เข้มงวดตนเอง ผ่อนปรนผู้อื่น : รองศาสตราจารย์ศิริพงศ์ พยอมแย้ม ศิลปากร


รองศาสตราจารย์ศิริพงศ์ พยอมแย้ม เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเป็นผู้ร่วมบุกเบิกสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาขึ้นที่คณะศึกษาศาสตร์ รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าภาควิชาและเป็นคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นผู้ที่ทำให้ความเป็นสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มีความเป็นเอกลักษณ์และเพิ่มความแตกต่างหลากหลายให้กับสาขาวิชาชีพดังกล่าวซึ่งมีอยู่มากกว่า ๒๐ แห่งในมหาวิทยาลัยต่างๆของประเทศแล้ว ท่านเป็นนักการศึกษาและครูสร้างคนที่มีบทบาทมากท่านหนึ่งของวงการเทคโน

Ajsiripong1.jpg picture by waweeme

ผมได้เรียนรู้การทำงานเหมือนเป็นลูกศิษย์นอกห้องเรียนของอาจารย์มาอย่างยาวนานมากกว่า ๒๐ ปี เมื่อครั้งที่ท่านเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายเผยแพร่และพัฒนาสื่อสาธารณสุข ของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดลและอยากได้อาจารย์นักวิชาการด้านสื่อและเทคโนโลยีการศึกษามาเป็นกรรมการวิชาการให้กับมหาวิทยาลัย ทั้งการประกวดสื่อสุขภาพ การจัดเวทีประชุมวิชาการด้านสื่อของมหาวิทยาลัย ซึ่งผมและหมู่เพื่อนชาวมหิดลได้ร่วมกันริเริ่มและจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นเวทีส่งเสริมการพัฒนางานทางด้านนี้ให้มีส่วนร่วมในการทำงานสุขภาพระดับเข้าถึงวิถีชีวิตประชาชนได้มากยิ่งๆขึ้น 

อาจารย์ รวมทั้งอีกหลายท่าน เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ประศักดิ์ หอมสนิท นายกสมาคมนักฝึกอบรมแห่งประเทศไทยและอาจารย์เทคโนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์พูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ อดีตครูของคนเพาะช่าง วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และนายกสมาคมนักถ่ายภาพสมัครเล่นแแห่งประเทศไทย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิวัฒน์ กุลจันทร์ ครูเพาะช่างและอดีตนายกสมาคมนักถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ได้มาช่วยเป็นกำลังวิชาการ ทำให้ได้ประสบการณ์กับความเป็นมืออาชีพแถวหน้าของประเทศ รวมทั้งเป็นกำลังสติปัญญาให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลและที่ทำงานเดิมของผม อันได้แก่สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ทำให้งานด้านสื่อทางด้านสุขภาพมีเวทีพัฒนางานให้มีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนงานพัฒนาสุขภาพและงานในสาขาอื่นๆอย่างแพร่หลาย 

คนในวงการทำสื่อเฉพาะกิจของประเทศที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งผู้นำการพัฒนาในสาขาอื่นๆที่มีทักษะบูรณาการด้านสื่อ เช่น แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ครูอาจารย์ จำนวนไม่น้อยที่ได้ค้นพบความเป็นเลิศในตนเองอีกด้านหนึ่งจากเวทีดังกล่าวนี้ ซึ่งกล่าวได้ว่า อาจารย์ร่วมเป็นผู้บุกเบิกและร่วมเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น ที่พวกเราตัวเล็กๆได้พยายามเดินข้ามมหาวิทยาลัยและบุกเบิกการทำงานในส่วนเสี้ยวเล็กๆให้แก่สังคมระดับประเทศดังกล่าว ขึ้นมาด้วยกัน 

อาจารย์ทำให้ผมได้มีโอกาสร่วมงานและได้ใช้วิชาความรู้ในทุกสาขาที่ได้ร่ำเรียนมาให้กับนักเทคโนโลยีการศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มคนอีกสาขาหนึ่งที่ผมเห็นความสำคัญ ทั้งทางด้านศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งทางประชากรศึกษาและสังคม ตลอดจนประสบการณ์จากการวิจัยและการทำงานสังคมหลายวาระ ได้ไปสอน ประชุมวิชาการ ดูแลวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอกในสาขาเทคโนโลยีการศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผมกับอาจารย์ รวมทั้ง อาจารย์สมหญิง : รองศาสตราจารย์สมหญิง เจริญจิตรกรรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.โยธิน แสวงดี แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม คุณหมอ ดร.ถวัลย์ พบลาภ สสจ.นครปฐมและอ่างทอง และนายแพทย์วัฒนา เทียมปฐม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอีกหลายท่านได้ร่วมกันบุกเบิกสนับสนุนงานวิจัยวิทยานิพนธ์ทางเทคโนโลยีการศึกษาให้ไปเชื่อมโยงกับการทำงานสุขภาพชุมชนและผสมผสานกับงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะเปิดมิติใหม่ๆให้กับงานวิจัยทางการศึกษาสาขาเทคโนโลยีการศึกษาในมิติอื่นๆที่ขยายออกจากการเรียนการสอนในห้องเรียนไปสู่การศึกษาเรียนรู้ในชุมชนและในวิถีชีวิต [คลิ๊กดูงานวิทยานิพนธ์สาขาเทคโนโลยีการศึกษาแนวนี้ที่ได้ทุนและได้รางวัล] สามารถก้าวทันเพื่อร่วมมือกับบทบาทของงานสาขาอื่นๆและร่วมกันจัดการความจำเป็นต่างๆได้อย่างทัดเทียมกับความเป็นไปรอบข้างได้มากยิ่งๆขึ้น ผมนั้นมีความดีใจมากยิ่งกว่าการได้ทำงานอย่างทั่วๆไป เนื่องจากเหมือนกับได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเรียนหลายอย่างจากพรมแดนอื่นๆให้กับแวดวงวิชาชีพเดียวกัน ร่วมสานความร่วมมือให้พลังจากสาขาวิชาเทคโนฯกับหลากสาขาได้มีช่องทางส่งเสริมเกื้อหนุนกันเพื่อมุ่งสู่จุดหมายทางสังคมได้ดียิ่งๆขึ้น

ผมพอจะกล่าวได้ว่า สำหรับงานของสาขาเทคโนฯมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ผมกระตือรือร้นที่จะได้ร่วมทำกับอาจารย์และทีมอาจารย์ทุกอย่าง ทั้งด้วยความเคารพนับถือความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณของอาจารย์ที่มีต่อผู้อื่น รวมทั้งชอบความเป็นนักวิชาการศึกษาและนักวิชาการเทคโนโลยีทางการศึกษาที่มุ่งเชื่อมโยงกับสังคมในแนวทางใหม่ๆโดยผสมผสานกับภูมิปัญญาทางสังคม สิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นชุมชนด้วย ซึ่งก็เป็นการได้เดินเสริมกำลังให้กับความริเริ่มสิ่งดีแก่สังคมในอีกมิติหนึ่งที่เป็นผลดีต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐมเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยศิลปากรไปด้วย วิถีวิชาการอันหนักแน่นและการมุ่งให้เกิดสิ่งดีด้วยวิถีคิดอันกว้างขวางของอาจารย์ เป็นกำลังฝ่าข้ามข้อจำกัดหลายอย่างที่มักเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของโดยทั่วไป 

ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น ผมก็ขออาสาเชื่อมโยงและประสานงานกับอาจารย์ รวมทั้งทีมอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เป็นทีมอาจารย์ มาร่วมเป็นเครือข่ายการวิจัยในหลายโอกาสกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอาจารย์ อาจารย์สมหญิง และอาจารย์ท่านอื่นๆของสาขาเทคโนฯศิลปากร ก็ได้สะท้อนประสบการณ์ให้ทราบอยู่เสมอว่าทำให้สามารถนำเอาบทเรียนและความเป็นจริงของสังคมหลายอย่างไปพัฒนาการศึกษา พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งพัฒนาการวิจัยทั้งของกลุ่มอาจารย์และการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา โดยเฉพาะการเกิดเครือข่ายวิทยาการและสามารถเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับการทำงานสุขภาพและมิติอื่นๆที่สืบเนื่องจากการได้ทำวิจัยและเรียนรู้ในพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าได้เป็นบทเรียนนำร่องที่จะทำให้มีแนวอ้างอิงสำหรับสร้างสรรค์บทบาทงานวิชาการที่บูรณาการกันในแนวทางใหม่ๆอีกแง่มุมหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดลกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ในหมู่คนที่สนใจในอนาคต

ผมจึงไม่เพียงได้ร่วมทำสิ่งดีแก่สังคมกับอาจารย์ไปพอสมควรบ้างเท่านั้น แต่การได้นำเอาสิ่งที่ครูบาอาจารย์ได้ถ่ายทอดและอบรมสั่งสอนมาใช้ทำงานแก่ผู้อื่นได้เกินกว่าที่จะคิดหวังไว้ก่อนเสียอีกดังที่กล่าวมานี้ ก็นับว่าเป็นกำไรชีวิตสถานเดียว อีกทั้งเป็นครั้งหนึ่งที่เหมือนกับได้ปฏิบัติตอบแทนสิ่งที่ตนเองได้รับจากผู้อื่น ทำให้ได้ความปลอดโปร่งใจและมีกำลังชีวิตมากยิ่งๆขึ้นไปด้วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็เนื่องด้วยอาจารย์นั่นเองที่ทำให้ผมได้มีโอกาสอันดียิ่งนี้

เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง หลังจากที่ผมได้รู้จักและทำงานคลุกคลีอยู่กับอาจารย์มากว่า ๑๕ ปีไปแล้ว ผมจึงเพิ่งจะได้ทราบว่าอาจารย์เป็นคนเรียนทางศิลปะมาก่อน โดยเรียนจบโรงเรียนช่างศิลป์ ก่อนที่จะไปจบบ้านสมเด็จและวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรในสาขาเทคโนโลยีการศึกษารุ่นแรกๆ อาจารย์ยังคงทำงานต่อเนื่อง อีกทั้งเล่นดนตรีไทย โดยเฉพาะสีซออู้ ซึ่งการพรมนิ้วและลีลาการสบัดโยนเสียงต่อเนื่องจากโน๊ตตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่งอย่างพลิ้วไหวอ่อนโยนนั้นเป็นท่วงทำนองการเล่นของคนที่เล่นจนอยู่มือ ซึ่งบ่งบอกถึงการผสมกลมกลืนอย่างแนบแน่นอยู่กับชีวิตและการงานของอาจารย์ ในมุมการอยู่กับตนเองนั้น อาจารย์หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณและไฟชีวิตด้วยพลังศิลปะ

ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์กลับใช่ใครอื่น กลับเป็นเพื่อนกับครูศิลปะที่เพาะช่างของผม คือ ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู หรือที่พวกเราเรียกว่าอาจารย์ปัญญา รวมทั้งวงจรชีวิตของอาจารย์ก็อยู่ในกลุ่มคนของวงการศิลปะแทบจะทุกสาขา ซึ่งเมื่อกล่าวถึงทีไรก็เป็นคนในวงการที่ผมรู้จักอยู่หลายคน ตั้งแต่นั้นมา หากผมได้ไปศิลปากร สิ่งแรกที่ผมมักจะนึกถึงเลยก็คือต้องขอไปไหว้คารวะและนั่งคุยกับอาจารย์ โดยเฉพาะเอารูปเขียน งานหนังสือ และเรื่องราวทางศิลปะ วรรณกรรม วรรณคดี พุทธศิลป์ มานั่งดูและคุยกัน ซึ่งได้ทั้งเห็นความเคลื่อนไหวทางวิชาการ ความรอบรู้ และก่อเกิดอรรถรสในการเสวนาเป็นที่สุด

กระทั่งอาจารย์และผมจะมีธรรมเนียมเยี่ยมเยือนกันอย่างหนึ่งคือ เอาหนังสือหรือผลงานมาแบ่งกันดู อาจารย์ถือหนังสือหรืองานศิลปะดีๆมาฝากผมอยู่เสมอ หรือแม้ไม่ได้เจออาจารย์ แต่เมื่ออาจารย์ได้หนังสือหรือได้ทำงานความคิดออกมาดีๆ อาจารย์ก็ไม่ลืมที่จะนึกถึงและฝากติดมือนักศึกษาหรือคนอื่นๆไปให้ผม อาจารย์มีความเป็นกัลยาณมิตรทางการเรียนรู้และให้ความเมตตาแก่ผู้อื่นอย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ผมเองนั้น เมื่ออยากแบ่งปันเรื่องศิลปะและหนังสือดีๆก็จะต้องถือติดมือไปเป็นเครื่องน้อมคารวะต่ออาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร การได้พบอาจารย์แต่ละครั้งจึงเหมือนกับการได้เดินเข้าสู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้และแวดวงแห่งการอ่านการศึกษาค้นคว้า โดยเฉพาะด้านพัฒนาการศึกษาและศิลปศึกษา อย่างไม่มีวันหยุดนิ่ง

อาจารย์จะให้เกียรติแก่ผมมาก ท่านมักยกย่องเชิดชูผมให้ลูกศิษย์และคนอื่นๆได้ทราบ ผมนั้น แม้นไม่ได้เป็นลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์โดยตรง แต่ก็เคารพนับถือเสมอเป็นครู พึงให้ความเคารพ ซึ่งด้วยความงดงามและบริสุทธิ์สดใสของอาจารย์ก็เลยทำให้ผมออกตัวไม่ได้เลยสักครั้งเพราะเกรงจะเสียความเคารพ จึงได้กำหนดรู้ในใจไปด้วยเสมอว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการแสดงให้ทราบว่าอาจารย์มีทรรศนะต่อความเป็นผู้ที่อาจารย์ชื่นชมยินดีอย่างไร เพื่อที่ผมและคนอื่นๆจะได้พอเห็นแนวปฏิบัติสำหรับพัฒนาตนเองให้เป็นอย่างนั้นได้อยู่เสมอๆ

อาจารย์เป็นครูและเป็นคนทำงานอย่างมีอุดมคติ สุภาพ อ่อนโยน มีความเคร่งครัดและพิถีพิถันอย่างยิ่งในทุกมิติ แม่นยำในทฤษฎี และมีความรอบรู้ในศาสตร์หลายแขนง ทางด้านการศึกษานั้น อาจารย์มีความบูรณาการในตนเองสมกับที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาอย่างครบกระบวนท่า ทั้งทางศิลปะ วิชาการศึกษา และเทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งเป็นผู้ศึกษาอบรมและปฏิบัติภาวนาอยู่ในวิถีชีวิต ซึ่งทำให้อาจารย์เหมือนต้นไม่ใหญ่ที่งดงาม กอปรด้วยความเมตตา อ่อนน้อม สุภาพ ละเอียดรอบคอบและเข้มงวดต่อตนเองอย่างเป็นปรกติ  ทว่า ผ่อนปรนเพื่อให้โอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองของผู้อื่น สอนทั้งวิชาความรู้และเป็นแบบอย่างของการทำงานอุทิศตน รวมทั้งเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตและวิถีปฏิบัติอย่างงดงามอยู่เสมอต่อผู้อื่น

ผมมักบอกกับน้องๆและเพื่อนร่วมงานของผมอยู่เสมอว่าอาจารย์มีแนวคิดทางวิชาการที่ลึกซึ้งและเป็นคลังประสบการณ์ที่ดีหลายอย่างมาก หากมีโอกาสก็ให้อาสาตนเองทำงานและเรียนรู้ชีวิตจิตใจการทำงานจากอาจารย์ให้ได้มากที่สุด ผมเองก็เช่นกัน ผมอยากได้มีโอกาสทำงานกับอาจารย์เพื่อเป็นหมุดหมายบนทางชีวิตตนเองที่ได้ทำสิ่งดีๆกับคนทำงานวิชาการอันงดงามอย่างอาจารย์ เพื่อเอาไว้คิดถึงตอนแก่และเมื่อทำสิ่งต่างๆไม่ไหวแล้วว่าได้มีโอกาสดีเหลือเกินที่ห้วงหนึ่งของชีวิตได้รู้จักและไม่ได้ผ่านเลยที่จะได้ทำสิ่งดีๆเก็บไว้น้อมรำลึกถึงหลายอย่างกับอาจารย์

ผมได้ไปกราบคารวะและร่วมสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาของอาจารย์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ผมได้นำหนังสือติดมือไปฝากอาจารย์เช่นเคย และอาจารย์ก็อีกเช่นกัน ก็นำหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่งมามอบให้ผม แต่คราวนี้อาจารย์บอกว่า หนังสือเล่มนี้อาจารย์เขียนและพิมพ์เป็นเล่มเก็บไว้ ยังไม่เผยแพร่ เป็นหนังสือที่อาจารย์ทำเพื่อเตรียมไว้แจกในวาระการเกษียณอายุราชการ ซึ่งทราบว่าทางมหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดจนลูกศิษย์และคณาจารย์ ได้จัดให้อาจารย์ในวันนี้ วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๓

หลังเกษียณแล้ว อาจารย์ก็จะยังคงเป็นอาจารย์ของหลักสูตรศิลปศึกษา ของมหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งอาจารย์อีกเช่นกันที่มีส่วนในการริเริ่มและบุกเบิกเปิดขึ้นเป็นครั้งแรกในมหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดของประเทศ อาจารย์จึงสร้างมรดกทางการศึกษาขั้นสูงให้แก่ประเทศอย่างน้อยก็ ๒ สาขา ความที่อาจารย์เป็นยอดคนและยอดนักสร้างสรรค์ที่กร้าแกร่ง เข้มแข็งในวิชาการและภาวะอุดมคติแห่งตน ทว่า กลับเป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สุด ผู้คนในวงการศิลปะและในวงการศึกษาก็เลยไม่ใคร่ได้สังเกตว่า อาจารย์ช่างเป็นครู นักศิลปศึกษา และนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ในวงการคนหนึ่ง มากจริงๆ.

...........................................................................................................................................................................

  หมายเหตุ   : ขอขอบคุณภาพถ่ายจากอาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ จาก http://gotoknow.org/journals/nattapach/entries/70227 เป็นอย่างมากครับ

หมายเลขบันทึก: 400455เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2010 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ตะกี้เห็นในอนุทินของ อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ อยู่เช่นกันครับ

รู้จักท่านอาจารย์ศิริพงศ์ จากหนังสือด้านเทคโนโลยีการศึกษา

พึ่งทราบว่า เกษียณอายุปีนี้

ขอให้อาจารย์สุขภาพแข็งแรง เป็นปรมาจารย์ด้านเทคโนโลยีการศึกษาต่อไปนาน ๆ ครับ ;)

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ

  • ผมก็ขอยืมรูปจากอาจารย์ณัฐพัชร์เธอนั่นแหละครับ
  • ผมเองนั้นถ่ายรูปของอาจารย์และกิจกรรมต่างๆที่ทำร่วมกับอาจารย์ไว้ได้มากที่สุดเลย แต่มันหายไปไหนหมดก็ไม่ทราบ ไม่รู้ว่าไม่สามารถหาเจอหรือติดไปกับเครื่องที่พังไปเสียแล้วละครับ
  • แต่สักพักคงหาเจอแน่ๆ

สวัสดีค่ะ

เห็นหัวเรื่องบันทึกแล้วสะดุด ก็เลยเข้ามาอ่านค่ะ "เข้มงวดต่อตนเอง ผ่อนปรนต่อสหาย" เป็นคำขวัญที่ใช่เรียกร้องตัวเองของทปท.สมัยโน้น.น ค่ะ

สวัสดีครับคุณครูหลิวครับ

  • คงจะจริง เพราะ"เข้มงวดต่อตนเอง ผ่อนปรนต่อสหาย" นี่ ฟังดูแล้วมีนัยต่อการมุ่งสร้างมวลชนและช่วงชิงมวลชนกันเหมือนกันนะครับ แต่เดี๋ยวนี้ฟังดูแล้วก็เพราะดี
  • เลยได้เกร็ดความรู้อีกเรื่องหนึ่งไปด้วยเลยนะครับ
  • ใกล้เคียงกันมากเลยทีเดียว คงจะมีที่มาคล้ายกันแล้วนำเอามาใช้ในบริบทที่ต่างกัน
  • ผมได้ยินอยู่เสมอในกลุ่มคนฝึกปฏิบัติตนเองในเรื่องต่างๆน่ะครับ โดยเฉพาะงานปฏิบัติภาวนา การทำงานที่ต้องมีความเคร่งครัด เข้มงวด ซึ่งก็มักจะต้องเตือนตนเอง หรือช่วยเตือนกันและกันว่า เข้มงวดต่อตนเอง ผ่อนปรนต่อผู้อื่น จะดีกว่าทำในอีกทางหนึ่ง 

                            IMG_1672-1.jpg picture by waweeme

                                             จุลสารน้อยเล่มนี้      เรียบเรียง
                                      หวังเพื่อใช้เทียบเคียง      ทิฐิถ้วน
                                      ชำระเหล่าพุทธเพียง        แต่เปลือก  นอกเฮย
                                      ศาสน์พุทธพิสุทธ์ล้วน      เก็จแก้วแววมณี

                                             อัญชลีนบไหว้          ไตรรัตน์
                                      ธรรมะส่องสว่างขจัด         กิเลสสิ้น
                                      เป็นบุญที่อุบัติ                 ในพุทธ  ยุคนา
                                      กุศลส่งยามด่าวดิ้น           สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

                                 ผู้เขียน : รองศาสตราจารย์ศิริพงศ์  พยอมแย้ม

อาจารย์ศิริพงศ์ ได้มอบแก่ศิษย์ทุกคนมาร่วมแสดงมุฑิตาจิตในวันนี้ค่ะ

  • สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
  • อาจารย์แต่งกลอนได้เพราะและงาม
  • ทั้งมุมคิดและวรรณศิลป์เลยนะครับ

จิตวิญญานความเป็นครู มีอยู่ทุกลมหายใจ ..

                                Ajsiripong2.jpg

  • อาจารย์ศิริพงศ์ ท่านมีความเป็นเลิศในทางวิชาการ อีกทั้งยังมีจริยวัตรที่งดงามค่ะ ... ท่านอยากเห็นลูกศิษย์ของท่านมีวินัยในตัวเอง และมีภูมิรู้ที่ดีค่ะ
  • ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์กับอาจารย์ อาจารย์จะย่อยองค์ความรู้จากแหล่งต่างๆ มาให้และวิธีสอนของอาจารย์ คล้ายๆ เป็นการเล่าเรื่องซึ่งทำให้เข้าใจได้ง่าย และอยากจะฟังต่อ สนุกค่ะ ..
  • ชอบวิชาสัมมนาที่มีอาจารย์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งอาจารย์จะให้ความสำคัญมากๆ อาจารย์บอกว่าเราไม่สามารถอ่านหนังสือได้หมดทุกเล่ม แต่ถ้ามีวิชาสัมมนาจะช่วยให้เราได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจากผู้รู้/อาจารย์/ฯลฯ ที่ทางภาควิชาฯ ได้เชิญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในห้อง ไม่ใช่แค่ศิษย์จะได้รับ แม้ตัวอาจารย์เองก็ได้ความรู้เช่นเดียวกัน ..
  • ในบางโอกาสซึ่งถือว่าพิเศษจริงๆ ก็ชอบที่จะทำทีเดินเลียบๆ เคียงๆ บริเวณห้องพักอาจารย์ ที่ท่านนั่งกับท่านอาจารย์ประทิน (รศ.ประทิน คล้ายนาค - ท่านเกษียณเมื่อปีที่แล้ว'๕๒) จริงๆ แล้วคือไปแอบฟังอาจารย์ท่านเป่าขลุ่ยบ้าง หรือจะสีซอบ้าง นั่นคือสิ่งที่ท่านชื่นชอบ ..
  • ในวันนี้ (๒ ตุลาคม ๕๓) ในโอกาสเกษียณอายุราชการของอาจารย์ศิริพงศ์ ขอกราบคารวะ บูชาครู และครูจะอยู่ในใจเราตลอดไปค่ะ ..
  • ((ตอนแรกจะเขียนที่บล๊อคตัวเอง แต่แอบเห็นบันทึกของอาจารย์ เลยขอแสดงมุฑิตาจิตต่ออาจารย์ศิริพงศ์ในบันทึกของอาจารย์ด้วยคนนะค่ะ ขอบพระคุณคะ))
  • เชิญอาจารย์ณัฐพัชร์ตามสบายเลยครับ ไม่ต้องแอบหรอกครับ เพราะผมไปดึงเอาภาพถ่ายจากอนุทินของอาจารย์ ถือว่าตามมาเขียนอีกขยายความรูปของตัวเองด้วยละครับ
  • อันที่จริงหากมีท่านอื่นๆด้วย ก็ยินดีเลยนะครับ หากมีโอกาสจะได้รวบรวมและพิมพ์ไปฝากอาจารย์ เป็นการรำลึกถึงกันดีครับ
  • อาจารย์มีความจำแม่นยำ เป็นนักอ่านและนักศึกษาค้นคว้า รอบรู้ และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆได้อย่างกว้างขวางมากนะครับ
  • แวะมาตั้งข้อสังเกตุค่ะ ..
  • เพียงหลังจากบันทึกนี้ได้บันทึกขึ้น ในเวลา ๒-๓ ชั่วโมง มีผู้เข้าชมเกิน ๑๐๐ ท่าน ..
  • ในเวลา ๒-๓ ชั่วโมง มีกัลยาณมิตรจากต่างประเทศ(ใหม่) เพิ่มขึ้น ๒ ประเทศ คือ ประเทศสิงค์โปร์ และประเทศฝรั่งเศส ค่ะ ..
  • อาจแสดงได้ว่า ลูกศิษย์ ลูกหา ของอาจารย์ศิริพงศ์ ที่เคารพ และยังรำลึกถึงท่านอาจารย์มีอยู่มากมาย และไม่ได้อยู่แต่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น ..

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • อาจารย์ช่างสังเกต เป็นบันทึกที่คนเข้ามาดูเพิ่มขึ้นเร็วมากบันทึกหนึ่งเลยนะครับ
  • ขอเอางานศิลปะของสิงคโปร์มาสันถวะผู้ที่มาเยือนจากแดนไกลนะครับ เป็นไปได้ที่จะเป็นลูกศิษย์ลูกหาหรือไม่ก็หมู่มิตรและคนทำงานศิลปะของสิงคโปร์ที่เป็นเครือข่ายคนทำงานศิลปะในแวดวงของอาจารย์

                         

โรงเรียนศิลปะลาซาล Lasalle College of Fine Arts อยู่บนถนนข้างที่พักย่าน Selegie ระหว่างเดินทางไปโรงละครวิคตอเรีย พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติของสิงคโปร์ซึ่งเป็นทำเนียบและสภาผู้แทนราษฎรหลังเก่า และอยู่ในบริเวณ Civic District Area กับ Sir Stamford Shaffle Landing ดูเพียงสภาพภายนอกและบรรยากาศภายนอกก็รู้สึกได้ว่าเป็นโรงเรียนศิลปะอย่างเข้ากระดูก

                        

การเปิดโรงเรียนสอนศิลปะในย่าน Selegie มีอยู่เป็นระยะๆทั้งในแนวประเพณี แนวร่วมสมัย และในแนวโมเดิร์นอาร์ต สุดถนนด้านนี้อีกด้านหนึ่ง จะเชื่อมต่อกับถนนซึ่งมีวัดและโบสถ์ของ ๓-๔ ศาสนา รวมทั้งร้านค้าขายศิลปวัตถุ หนังสือ และเครื่องบริภัณฑ์ต่างๆ อยู่บนรายทางเดียวกัน สลับด้วยพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนศิลปะ ร้านค้าแบกะดิน ตลอดรายทางของถนน ๒-๓ ล๊อค เรียกว่า Cultural Belt มองกายภาพโดยทั่วไปแล้วคนก็มักบอกว่าสิงคโปร์เป็นเมืองแห่งความเคร่งเครียด และทุกอย่างต้องขับเคลื่อน-หล่อเลี้ยงด้วยเงินมากไปหน่อย ทว่า เมื่อมองพื้นที่หัวใจและการจัดสรรแหล่งการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์แล้ว คึกคักหลากหลาย ตื่นตาตื่นใจมากทีเดียว

                        

Creatives Economy ที่ผสมผสานงานศิลปะและการท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรื่องราวและการเรียนรู้ (Learning and Study Tourism) จัดวางองค์ประกอบชายหาดซึ่งมีอยู่แคบๆ ไม่สวย และไม่น่ามีสิ่งจูงใจสำหรับการไปเยือนท่องเที่ยว แต่การนำเอางานสร้างสรรค์ข้อมูล เทคโนโลยีสื่อ และวิธีการศิลปะ มาจัดวางทะเล ชายหาด และอาณาบริเวณโดยรอบ มาทำให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเรียนรู้เรื่องราว ใน Theme : Song of the Sea : Singapore Images ทุกอย่างก็กลายเป็นสิ่งดึงดูดผู้คนให้หลั่งไหลไปอยู่ในบรรยากาศที่ให้ประสบการณ์และความประทับใจได้อย่างผสมผสาน เนืองแน่นทุกรอบ ทั้งจากชาวต่างประเทศและคนท้องถิ่น 

คนไทยอยู่ในสิงคโปร์เยอะครับ ทั้งไปทำงาน ไปท่องเที่ยว ไปศึกษาเล่าเรียน หากมีลูกศิษย์ลูกหาและหมู่มิตรผู้เคารพนับถือกับอาจารย์อยู่ด้วยก็นับว่านี่ได้เป็นสื่อช่วยให้ทุกท่านได้ทราบและได้ส่งความรำลึกถึงอาจารย์ไปด้วยอีกทางหนึ่งนะครับ.

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดร.วิรัตน์

  • ก่อนที่ท่านอาจารย์จะเดินทางไปประเทศสิงคโปร์ ได้เกริ่นๆ ถึงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์เหมือนกันว่าถ้าท่านอาจารย์มีโอกาส และพอมีเวลาน่าจะไปเยี่ยมชมค่ะ ..
  • พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ ที่น่าสนใจม๊าก มาก อย่าง พิ.ประวัติศาสตร์สิงคโปร์ พิ.ศิลปะสิงคโปร์ และพิ.อารยธรรมแห่งเอเชีย .. พิ.ทั้ง ๓ แห่งสามารถบอกความเป็นสิงคโปร์ ได้สอดคล้องเกี่ยวเนื่องกันอย่างครบถ้วนกระบวนความเชียวค่ะ ..
  • อาจารย์คงมีโอกาสได้พานักศึกษาไปศึกษาเรียนรู้ที่สิงคโปร์อีกในรุ่นอื่นๆ ฝากแวะชมด้วยนะคะ ..

                         IMG_1616-1.jpg

จากภาพด้านบน บนเวที นั่งจากขวามาซ้าย :
๑) อาจารย์ ดร.อนิรุทธ์ สติมั่น ปัจจุบันท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา และ รองคณบดี คณะศึกษาศาสตร์ ค่ะ
๒) รองศาสตรจารย์สมหญิง เจริญจิตรกรรม หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา ในวาระที่แล้ว ..
๓) รองศาสตราจารย์วนิดา จึงประสิทธิ์ ท่านได้เกษียณอายุราชการไปเมื่อปีที่แล้วแต่ท่านยังกลับมาช่วยดูแลลูกศิษย์ในฐานะอาจารย์พิเศษของภาควิชาเทคโนฯ
๔) ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา นอกจากท่านจะเป็นอาจารย์ประจำของภาควิชาเทคโนฯ เราแล้ว ท่านยังดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.ศิลปากร และ ผู้อำนวยการ ของ มหาวิทยาลัยไซเบอร์แห่งประเทศไทย (Thailand Cyber University, TCU)  ด้วยค่ะ

                          IMG_1630-1.jpg

๕) รองศาสตราจารย์ประทิน คล้ายนาค ท่านเกษียณอายุราชการไปเมื่อปีที่แล้ว (ท่านเดินทางมาถึงงานเมื่อการปาฐกถาใกล้จะจบ) กำลังมอบของขวัญเพื่อแสดงความยินดีให้กับ ผศ.ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา ในฐานะที่อาจารย์ฐาปนีย์ได้เป็นข้าราชการดีเด่นในปีนี้ด้วยคะ ....

  • ท่านอาจารย์ประทิน ท่านกล่าวชื่นชมในความเป็น "ครู" ของท่านอาจารย์ศิริพงศ์ ในฐานะที่เป็นเพื่อนเรียนมาด้วยกันตั้งแต่ที่ วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มศว.ประสานมิตร) และเพื่อนร่วมงานมาตั้งแต่สมัยสอบบรรจุที่ วิทยาลัยครูนครปฐม (มรภ.นครปฐม) และเพื่อนร่วมงานกันอีกที่ ภาควิชาเทคโนโลยีการศึกษา ม.ศิลปากร ..
  • ท่านอาจารย์ประทินเป็นครูที่มีอารมณ์ขัน ท่านบอกพวกเราว่า ในสมัยที่ทำงานที่วิทยาลัยครูนครปฐมด้วยกันนั้น อาจารย์ประทินกำลังจะมีงานมงคลสมรส และท่านอาจารย์ศิริพงศ์เป็นผู้เขียนป้ายงานแต่งงานให้ อาจารย์บอกว่าถ้าไม่มีป้ายงานท่านคงจะไม่ได้แต่งงาน ^^
  • และท่านยังกล่าวติดตลกอีกว่า วันนี้ตั้งใจมาเพื่อต้อนรับ สว. คนใหม่ ..

ขอร่วมคารวะและชื่นชม รศ.ศิริพงศ์ และคณาจารย์ทุกท่าน ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ และขอขอบคุณเรื่องเล่านี้ที่ทำให้ได้ทราบ spirit ที่น่ายกย่องเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่งค่ะ..

                  

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • สนใจและตั้งใจว่าจะไปอยู่เหมือนกันครับ
  • ผมเสนอไปหนึ่งรายการคือไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ กับหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงโปร์
  • แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ แหล่งอื่นๆผมเลยขอเดินปลีกตัวไปเอง แต่ก็ได้ไปแบบผ่านๆ เท่านั้นละครับ
  • ต้องขอคารวะท่านอาจารย์วนิดา อาจารย์สมหญิง และอาจารย์ประทินไปด้วยเลยนะครับ
  • พร้อมทั้งของแสดงความยินดีกับน้องกบ : อาจารย์ฐาปนีย์ ทั้งเก่งและดีเด่น
  • ขอชื่นชมอาจารย์ดร.อนิรุทธ์และชาวเทคโนศิลปากรทุกท่านไปด้วยเลยนะครับ

ขอคารวะคุณพี่นงนาทที่เข้ามาร่วมคารวะและชื่นชมท่านอาจารย์ศิริพงศ์ด้วยคนครับ

สวัสดีค่ะ พี่ครูอ้อยเล็ก

  • เอ่อ ไม่รู้จักพี่ธนา หรอกค่ะ พี่เค้าอยู่รุ่นไหนค่ะ? และเรียนอยู่ภาคไหนค่ะ?
  • แต่ดูจากภาพแล้ว พี่ๆ เค้าน่าจะเรียนภาคความร่วมมือ ที่เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ค่ะ ..
  • ส่วนน้องเรียนภาคปกติ รุ่น ๗ ค่ะ ..
  • แวะไปดูรูปพี่เค้าที่เฟสบุ๊คมาแล้วค่ะ เลยได้เห็นภาพอื่นๆ ของพี่เค้าด้วยค่ะ ทำให้ทราบว่าเรา (พี่ํธนา กับน้อง) เป็นศิษย์อาจารย์ ร่วมกัน ๒ แห่งค่ะ ..
  • ๑) ศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และอาจารย์ภาคเทคโนฯ แต่พี่เค้ารุ่นปี ๔๓ และน่าจะเป็นภาคความร่วมมือค่ะ ส่วนน้องเรียนภาคปกติปี ๔๖ จบ ปี ๔๙ ค่ะ ไม่แน่ใจว่าจะทันเห็นพี่ๆ เค้าเดินไปเดินมาแถวๆ ภาควิชาบ้างหรือเปล่าคะ เพราะปกติทั้ง ๒ ภาค จะพบเจอกันได้น้อยและยากมากคะ ..
  • และ ๒) พี่เค้าเรียนโรงเรียนราชินีบูรณะ นครปฐม ศิษย์ในรั้วในวังของสมเด็จพระพันปีหลวงฯ (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง) เหมือนกัน แต่ของน้องเรียน โรงเรียนราชินี กรุงเทพฯ ค่ะ .. ท่านหญิงฯ พระองค์หญิงฯ จะเสด็จไปเยี่ยม ไปทอดพระเนตรการแสดงของนักเรียน มอบเข็ม และมอบเกียรติบัตรที่โรงเรียนของน้องบ่อยๆ คะ ..
  • ดีใจที่ได้รู้จักกับพี่ธนา แม้ผ่านภาพจากพี่ครูอ้อยเล็กคะ ขอบคุณคะ ..
  • คึกคักเลยเชียว
  • เป็นโอกาสชุมนุมศิษย์เก่าของหลายสถาบันไปด้วยเลยนะครับ

ขอทักทายด้วยคนค่ะ

ความรู้สึกที่มีต่อ "ครูพงศ์"

ถ้าใครได้สัมผัสกับท่าน ไม่ว่าจะด้วยทางวาจา หรือแม้แต่บุคลิกการวางตัวของท่าน

จะทราบเลยว่า ท่านเป็นครู จริงๆๆๆ

เพราะด้วยไมตรีอัธยาศรัย การให้ความรู้ การแนะนำ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว

ล้วนแต่เป็นคำแนะนำที่สร้างสรรค์ให้คนฟังได้คิดตรึกตรอง และพบทางเดินที่มีทางออกเสมอๆๆ

แม้บางครั้งจะมีเรื่องไม่สบายใจ ท่านก็ยินดีที่จะเป็นที่ระบาย รับฟังแล้วค่อยสอดแทรกแนวทางให้

"ครู" ท่านนี้ไม่เคยที่จะหวังสิ่งตอบแทนใดๆ จากศิษย์ หวังเพียงให้ศิษย์ได้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิตเท่านั้น

หากได้สัมผัสแล้วทุกท่านจะรู้สึกรักและเคารพ "ครู" คนนี้อย่างไม่ต้องมีคำถามในใจ

ศิษย์รุ่น 7 ภาคปกติ

การเป็นสภาพแวดล้อมให้ได้เรียนรู้ชีวิตและเป็นพี่เลี้ยงให้การแนะนำทั้งทางวิชาการ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาในยามที่ต้องการหาคนที่เป็นหลักใจให้ได้นั้น จัดว่าเป็นด้านของความเป็นครูชีวิต ซึ่งหายากมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆนะครับ เห็นด้วยมากเลยครับว่า 'ครูพงศ์' มีให้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท