เมื่อข้าวไร่ผมถูกน้ำท่วม


ธรรมชาติให้บทเรียนกับเราเพื่อเรียนรู้และปรับตัวเสมอนะครับ

          ปีที่แล้วคือปี 2552 ว่างเว้นจากการถูกน้ำท่วมมาหนึ่งปี   นึกว่าปีนี้คงรอด..แต่ก็โดนน้ำท่วมอีกจนได้  เมื่อปี 2551  น้ำท่วมมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา 10 กว่าปีที่มาสร้างบ้านที่สวนริมคลองสวนหมาก อ.เมืองกำแพงเพชร

          ภาพน้ำท่วมเมื่อปี 2551 ครับ ในบันทึก เมื่อบ้านผมถูกน้ำท่วม

 

          น้ำท่วมบ้านใครๆ ก็คงไม่อยากเจอ ปีนี้ผมย้ายขึ้นมาปลูกบ้านกลางหมู่บ้านห่างจากบ้านสวนประมาณครึ่งกิโล  ปีนี้พอน้ำมาก็เลยถือโอกาสย้ายบ้านมาอยู่บ้านหลังใหม่ทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จดี  

         ภาพต่อไปนี้เป็นการบอกเล่าและบันทึกบางส่วนที่เกี่ยวกับน้ำท่วมครับ

 

  • ที่บ้านสวน   ปีนี้น้ำเริ่มมาเมื่อวันที่  19  ต.ค. 2553  ตอนกลางวัน


 เช้าวันที่ 20  ต.ค. 2553 ท่วมถึงใต้ถุนบ้าน

          

 

          บริเวณที่สร้างบ้านใหม่ (กะว่าจะหนีน้ำ) พื้นที่บางส่วนก็ยังถูกน้ำท่วมเหมือนกัน  เพียงแต่บริเวณที่ปลูกบ้านถมสูงกว่าเลยรอด

 

           ปีนี้บริเวณส่วนพื้นที่ที่เหลือผมปลูกข้าวมะลิไว้  โดยปลูกแบบข้าวไร่คือใช้การหยอดเมล็ดเหมือนกับปีที่ผ่านมา (ดูได้จาก 2 บันทึกตามลิงค์)

         

          ปีน้ำหยอดข้าวไร่ล่ามาก  คือหยอดช่วงของวันแม่พอดี เพราะมัวแต่ดูแลการปลูกบ้าน เวลาที่จะมาดูแลก็มีน้อยมาก แต่ข้าวก็ขึ้นมาให้ได้ชื่นใจ  กะว่าเหลือสักครึ่งหนึ่งของที่หยอดไว้ก็ยังดี เพราะสู้กับหญ้าไม่ไหว  นี่ขนาดปลูกเป็นแถวเป็นแนวเพื่อที่จะสะดวกกับการดายหญ้า  สุดท้ายก็ดายหญ้าไม่ทัน  เลยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายหลังแทน ก็ได้ความรู้เพิ่มมาอีกนิดว่าใช้ได้แต่ต้องขยัน และใจเย็นๆ

 

          สองเดือนผ่านไปข้าวในส่วนที่ตัดหญ้าทันข้าวก็จะยืนต้น แตกกอพอใช้ได้  ส่วนที่ข้าวไม่ค่อยงอกแถบนั้นก็จะเหลือเพียงหญ้าดูต่างหน้าให้เจ็บใจแทน

 

          เห็นข้าวมะลิที่ปลูกแบบข้าวไร่ เริ่มแตกกอ ก็ค่อยโล่งใจหน่อย  อุตส่าห์ปลูกแบบข้าวนาแห้ง-ข้าวไร่ เพื่อที่จะทดสอบการปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อย    สุดท้ายเทวดาก็เทน้ำมาให้  น้ำไหลบ่าล้นคลองสวนหมากเข้าท่วมจนได้  จากข้าวไร่ก็กลายเป็นนาข้าว  อิอิ..ข้าวไร่ถูกน้ำท่วม

 


น้ำเริ่มท่วมเมื่อช่วงเที่ยงวันที่  19 ต.ค. 2553

 


อีกมุมหนึ่งของเที่ยงวันที่  19 ต.ค. 2553

 


ท่วมเกือบมิดยอดในเช้าวันที่ 20 ต.ค. 2553

 


เช้าวันที่  21  ต.ค. 2553 ไม่เห็นต้นข้าวเลยครับ

 


พอเช้าวันที่  22  ต.ค.  2553  น้ำเริ่มลด

 

          ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าปีนี้ข้าวนาสวนที่ปลูกแบบข้าวไร่ของผมจะได้เกี่ยวหรือเปล่า แต่ก็ช่างมันเถอะนะครับ  ผมปลูกเพื่อต้องการเรียนรู้ ได้ไม่ได้ผลผลิตไม่ใช่เรื่องใหญ่  เรื่องสำคัญอยู่ที่ความรู้ที่ได้ต่างหาก

          สรุปบทเรียนเบื้องต้นหากจะคิดปลูกข้าวไร่พันธุ์ที่ตอบสนองต่อช่วงแสง(ข้าวไวแสง-ข้าวนาปี)อาจจะต้องขยับเวลาปลูก(หยอดเมล็ด)ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม น่าจะเหมาะที่สุด  เพราะต้นข้าวจะตั้งตัวได้พอเหมาะกับเวลาของน้ำฝน  และสภาพของช่วงแสงที่จะช่วยให้ออกรวง  หากปลูกด้วยต้นกล้าอาจจะปลูกล่าเป็นในช่วงเดือนสิงหาคมได้

          ส่วนจะปลูกข้าวที่ไม่ไวแสง และเลี่ยงน้ำท่วมก็คงต้องหยอดเมล็ดให้ทันฝนแรกๆ ช่วงเมษายน-พฤษภาคม เกี่ยวให้ทันในเดือนกันยายน เพื่อหนีน้ำท่วมครับ

 

            สุดท้าย...ธรรมชาติให้บทเรียนกับเราเพื่อเรียนรู้และปรับตัวเสมอนะครับ..

        

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

สิงห์ป่าสัก  31 ต.ค. 2553

หมายเลขบันทึก: 405669เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2010 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

โห น่าเห็นใจจังเลยครับ แต่ว่าัยังอิอิ...ได้อยู่แสดงว่า ยังไม่เครียดมากนัก หรือว่ามีแนวคิดที่ดีอย่างไร บอกกันบ้างครับ เพื่อว่า บางคนยังเครียดอยู่

สวัสดีค่ะพี่สิงห์สิงห์ป่าสัก

  • นานโขเลยนะคะที่ไม่ได้เข้ามาทักทาย  ปีนี้คิดว่าจะได้ไปเที่ยวเทศกาลงานกล้วยไข่ก็ต้องงดเพราะฝนโปรยปรายไม่ขาดสาย ต่อไปด้วยน้ำท่วมอิอิ
  • ยังดีนะคะที่น้ำท่วมแค่สองสามวัน  ณ เวลานี้แถวๆคลองขลุง  ขาณุฯน้ำยังไม่แห้งเลยค่ะ  บรรพตพิสัยก็ยังเต็มทุ่งอยู่เลย  สงสารชาวไร่ชาวนาค่ะ
  • ไร่ของพี่คงไม่เสียหายมากใช่ไหมค่ะ
  • ธรรมชาติถูกทำร้ายก่อน ตอนนี้มนุษย์อย่างเราๆเลยได้รับผลกระทบอย่างแรงค่ะ

ถือว่าได้ร่วมชะตากรรมกับคนไทยด้วยกันนะคะ

คนที่ปลูกข้าวเป็นอาชีพ ก็ต้องนั่งมองนาข้าวจมน้ำ.คือกัน

สวัสดีค่ะ

ปกติข้าวในนาต้องการมีน้ำขัง ที่ไม่ใช่น้ำท่วม  ส่วนข้าวไร่ จะปลูกในพื้นที่ไม่ใช้นา มันจึงไม่ชอบน้ำใช่ไหมคะ 

ส่วนที่บ้านท่วมไม่สูง  แต่คงไม่เพิ่มแล้วนะคะ 

 ผมปลูกเพื่อต้องการเรียนรู้ ได้ไม่ได้ผลผลิตไม่ใช่เรื่องใหญ่  เรื่องสำคัญอยู่ที่ความรู้ที่ได้ต่างหาก

ขอเป็นกำลังใจค่ะ

พี่สิงห์ ผมยังไม่ได้ปลูกข้าวเลย ไม่มีเวลาดูแล แต่เห็นข้าวจมไปกับน้ำนี้เสียดาย มีชนิดพอน้ำมาแล้วข้าวดีดตัวยาวหนีน้ำไหมครับ ฮ่าๆๆ

  • สวัสดียามเช้าค่ะ
  • แวะมาให้กำลังใจ...ภัยธรรมชาติเราอาจคาดไม่ถึงเสมอ
    สู้ต่อไปนะคะ...

สวัสดีค่ะ

หวังว่าคนไทยจะผ่านวิกฤติไปได้ด้วยดีจังค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยม ขอส่งกำลังใจไปช่วยด้วยคนน่ะค่ะ ขอให้ผ่านพ้นในเร็ววัน ดูแลสุขภาพด้วยค่ะ

  • สวัสดีครับ อ.โสภณ เปียสนิท
  • อิอิ...งานนี้ไม่เครียดครับ
  • มันเป็นธรรมชาติที่จะต้องเจอ
  • น้ำท่วมก็สนุกดีครับ  ได้ช่วยคนอื่นขนของด้วย
  • ไม่ได้มีเราเพียงคนเดียวที่ประสบ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับ อ.NU 11
  • ยังระลึกถึงเสมอครับ
  • นานๆ แวะมา ยังดีกว่าไม่มาเลยนะครับ
  • ตอนนี้น้ำน่าจะลดลงบ้างแล้ว
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนครับ
  • สวัสดีครับ ครู ป.1
  • ได้ฝึกทำใจนะครับ
  • ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน
  • ลุ่มน้ำภาคกลางคงจะกำลังเจิ่งนองไปด้วยน้ำ
  • ขอส่งกำลังใจมาให้กับทุกๆ คนที่ประสบกับน้ำท่วมนะครับ
  • สวัสดีครับ ยายคิม
  • ตอนนี้น้ำแห้งหมดแล้ว
  • เหลือไว้แต่ร่องรอยของน้ำหลาก
  • ใบข้าวของผมก็เต็มไปด้วยโคลน
  • ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจ
  • สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง
  • ปีหน้าค่อยปลูกก็ยังไม่สายนะครับ
  • ข้าวที่หนีน้ำได้  สมัยก่อนมีปลูกแถบอยุธยาและจังหวัดที่น้ำท่วมนานๆ
  • เรียกว่าข้าวฟางลอยครับ เขาจะยืดตัวหนีน้ำเมื่อน้ำมา
  • แต่เดี๋ยวนี้หายไปหมดแล้ว พร้อมกับการมาของรถเกี่ยว รถดำ
  • อิอิ...คนสมัยก่อนเขาเก่งกว่าครับ
  • เพียงแต่เรามองไม่เห็นคุณค่าเอง
  • สวัสดีครับ คุณณัฐรดา
  • หวังไว้เช่นกันครับ
  • ขอร่วมเป็นกำลังใจให้ไทยพ้นภาวะน้ำท่วมนี้ไวๆ
  • ขอบคุณครับ
  • สวัสดีครับคุณ หนูรี
  • ขอบคุณมากครับ
  • ยะลาฝนกำลังตก ดูแลสุขภาพด้วยเช่นกันนะครับ
  • นี่แหละครู..ตัวจริง
  • หลังน้ำลดแล้ว จะมาจับจิ้งโก่ง จิ้งกุ่ง จิ้งงีด คั่วบ้างได้ไหม... 
  • ผมรู้ว่าท่าน..ไม่กิน แหล่งแคลเซี่ยมและโปรตีน ที่กระโดดได้ แต่ผมทำใจลำบาก..ของมันชอบ.. ฮ่าๆๆๆๆ 
  • สวัสดีครับท่าน สามสัก
  • ปีนี้พวกจิ้งหรีดไม่รู้หายไปไหน
  • อาจเป็นเพราะผมไม่ได้ตัดหญ้ามั้ง
  • ที่มันรก จิ้งหรีดเลยอพยพไปที่อื่นหมด
  • อิอิ..

สวัสดีค่ะ ขอบคุณที่ไปแวะทักทายกัน พี่ไม่ได้มีโอกาสตอบทันทีค่ะ น้ำท่วมบ้านเช่นกัน ท่วมฉับพลัน ท่วมหนัก และท่วมนาน ปีนี้หนักมาก ทำให้เราต้องคิดจากบทเรียนที่ได้รับนี้ค่ะว่าควรจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร

พี่เคยอ่านพบว่ามีพันธุ์ข้าวที่เขาจะปลูกในที่น้ำท่วมถึง เป็นพันธุ์ท้องถิ่น ต้นข้าวจะยืดตัวตามระดับน้ำ พี่คิดว่าที่ราบลุ่มภาคกลางน่าจะพัฒนาพันธุ์ข้าประเภทนี้นะคะ

  • สวัสดีครับ อ.คุณนายดอกเตอร์

  • ข้าวพื้นเมืองของเราในอดีตมีนะครับที่ทนน้ำท่วม

  • ผมมีข้อมูลส่วนหนึ่งมายืนยัน

  • จากการค้นหาจาก google บทที่ 2 ข้าว (Rice)

  • ข้าวขึ้นน้ำหรือข้าวนาเมืองหรือข้างฟางลอย (floating rice) เป็นข้าวที่ปลูกในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมลึกในฤดูน้ำหลาก โดยมีน้ำท่วมลึกเกินกว่า 80 ซม. บางที่น้ำอาจจะลึกถึง 3-4 เมตรก็ได้ พันธุ์ข้าวชนิดนี้จะสามารถปรับตัวได้ตามระดับน้ำที่สูงขึ้นจึงเรียกว่าข้าวขึ้นน้ำ พบมากในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ส่วนในภาคใต้พบบ้างเป็นบางแห่ง การปลูกมักจะใช้หว่านข้าวแห้งตอนต้นฤดูฝน พันธุ์ที่ทางราชการแนะนำได้แก่ เล็บมือนาง 111, ปิ่นแก้ว 56, ตะเภาแก้ว 161, นางฉลอง, กข.17, กข.19 เป็นต้น ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 200-300 กก./ไร่ เมล็ดข้าวเมื่อนำไปสีมักจะแตกหักเนื่องจากข้าวสารมีท้องไข่หรือท้องปลาซิวมาก พ่อค้าจึงนิยมเอาไปทำข้าวนึ่งเพราะเมื่อนำไปสีแล้วได้ข้าวสารที่มีคุณภาพดี
  • หรือข้าวนาเมือง http://www.culture.go.th/knowledge/story/rice/rice.html
  • ผมมีความรู้ไม่มากนะครับ แต่เคยรู้มาว่าข้าวที่ทนน้ำท่วมในอดีตของเรามีมานานแล้ว
  • แต่กำลังจะหายไปเพราะเกษตรกรต้องการทำนาเพื่อขายให้มีรายได้มากๆ จึงเปลี่ยนเป็นพันธุ์ใหม่ๆ กันหมด
  • ..
  • อยู่ริมน้ำก็มีเรื่องเกี่ยวกับน้ำให้ได้เรียนรู้ และประสบพบเจอเรื่องที่ไม่คาดคิดเยอะเลยนะครับ
  • ขอให้น้ำแห้งไวๆ นะครับ

สวัสดีค่ะ

      ทดลองปลูกข้าวไร่เพื่อนำปัญหาที่พบไปพัฒนาให้ดีขึ้น  สมกับเป็นนัก

วิชาการเกษตรจริงๆค่ะ  ดูชีวิตมีความสุขดีนะคะ น้ำท่วมที่อื่นมีปัญหา แต่คุณ

สิงห์ป่าสักมีมุมมองที่ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา....  ขอสนับสนุนความคิดนี้ค่ะ

             อยู่กับธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน และมีความสุขค่ะ

  • สวัสดีครับครู KRUDALA
  • งานส่งเสริมการเกษตรจริงๆ แล้วเป็นงานที่สนุกและท้าทายมาก
  • แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะทิศทางจะขึ้นอยู่กับ...ข้างบน
  • ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะมาจากพื้นที่/เกษตรกรมากกว่า
  • ความรู้ที่จะใช้ บางครั้งเราจะคัดลอกตำรา/ความสำเร็จจากพื้นที่ที่อื่นมาใช้โดยตรงไม่ค่อยได้
  • ต้องเก็บเกี่ยวและแสวงหาเอาจากพื้นที่นั่นเอง
  • เพราะในพื้นที่เป็นแปลงทดลองแปลงใหญ่ที่มีความรู้มากมาย
  • และส่วนหนึ่งเราต้องค้นหาและสรุปด้วยตนเอง
  • จึงต้องลงมือทำเองบ้างเพื่อความชัดเจนครับ
  • ผมมีแปลงปลูกทั้งมะม่วง-ลำไย-ไผ่ ฯลฯ ครับ
  • บางครั้งก็ได้ผล  บางฤดูก็ไม่ได้ตามที่คาด
  • แต่อย่างน้อยเราก็มีข้อมูลไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.)กับเกษตรกรได้บ้าง
  • ขอบคุณที่แวะมาทักทายครับ
  • น้ำที่ท่วมคงลดบ้างแล้วนะ
  • อ่านในบันทึกทุกครั้งต้องได้วิธีคิดทุกครั้งไป
  • จึงต้องแวะเวียนมาเรียนบ่อยๆ
  • ส่งกำลังใจมาด้วยคนคะ

 

แวะมาทักทายคนบ้านเดียวกัน ก่อนจะไปนอนค่ะ

                         

"วาตภัย ในครั้งนี้ อนาถหนา

แสนโสกา หนักจิต คิดสับสน

สัตว์เลี้ยงตาย นั้นหนอ ยังพอทน

ชีวิตคน ตายไป ให้อาดูร"

  • สวัสดีครับคุณ✿อุ้มบุญ✿
  • น้ำลดลงหมดแล้วครับ
  • ตอนนี้น่าจะไหลไปถึง กทม.แล้ว
  • อิอิ..
  • ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยนเยียนบ่อยๆ ครับ
  • ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
  • ขอส่งแรงใจไปถึงทุกคนที่ประสบภัย
  • และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวที่สูญเสียนะครับ
  • ท่านผู้เฒ่ายัง สู้ๆ นะครับขอเอาใจช่วย

สวัสดีค่ะ

แวะมาส่งกำลังใจให้ด้วยความห่วงใยค่ะ

น้ำคงลดลงบ้างแล้ว

รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

(^___^)

images by uppicweb.com

    ดอกกุหลาบ หน้าหนาวมีน้ำเหมยเกาะเต็มต้น  ตางเพ้เป๋นอย่างใดผ้อง 

ที่สุราษฎร์ก็เช่นกันค่ะ จากที่ได้นำเสนอการปลูกข้าวไร่ในพื้นที่ตำบลพ่วงพรมคร ปรากฎว่ากำลังจะเก็บเกี่ยวเดือนหน้า ก็ต้องมาจมน้ำหมดเลย จะเข้าไปดูก้ไปไม่ได้น้ำท่วมสูง น่าเห็นใจนะค่ะ

  • สวัสดีครับ คนไม่มีราก
  • น้ำลงลงเป็นปกติแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาให้กำลังใจ
  • สวัสดีครับครู KRUDALA
  • ทางกำแพงเพชรหน้าหนาวอากาศจะดีมากครับ
  • ไม่หนาวเย็นจนเกินไป
  • ไม่เหมือนทางบ้านเฮา
  • ตอนเป็นนักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียนไว้ข้างใน
  • เช้ามาก็ถอดเสื้อกันหนาวออกก็ไปโฮงเฮียได้เลย
  • อิอิ
  • น้อง oreo
  • น่าเห็นใจเกษตรกรที่น้ำท่วมนะครับ
  • แต่ก็คงต้องทำใจเพราะมันเป็นธรรมชาติ
  • ยังไงเราก็ต้องหาทางปรับตัว ปรับระบบให้ได้
  • ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก
  • ส่งกำลังใจมาให้นักส่งเสริมฯ ทางใต้ทุกท่านด้วยนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท