พี่เลี้ยงนักวิจัย : การเสียสละที่ยิ่งใหญ่ให้ตนเอง


หากเรามองเห็นเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจนแล้ว การลงมือทำอะไรสักอย่างล้วนสร้างการเรียนรู้และสร้างประโยชน์ให้กับเราทุกอย่างไม่ว่าจะทางตรงคือการได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง หรือทางอ้อมคือการในอยู่ในเมืองที่อากาศดี น้ำดี อาหารดี ผู้คนใจดี อย่างนี้ไม่เรียกว่าทำเพื่อตนเองแล้วจะทำเพื่อใคร แต่เป็นการทำเพื่อตนเองที่มิได้แค่ประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นหากเราอยากมีความสุขที่มากขึ้นก็ต้องช่วยกันขยายงานให้มากขึ้น หากเราอยากเร่งเวลาแห่งความสุขให้เร็วขึ้น ก็ต้องลงแรงสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้มากขึ้น

     “อาสาสมัครนักกิจกรรม” คำนี้ทำให้ผู้ชายธรรมดา บ้านนอกคนหนึ่งดูมีเสน่ห์ในสายตาของคนทั่วไป โดยเฉพาะสาว ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย อาจจะไม่ผิดก็ได้ว่าคงเป็นเพราะด้วยเหตุผลก็ได้ที่ทำให้ผมพาตัวเองเข้ามาสู่ความเป็นนักกิจกรรม เมื่อครั้งเป็นเด็ก มอสี่  ก็แน่แหละครับผมมันเด็กท้ายแถว เรียนไม่ดี กีฬาไม่เด่น ไม่เป็นดนตรี แล้วจะหาดีอะไรได้ สาว ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคงไม่มีกระเด็นมาชายตามอง แต่ด้วยความเป็นอาสาสมัครนักกิจกรรมที่โดยภาพคิดทำในสิ่งที่เรียกว่าทำเพื่อสังคม ทำเพื่อคนอื่น (ผมมิอาจปฎิเสธได้ว่าคนที่แบบนี้ตั้งแต่แรกนั้นมี แต่กรณีผมขอยกเว้น) แต่เมื่อใครได้เข้ามาสัมผัสเราจะพบกับความรู้สึก ที่ยากจะบรรยายผมรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ออกค่ายอาสา ผมสนุกทุกกิจกรรมที่ได้ทำเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม ความเป็นอาสาสมัครนักกิจกรรมมันฝังอยู่อย่างไม่รู้ตัว หากใครที่เคยผ่านรั้วมหาวิทยาลัยคงสัมผัสได้และร้อยละกว่าห้าสิบที่ก็คงเคยรู้สึกอย่างผม

คำถามสำคัญของผมอยู่ตรงที่หากเรื่องนี้เป็นสิ่งดี หากการทำเพื่อคนอื่นเพื่อสังคมมันทำให้เราภาคภูมิใจเช่นนี้ แล้วทำไมอัตราคนรุ่นใหม่ที่จบการศึกษามาทำงานเพื่อสังคมที่จริง จังกลับลดลงอย่างน่าใจหาย ล่าสุดเพิ่งไปคุยกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับอาสาสมัคร เล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนต้องมีคนมาสอบและแย่งกันเข้ามาเป็นอาสาสมัครแต่ปัจจุบันน้อยลงไปทุกที เพราะอะไร คำตอบนี้ผมค้นพบด้วยตัวเองตอนเรียนจบแล้วกำลังจะทำงาน ด้วยความที่ถนัดกิจกรรมด้านนี้และสนใจเรื่องการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม จึงไม่แสวงหาโอกาสในการทำงานตามระบบสายงานที่เรียนมา หันมาเอาดีด้านการทำกิจกรรมเพื่อสร้างกลุ่มเด็กและเยาวชน เหมือนตอนสมัยเรียน แต่ในครั้งนี้ต่างกันที่ ความชื่นชม ความนิยม และแรงสนับสนุน จากเพื่อนและคนรอบข้างกลับเปลี่ยนไปเป็นคำทักท้วง ติเตียนและเป็นห่วง บนความคิดเห็นที่ว่า “มันไม่ใช่งาน” มันเป็นเพียงกิจกรรมพิเศษ เขาบอกว่า “หมดเวลาของการทำเพื่อคนอื่นถึงเวลาของการทำเพื่อตัวเองแล้ว เอาไว้ให้ตัวเองมีเสียก่อนถึงจะไปช่วยเหลือคนอื่น” ซึ่งวิธีคิดแบบข้าวสารล้นตะกร้า ที่คิดว่าการที่จะเผื่อแผ่หรือช่วยเหลือคนอื่นได้นั้นเราจะต้องพร้อมและมีให้เพียงพอเสียก่อน หากยังไม่มีและยังไม่พอก็ไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

สำหรับผมแล้วมันมีความซับซ้อนลึกลงไปอีกชั้นเพระการคิดแบบนี้ย่อมทำให้เรารู้สึกเหนือกว่า การมีมากกว่าหรือความพร้อมกว่าอาจหมายถึงความรู้ที่มากกว่า ทรัพย์สินเงินทอง ฐานะทางสังคมที่ดีกว่า สิ่งเหล่านี้อาจพาไปสู่การพัฒนาความเป็นชนชั้น ผู้ให้คือผู้ที่พร้อมกว่า เหนือกว่า ผู้ที่ถูกให้เป็นผู้ที่ไม่รู้และด้อยโอกาส ซึ่งสังคมคาดหวังว่าเมื่อผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป ปัญหามันอยู่ที่คำว่าพออยู่ตรงไหน คำว่ามีกว่า มากกว่าอยู่ตรงไหน การรอให้ตัวเองมีมากกว่า หรือการรู้มากกว่า เก่งกว่า บางครั้งมันอาจไปสนองตอบอัตตาโดยมิรู้ตัว เพราะบทเรียนของผมแล้ว การทำตนเป็นผู้รู้มากกว่าการช่วยเหลือคนอื่นกลับทำให้ผมสูญเสียความรู้มาหาศาล สูญเสียความสัมพันธ์มากมายที่กองสุมอยู่ในชุมชน

การพาตัวเองลงไปเรียนรู้ คลุกคลี งมงาย ลองผิดลองถูกร่วมกับชุมชน โดยมิได้รอให้ตัวเองมีมากกว่าหรือรู้มากกว่า มิได้เป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่ เพราะผมเองก็มิใช่พระเอกที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นทั้งหมด โดยที่ตัวเองไม่ได้อะไรเลย หากแต่การได้อะไรในมุมมองของผมมันไม่ใช่แค่ เงินทอง ตำแหน่งหน้าที่ หรือตัวตนที่คนนับหน้าถือตา แต่อะไรในความหมายของผมมันมีคุณค่าพอที่จะทำให้ผมมีแรงบันดาลใจในการยืนหยัดอยู่อยู่ได้จนถึงวันนี้ แม้จะต้องฝ่าฟันทั้งอุปสรรคของความคิด จิตใจในตัวเองและคนรอบข้าง

ผมจบครู วิชาชีพที่มีความตั้งใจอยากจะเห็นสังคมนี้มีคุณภาพ แน่นอนที่ผมจะพกความมั่นใจกับความรู้และปริญญาเพื่อกลับมาพัฒนาท้องถิ่น แต่กลับต้องพลิกผันตัวเองมาเป็นพี่เลี้ยงนักวิจัย งานที่ต้องใช้เวลาอธิบายเสียยืดยาวเมื่อมีคนถามถึงอาชีพที่ผมทำ อธิบายเสร็จสรรพ คำถามย้อนกลับคือแล้วจะทำไปทำไม ทำแล้วจะได้อะไร แรก ๆ ผมก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามนี้ได้เหมือนที่ถูกถามมาเมื่อสมัยเรียน คำตอบที่ตอบได้ก็แค่เพียง ทำแล้วภาคภูมิใจที่ได้เสียสละเพื่อคนอื่น เพื่อให้สังคมนี้ดีขึ้น

จนเมื่อผมเริ่มเรียนรู้กับกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งให้โอกาสกับชาวบ้านได้ลองใช้งานวิจัยที่ใคร ๆ ว่าเป็นของสูงไปใช้ในการแก้ไขปัญหาของชุมชน แน่นอนแหละครับ ส่วนใหญ่แล้วปัญหาจะคลี่คลาย ภายหลังจากทำงานวิจัย เพราะด้วยกระบวนการของข้อมูลและการมีส่วนร่วมมันทำให้สามารถ จัดการกับปัญหาได้ แต่ที่มากกว่านั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของคนหลายคนที่เรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัย ที่ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา ใช้ทักษะการวิจัยไปใช้ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน และที่สำคัญเขาเหล่านั้นมิได้บอกว่าภาคภูมิใจที่ทำเพื่อคนอื่น แต่เขาเหล่านั้นกลับภาคภูมิใจที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ความขัดแย้งในชุมชนลดลง การจัดการน้ำดีขึ้น สามารถอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชนไว้ได้ ทำให้เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ผู้คนมีความรักใคร่สามัคคี และที่สำคัญการที่นักวิจัยมีทักษะการเรียนรู้ สามารถตัดสินปัญหาด้วยข้อมูลและเหตุผล ทำให้เขาอยู่ในชุมชนและสังคมที่มีเหตุผล สิ่งนี้เองทำให้ผมต่องกลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้งว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ผมได้จากการเป็นพี่เลี้ยงนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น มันคงไม่ใช่ความสุขและความภาคภูมิใจที่ได้เสียสละและทำประโยชน์เพื่อสังคมแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ลองทบทวนดูดีดี คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคงเป็นตัวเราเองต่างหาก เพราะจากคนที่ไม่เคยรู้จักงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับพี่น้องในชุมชน การได้พัฒนาโครงการ ชวนคุยตั้งคำถาม จดบันทึก จับประเด็น จัดทำรายงานสรุป รายงานการเงิน เขียนข่าว บทความ ฯลฯ เหล่านี้กลับทำให้เรามีทักษะและประสบการณ์ในการทำงานชุมชนโดยไม่รู้ตัว และยังทำให้ได้เรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หลักภาษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ฯลฯ โดยไม่ต้องไปลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติม  อีกทั้งยังได้เรียนรู้วิชาที่อาจขาดหายไปจากระบบการศึกษาแต่มีคุณค่าในวิถีชีวิต นั่นคือการเรียนรู้ตัวเอง เพื่อเข้าใจผู้อื่น การเข้าถึงจิตใจของมนุษย์ บนพื้นฐานการทำความรู้จักกับตนเองให้มากที่สุด ก่อเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การฝึกฝนกับความคุ้นชินเดิม ๆ การจัดการกับจิตใจตนเอง 

และที่สำคัญการที่เราทุ่มเทกับงานเพื่อสร้างสังคมอุดมปัญญา หรือสร้างชุมชนวิจัยที่ใช้กระบวนการแห่งปัญญาเป็นวิถีของชุมชน ผลสำเร็จของชุมชนมากเท่าไร ก็เท่ากับเราจะได้ประโยชน์กับตนเองมากเท่านั้น เพราะวันนี้มีคนเข้าใจระบบนิเวศเมืองสามน้ำจากชุมชนแพรกหนามแดง ส่งผลให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้าใจและปรับเปลี่ยนนโยบายในการจัดการพื้นที่สามน้ำให้ดำรงอยู่ การค้นพบองค์ความรู้ในการจัดการป่าชายเลนของชุมชนคลองโคน จนสามารถรักษาป่าชายเลนผืนสุดท้ายให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้มากขึ้น การอนุรักษ์ปูแสมที่โรงเรียนและชุมชนวัดศรีสุวรรณคงคารามที่ปลุกสำนึกคนตำบลแหลมใหญ่ บางขันแตก ลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับทรัพยากรของตน กระทั้งการที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสมุทรสงครามที่ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบราชการให้เข้าถึงและเอื้อประโยชน์กับชุมชนมากขึ้น หรือการที่โรงเรียนวัดไผ่ล้อม เป็นต้นแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ในระบบการศึกษา เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสร้างสรรค์ให้เมืองที่ผมจะใช้ชีวิตอยู่นั้น มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีอาหารการกินที่มีคุณภาพปลอดภัย ผู้คนมีงานทำอาชญากรรมก็ลดลงและมีระบบการศึกษาที่พัฒนาคนอย่างแท้จริง ควบคู่ไปกับมีนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นกระจายอยู่ทั้งทุกพื้นที่ของจังหวัด เป็นพลเมืองที่ห่วงใยและสนใจดูแลบ้านเมือง คอยติดตามความเคลื่อนไหว และใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ แล้วใครจะไม่อิจฉาที่ผมอยู่ในเมืองแบบนี้บ้างหล่ะครับ

เห็นหรือยังหละครับว่าจริง ๆ แล้วหากเรามองเห็นเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจนแล้ว การลงมือทำอะไรสักอย่างล้วนสร้างการเรียนรู้และสร้างประโยชน์ให้กับเราทุกอย่างไม่ว่าจะทางตรงคือการได้เรียนรู้และพัฒนาตนเอง หรือทางอ้อมคือการในอยู่ในเมืองที่อากาศดี น้ำดี อาหารดี ผู้คนใจดี อย่างนี้ไม่เรียกว่าทำเพื่อตนเองแล้วจะทำเพื่อใคร แต่เป็นการทำเพื่อตนเองที่มิได้แค่ประโยชน์ของตนเอง ดังนั้นหากเราอยากมีความสุขที่มากขึ้นก็ต้องช่วยกันขยายงานให้มากขึ้น หากเราอยากเร่งเวลาแห่งความสุขให้เร็วขึ้น ก็ต้องลงแรงสร้างสรรค์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้มากขึ้น

แม้วันนี้ผมอาจมิใช่นักกิจกรรมบ้านนอกที่สาว ๆ กรี๊ดกร๊าดเหมือนดังแต่ก่อน แต่ผมก็รู้สึกได้ว่ามีหลายคนกำลังอิจฉา ที่ผมบอกว่า ผมเป็นพี่เลี้ยงนักวิจัยเมืองแม่กลอง  แน่นอน

หมายเลขบันทึก: 401839เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท