THEME กิจกรรมเวทีมหิดล-คนหนองบัว


        หัวข้อหลักและกรอบเนื้อหากิจกรรมของเวทีมหิดล-คนหนองบัว      

เพื่อเป็นแนวคิดสำหรับออกแบบเนื้อหากิจกรรม รวมทั้งเลือกสรรค์หนังสือ สื่อ ออกแบบเวที ผมจึงลองทำกรอบเนื้อหามานำเสนอเป็นตัวตั้งต้นนะครับ กิจกรรมในครั้งนี้ จะถือเอากิจกรรมที่ทำขึ้นเป็นกรณีศึกษา เพื่อเรียนรู้และสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับการทำงานระดับต่างๆต่อไปของใครก็ได้ที่เข้ามามีส่วนร่วม ให้เท่าเทียมกับความซับซ้อนของโลกกว้างพร้อมกับเชื่อมโยงถึงความเป็นตัวของตัวเองในท้องถิ่นของสังคมไทย มุ่งให้การพัฒนาเด็กและคนในพื้นที่เป็นเป้าหมายของทุกเรื่อง ทว่า อยู่บนฐานของความเป็นทั้งหมดบนพื้นที่ชุมชนระดับอำเภอหรือเป็น Disctrict Community Area-Based Approach เป็นการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบทั้งพื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้ง

   หัวข้อหลัก    อนาคตการศึกษาเรียนรู้เพื่อท้องถิ่นไทยและความเป็นสากล  

  Theme  ๑   การศึกษาทบทวนสภาวการณ์และประสบการณ์ของสังคมไทย 

  • การสนทนาข้ามมหาวิทยาลัย : แนวโน้มสำคัญของสังคมไทยและสังคมโลกกับทางเลือกการศึกษาเรียนรู้ที่พึงประสงค์
    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ วิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์...พิจารณาไปตามที่มีคน
  • การเสวนาของคนหนองบัว : ๖๐ ปีของหนองบัวและ ๕๐ ปีของการศึกษาเพื่อลูกหลาน .....เอาคนเก่าแก่ ครูเก่าแก่ คนสาขาต่างๆของหนองบัวรวมทั้งชุมชนรอบนอก คนที่ไปทำงานสาขาต่างๆ เช่น คุณสมบัติ ฆ้อนทอง, พ.อ.โกศล ประทุมชาติ, รองศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ จุ้ยโต, อดีต.ผอ.โสภณ สารธรรม ในฐานะศิษย์เก่าหนองบัวรุ่นที่ ๕, ผอ.พนม จันทร์ดิษฐ์ ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษาเพื่อลูกหลานคนหนองบัว, รองศาสตราจารย์ ดร.วิรัติ ปานศิลา เขยหนองบัว, ผช.ผอ.สืบศักดิ์ ปฏิสนธิ์ ในฐานะประธานมูลนิธิอำเภอหนองบัว .....ยกตัวอย่างเฉยๆครับ แต่อยากได้คนหลากหลาย เป็นชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ด้วย
  • การอภิปราย เรียนรู้จากคนหนองบัว : อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของการศึกษาและครูไทยเพื่อสังคมชนบท

  Theme  ๒    ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของการศึกษาเรียนรู้เพื่อสังคม 

ประเด็นที่ชุมชนหนองบัวและท้องถิ่นต่างๆมีตัวอย่างความริเริ่มและจะมีนัยยะต่อพัฒนาการของสังคมในอนาคตด้วยทางเลือกใหม่ๆ ดึงขึ้นมาจัดแสดง เผยแพร่ อวดแบ่งปันกันชม หรือเป็นหัวข้อนั่งสนทนาเป็นกลุ่ม เช่น.............................................................

  • การศึกษากับสุขภาวะชุมชนที่พอเพียงและยั่งยืน .......มีนัยยะต่อกระบวนทรรศน์ใหม่ของการพัฒนาประเทศ ให้สมดุลพอเพียงระหว่างเป้าหมายทางเศรษฐกิจเงินตรา กับสุขภาวะของคน ชุมชน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาของถิ่นฐาน รวมทั้งความสมดุลระหว่างการแข่งขันและความร่วมมือระหว่างสังคม โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน อินโดจีน ประชาชาติอาเซียน และเอเชียแปซิฟิก
  • หน่วยพัฒนาการเรียนรู้ในครอบครัว .........มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมหลังการปฏิวัติขนาดครอบครัวและการเปลี่ยนรูปของชุมชนเกษตรกรรม
  • โอกาสและทางเลือกของพลังการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็ก.....มีนัยยะต่อการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการการเรียนรู้ที่เหมาะสมของพลเมืองภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคม รวมทั้งจะรำลึกย้อนอดีตและขอความร่วมมือนำกรณีของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) ซึ่งกำลังมีเด็กไม่ถึง ๑๐๐ คนมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อมองไปข้างหน้าของทางออกความล่มสลายระบบโรงเรียน สู่การเป็นต้นทุนพัฒนาคนและสังคมในอนาคตของรอบ ๕๐ ปีหรือกึ่งศตวรรษที่ ๒ ของโรงเรียนวันครู
  • การพัฒนาการเรียนรู้เพื่อคุณภาพชีวิตและพลังศักยภาพผู้สูงวัย......มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุประชากร และสภาพสังคมในอนาคต
  • ความเป็นท้องถิ่นกับสังคมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของโลก.....มีนัยยะต่อการปฏิรูปเชิงวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมและพัฒนาสังคมขึ้นจากท้องถิ่น รวมทั้งมีนัยยะต่อการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปฏิรูประบบจัดการภาคสาธารณะโดยมุ่งเสริมระบบและโครงสร้างความเป็นท้องถิ่นให้เข้มแข็งหลากหลาย
  • ศิลปะ ดนตรี และมิติสุนทรียภาพของการสร้างคนบนฐานชุมชนในบริบทใหม่ .....มีนัยยะต่อการพัฒนาด้านจิตใจนำด้านวัตถุ การยกระดับระบบคุณค่าและความมีรสนิยมอันประณีตในชีวิต

  Theme  ๓   เครื่องมือ นวัตกรรม และวิธีทำงานความรู้เชิงปฏิบัติการสังคมในแนวใหม่ 

  • โครงการเชิงนวัตกรรมเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนในบริบทใหม่ การเรียนรู้อย่างบูรณาการโดยกิจกรรมค่ายเรียนรู้และการเรียนรู้ชุมชนโดยโรงเรียนเป็นฐาน
  • การพัฒนาการวิจัยถอดบทเรียนที่พอเพียงของโรงเรียนและชุมชน
  • เครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ในโครงการพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง
  • การบริหารจัดการภาวะผู้นำรวมกลุ่มและพลังเครือข่ายการศึกษาของโลกอนาคต 
  • สื่อและหลักสูตรการเรียนรู้ท้องถิ่น
  • เครือข่ายเรียนรู้ครู อสม.กับการพัฒนาสังคมเข้มแข็งในชุมชน
  • สุขศึกษาชุมชนโดยกลุ่มประชาคมและเครือข่ายชุมชน
  • กลุ่มประชาคมและเครือข่ายนักวิจัยถอดบทเรียนอาสา
  • การเขียนความรู้และเผยแพร่สื่อสารกับสังคมทางบล๊อกโดยชาวบ้าน
  • บ้านเรียนรู้และศูนย์วิจัยปฏิบัติการสังคม
  • โฮมสเตย์และการประกอบกิจการของกลุ่มชาวบ้านและชุมชน เพื่อการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้และสร้างประสบการณ์เรียนรู้ชีวิต

  Theme  ๔   การพัฒนาเชิงระบบและโครงสร้างที่บูรณาการและมีความลงตัวของรากเหง้าชุมชนและวิทยาการก้าวหน้า 

  • ชุมชนและ IT กับการศึกษาเพื่อพลเมืองที่เหมาะสม : เรียนรู้จากเวทีคนหนองบัว-เครือข่ายบล๊อกเกอร์-GotoKnow 
  • การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและแหล่งสาธารณะในชุมชนเพื่อพลังการเรียนรู้ชุมชน
  • สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาชุมชนเพื่อการศึกษาเรียนรู้ของพลเมือง
  • ศูนย์ปฏิบัติการและบริหารจัดการการเรียนรู้ชุมชน

   กิจกรรม   กิจกรรมต่างๆที่สามารถทำให้อยู่ใน Theme ข้างต้น   

กิจกรรมที่จะสามารถออกแบบให้สะท้อนเนื้อหาและอยู่ใน Theme ที่เชื่อมโยงกัน เลือกสรรไปตามกิจกรรมที่มีอยู่เป็นหลัก หรืออยู่ในตัวประสบการณ์ของคนที่ร่วมกิจกรรมทั้งคนหนองบัวและเครือข่ายผู้สนใจจากภายนอก

 กิจกรรม  : ค่ายสร้างความรู้ชุมชน  
 กิจกรรม  ๒  : เวทีสาธารณะชุมชน 
 กิจกรรม  ๓  : กิจกรรมศิลปะชุมชนและนิทรรศการภาพเขียนหนองบัว
 กิจกรรม  ๔  : การเผยแพร่หนังสือและสื่อ  
 กิจกรรม  ๕  : ดนตรี บทกวี และสีสันท้องถิ่นหนองบัว

   กิจกรรมที่ควรมีโดยเพิ่มขึ้นมาหรือแทนกิจกรรมที่เสนอไว้แล้ว 

  • ตลาดนัดขายของของชาวบ้าน : การออกร้าน ตลาดนัด หรือจัดเทศกาลเยือนหนองบัวทั้งตลาดและชุมชนรายทาง
  • เวิร์คช็อปวิชาการ : จัดเวิร์คช็อปหรือเวทีสัมมนาเครือข่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ แต่ทำในนามตัวคนที่เชิญชวนกันได้ กลุ่มเล็กๆแต่มีประสบการณ์ดี หลากหลาย จะได้ไม่เป็นภาระความรับผิดชอบแทนองค์กร แต่ถ้าหากประสานงานและเตรียมการได้ดีก็อาจทำเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันและองค์กรได้
  • เวทีเสวนาของคนหนองบัว

หัวข้อและกรอบเนื้อหาเหล่านี้ จะสามารถใช้เป็นแนวสะท้อนไปสู่กิจกรรมทุกอย่าง ซึ่งก็จะทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะมีความเชื่อมโยงกันได้ แม้จะแยกเวที แยกกลุ่ม และแยกวันเวลาทำกิจกรรม .....สามารถเพิ่มเติม ดัดแปลง จะเพิ่มและตัดออกไปอย่างไร หรือจะไม่ใช้เลย เดินไปแล้วก็ทำสบายๆก็ได้ทั้งสิ้นครับ ทำงานความคิดเรื่อยเปื่อยอย่างนี้ไปก่อน จะทำให้คิดชัด มีแผนย่อยและมีตัวเลือกมากมาย ให้ยืดหยุ่นตนเองไปกับเงื่อนไข แล้วทำให้ดีที่สุดตามโอกาสและปัจจัยต่างๆจะเอื้อให้ทำกันได้นะครับ.

...............................................................................................................................................................................

  รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง  : เวทีมหิดล-คนหนองบัว เดือนมีนาคม ๒๕๕๔ อยากให้เป็นอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 406906เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2010 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
พระมหาแล อาสโย(ขำสุข)
  • อินเตอร์เน็ตมีปัญหา ใช้งานลำบากจัง
  • เห็นรายการกิจกรรมแล้ว เหมือนได้อยู่ในงานเลย
  • เวทีสาธิต : แสดงผลิตภัณฑ์งานฝีมือชุมชน
    ให้ชาวบ้านนำผลิตภัณฑ์งานจักสานต่างๆ มาแสดงและมีการสาธิตย่อยๆ ทำให้ดูเรียนรู้กันบนเวทีสดๆ เช่น ทำปลอกหมอน ทำหมอน ทำแหมมีด ทำพัดไม้ไผ่ ทำหมวก กระบุง ตะกร้า กระด้ง กระเช้า ฯลฯ แบบนี้ พอจะเป็นไปได้ไหมอาจารย์
  • เคยได้ยินคุณครูจุฑารัตน์สะท้อนให้ฟังครั้งหนึ่งว่า ลูกหลานถามว่า การฝัด ฟัดทำอย่างไร กระด้งรูปร่างเป็นไง
  • สัญญาณเน็ตมาดีๆจะเข้ามาใหม่ 
  • หากจัดได้ในรูปแบบนี้ ชาวบ้านและชุมชนรอบนอกก็จะได้เอาของออกมาขาย ได้มาเที่ยวและเรียนรู้ชุมชนบ้านเกิด ได้ทำให้ลูกหลานมีโอกาสสร้างประสบการณ์และความประทับใจในชีวิตเพื่อเป็นทุนความสำนึกผูกพันต่อสังคม
  • หัวข้อ กลุ่มคนผู้สนใจ กิจกรรม หนังสือและสิ่งต่างๆเท่าที่มี ดูแล้วพอจะทำให้น่าสนใจและสร้างมิติใหม่ๆทั้งสำหรับชุมชนหนองบัวและสังคมวงกว้างได้ดีพอสมควรครับ
  • ก็เลยหารือกับน้องๆที่มหาวิทยาลัย หลายคนก็เริ่มจะเห็นความน่าสนใจและเริ่มใส่ใจในรายละเอียด แล้วก็เริ่มมีความเห็นว่าหากเตรียมการให้ดีแล้วก็เลื่อนไปจัดในหน้าหนาวเลยก็น่าจะดีเหมือนกัน เพราะเดือนมีนา-เมษา.นั้น ชุมชนในชนบทโดยทั่วไปจะร้อนและทำกิจกรรมต่างๆไม่สะดวก
  • ผมก็คิดว่าได้ทั้งนั้นละครับ ไม่สะดวกก็ทำเล็กๆ แล้วก็ทำได้อีกหลายครั้งอย่างที่อยากทำ ขณะเดียวกันก็ทำใหญ่ๆในจังหวะเหมาะๆ บรรยากาศดี ต้อนรับหมู่มิตรให้พอได้ความสะดวก ได้ความประทับใจและได้ความบันดาลใจ จากหนองบัวพอสมควร
  • เวทีสนทนาคนหนองบัวที่เป็นมุมมองของผม มีข้อสังเกตตามประเด็นดังนี้

       -เรื่องที่สนทนาควรมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะเกิดกับคนในพื้นที่ที่สนทนา 

       -พื้นที่ที่จัดไม่ควรใหญ่เกินไป  อาจเป็นหมู่บ้านหรือชุมชนใดหนึ่งเท่านั้นเพื่อศึกษาเรื่องราวของหมู่บ้านหรือชุมชนจากคนในพื้นที่นั้น

       - ประเด็นที่สนทนาควรมาจากเรื่องวัฒนธรรมประเพณีดีดีของหมู่บ้านหรือชุมชนที่เริ่มหายไปและจะทำอย่างไรให้คงอยู่เพื่อบ่มเพาะในตัวเด็กและเยาวชนของหมู่บ้านตนเอง

       - สมาชิกในวงสนทนาควรมีภูมิปัญญาท้องถิ่น ผู้สูงอายุ พระ  เด็ก  เยาวชน  ผู้นำชุมชนฯลฯ  แต่ไม่มากจนเกินไปเพราะบรรยากาศจะเสีย

       - สถานที่สนทนาควรเป็นธรรมชาติ เงียบสงบ เย็นสบายตามธรรมชาติ  มีเพลงเพื่อชีวิตเบาๆ (ลองจินตนาการดู)

  • ขอเสนอเวทีครั้งแรกน่าจะเปิดที่ บ้านตาลิน  หรือ บ้านห้วยถั่วเหนือ  หรือ บ้านป่ารัง

บ้านล่องดู่  เพราะมีครัวเรือนไม่มากนัก

  • ดีจังเลยครับ ผอ.พนม ในช่วงนี้พอมีเวลาพูดคุยปรึกษาหารือกันครับ ดังนั้น โยนความคิดและช่วยกันทำให้หลากหลายมากยิ่งๆขึ้นก็ยิ่งดีครับ ไม่ใช่จะทำให้ความคิดกระจุยกระจายหรอกครับ แต่อยากให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อรวบรวมข้อมูลและปูพื้นไปคุยกันเมื่อมีโอกาสน่ะครับ
  • ที่บ้านตาลินและบ้านป่ารังจะทำอย่างที่ ผอ.ลองเสนออยู่แล้วเหมือนกันครับ แต่แถวนั้นพอจะคุ้นเคยกับวิธีนั่งคุยกันอย่างนี้อยู่ครับ เวลาผมกลับบ้านก็จะเกิดวงคุยกันไปอย่างอัตโนมัติทั้งในหมู่บ้านและบนศาลาวัด ผมเลยได้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆงอกเงยขึ้นไปเรื่อยๆ และได้หารือกันว่าจะจัดงาน ๕๐ ปีโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) ในปีที่จะถึงนี้ครับ พอจะมีพรรคพวกเป็นแกนช่วยกันทำอยู่ครับ ประเดี๋ยวพอได้แนวคิดที่พอจะเชื่อมโยงกับแนวคิดของคนในท้องถิ่นสักหน่อยก็จะได้ประสานงานอย่างเป็นทางการไปทางโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆต่อไปด้วยครับ
  • คุยกันเพื่อรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์และความทรงจำในชีวิตของชาวบ้านเพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆของหมู่บ้านต่างๆที่พอเชื่อมโยงได้ ก็ดีเหมือนกันนะครับ จะเป็นด้านวิถีวัฒนธรรมหรือสิ่งดีๆอย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากนั้น ก็ทำให้ปรากฏทั้งต่อชุมชนและต่อโลกภายนอก ทำเป็นสื่อและเผยแพร่ออนไลน์ได้เลย เป็นบทเรียนตั้งต้นสำหรับต่อยอดต่อๆไป หากเห็นว่าดีก็ใช้ประสบการณ์ที่ได้สร้างคนขึ้นมาเองในชุมชนแล้วก็ทำสะสมไปเรื่อยๆ

สวัสดีครับ อ วิรัตน์ ผมเกิดที่หนองบัว และคงอยู่หนองบัวจนตาย ทำเวทีสาธารณะมาค่อนข้างมาก สิ่งหนึ่งที่เราประสพมาคือ องค์ความทีเราได้มาขาดองค์กรหรือบุคคลที่จะมารวบรวมให้ ฝาก อ วิรัตน์ ช่วยคิดส่วนนี้ให้ด้วย  ส่วนเวทีแรกที่จะจัดผมเห็นด้วยกับ ผอ พนม

ดีใจจังเลยครับ แล้วก็ยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมเป็นทีมช่วยการทำเวทีของพวกเราในพื้นที่ครับ บล๊อกเวทีคนหนองบัวนี้ก็เริ่มทำไว้เพื่อรอเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับช่วยรวบรวมข้อมูล สร้างความรู้ และจัดการความรู้ สนับสนุนการทำงานต่างๆตามความสนใจของพรรคพวกที่อยู่หนองบัวนะครับ ผมกำลังเตรียมหาจังหวะลงไปคุยกับ ผอ.พนมและทีมคุณครูโรงเรียนบ้านหนองไผ่น่ะครับ ได้จังหวะไปก็จะบอกกล่าวและชวนกันไปนั่งคุยสบายๆตามอัธยาศัยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท