๖๕๙.อ่านกันหรือยัง : ลูกอิสาน


        ความตั้งใจที่จะหยิบยกถ้อยคำสำนวนภาษาจาก "ลูกอิสาน" มายั่วยุให้มีผู้สนใจอ่านทั้งเล่ม  ซึ่งการนำมาแต่ละบทยืดยาว อาจจะจบลงช้าและเสียเวลา  บันทึกนี้จึงเกิดแนวคิดใหม่ว่าจะหยิบยกมาให้สั้นลง

บทที่ ๑๐ ไปเก็บครั่ง

       ขณะลุงกาตัดกิ่งครั่ง แกเล่าให้ฟังว่า เมื่อเก็บครั่งเสร็จแกจะเลือกก้อนครั่งที่อ้วนโตแยกออก แลวห่อกับฟางแห้งมัดหัวท้ายให้แน่น  แล้วนำขึ้นไปปลูกไว้ตามกิ่งสะโกอีกต้นหนึ่ง แล้วตัวครั่งก็จะไต่ออกจากรังไปเกาะตามกิ่งอื่น ๆ

บทที่ ๑๑ ไปดักนกขุ้ม

       ขณะที่คูนเดินตามหลังพ่อก็ดูนกขุ้มอย่างถี่ถ้วน  สีของมันลายสลับน้ำตาล  แต่หางนกขุ้มไม่มีเหมือนหางไก่  หรือหางนกอีจู้  ลูกตาของมันดำสนิทแต่เล็กเท่าตาของนกกระจิบ

       พ่อบอกว่า นกขุ้มตัวนี้เป็นตัวเมีย...คือตัวนี้บ่มีคางสีดำ  ถ้าตัวผู้จะมีคางสีดำ ที่มันแล่นมาติดตาข่าย  มันคิดว่าเป็นเสียงของนกตัวผู้

บทที่ ๑๒ ไปไล่จอนฟอน

       ที่ป่าละเมาะติดกับนาของลุงกาคือที่มีจอนฟอนที่จอมโพนกลางป่ามาแล้ว  ต้องรีบไปในตอนเช้า เพราะจอนฟอนชอบออกหากินในตอนเช้า  ถ้าสาย ๆ มันจะเข้ารูหมด

บทที่ ๑๓ ไปจับจิ้งหรีด

      ตัวใหญ่กว่าจิ้งหรีดธรรมดา  มันมีหนวดสีเหลืองปนทองสวยงาม  ทางบ้านเราเรียกว่าจินายโม้  ถ้าตัวเล็กเรียกว่าจิหล่อหรือกิหล่อ  ถ้าได้จิ้งหรีดหลาย ๆ ก็กินกับข้าวได้เลย แต่ถ้าได้น้อยต้องเอามาทำป่นจิ้งหรีด

บทที่ ๑๔  เปลี่ยนหลังคาเรือน ทำขนม

        ขนมข้าวปาดกับขนมตดหมา  คูนได้กินครั้งสุดท้ายเมื่อปู่ตายใหม่ ๆ คูนชอบกินขนมข้าวปาดมากกว่าขนมตดหมา  ที่เรียว่าขนมตดหมา  เพราะต้องเอาใบตดหมาที่มีกลิ่นเหม็นฉุนมาตำคั้นเอาน้ำ ปนลงไปในแป้งขนม  เมื่อนึ่งสุกกลิ่นเหม็นจะกลายเป็นกลิ่นหอมน่ากิน

บทที่ ๑๕  สักลายตามตัว

        ลุงกุลาชี้มือใส่ขวดยาสองสามขวดบอกว่า ขวดยาทาเมื่อสักลายแล้ว นี่คือขวดดีงูเหลือม  นี่คือขวดน้ำมันงูเหลือม นี่คือขี้ดินหม้อ

        ทิดจำปาถามว่าลางคนเขาเอาน้ำหมึกเจ๊กสีดำมาสักใช่ไหม ลุงกุลาบอกว่าใช้ได้แต่มันไม่ขลังเหมือนดีงูเหลือม  และมันจะไม่ลอก ถ้าเอาเนื้อของคนตายไปเผาไฟรอยสักก็ยังอยู่

บทที่ ๑๖ เตรียมตัวไปหาปลา

       พ่อบอกว่าจะเอายางหน้องที่ปู่ทำไว้ไปด้วยเมื่อวันเดินทางไปหาปลา  ยางหน้องคูนไม่เคยเห็น  แต่พ่อเล่าว่ามันมีพิษมาก ถ้ายิงสัตว์หรือคน  คนนั้นก็จะวิ่งไปเจ็ดแปดก้าวก็จะล้มลงและขาดใจตาย  เพราะยางหน้องแล่นเข้าสู่หัวใจ

 บทที่ ๑๗ ตีเหล็ก

       เมื่อหลานชายพ่อใหญ่ลุยตีเสียมได้ว่องไวมาก ครู่ใหญ่ก็เป็นรูปเสียมขึ้นมา... แกซุกเสียมเข้าไปในกองไฟ แล้วเอาออกมาจุ่มน้ำ แล้วเอาตะไบเข่นที่ปลายเสียมให้มันเกิดคมมาก ๆ ก็ใช้ได้

บทที่ ๑๘  ไปหาปลา กินลาบบึ้ง

             พ่อบอกว่า "ปากรู้เกลี้ยง ๆ อย่างนี้ไม่มีตัวบึ้งอยู่" สักครู่พ่อนั่งลงยองๆ ชี้ไปที่รูหนึ่งซึ่งมีใยสีหม่นเหมือนใยแมงมุมกางปิดอยู่  "นี่ละมีบึ้งอยู่ ใยนี้ตัวบึ้งมันทำกันไม่ให้ตัวแมงลงไปรบกวนมัน"

          และพ่อบอกอีกว่า "บึ้งตัวไหนมี ๑๐ ขาเป็นบึ้งบ้า ใครกินเข้าไปก็จะเป็นบ้า   และรักษาไม่หาย"

บทที่ ๑๙  ฝนตกจับอึ่งมาย่างกิน

          ทิดจุ่นจับไม้ขึ้นมาตับหนึ่งดึงอึ่งออกมา ๒ ตัว "บีบขี้ออกก่อนจึงกิน" คูนจึงเอาเล็บหยิกท้องอึ่งอย่างว่องไวทั้งสองตัว  จึงกัดที่หัวอึ่งระลงมาจนถึงโคนขาใหญ่ พอตัวที่หนึ่งหมดก็กัดตัวที่สองอีก  พอจวนหมดทิดจุ่นบอกว่า "ดึกแล้วมันจวนสิแจ้ง ควรไปนอน..."

บทที่ ๒๐  ถึงแล้วแม่น้ำชี

        มันยาวเหยียดสุดสายตาจริง ๆ มองไปทางขวาก็ไม่รู้มันมาจากไหน  มองไปทางซ้ายก็ไม่รู้ว่าไปไกลสุดที่ใด ....ทำให้คูนตื้นตันใจอย่างพูดไม่ถูก 

         จันดีร้องขึ้นว่า "โอโฮ  เกิดมากูเพิ่งเห็นแม่น้ำใหญ่นี่แหละบักคูนเอ๊ย"  แตคูนบอกว่า "ใหญ่ขึ้นมากูสิจะไปเบิ่งทะเลให้ได้" พร้อมกับถอนใจ

        ขอเชิญกัลยาณมิตรที่เข้ามาอ่าน ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับคำศัพท์ที่เป็นตัวสีแดง และวัฒนธรรมเกี่ยวกับภาษาอิสานด้วยนะคะ  ขอขอบพระคุณค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 406573เขียนเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2010 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (29)

พี่คิมค่ะ บันทึกนี้ทำให้อยากกลับไปอ่าน หนังสือ อีกรอบค่ะ

เป็นความงดงามของภาษาอิสานบ้านเรา หนังสือน่าอ่านครับ...

ขอบคุณครับ คุณครูพี่คิม

สวัสดีค่ะน้องpoo

หมดสต๊อกแล้วค่ะ  ไม่อย่างนั้นยายคิมส่งมาให้อ่านได้เลย  บอกช้าไป  ตอนแรกหยิบยกมามากเกินไป จะเป็นเรื่องยืดยาวน่าเบื่อหน่ายของผู้มาอ่าน

บันทึกนี้และบันทึกหน้าก็จับมาเพียงเล็กน้อยค่ะ ยั่วยุ ๆ ๆ ๆ ๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์อ.นุ

ถ้าไม่เหลือผู้แก่ผู้เฒ่าคนรุ่นก่อนแล้ว ยายคิมกลัวว่าภาษาดั้งเดิมและภูมิปัญญาจะสูญหายไปกับกาลเวลาค่ะ

หนังสือเล่มนี้น่าจะถือเป็นนวัตกรรมในการฟื้นฟูค่ะ

พี่คิม...

อยากทำวิจัยดี ๆ สักเรื่อง

ทำด้วยกันนะ

เดี๋ยวของ อ.วิรัตน์เป็นที่ปรึกษา

อื้อฮือ....

มาถึงตรงนี้เริ่มมึน  เพราะบางคำไม่คุ้นเลย พยายามคิดและเดาว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  เดี๋ยวต้องปรึกษาผู้รู้จริงค่ะ  สมาชิกชาวอีสานเราก็มีหลายคน...

อากาศเย็นอย่ากินของเย็นนะคะพี่คิม

  • พี่คิมครับ
  • ผมรู้จักบางอย่าง
  • ที่บ้านยังมีตัวบึ้งที่เหมือนแมงมุมตัวโตๆๆ
  • พี่สบายดีนะครับ

พี่คิม...

แหะ แหะ ว่าง ๆ (แบบว่างจริง ๆ หนะ)

ช่วยแปลเนื้อหาในนี้ให้หน่อยนะครับ

http://www.facebook.com/notes/kiattisak-muangmit/phra-kiattisak-kittibhaddo/168831033134564

แนะนำเครื่องมือแปลภาษาแบบด่วนๆ

http://translate.google.com/

  • ลองเอาข้อความต้นฉบับมาแปะดู
  • แปล Eng-Thai ดูแบบลวกๆก่อน
  • แล้วลองเรียบเรียงเป็นสำนวนภาษาที่สละสลวยอีกที
  • ติดขัดประโยคไหน ผมจะลองเป็นโค้ชช่วยอีกแรงหนึ่งครับ ด้วยความยินดี

สัญชัย

ว่าด้วยเรื่องขนมอีสาน

ขนมข้าวปาดกับขนมตดหมา  คูนได้กินครั้งสุดท้ายเมื่อปู่ตายใหม่ ๆ

 

ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ ขนมข้าวปาดมันจะหน้าตาเหมือนๆกับขนมเปียกปูน แต่มันจะมีสีเขียว ไม่ดำเหมือนเปียกปูน บางครั้งก็เคยเจอข้าวปาดสีขาวใส่ข้าวโพดก็มี กรรมวิธีการทำผมไม่แน่ใจ คนอีสานมักจะมีสำนวนติดปากว่า "กินข้าวปุ้น-ข้าวปาด" ก็คงจะเป็นของกินที่มักจะได้กินหรือทำคู่กัน ข้าวปุ้นเป็นของคาว ข้าวปาดเป็นของหวาน

หากจะเอ่ยถึงขนมหวานอีสานอย่างอื่นก็เช่น

  • ขนมต้มมัด - มักได้กินเป็นปกติตามงานบุญทั่วไป จะมีมากเป็นพิเศษยามบุญกฐินหน้าออกพรรษา ใครไปทอดกฐินก็จะได้ข้าวต้มกลับบ้านทุกคน ส่วนผสมสำคัญคือ ข้าวเหนียวหม่า (แช่น้ำ) กล้วยอีออง (น้ำหว้า) และเกลือครับ บ้างก็ใส่ถั่วดำด้วย อีกสูตรที่เอาข้าวเหนียวมูนมาห่อกล้วย ก็จะออกมันๆ
  • สมัยพ่อผมเป็นนักเรียนชั้น ป. (ตอนนี้ท่านอายุจะ 70 แล้วนะครับ) ย่าจะทำข้าวต้มให้ลูกๆเอาไปขายที่โรงเรียนเพื่อเป็นเงินใช้จ่าย ขายมัดละรู้สึกจะสลึงหรือสองสลึงนี่ล่ะครับ ซึ่งก็ช่วยให้มีเงินใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง  
  • ขนมเทียน - ผมมักจะได้กินขนมเทียนเมื่อไปบุญคุ้มหรือบุญหมู่บ้านและบุญเข้าพรรษา กระบวนการทำจะเริ่มที่ย่าจะใช้ให้ไปตัดใบกล้วย แล้วเอามาตากแดดให้นิ่ม ก้านกล้วยที่เหลือก็จะเอามาเล่นม้า เล่นปืนกล เล่นดาบ ต่อมากวนใส้ โดยไส้หวานทำจากมะพร้าวขูดกวนกับน้ำอ้อย ใส้เค็มทำจากถั่วนึ่งใส่เกลือ แป้งข้าวเหนียวเอามานวดใส่น้ำ ปั้นก้อนห่อใส้ที่ปั้นก้อนๆไว้ การห่อต้องทาน้ำมันที่ใบตองก่อนจึงทำเป็นช่อกรวย ขยับให้แน่น พับจีบให้คม ตัดปลายตองเศษ เหน็บปลายให้มิด เค้าบอกว่า "ให้มันสวยๆแหลมๆเหมือนนมสาว"  เสร็จแล้วเอาไปนึ่งในซึ้งประมาณ 20 นาที ออกมาเป็นขนมเทียนใส่บาตรได้

และนี่ก็เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆเรื่องขนมครับ

 

สัญชัย

เรียนIco32ที่นับถือ

   คนอีสานซื่อ จริงใจค่ะ ภาษาที่ใช้ก็แสดงถึงความรู้สึกที่มีความหมายลึกซึ้ง ค่ะ เช่น คนทั่วไปเข้าใจคำว่า แซ่บ หมายถึง อร่อย แต่ถ้าจะให้มากกว่านั้น ต้อง นัว ค่ะ ไม่ต้องอธิบายเพราะความหมายมากกว่าแซ่บ คือกลมกล่อมค่ะ(รายการอีสานวันละคำ) อิอิ

-สวัสดีครับยายคิม....

-แวะมา...เยี่ยม....ครับ...

-ขอแจมเรื่อง " แกงบะหนุน" ในบล๊อกนี้...หน่อยนะครับ 5555

-ตอนนี้ ยายคิมคงจะ "แกงบะหนุน" เสร็จแล้ว....

-สูตร "แกงบะหนุน" ของผม ง่าย ๆ ใช้พริกแกงแบบทางเหนือ...มีบะหนุน....กระดูกหมู....ชะอม...มะเขือเทศ....ปรุงรส....ตามชอบ.....ครับ....

-แบ่งไว้ทำ "คั่วบะหนุน" บ้างก็ดีนะครับ.....

-ขอบคุณครับ...

เพชรน้ำหนึ่งทำให้น้ำลายไหลครับครูคิม

สวัสดีค่ะน้องหนานเกียรติ

ตกลงค่ะ  หาเรื่องทำงานสนุก ๆ ตามใจชอบก็ดีนะคะ  การนำลิงค์มาต้องเคาะให้สามารถมองเห็นว่าเกิดลิงค์แล้ว 

เมือคืนเขาให้จักรยานเราไปห้วยปลาหลดด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะน้องkrugui Chutima

แบบนี้แหละนะคะ  ที่เป็นห่วงภาษาท้องถิ่นดั้งเดิม  ตอนยายคิมเป็นเด็ก "พี่เลี้ยงบอกให้ไปหยิบหลัว  แต่เอาขวดโหลมาส่งให้....ฮา....ฟืนค่ะ"

ขอขอบคุณในความห่วงใยนะคะ  หนาวเย็นจริง ๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะน้องขจิต ฝอยทอง

ขอขอบคุณค่ะ ยายคิมสบายดี  ดีจังที่ได้เห็นตัวบึ้งและเรียกเหมือนกัน  ยายคิมดูในกูเกิ้ล  น่ากลัวนะคะเหมือนแมงมุมยักษ์

 "บึ้งตัวไหนมี ๑๐ ขาเป็นบึ้งบ้า ใครกินเข้าไปก็จะเป็นบ้า   และรักษาไม่หาย"

เคยเห็นบึ้ง ๑๐ ขาหรือยังคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์สัญชัย

กำลังนึกถึงโปรแกรมแปลภาษาอยู่พอดี ขอขอบคุณอาจารย์มากนะคะ  แปลแล้วก็ตลกดีค่ะ เหมือนเด็กน้อยแปล

เนื่องจากต้นฉบับสะกดผิด และบัญญัติคำเอง  เขียนติด เขียนแยกคำ แต่ก็ดีทุ่นแรงเราไปเยอะ

นี่แหละบาปกรรมของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  ถ้าเป็นเพื่อการสื่อสาร  ในระดับแรก ๆ การสอนในประเทศเราก็คงไปโลดนะคะ

ปีนี้กระทรวงเขาเข้ากับการสอนภาษาอีกแล้วค่ะ

สำหรับภาษาอิสาน  เรายังต้องคุยกันต่อไปจนกว่า "ลูกอิสานจะอวสาน" นะคะ

ขนมพื้นถิ่น ภูมิปัญญา เด็กรุ่นใหม่ หรือรุ่นรกโลกบางพวกทานไม่เป็นและไม่รู้จัก แต่กลับไปเลือกทานขยะแทน....สถาบันไหนอ่อนแอนี่คะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

สำหรับขนมปาดยายคิมเคยทานค่ะ สีเหมือนขนมเปียกปูน  และบางแห่งก็ทำสีเขียวโดยใช้ใบเตยค่ะ

ข้าวต้มมัด ขนมเทียน  ยายคิมเคยฝึกให้ห่อตอนเด็ก ๆ ค่ะ ห่อไปน้ำตาเล็ดไปด้วย เพราะต้องใช้ความพยายาม เยือกเย็นค่ะ

สวัสดีค่ะน้องคุณยาย

จริงค่ะ  ความเป็นกันเองสูงของชาวอิสาน เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งนะคะ  ยายคิมยังระลึกถึงอิสานอยู่เสมอค่ะ  แถวบรบือก็เคยไป  เคยช่วยเหลือคนอุบัติเหตุไปส่งโรงพยาบาลบรบือด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะคุณเพชรน้ำหนึ่ง

ขอขอบคุณค่ะ  ยายคิมกะเตรียมสูตรเดียวกันค่ะ ตำรับล้านนา  แต่เมื่อวานยกเลิก เพราะต้องไปทำธุระด่วนที่กองบิน

ไปอ่านบันทึกหน้าของยายคิมนะคะ  ลงไว้แล้วค่ะ

สวัสดีค่ะท่านเบดูอิน

สบายดีนะคะ พี่น้องทางใต้โดนน้ำท่วมหรือเปล่าคะ

อย่า...นะคะ  อย่าเพิ่งน้ำลายไหลเลยนะคะ เค้าใส่หมูค่ะ

โอโห..รู้สึกภูมิใจจังที่เป็นคนอิสาน(ตอนบน)

คงต้องกลับไปอ่านอีกรอบจริงๆค่ะ

 

                               
                                             ***  มนต์เสน่ห์ของอิสาน....แท้เชียวค่ะ .... พี่คิม  ***

                                                                    grasshoppergrasshopper

สวัสดีค่ะคุณระพี

สภาพหลังน้ำท่วม  ดีขึ้นบ้างหรือยังคะ  หากอยู่ใกล้ ๆ จะมาช่วยค่ะ  "ลูกอสาน" ที่ยายคิมอ่านแล้วอ่านอีกค่ะ

สวัสดีค่ะน้องK.Pually

ขอขอบคุณแขกยามวิกาล  มาเคาะประตูบ้านยามดึก  จริงนะคะ  เรื่องนี้เป็นเสน่ห์ของอิสานค่ะ

สวัสดีค่ะพี่คิมเห็นหนานเกียรติชวนทำงานวิจัย น่าสนใจนะคะ ยังระลึกถึงเสมอค่ะ อากาศยามเช้าหมอกลงหนาเลยค่ะ แต่ไม่หนาวมากค่ะ

สวัสดีค่าน้องRinda

ค่ะ  ว่าจะไปใช้ความรู้อีกสักตั้ง ร่ำเรียนมาก็เก็บพับไว้หลังใบปริญญาไปนานแล้วค่ะ  คราวนี้นับเป็นโอกาส  สองคนพี่น้องจับมือกันหลายอย่างแล้วนี้...สู้ ๆ ๆ  มีน้องตูมให้กำลังใจอยู่แล้ว

เรื่องย่อลูกอิสานมีไม่จบหรอครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท