ปัญหาข้อกฎหมายในการสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาในส่วนของผู้แทนคุรุสภา


“ชี้ "คุรุสภา" ต้องเป็นผู้คัดเลือกผู้แทนครู”

“แก้เกณฑ์ผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ. ให้อำนาจ ก.ค.ศ.เลือก”

“คุรุสภาฉุน ก.ค.ศ.แก้กฎรวบอำนาจ”

“ก.ค.ศ.โต้เหตุปรับวิธีเฟ้นผู้แทนคุรุสภา”

“ยื้อเกณฑ์ใหม่คัดผู้แทน อ.ก.ค.ศ. คุรุสภาตั้งอนุ กก.ศึกษากฎหมาย”

หัวข้อข่าวข้างต้นเป็นพาดหัวตัวไม้ของหน้าการศึกษาในหนังสือพิมพ์ที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนกันยายน ๒๕๕๓ และยังคงมีต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน คงจะเป็นวิวาทะระหว่าง ๒ องค์การที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูได้แก่คุรุสภากับ ก.ค.ศ.ไปอีกนาน หากติดตามข่าวสารโดยละเอียด จะพบว่ามูลเหตุเกิดจากมีความขัดแย้งกันระหว่างคุรุสภากับ ก.ค.ศ.ในการตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาในส่วนของผู้แทนคุรุสภานั่นเอง

ตั้งแต่ได้มีการสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษารอบใหม่และประธาน ก.ค.ศ.ได้ประกาศแต่งตั้งไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ จำนวน ๑๖๔ คณะนั้น ปรากฏว่ายังมีปัญหาอีก ๒ เขตพื้นที่การศึกษาที่ยังตั้งไม่ได้ เนื่องจากมีปัญหาคุณสมบัติของผู้แทนคุรุสภา โดย ก.ค.ศ.เห็นว่าคนที่คุรุสภาเสนอแต่งตั้งขาดคุณสมบัติ แต่ฝ่ายคุรุสภาเห็นว่ามีคุณสมบัติ เมื่อโต้กันไปมาหลายครั้งก็ลามไปถึงการยกร่างหลักเกณฑ์การสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาใหม่ที่กำลังปรับปรุงเพื่อรองรับการสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ประเด็นนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่น่าสนใจมาก ว่าการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษายึดหลักการใด ทำไมจึงมีการโต้แย้งกันไม่จบ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๒๑ ให้มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้มีผู้แทนคุรุสภาเป็นอนุกรรมการโดยตำแหน่ง เหตุผลที่ให้มีผู้แทนคุรุสภาเป็นอนุกรรมการเนื่องจากคุรุสภาเป็นองค์การควบคุมการประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา  จึงมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อเป็นผู้แทนคุรุสภา คุรุสภาจึงเป็นควรผู้มีอำนาจในแต่งตั้งผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา

แต่พระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๑๘ (๑๐) ให้อำนาจ ก.ค.ศ.ในการพิจารณาตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งหมายความว่า อำนาจขั้นสุดท้ายในการตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาเป็นของ ก.ค.ศ. รวมทั้งการตั้งผู้แทนคุรุสภาด้วย โปรดสังเกตว่ากฎหมายใช้คำ “พิจารณาตั้ง” ไม่ใช่ “ตั้ง” ซึ่งคงจะมีความหมายเน้นในการใช้ดุลพินิจ แม้ว่า “ตั้ง” ก็ต้องมีดุลพินิจด้วยก็ตาม

แต่เดิมนั้น กฎหมายมิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้แทนคุรุสภาไว้แต่อย่างใด คุรุสภาจึงเสนอตั้งใครเป็นผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาก็ได้ตามอัธยาศัย

แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๑ โดยได้กำหนดให้อนุกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนคุรุสภาต้องคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษาด้านกฎหมายหรือด้านการเงินการคลัง โดยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ

(๑) เป็นสมาชิกคุรุสภา

(๒) เป็นผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

(๓) ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษา หรือผู้มีตำแหน่งบริหารในพรรคการเมือง และ

(๔) กำหนดให้มีคุณสมบัติอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนดอีกด้วย

ต่อมา ก.ค.ศ.ได้กำหนดคุณสมบัติอื่น หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้แทน ก.ค.ศ. อนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา แจ้งตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๖/๑๒ ลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๒ และได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง แจ้งตามสำนักงาน ก.ค.ศ.ด่วนที่สุด ที่ ศธ ๐๒๐๖.๖/๕๙๙ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๒

ในข้อ ๓ ของหลักเกณฑ์ตามหนังสือ ๕๙๙ กำหนดคุณสมบัติอื่นของอนุกรรมการผู้แทนคุรุสภา เพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดได้ไว้แล้วอีก ๓ ข้อ คือ

(๑) มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

(๒) มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย หรือด้านการเงินการคลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี

(๓) เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ

เมื่อคุรุสภาได้คัดเลือกผู้แทนคุรุสภาแล้วส่งชื่อมายัง ก.ค.ศ.เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง ก็มีผู้ร้องเรียนว่าผู้ที่คุรุสภาส่งชื่อมาให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ เนื่องจากเคยถูกลงโทษทางวินัยในเรื่องชู้สาว เรื่องการพนันที่กฎหมายห้าม เป็นต้น เมื่อได้ตรวจสอบแล้วเป็นเรื่องจริง แค่ได้รับการล้างมลทินไปแล้ว

ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อเคยถูกลงโทษทางวินัยและได้รับการล้างมลทินไปแล้วจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติหรือไม่

เรื่องนี้คงจะต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายเป็นสำคัญ

(๑) หลักเกณฑ์ตามหนังสือ ๕๙๙ ได้แสดงเจตนากำหนดคุณสมบัติของอนุกรรมการต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องยึดการกระทำหรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นคงกำหนดว่า “ไม่เคยได้รับโทษทางวินัย หรือทางอาญา หรือโทษทางปกครองอื่น ที่แสดงว่ามีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ” ที่ยึดคำสั่งลงโทษเป็นประเด็นสำคัญ

(๒) การล้างมลทินตามกฎหมายที่ออกในโอกาสสำคัญของชาติ ยึดหลักการล้างคำสั่งลงโทษเสมือนว่าไม่เคยถูกลงโทษ เช่น พระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕ ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้น ๆ แต่กฎหมายดังกล่าวมิได้ล้างความผิดอันนำไปสู่การออกคำสั่งลงโทษ ซึ่งหมายความว่าเคยทำอะไรไว้ถ้าไม่ถูกต้องอันเป็นความผิดวินัยหรือความผิดอาญาความผิดนั้นยังคงอยู่มิได้รับการล้างมลทินไปด้วย คงล้างมลทินเฉพาะแต่ปลายเหตุคือคำสั่งลงโทษเท่านั้น ดังนั้นการได้รับการล้างมลทินแล้วจึงอาจยังเสียสิทธิ์บางประการอยู่ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ เช่น ไม่อาจขอพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๘  กำหนดว่าเหรียญจักรพรรดิมาลาสำหรับพระราชทานข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่รับราชการมาด้วยความเรียบร้อย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี หากเคยถูกลงโทษทางวินัยไม่ว่าสถานใดไม่มีสิทธิเสนอขอพระราชทานได้ แม้จะมีการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ เนื่องจากความผิดนั้นยังคงอยู่

๓. ดังนั้น การกระทำความผิดทางวินัยแม้จะได้รับการล้างมลทินแล้วก็ยังเป็นความผิดอยู่ แต่ความผิดนั้นจะเข้าข้อห้ามในคุณสมบัติของผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาหรือไม่ คงต้องดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ข้อเท็จจริงบางกรณีอาจยังเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรมและไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ ซึ่งทำให้มีสิทธิเป็นผู้แทนคุรุสภาอยู่ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ความผิดฐานประมาทเลินเล่อตามมาตรา ๘๕ แต่ถ้าเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วตามมาตรา ๙๔ คงยากที่จะวินิจฉัยว่ายังเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพอันมีคุณสมบัติเป็นผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้

ทางออกในเรื่องนี้เป็นอย่างไร

๑. ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติการเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ ซึ่งก่อนหน้าปี ๒๕๕๒ ก็ไม่เคยมีการกำหนดคุณสมบัตินี้ แต่ทางออกนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะสังคมต้องการหลักประกันความสุจริต ยุติธรรม และเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงต้องกำหนดให้ อ.ก.ค.ศ.เป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรมเสียก่อน

๒. เปลี่ยนแปลงข้อความจากคุณสมบัติการเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรมและไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ เป็น “ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทางอาญา หรือโทษทางปกครองอื่น ในฐานความผิดที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ” กรณีนี้หากเคยถูกลงโทษและได้รับการล้างมลทินก็จะยังคงมีคุณสมบัติ แต่ความเป็นไปได้ค่อนข้างยากอีก เพราะคุณสมบัติข้อนี้ก็เป็นคุณสมบัติของ ก.ค.ศ.ด้วยเช่นกัน โดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๘ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มาตรา ๙ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มาตรา ๑๐ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษาตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด มาตรา ๑๑ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้แทนข้าราชการครู และมาตรา ๑๒ กำหนดคุณสมบัติของกรรมการผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ ทุกตำแหน่ง ดังนั้น คุณสมบัติของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ไม่ว่าจะเป็นผู้แทน ก.ค.ศ.ผู้แทนคุรุสภา หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ก็ต้องกำหนดในมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกันอยู่แล้ว

๓. ความเป็นไปได้ทางเดียว (แต่มีเหตุผลอันน้อยนิด) คือ การกำหนดว่าหากได้กระทำความผิดที่มีปัญหาการได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ หากได้รับการล้างมลทินและทำความผิดมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว ให้ได้รับการยกเว้นให้เป็นผู้มีคุณสมบัติได้ ถือเป็นการให้โอกาสผู้ที่เคยพลั้งเผลอและหลงผิดไป แต่ก็คงต้องเผชิญกับการตั้งคำถามจากสังคมว่าสมาชิกคุรุสภาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษา หรือผู้มีตำแหน่งบริหารในพรรคการเมือง ที่มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย หรือด้านการเงินการคลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ ปี จำนวนหลายแสนคน ไม่มีผู้ที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความซื่อสัตย์ ยุติธรรม และไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสียทางจริยธรรม จรรยาบรรณ และการประกอบอาชีพ สักคนเลยหรือ จึงต้องออกกฎกติกายกเว้นคุณสมบัติให้กับคนบางคน (ซึ่งมีจำนวนน้อยระดับเรือนร้อยเรือนพัน) เพื่อให้ได้มาทำหน้าที่อันสำคัญที่จะผดุงระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

จะอย่างไรก็ตาม ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ได้รับผลโดยตรงจากเรื่องนี้ ยังหวังว่าผู้บริหารขององค์การทั้งสองจะได้หาทางออกที่เหมาะสมเพื่อยุติข้อขัดแย้งเสียโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นผู้ที่เสียประโยชน์อย่ามากมายมหาศาลก็คงเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่นั่นแหละ มิใช่ใครอื่นที่ไหน

วิพล นาคพันธ์

๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

อ่านข่าวสารทั้งหมดของวิพล นาคพันธ์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiphon/toc



ความเห็น (1)

ท่าน ผอ.วิพล ครับ

  ลักษณะต้องห้ามที่ถูกกำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ของ ก.ค.ศ.ตามหนังสือ 599 หากจะมีการแก้ไข เปลี่ยนแปลงใด ๆ หน่วยงานคงต้องหาคำตอบให้สังคมให้ได้ว่า แก้ไปเพี่อใคร อย่างไร  เพราะคณะบุคคลที่ประกอบกันเป็น อ.ก.ค.ศ. ฯ เป็นคณะที่ทำให้งานบริหารงานบุคคลของ สพป. และ สพม.(ในอนาคต) ดำเนินไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งหากมีการฉ้อฉลเกิดขึ้น  คณะบุคคลชุดนั้น ๆ ย่อมถูกตรวจสอบและถูกดำเนินการตามกลไกที่ ก.ค.ศ.วางไว้ ดังเช่นในอดีต ใช่หรือไม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท