การสร้างวินัย : วัฒนธรรมใหม่ที่ต้องร่วมกันสร้างในระบบราชการไทย


การสร้างวินัย : วัฒนธรรมใหม่ที่ต้องร่วมกันสร้างในระบบราชการไทย

"การสร้างวินัย : วัฒนธรรมใหม่ที่ต้องร่วมกันสร้าง

ในระบบราชการไทย"

ถึงแม้ระบบราชการไทยจะมีหารกำหนดวิสัยทัศน์ ค่านิยม แผนยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ เป้าประสงค์ พันธกิจ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ แต่สิ่งที่สำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนา ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลหรือข้าราชการ หากข้าราชการไม่รู้ซึ้ง ไม่พยายามทำความเข้าใจ ตลอดจนไม่มองให้เห็นถึงประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งต่าง ๆ ที่หน่วยงานกลางอย่างสำนักงาน ก.พ. หรือ สำนักงาน ก.พ.ร. พยายามกำหนดมาให้ การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาดังกล่าวก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก และเมื่อถึงเวลาที่ปัจจัยสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงอย่างเงินรางวัล (โบนัส) หมดไป...การพัฒนาก็จะหยุดเช่นกัน...

ดังนั้น หากต้องการเห็นระบบราชการไทยมีการพัฒนาอย่างมั่นคงและต่อเนื่องจะต้องทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาเกิดขึ้นจากตัวของข้าราชการเอง โดยสิ่งสำคัญประการแรก คือ การสร้างวัฒนธรรมของการมีวินัย...

การสร้างวัฒนธรรมของการมีวินัย จะต้องเริ่มจากความเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว เป้าหมายของการมีวินัยคืออะไร?... และวินัยที่มีอยู่นั้นขัดต่อธรรมชาติของข้าราชการไทยในขณะนี้หรือไม่?...เพราะวินัยที่แตกต่างจากธรรมชาติของคนนั้นจะปฏิบัติได้ยาก...จากนั้นจะต้องกำหนดวินัยที่เหมาะสมกับสภาพข้อเท็จจริงของข้าราชการและสร้างเป็นวัฒนธรรม โดยการเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกให้แก่ข้าราชการเพื่อให้เกิดความคุ้นเคย เคยชินทั้งโดยการยกย่อง การให้รางวัลตลอดจนชี้ให้เห็นถึงคุณค่าในวินัยนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความพอใจที่จะทำพฤติกรรมนั้น ๆ ด้วยตนเอง และจะต้องสร้างวินัยในเชิงบวก โดยทำให้ข้าราชการรู้สึกจากภายในว่า "วินัยเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่ใช่สร้างวินัยเชิงลบ ในลักษณะที่เป็นการบังคับอย่างที่ผ่าน ๆ มา รวมทั้งต้องทำให้ข้าราชการเห็นพ้องต้องกันและตระหนักในวัฒนธรรมนั้น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานของราชการเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างถูกต้องเหมาะสมและอยู่ในระเบียบแบบแผนยิ่งขึ้น..."

สรุป : การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาใด ๆ หากถูกผลักดันโดยแรงจากภายนอก ดังเช่น การสร้างวินัยข้าราชการที่เน้นในเรื่องบทลงโทษของการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยไม่ได้มาจากแรงผลักดันข้างใน คือ จิตสำนึกของตัวข้าราชการอันเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงแล้วนั้น แม้ว่าจะให้ผลเร็วแต่เป็นเรื่องยากที่จะให้การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนานั้น ๆ มีความยั่งยืน ดังนั้น การปลูกฝังสำนึกในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เช่น การสร้างวินัยเชิงบวก จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วย และน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ บังเกิดผลอย่างแท้จริงและมีความยั่งยืนมากกว่า ทั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หากมาจากฐานราก คือความเข้าใจและความเชื่อจากภายในตัวบุคคลแล้ว ย่อมมีความมั่นคงและเป็นผลดีในระยะยาวมากกว่าการกำหนดเงื่อนไขภายนอก คือ บทลงโทษตามกฎระเบียบมาเพื่อบังคับพฤติกรรมของคน

ดังนั้น การสร้างวินัยเชิงบวกให้เป็นวัฒนธรรมนั้นจะต้องเริ่มต้นที่ฐานรากของคน คือ ความเข้าใจและความเชื่อว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาและสังคมด้วย และหากดูตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นแล้ว เราต้องเข้าใจด้วยว่ากระบวนการสร้างหรือปลูกฝังวินัยนั้น เป็นกระบวนการทางสังคมที่ใช้เวลายาวนานและต้องมีความต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีของประเทศไทย หากจะเริ่มต้นที่ฐานรากในวันนี้ คงจะต้องใช้ความอดทนและความเชื่อมั่นว่าวินัยเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ระบบราชการไทยและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้อย่างแท้จริง...

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวินัยหรือเรื่องใดก็แล้วแต่ จะสังเกตเห็นได้ว่า...ถ้าเราสร้างมาจากฐานรากหรือจิตสำนึกภายในแล้วจะทำให้สิ่งที่ได้กระทำนั้นอยู่ยั่งยืนกว่าสิ่งอื่น ๆ ที่เข้ามาเพียงเดี๋ยวเดียว...เพราะสิ่งใดที่มาจากจิตใต้สำนึกจะทำให้สิ่งนั้น ๆ มีฐานรากที่แน่นหนา ไม่สามารถพังทลายลงมาได้...

บทความนี้เป็นการนำเสนอข้อคิดเห็นโดย นางสาวปริยนงคราญ จงธรรมคุณ

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้ได้อ่าน

จึงนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสร้างวินัยในตนเอง

เพื่อเป็นการสร้างวินัยจากจิตสำนึกภายในตนเองในภาพรวมของคนในสังคม...

หมายเลขบันทึก: 404239เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2010 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2016 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท