(๓) หน่วยงานในการสืบสวน สอบสวน พยานหลักฐาน ทั้ง

๓.๑ การสืบสวนสอบสวนจากเด็กผู้เสียหาย โดยหน่วยงานที่เรียกว่า ZEBRA ตั้งอยู่ที่เมืองอัลเบอร์ตาร์ แคนาดา (หลายคนสงสัยว่าทำไมถึงเรียกว่า ZEBRA แปลว่าม้าลาย ไม่ได้มีนัยว่าเอาตัวย่อของชื่อองค์กรมาเรียงกัน ผู้บริหารองค์กรบอกว่า ที่ตั้งชือนี้ เพราะ โดยธรรมชาติม้าลายในป่า จะมีการล้อมวงเพื่อให้ลูกม้าลายอยู่ในวง เป็นการนำพฤติกรรมของม้าลายในการดูแลลูกม้ามาเป็นชื่อองค์กร) ซึ่งเป็นองค์กรรัฐที่ทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิดในการค้นหาพยานหลักฐานโดยการสืบพยานจากผู้เสียหาย ในด้านสภาพแวดล้อมในห้องสืบพยานเป็นมิตรกับเด็กผู้เสียหายอย่างมาก มีทั้งตุ๊กตา ของเล่น ซึ่งมีการได้รับการบริจาค และ สนับสนุนในรูปของงบประมาณ ของเล่นทั้งหมดมีสภาพใหม่ น่าเล่นอย่างมาก เพื่อสร้างความคุ้นชิน และ ทำลายความตึงเครียดของเด็ก สามารถให้การได้โดยไม่เป็นการทำร้ายเด็ก

๓.๒ หน่วยงานที่ดูแลการวิเคราะห์ปัญหาที่มีความซับซ้อน โดย กระทรวงการพัฒนาเด็กและครอบครัว ที่ทำงานร่วมกับ สำนักงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และ ยังมี หน่วยงานกลางด้านบูรณาการปัญหาการล่วงละเมิดเด็ก หรือ BC Integrated Child Exploitation Unit ที่ทำหน้าที่หลักในการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ รวมไปถึงการวิเคราะห์เชิงพฤติกรรมของผู้กระทำความผิด

๔. หน่วยงานภาควิชาการในการทำงานความรู้ด้านการคุ้มครองเด็ก ภายใต้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเราได้พบกับอดีตวุฒิสมาชิกของแคนาดา ที่ตั้งศูนย์การศึกษาที่ชื่อว่า landon Pearson Center for the Study of Childhood and Children's Rights ที่มหาวิทยาลัย Carleton ที่เป็นศูนย์การศึกษาด้านสิทธิเด็ก ความน่าสนใจของศูนย์นี้เน้นการทำงานด้านการเรียนรู้เท่าทันสื่อเป็นหลัก โดยเฉพาะกระบวนการทำงานด้านการอบรมรมที่มีการเน้นถึงสิทธิต่างๆของเด็กในการรับรู้เรื่องสื่อ ทั้งสิทธิที่ควรได้รับการแจ้ง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง รวมไปถึง ความตระหนักรู้ในบริโภคสื่อ และ การศึกษาเรื่องสื่อ เป็นต้น

ในระหว่างการศึกษาดูงานทั้ง ๑๒ วัน ในวันพุธที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ทาง IICRD ได้จัดประชุมโต๊ะกลมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงานเรื่องการคุ้มครองเด็กในโลกไอซีที ทางเราได้มีโอกาสนำเสนอถึงแนวคิดพื้นฐานของสถานการณ์อันเป็นความเสี่ยงและโอกาสใน ๓ ลักษณะ (เอกสารประกอบการนำเสนอ) คือ

(๑) โอกาสหรือความเสี่ยงจากการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม (๒) โอกาสหรือความเสี่ยงจากพฤติกรรมจากการเข้าถึงและการใช้งานไอซีที และ (๓) โอกาสหรือความเสี่ยงในเชิงวัฒนธรรมในการใช้งานไอซีที

ในแง่ของการจัดการปัญหาคงต้องมองใน ๒ ทิศทางคือ ทิศทางแรก แนวคิดพื้นฐานในการจัดการปัญหา ซึ่งต้องแยกเป็นทั้ง

การปราบปราม (ซึ่งต้องเริ่มจาก การจัดระบบฐานข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียน การสืบสวนสอบสวน การพิจารณาคดี การยืนยันตัวบุคคล ซึ่งคงต้องอาสัยระบบทางเทคนิคและความรู้เชี่ยวชาญในการทำงาน)

การคุ้มครอง และ การป้องกัน เพื่อทำให้เด็กที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดได้รับการคุ้มครองทั้งในกระบวนการพิจารณาคดี และ การเยียวยาความเสียหาย โดยเฉพาะเรื่องทางจิตใต รวมไปถึง การป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กคนอื่นๆ ที่คงต้องเน้นเรื่อง การสร้างการเรียนรู้เท่าทันสื่อไอซีที ทั้งในกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว ชุมชน และ

การส่งเสริม เพื่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในการบริโภคสื่อใหม่ พูดง่ายๆก็คือ การส่งเสริมให้เกิดการใช้ไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาตนเอง และ สังคม ซึ่งเป็นการทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ทิศทางที่ ๒ การบริหารจัดการเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการจัดการ โดยเฉพาะ การสร้างกระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในการทำงานร่วมกัน ทั้ง ระบบการปราบปราม คุ้มครอง ป้องกัน และ ส่งเสริม

อันที่จริงแล้วแนวคิดในด้านการส่งเสริมเป็นที่สนใจของคนในวงโต๊ะกลม เพราะหมายถึงการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนมากที่สุด ดังนั้น ความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนงานวิจัยภายใต้โครงการเด็กหัวใสฉลาดใช้ไอซีทีหรือ ICT Youth Connect ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล และ โครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เท่าทันสื่อไอซีที ที่ได้รับการสนับสนุนจาก IICRD จึงน่าจะถูกขยายผลในระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบของการจัดตั้งศุนย์ศึกษาและอบรมการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนา 

 

หมายเลขบันทึก: 407244เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบคุณอาจารย์ที่แบ่งปันบักทึกดีๆๆ
  • อันนี้ผมเห็นด้วยครับ
  • เจ้าพนักงานของไทยเรายังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญในการสืบสวน สอบสวนการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีซึ่งมีความซับซ้อนทางเทคนิคอย่างมาก โดยเฉพาะการระบุตัวตนผู้กระทำความผิด
  • อาจารย์สบายดีไหมครับ

เมื่อสักครู่ยังเขียนไม่เสร็จ ตอนนี้เสร็จแล้ว อ.ขจิตมาอ่านอีกรอบนะครับ

ผมสบายดีครับ อ.ขจิต กำลังขยับเนื้อขัยบตัวเขียนบทความวิชาการ อยากลงในวารสารต่างประเทศที่แคนาดาครับ

แล้ว อ.ขจิต สบายดีไหมครับ

การส่งเสริมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากมีการพัฒนาที่ตัวเด็กให้มีความสมดุลไปกับการพัฒนาเทคโนโลยี ปัญหาอาจจะไม่ได้หมดไป แต่ก็จะนำไปสู่แนวโน้มที่ดีขึ้น เทคโนโลยีก็จะถูกใช้ในทางบวกมากขึ้น และก็จะเกิดคลื่นความคิดรูปแบบใหม่ในการใช้เทคโนโลยีในทางบวก กลายเป็นกระแสที่เด็กจะทำตามๆกัน เลียนแบบกัน นำไปสู่ทิศทางของโลกยุคเทคโนโลยีที่ถูกที่ควร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท