วิธีการดูแลตนเองเมื่อน้ำท่วม


น้ำท่วมระวังไฟ-โรคมากับน้ำ

           อุบัติภัยที่เกิดขึ้นได้หลังจากน้ำท่วม คือ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า ควรจะระมัดระวังและหลีกเลี่ยงได้ดังนี้คือ สำรวจสายไฟฟ้า ปลั๊กไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งในระดับต่ำ ต้องรีบย้ายให้สูงพ้นระดับน้ำ ถ้าน้ำท่วมปลั๊กไฟแล้ว ให้รีบปลดคัทเอาท์ทันที ให้ตรวจสอบสายไฟที่แช่น้ำ เพราะอาจจะมีกระแสไฟฟ้ารั่ว หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาเหล็กที่มีอุปกรณ์ไฟฟ้า ถ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าย้ายไม่ทัน ถูกน้ำท่วมแล้ว ควรหยุดใช้งานจนกว่าจะได้รับการตรวจสอบสภาพเสียก่อน

          ตรวจสอบสวิตซ์ไฟฟ้าว่ามีน้ำเข้าหรือถูกฝนสาดหรือไม่ เพราะการกดกริ่งที่เปียกชื้น ขณะเท้าแช่น้ำอยู่ อาจถูกกระแสไฟฟ้าดูดได้มากกว่าปกติ ถ้าเปียกน้ำอย่าแตะต้องอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ และเมื่อพบคนถูกไฟฟ้าช็อต จะต้องสับสะพานไฟลง (สับคัดเอาท์ลง) เพื่อตัดกระแสไฟฟ้าก่อนจะเข้าไปช่วยเหลือ แต่หากไม่สามารถสับสะพานไฟลงได้ ห้ามใช้มือไปจับต้องคนที่กำลังถูกไฟช็อต ให้ใช้สิ่งที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ไม้กวาด ไม้ (ที่ไม่เปียกน้ำ) เขี่ยสายไฟออกจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าช็อต และเมื่อผู้บาดเจ็บหลุดออกมาแล้ว รีบปฐมพยาบาล ถ้าหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปากช่วยหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ ให้นวดหัวใจแล้วรีบส่งโรงพยาบาลทันที หรือต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินของศูนย์นเรนทร ให้โทรสายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทางศูนย์นเรนทรมีหน่วยกู้ชีพและช่วยเหลือกรณีเจ็บป่วยและอุบัติเหตุฉุกเฉินที่เป็นเครือข่าย จะให้บริการอย่างทันท่วงที

          นอกจากนี้ เมื่อเกิดน้ำท่วม สัตว์ต่างๆ รวมทั้งสัตว์และแมลงมีพิษ ต่างก็หนีน้ำ เช่น งู ตะขาบ แมลงป่อง อาจจะมากับน้ำแล้วเข้ามาหลบอาศัยอยู่ในบ้านหรือบริเวณบ้าน จึงต้องระมัดระวังป้องกันและทำการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้องเมื่อถูกแมลงหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยหากถูกแมลงกัดต่อย ให้พยายามถอนเหล็กไนออก โดยใช้หลอดกาแฟแข็งหรือปากกาครอบ แล้วกดให้เหล็กไนโผล่แล้วดึงเหล็กไนออก แล้วใช้ยาแก้แพ้ทา หรือราดด้วยน้ำโซดา หรือประคบด้วยน้ำแข็ง ซึ่งปกติอาการบวมจะลดลงภายใน 1 วัน ถ้ามีอาการปวดกินยาแก้ปวด (พาราเซตามอล) แต่ถ้ามีอาการแพ้มาก เช่น บวมมากและอาการบวมไม่ลดลงใน 1 วัน ให้รีบไปพบแพทย์

          ถ้าถูกงูกัด ให้สังเกตดูรอยแผล ถ้าเป็นงูพิษจะมีรอยเขี้ยว ให้ผู้ป่วยนอนลง โดยให้ส่วนขา แขน ที่ถูกกัดห้อยลงต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ใช้ผ้า เชือก หรือสายยางรัดเหนือแผลให้แน่น คลายผ้าที่รัดเป็นระยะๆ ทุก 15 นาที เพื่อให้เลือดไหลเวียนบ้าง ถ้ามีเลือดออกที่แผลไม่มากก็อย่าไปห้ามเลือด เพราะเลือดจะช่วยนำพิษออกจากร่างกาย ถ้าเลือดออกน้อย อาจบีบนวดให้เลือดออกบ้าง ล้างแผลด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาด่างทับทิมแก่ๆ ห้ามให้ผู้ถูกงูกัดดื่มสุรา ยาดองเหล้าหรือยากล่อมประสาท ถ้าหยุดหายใจให้ช่วยหายใจทันที และถ้ารู้ว่าเป็นงูพิษกัด หรือไม่แน่ใจว่าเป็นงูอะไรกัด ให้ไปพบแพทย์ และถ้าจับงูได้ควรนำงูไปให้แพทย์ดูด้วย

          การป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำสกปรกมาก ๆ  แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินย่ำน้ำควรใส่รองเท้าบูทกันน้ำ หลังจากเดินย่ำน้ำทุกครั้ง ต้องล้างเท้าให้สะอาด และใช้ผ้าสะอาดเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากมีแผล ให้ใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบาดแผลและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ เบตาดีน เป็นต้น

          ปัญหาสุขภาพในช่วงที่มีน้ำท่วม หากเรารู้ว่าอะไรอาจจะเกิดขึ้น แล้วได้มีการเตรียมตัวป้องกันไว้ล่วงหน้า และต้องระมัดระวังกันอยู่เสมอ ก็จะทำให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ อุบัติภัยจากน้ำท่วม และโรคภัยไข้เจ็บที่อาจจะตามมา และอย่าลืมติดตามรับฟังข่าวสารการพยากรณ์สภาพดินฟ้าอากาศกันอยู่เสมอด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 403963เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2010 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โรคที่มักจะพบได้เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา เป็นโรคที่มาจากการย่ำอยู่ในน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดไม่แห้งเป็นเวลานาน ซึ่งอาการในระยะแรกนั้นจะเริ่มต้นที่อาการคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังจะลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง เท้าเปื่อย และเป็นหนอง ที่สำคัญอาจเกิดโรคผิวหนังอักเสบแทรกซ้อนได้ง่าย ดังนั้น จึงต้องหลีกเลี่ยงการย่ำอยู่ในน้ำ แต่ในภาวะที่น้ำท่วมขังถ้าจำเป็นต้องแช่อยู่ในน้ำแล้วละก็ ควรใส่รองเท้าบูทกันน้ำ และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ พยายามเช็ดเท้าให้แห้ง สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หากมีบาดแผลควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น ทิงเจอร์ หรือเบตาดีน โรคปอดบวม ถือเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ภายใน 24 ชั่วโมง โรคนี้สามารถเกิดจากเชื้อได้หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทำให้ปอดอักเสบ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หากมีการสำลักน้ำ หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้ การติดต่อเพียงแค่หายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วย เมื่อไอ จามหรือหายใจรดกันหรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อ่อนแอ พิการ มักพบเกิดจากการสำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูก และลำคอเข้าไปในปอด อาการทั่วไปนั้นจะมีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือเล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่าย หรือซึม เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวมต้องรีบไปพบแพทย์ทันที ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม หรือใส่หน้ากากอนามัย หากมีไข้ ให้กินยาลดไข้ และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้กินอาหารที่อ่อนย่อยง่าย กินผักและผลไม้ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โรคฉี่หนู หรือ “เลปโตสไปโรสิส” โรคที่ติดต่อได้จากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่โรค โดยเชื้อจะออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง พื้นดินที่ชื้นแฉะ หากผู้ที่มีบาดแผล มีรอยขีดข่วน รอยถลอก ย่ำไปโดนก็สามารถติดเชื้อได้ แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้นเชื้อที่ว่านี้สามารถไชเข้าเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานได้อย่างไม่น่าเชื่อ การรับประทานอาหารที่มีหนูมาฉี่รดก็สามารถทำให้ติดโรคนี้ได้เช่นกัน เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วประมาณ 4-10 วัน จะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่องและโคนขา หรือปวดหลัง บางคนมีอาการตาแดง อาจมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร หรือท้องเดิน หากมีอาการดังกล่าวหลังจากที่สัมผัสสัตว์ หรือลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ในพื้นที่ทันที ถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้ ดังนั้น ควรสวมรองเท้าบูทยางกันน้ำ หากต้องลุยน้ำ ย่ำโคลน โดยเฉพาะถ้ามีบาดแผลหลีกเลี่ยงการแช่น้ำ ย่ำโคลนนานๆ เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องรีบอาบชำระร่างกายให้สะอาดโดยเร็วที่สุด รับประทานอาหารที่ปรุงสุกทันที และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิดดูแลที่พักให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของหนูเก็บกวาด ทิ้งขยะให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู.... อหิวาตกโรค เกิดจากแบคทีเรีย ติดต่อโดยอยู่ในอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย แพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค อาการทั่วไปจะปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำวันละหลายครั้ง อาการคล้ายท้องร่วง จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน ถ้าอาการรุนแรง จะปวดท้องรุนแรง ถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว อาเจียน การถ่ายบ่อยทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเบาลง และเสียชีวิตได้ การป้องกัน ควรจัดให้มีส้วมใช้ตามหลักสุขาภิบาล ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหารและหลังจากเข้าส้วม ทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ห้ามรับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงการกินอาหารสดระหว่างที่มีโรคระบาด เก็บภาชนะที่ใส่อาหารให้มิดชิด ไม่ให้แมลงวันไปตอมได้ ทำลายขยะมูลฝอย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค และไม่ให้แมลงวันใช้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ โรคตาแดง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส มักจะติดต่อทางมือ ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัว โดยมากมักมีอาการราว 2 สัปดาห์ก็จะหาย อาการที่สำคัญคือคันตา เป็นอาการที่สำคัญของผู้ป่วยตาแดงที่เกิดจากภูมิแพ้ อาการคันอาจจะเป็นมากหรือน้อย นอกจากนั้นอาจจะมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น หอบหืด ผื่นแพ้ ขี้ตา ลักษณะของขี้ตาก็ช่วยบอกสาเหตุของโรคตาแดง ขี้ตาใสเหมือนน้ำตา มักจะเกิดจากไวรัส หรือ โรคภูมิแพ้ ขี้ตาเป็นเมือกขาว มักจะเกิดจากภูมิแพ้หรือตาแห้ง ขี้ตาเป็นหนองมักจะร่วมกับมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า ทำให้เปิดตาลำบากสาเหตุมักจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สำหรับการดูแลเรื่อง “น้ำดื่ม” เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงต้องทำน้ำให้สะอาดก่อนดื่ม วิธีที่สามารถทำได้ง่ายก็คือ การต้มให้เดือดเพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำนั่นเอง ส่วนในกรณีใช้น้ำดื่มบรรจุขวด จะต้องดูตราเครื่องหมาย อย. ก่อนดื่มทุกครั้ง หากเป็นน้ำดื่มในภาชนะควรบรรจุปิดสนิท น้ำต้องใส สะอาด ไม่มีตะกอน และไม่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน หลังดื่มน้ำหมดแล้วควรทำลายขวด/ภาชนะบรรจุ โดยทุบหรือบีบให้เล็กลงก่อนนำไปทิ้งถุงดำ เพื่อสะดวกต่อการนำไปกำจัด ส่วนน้ำใช้ ต้องสะอาด หากไม่แน่ใจให้ใช้คลอรีนทำลายเชื้อโรคในน้ำก่อนโดยใช้คลอรีน 100 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ 10 นาที ก็จะสามารถนำน้ำไปใช้ได้อย่างสบายใจ เรื่อง “การขับถ่าย” ในภาวะน้ำท่วมหากไม่สามารถถ่ายในส้วมได้ ห้ามถ่ายลงในน้ำโดยตรงเด็ดขาด... ให้ถ่ายใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ปูนขาวพอสมควร ปิดปากถุงให้แน่น ใส่ลงถุงขยะอีกครั้ง แล้วนำไปทิ้งบริเวณที่จัดไว้หรือรวบรวมไว้เพื่อรอการนำไปจัดการอย่างถูกวิธี การระวังสัตว์มีพิษอย่าง งู แมงป่อง ตะขาบ ที่หนีน้ำท่วมขึ้นมาอยู่บนบ้านเรือน ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง นอกจากจะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษเหล่านี้แล้ว ยังช่วยป้องกันการเหยียบวัสดุอันตราย เช่น เศษแก้ว เศษกระเบื้อง ตะปู ที่อยู่ใต้น้ำจนได้รับบาดเจ็บ ที่สำคัญควรถือไม้นำทางตลอดเวลา เพราะอาจพลัดตกหลุมบ่อที่น้ำท่วมจนมองไม่เห็นได้ หลังเกิดน้ำท่วม เมื่อระดับน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ให้เก็บกวาด ทำความสะอาด อีกทั้งจัดเก็บซากสัตว์ที่ตายแล้วด้วยการฝังเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ที่สำคัญ คือ “น้ำใจ” ที่พี่น้องคนไทยควรช่วยเหลือกันในเวลาที่คนในชาติต้องประสบกับภัยธรรมชาติเช่นนี้ เราเชื่อว่า “น้ำใจ” ช่วยแก้ไข “น้ำท่วม” ได้แน่นอน

ความรู้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณท่าน ดร.ดิศกุล ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท