เชื่อหรือไม่ เราไม่สามารถเห็นสิ่งที่สร้างความรู้ของตนเองตลอดชีวิต...?


เป็นการศึกษาพัฒนาความคิดให้แยบคาย ฝึกฝนความฉงนและการตั้งคำถามใหม่ต่อยอดประสบการณ์เดิมๆ ทั้งเพื่อความหนักแน่นในความรู้และเพื่อได้วิธีคิดวิธีมองดีๆน่ะครับ ลองพิจารณาและดูรูปเพื่อดูเข้าไปในความคิด ประสบการณ์ตรง และความรู้ต่างๆที่มีบทบาทในชีวิตจริงของเราสิครับ แล้วจะเกิดความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง..บางมิติของความรู้ วิธีคิด วิถีแห่งความรู้ และวิธีจัดการความรู้ครับ

เชื่อไหมครับ.................

  • เราไม่สามารถเห็นดวงตาของตนเองเลยตลอดชีวิต แต่เราก็ต้องเชื่อโดยการรู้สึก เชื่อด้วยจินตนาการ รู้จากผลของการทำงาน และรู้ในทางอ้อมโดยวิธีการต่างๆ อีกทั้งต้องเชื่อความรู้ในสิ่งซึ่งดวงตาที่เราไม่เคยเห็นเลยนี้ เป็นผู้สร้างให้ เมื่อพิจารณาจากกรณีดังกล่าวนี้ การไม่เชื่อความรู้สึกและจินตนาการ จึงมีความหมายเท่ากับต้องตาบอดหรือไม่จำเป็นต้องมีดวงตา
  • เราไม่เคยเห็นจมูกตนเองเลยตลอดชีวิต อย่างมากก็เห็นเพียงลางเลือน แต่เราก็ต้องเชื่อโดยการได้กลิ่น เชื่อด้วยจินตนาการ และรู้ในทางอ้อมโดยวิธีการต่างๆเกี่ยวกับจมูกตนเอง อีกทั้งต้องเชื่อความรู้ในสิ่งซึ่งจมูกที่เราไม่เคยเห็นเลยนี้ เป็นผู้สร้างให้
  • เราไม่เคยเห็นหูของตนเองเลยตลอดชีวิต แม้เพียงลางเลือนหรือบางส่วนเสี้ยวก็ไม่สามารถเห็น แต่เราก็ต้องเชื่อผ่านการทำงานของหู เชื่อด้วยจินตนาการ และรู้ในทางอ้อมโดยวิธีการต่างๆเกี่ยวกับหูตนเอง อีกทั้งต้องเชื่อความรู้ในสิ่งซึ่งหูที่เราไม่เคยเห็นเลยนี้ เป็นผู้สร้างและบูรณาการให้รู้ผ่านการได้ยิน
  • เราไม่เคยเห็นปากและลิ้นของตนเองเลยตลอดชีวิต เห็นอย่างมากก็เพียงลางเลือนหรือบางส่วนเสี้ยว แต่เราก็ต้องเชื่อผ่านการได้ลิ้มรสอาหารซึ่งก็ไม่ใช่ตัวลิ้นเองเสียอีก ต้องเชื่อด้วยจินตนาการ และรู้ในทางอ้อมโดยวิธีการต่างๆเกี่ยวกับลิ้นตนเอง เช่น ก้มหน้าแลบลิ้นแล้วมองจากขันน้ำใสนิ่ง แต่เราก็ต้องเชื่อความรู้ในสิ่งซึ่งปากและลิ้นที่เราไม่เคยเห็นเลยนี้ เป็นผู้สร้างและบูรณาการให้รู้ผ่านการได้ลิ้มรส
  • ในครั้งหนึ่งๆตลอดชีวิต เราใช้ความไวจากผิวสัมผัสทั่วทั้งตัว แต่ทั้งหมดที่ได้ใช้รับรู้โลกรอบข้างนั้น เราจะสามารถสัมผัสตนเองแต่ละครั้งได้ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซนต์ อีก ๙๐ เปอร์เซนต์เราจึงไม่สามารถมองเห็นและไม่สามารถสัมผัสรู้ได้เกินครั้งละฝ่ามือ ๒ ข้าง ซึ่งนั่นก็ยิ่งต่ำกว่า ๕ เปอร์เซนต์ของผิวสัมผัสทั้งร่างกาย ดังนั้น เราจึงต้องเชื่อสัมผัสส่วนใหญ่ที่ตนเองไม่เห็นและไม่สามารถรับรู้การมีอยู่ได้โดยตรง แต่ก็ใช้ข้อมูลเหล่านี้ทำสิ่งต่างๆอยู่ตลอดชีวิต รวมทั้งได้ใช้เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์มาได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ทั้งหมดนี้ เชื่อไหมครับว่า....ที่เรามักกล่าวกันว่ามนุษย์โฮโมซาเปียนเป็นมนุษย์ที่ใช้ปัญญาและความรู้มากกว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่นไม่ว่าจะเป็นมนุษย์โฮโมอีเรคตัส และมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล จึงสามารถอยู่รอดและมีพัฒนาการสืบเนื่องมาได้กว่า ๕-๖ หมื่นปีแล้ว เหล่านี้นั้น แท้จริงแล้วเกือบทั้งหมดกลับมาจากความสามารถรู้สึก ความสามารถคิดเห็นทางอ้อม และความสามารถจินตนาการ อีกทั้งสิ่งต่างๆดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น มาจากความที่จะต้องเชื่อและศรัทธามั่นคงว่าเรามีตา หู จมูก ปาก และผิวสัมผัส โดยที่เราจะเห็นสิ่งซึ่งต้องเชื่อนี้ได้เพียงนิดเดียว ไปจนกระทั่งไม่สามารถเห็นได้เลยตลอดชีวิต.

หมายเหตุ : ขอขอบคุณภาพจาก google

หมายเลขบันทึก: 406286เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ตามมาอ่านครับ...

แม้จะหนัก แต่จะพยามยามอ่าน

ขอบคุณครับที่ไปเยี่ยม

-ปณิธิ ภูศรีเทศ-

เอาไปทำเลยครับ วิธีนี้ ...

ขอบคุณครับ ท่านพี่อาจารย์ ;)

สวัสดีครับคุณครูปณิธิครับ
เขียนกลอนดีจังเลยนะครับ
เป็นทั้งบันทึกเหตุการณ์  หมายเหตุการตกผลึกประสบการณ์ ณ ห้วงอารมณ์นั้น
แต่ให้ความสะท้อนคิด คมในวิธีมอง
และมีพลังกวีดีจริงๆครับ
เป็นศิลปะของงานคิดโดยภาษามากอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
ในแง่ศิลปะสื่อและทางเทคโนโลยีการศึกษานี่พอได้ไหมครับอาจารย์
ถือโอกาสแสดงวิธีทำกราฟิคอาร์ตเพื่อช่วยจัดการความรู้ให้เข้าถึงแก่นความคิดเชิงวิธีวิทยา ด้วยวิธีง่ายๆได้ดีเหมือนกันนะครับ เป็นการใช้รูปเรขาคณิต เครื่องมือลากเส้นง่ายๆ แล้วก็จัดการวัตถุดิบนิดเดียวด้วยเครื่องมือช่วยอย่างอื่น เช่น การย่อ-ขยาย กลับซ้าย-ขวา การให้โทนและ effect แล้วก็จัดวางเป็นองค์ประกอบเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องราว ข้อมูลภาพง่ายๆก็ดูกลายเป็นเหมือนสื่อได้รายละเอียดซับซ้อนเชียว ทั้งๆที่หากดูให้ดีแล้วมีเส้นไม่กี่เส้นและรูปพื้นฐานง่ายๆนิดเดียวนะครับ

ในแง่การสอนแบบ Constructivism หรือ Discussion และ Inquiry Method วิธีนำเสนอประเด็นและให้ข้อมูลเบื้องต้นอย่างนี้ ก็เหมาะดีครับ โดยเฉพาะการศึกษาในขั้นบัณฑิตศึกษา แม้แต่เมื่อต้อง Coaching ให้นักศึกษาระหว่างทำวิทยานิพนธ์ วิธีอย่างนี้ก็จะทำให้นักศึกษาเข้าถึงความเป็นสิ่งที่เรียกว่าวิธีคิดและ Methodology รวมทั้งมีทักษะอภิปรายแสดงความเป็นวิชาการได้ดีครับ

*ขอบคุณค่ะ..พี่มองในมุมของพุทธศาสนา.. ปัญญาญาณในการพิจารณาความเป็นจริงของสรรพสิ่งในโลกอย่างรู้เท่าทันของเหตุและผล..เพื่อมิให้ติดหลงอยู่ในกับดัก..และใช้สติดึงจิตให้หลุดพ้นออกมาเหนือความไม่เที่ยงแท้และการปรุงแต่งเหล่านั้น..จนสามารถก้าวออกจากโลกธรรมสู่โลกุตรธรรมอย่างสมบูรณ์...เป็นที่สุดปลายทางของวิมุติสุข..

*มีภาพ "กระจกส่องจิต" มาฝากค่ะ..

            Large_maw 

ชอบรูปน่ะซีครับ แมวดูขนฟูดีครับ
การกระตุกความคิดและให้วิธีมองเกี่ยวกับภาวะแห่งตนก็ดีครับ

                                        มีรูปเพื่อนๆขนฟูมาแบ่งกันดูกับพี่นงนาทและทุกท่านบ้างนะครับ

                        

                        

                        

                         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท