เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน “พ่อคำเดื่อง ภาษี”


คำว่ากลับทางคือเปลี่ยนจากเศรษฐกิจทุนนิยม ไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยชาวบ้านต้องจัดการบนฐานความรู้ของตนเองที่สอดคล้องกับท้องถิ่นที่เราอยู่ ต้องเรียบง่ายบนฐานของการพึ่งพอตนเองและนึกถึงรุ่นลูกรุ่นหลานว่าจะสร้างอะไรไว้ให้เขา ไม่ใช่มุ่งใช้มุ่งกินมุ่งทำลายผลาญทรัพยากรจนหมด

เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน พ่อคำเดื่อง ภาษี

              วันที่ 16 กันยาเสร็จจากบรรยายที่ วทก.แล้วผมได้มาร่วมสัมมนาของ สสส.เกี่ยวกับการสร้างสุขภาวะแบบบูรณาการ ที่โรงแรมเสนาเพลส  แค่ชื่อสุขภาวะแบบบูรณาการผมก็เริ่มค้านในใจแล้วว่า ทำไมต้องบูรณาการเพราะคำว่าสุขภาวะ มันก็บูรณาการในตัวของมันเองอยู่แล้ว เราใช้คำว่าบูรณาการ กันจนเกร่อไปหมด ส่วนใหญ่ที่เห็นก็จะเป็นบูรณากองหรือบูรณาเกิน ซะมากกว่า  บูรณาการต้องทำทุกอย่างให้เป็นอย่างเดียว ไม่ใช่ทำให้ครบทุกอย่าง เหมือนกับองค์รวม ต้องมีองค์เดียวหรือหนึ่งเดียว ไม่ใช่มีหรือทำให้ครบทุกเรื่องแล้วบอกว่าเป็นองค์รวม อย่างนั้นน่าจะเป็นรวมองค์มากกว่า  ผมมาถึงโรงแรมได้เข้าร่วมประชุมประมาณ 15 นาทีก็เลิกแล้วนัดคุยกันอีกทีประมาณ 1 ทุ่ม ตอนเข้าเช็คอินผมตั้งใจจะนอนคนเดียว ถ้าต้องจ่ายเพิ่มก็ยินดีเพราะนอนกับคนไม่รู้จักค่อนข้างจะอึดอัด ที่ต้องมานอนกับใครไม่รู้ เมื่อก่อนเคยเจอบางคนก็นอนกรนจนเราหลับไม่ได้เลย บางคนสูบบุหรี่ในห้อง หรือบางคนก็นอนดึกเปิดทีวีเสียงดังเราจะนอนก็นอนไม่ได้ มาคราวนี้ก็เลยไม่อยากนอนคนเดียว แต่ผู้จัดกำชับให้นอนคู่ จริงๆแล้วส่วนใหญ่ที่มาประชุมกันเจารู้จักกันดีแล้ว เผอิญผมเป็นเด็กใหม่เลยไม่ค่อยจะรู้จักใคร แต่พอรู้ว่านอนกับใคร ผมก็เปลี่ยนใจเพราะคนที่ผมต้องพักด้วยคือพ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านจากบุรีรัมย์ที่ผมได้เคยอ่านประวัติและอยากเจอตัวจริงเพื่อจะได้ขอความรู้นั่นเอง แต่คืนนั้นแทบไม่ได้คุยกันเลยเพราะผมเข้ากลุ่มกว่าจะเลิกก็ประมาณ 3 ทุ่ม พ่อคำเดื่องก็หลับแล้ว ก็อดใจรอจนถึงตอนเช้าว่าจะหาโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่พอคุยกันจริงผมกลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กนักเรียนที่กำลังขอวิชาความรู้จากอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ จะว่าเป็นstory tellingก็ไม่ค่อยเหมือนนัก จะเป็นDialogueก็ไม่เชิง เหมือนๆลักษณะปุจฉา-วิสัชนามากกว่า คือผมถามขอความรู้แล้วท่านตอบให้ความรู้ แม้เราทั้งสองคนจะไม่ได้ทำเครื่องมือธารปัญญากันแต่ผมก็รู้แล้วว่าผมต้องเป็นกลุ่มใฝ่รู้ และพ่อคำเดื่องท่านก็เป็นผู้พร้อมให้  ทำไมผมสนใจเรื่องนี้ เพราะผมเป็นลูกเกษตรกร มีสายเลือดชาวไร่ชาวนาเต็มเปี่ยมและชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เล็กๆ ชอบเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานหรือวนเกษตร ทำนองนี้มานานแล้ว แต่เวลาและโอกาสไม่ค่อยมี เมื่อเดือนที่แล้วที่ผมได้ไปบรรยายที่โรงพยาบาลพนมสารคามเรื่องการจัดการความรู้ก็ได้ถือโอกาสไปหาผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเจริญที่สนามชัยเขต ไปศึกษาและเรียนรู้จากท่านมาแล้ว เรื่องปราชญ์ชาวบ้านอีสานที่ได้ยินชื่อก็มีมหาอยู่ ครูบาสุทธินันท์  พ่อคำเดื่อง ผู้ใหญ่ผาย แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสสนทนาหาความรู้จากท่าน มาสัมมนาคราวนี้จึงถือเป็นโชคดีอย่างยิ่งของผม  พ่อคำเดื่อง ภาษีเป็นผู้เชียวชาญเรื่องเกษตรอินทรีย์มานาน ท่านพูดจากการทำจริง ทุกคำพูดตรงประเด็น ไม่ต้องมาร้อยเรียงถ้อยความให้ดูสวยหรู ท่านบอกว่าครอบครัวหนึ่งมีที่ 10-100ไร่ แล้วเลี้ยงตัวไม่รอดนั่นแสดงว่าเรามาผิดทาง เกษตรกรมัวปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อขายเอาเงินอย่างเดียว พอราคาตกก็เจ๊ง ขายไม่ได้ เป็นหนี้เป็นสิน ซึ่งท่านเคยเป็นมาแล้ว จึงต้องกลับทางแต่ไม่ใช่ย้อนหลังสู่อดีต คำว่ากลับทางคือเปลี่ยนจากเศรษฐกิจทุนนิยม ไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยชาวบ้านต้องจัดการบนฐานความรู้ของตนเองที่สอดคล้องกับท้องถิ่นที่เราอยู่  ต้องเรียบง่ายบนฐานของการพึ่งพอตนเองและนึกถึงรุ่นลูกรุ่นหลานว่าจะสร้างอะไรไว้ให้เขา ไม่ใช่มุ่งใช้มุ่งกินมุ่งทำลายผลาญทรัพยากรจนหมด ทรัพยากรธรรมชาติที่มีการสั่งสมกันเป็นล้านๆปี ถูกใช้หมดภายในแค่ 2 ชั่วอายุคนที่ผ่านมาหรือแค่ร้อยปีเท่านั้นเองแล้วลูกหลานในอนาคตเขาจะอยู่กันอย่างไร  แต่กว่าท่านจะทำได้สำเร็จก็ค่อยๆทำใช้เวลามาหลายปี กว่าจะได้สระสักลูกก็ต้องค่อยๆทำไป แต่พอมาตอนนี้มีคนรู้จักมาก มีคนไปดูงานมากพอเห็นตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกว่ายากจะไปทำได้ยังไง เครื่องมือเครื่องจักรก็ไม่มี คนก็ท้อทำตามไม่ได้ ท่านก็เลยต้องคิดวิธีที่จะให้ง่ายต่อการทำตาม โดยการคิดเกษตรแบบประณีตขึ้นมา ถ้าคนยังต้องปลูกอ้อยปลูกพืชเชิงเดี่ยวอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้แบ่งที่มา 1 ไร่มาทำเกษตรแบบปราณีต ที่ดิน 1 ไร่ แบ่งออกได้เป็น 9 ตารางฟุต ก็สมารถปลูกพืชไว้กินได้ตั้ง 9 อย่างและตรงกลางก็สามารถปลูกไม้ยืนต้นไว้อยู่ร่วมกันได้ เช่นยางนา สะเดา ปลูกเพื่อเอาไว้ให้ลูกหลานใช้สร้างบ้านในอนาคต พอไม้ใหญ่เริ่มโตก็เปลี่ยนพืชที่ปลูกใน9 ตารางฟุตนั้นให้สูงใกล้เคียงกันกับไม้ใหญ่ไปเรื่อยๆตามเวลาการเก็บเกี่ยวพืชเหล่านั้นได้ ก็จะมีพืชผักไว้กินได้ตลอดปี น้ำที่รดไม้ใหญ่ก็ไม่สูญเปล่าเพราะพืชผักก็ได้น้ำด้วย มีอยู่คนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายเขาเอาไปประยุกต์ในที่ของเขาโดยเขาขุดบ่อ 2 บ่อขนาดประมาณ 2x4 เมตรแล้วเลี้ยงปลาดุกในบ่อ แต่เพื่อไม่ให้บ่อร้อนเขาก็ตัดไม้ยูคามาทำเสาสี่เสาแล้วมุงด้วยหญ้าแฝกที่มี แต่เนื่องจากเขาเสียดายเสาไม่อยากตัดให้สั้นเขาก็เลยทำเสาหลังคาสูง พอทำเสร็จเขาก็คิดอีกว่าถ้าทำเรือนยกขึ้นเหนือบ่อก็สามารถเลี้ยงหมูได้ ขี้หมูที่หล่นลงมาก็เป็นอาหารของปลาได้ด้วย แต่ต่อมาพบว่าขี้หมูเยอะปลากินไม่ไหวน้ำจะเสีย ก็ทำเป็นรางระบายออกไปรดผักได้ เขาทำพื้นเหนือขึ้นไปอีกเลี้ยงเป็ดได้อีก แล้วก็ทำพื้นสูงขึ้นไปเลี้ยงไก่ได้อีก ส่วนใต้หลังคาก็ทำเป็นแปลงเพาะเห็ดนางฟ้า  เขาสามารถใช้หลังคาชุดเดียวให้ร่มเงาและทำเกษตรได้ตั้งหลายอย่าง ถ้าเขาไปทำโรงเรือน 5 โรงก็จะเสียทรัพยากรไปเยอะและเสียแรงงานเดินไปเดินมาอีกด้วย พอมาเข้ากลุ่มเขาก็บอกว่าถ้าประกวดเขาต้องชนะแน่ พ่อคำเดื่องบอกว่าคนเราพอทำอะไรสำเร็จก็มักจะลืมตัว มีทิฐิ คิดว่าเก่งกว่าคนอื่น เชื่อมั่นตัวเองมากเกินไปก็จะติดกับดักความสำเร็จแล้วไม่ยอมคิดต่อ ไม่เรียนรู้ต่อ แต่พ่อคำเดื่องท่านก็บอกว่าแค่นี้ยังไม่ได้รางวัลหรอกที่อื่นเขาทำได้มากกว่านี้ ก็ยกตัวอย่างว่าถ้าบนหลังคาปลูกบวบให้เลื้อยขึ้นไปก็จะได้บวบมากินอีกแล้วปล่อยมดแดงที่พุ่มบวบก็ได้ไข่มดแดงอีกหรือแขวนรังผึ้งโพรงรอบๆหลังคาก็จะได้รังผึ้งน้ำผึ้งมากินอีก เขาจึงได้สติและเรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่ดีที่สุดถ้าเราคิดและเรียนรู้ปรับปรุงไปมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ  นี่ก็เป็นการบันทึกจากเรื่องเล่าจากพ่อคำเดื่อง ซึ่งเมื่อมาเปรียบเทียบกับการทำงานในโรงพยาบาลบ้านตากก็จะพบว่าคล้ายๆกันคือกว่าจะพัฒนามาได้ถึงวันนี้ก็ค่อยๆทำมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำปีสองปีแล้วจะดีขึ้นเลย และที่สำคัญผมก็จะเตือนตนเองและเจ้าหน้าที่อยู่เสมอว่าเราก็ไม่ได้ดีที่สุด เรายังต้องพัฒนาขึ้นอีก ตอนนี้เราอาจจะทำได้แค่20-30% เท่านั้น อย่าหลงตัวเอง อย่าคิดว่าเราเก่งกว่าที่อื่น เราจะได้ไปเรียนรู้จากคนอื่นแล้วมาพัฒนาต่อยอดได้ ยิ่งตัวผมเองนี่เป็นคนทำงานกับชุมชนกับชาวบ้านแต่ช่วงนี้ถูกเชิญไปบรรยายไปประชุมบ่อยก็เสี่ยงเหมือนกัน เพราะคนที่ทำงานชุมชนจริงๆจะรู้เลยว่าถ้าไม่ค่อยอยู่กับชุมชนงานก็จะตกลงและที่สำคัญอาจทำให้เราตีนลอย(เป็นคำพูดของชาวบ้านที่เข้าร่วมสัมมนาของ สสส.คนหนึ่ง ชอบก็เลยยืมมาใช้) เหยียบไม่ถึงพื้น คิดว่าเราเก่งเราแน่ ก็อาจจะผิดพลาดได้ เมื่อได้คุยกับพ่อคำเดื่องก็ได้ข้อเตือนใจตนเองไปด้วย และไม่แน่วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีแพทย์คนหนึ่งหันกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับไร่นาสวนผสมก็เป็นได้ เมื่อถึงเวลาอันสมควร

            ที่เล่าให้ฟังเพราะนี่คือการถอดบทเรียนจากคุณกิจตัวจริงเสียงจริง ที่ได้เจอปัญหา หาวิธีการปฏิบัติจนดิ้นหลุดจากบ่วงปัญหาด้วยตนเอง ลงมือทำเองจนสำเร็จ ไม่ใช่แค่ไปฟังเอาความคิดของใครมาเล่าต่อเท่านั้นและอีกอย่างพอสำเร็จก็ไม่ได้หยุดนิ่งพยายามทำในสิ่งที่ทำอยู่ให้ง่ายสำหรับคนอื่นๆที่จะก้าวเข้ามาเรียนรู้ด้วย นี่แหละครับคุณกิจ ปราชญ์ชาวบ้าน

             วันที่ 17 กันยาช่วงเช้ายังคงมีการระดมสมองและประชุมกลุ่มเพื่อหาแนวทางการสร้างสุขภาวะแบบบูรณาการโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง การมาเข้าร่วมฟังในครั้งนี้ทำให้ผมได้มองเห็นอะไรๆกว้างขึ้นไปอีก ได้รับฟังความคอดการทำงานของคนที่ทำงานกับชุมชนจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยเช่นอาจารย์ไพบูลย์ คุณลุงสุรินทร์ คุณแม่ทองดี เป็นต้น ทำให้รู้ว่าเมืองไทยยังคงมีแสงสว่างเสมอ เพราะเมืองไทยไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง และมีคนที่คอยดูแลเมืองไทยไม่น้อยเลย

              มีช่วงหนึ่งได้คุยกับอาจารย์หมอพรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ท่านได้รับเป็นบรรณาธิการการจัดทำหนังสือร่วมกันระหว่างสสส.กับสำนักวิชาการในเรื่องการจัดการความรู้ในระบบสาธารณสุข ซึ่งหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขเองก็มีการจัดการความรู้อยู่หลายแห่งแล้วเช่นกรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมควบคุมโรค เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ตาก เป็นต้น ก็คงจะมีการนัดประชุมกันเพื่อจัดทำออกมาให้เป็นรูปแบบตัวอย่างของการจัดการความรู้ในหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขได้ ซึ่งผมเองก็ยินดีมากที่กระทรวงมีคนมาขยับที่จะทำในเรื่องนี้ โดยเฉพาะคนเก่งที่มีความสามารถอย่างอาจารย์หมอพรเทพ
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 4047เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2005 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พ่อคำเดื่องนี้สุดยอดจริงๆ ผมรักและเคารพพ่อมากเลย หากมีคนที่คิดเหมือนพ่อ คงจะดีมากเลย เราจะได้เป็น .ไท.

ก็ดีใจนะครับที่มีคนเก่งอย่างพ่อคำเดื่อง อยากให้ทุกคนที่รักธรรมชาติและแผ่นดินไทยของเราอย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้ว  หันมาเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างจริงจัง  เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องรักษา  อนุรักษ์  และจะต้องมีการถ่ายทอดอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งมีคนเก่งอย่างพ่อคำเดื่องอยู่แล้วก็อย่าพลาดโอกาศทอง  เพราะความสุขของคนเราอยู่ที่ความพอ  เพราะหากมีความพอชีวิตก็มีความสุข  ความสุขของคนเรา  คือ  การได้อยู่กับธรรมชาติ  อยู่ที่ภูมิปัญญาที่เราสร้างขึ้นและภูมิปัญญานั้นก็ต้องอยู่กับธรรมชาติที่สมดุลกัน  คนเราหากทำสิ่งใดเพื่อสังคม  สังคมก็จะมอบความสุขให้กับคนนั้น  อาจจะเหนื่อยไปบ้างแต่ก็คุ้ม  และภูมิใจไม่น้อยที่เดียว 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท