อภิธรรม


อภิธรรม

ต่อจากตอนที่แล้ว

ธรรมชาติวิจิตรด้วยตนเอง[1]หมายถึงจิตทำจิตเอง  ให้เป็นต่างๆ เป็นบุญ เป็นกุศลบ้าง เพราะปราศจาก โลภ โกรธ หลง เป็นบาปเป็นอกุศลบ้างเพราะประกอบด้วยโลภ โกรธ หลง เป็นผลของบุญ  ผลของบาป ซึ่งเรียกว่า วิบากบ้าง เป็นจิตของพระอรหันต์ เรียกว่า กิริยาจิตบ้าง ยิ่งกว่านั้นยังแบ่งบุคคลให้ต่างด้วยเพศต่างด้วยสัญญาและต่างด้วยคติเป็นต้นอีกด้วย[2] บุคคลและสัตว์ทั้งหลายมีความวิจิตรในตัวเองเช่น จิตสามารถสร้างสิ่งที่วิจิตรได้ก็เพราะตัวจิตเองนั้น   มีความวิจิตรอยู่ด้วย คือ ความถนัด ความสามารถ ความคิดละเอียดประณีต[3]   พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

         “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล  เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน   สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง  สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้ เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ”

            ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็นแล้วพระพุทธเจ้าข้า”     

            ภิกษุทั้งหลาย แม้ภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น จิตรกรก็คิดด้วยจิตนั้นเอง จิตนั่นเองวิจิตรกว่าภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตเศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน  สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว    เราไม่พิจารณาเห็นสัตว์อื่นแม้เพียงหมู่เดียวซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานนี้เลย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น จิตรกรก็คิดด้วยจิตนั่นเอง จิตนั่นเองวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น เพราะเหตุนั้นเธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว[4]

                  มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมีความวิจิตรในภายในตนเอง โดย กรรม เพศ สัญญา และโวหารเป็นต้น การที่สัตว์ต่างกันโดยกรรมนั่นคือ  บางคนชอบทำทาน  รักษาศีล เจริญภาวนา   การกระทำเหล่านี้เกิดเพราะจิตที่เป็นกุศล บางคนชอบเบียดเบียน หรือฆ่าผู้อื่นเป็นต้น ความต่างกันโดยเพศ  คือสัณฐานแห่งอวัยวะมีมือ เท้า ท้อง คอ และหน้าเป็นต้น ในคติทั้งหลายนั้น แตกต่าง กันไปด้วย อำนาจแห่งกรรมนั่นแหละ  ความต่างกันโดยสัญญาคือมีสัญญา(ความจำ) เกิดขึ้นว่านี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย[5]ความต่างกันแห่งโวหาร คือ คนทั้งหลายร้องเรียกด้วยคำว่า หญิง ชาย[6]ความต่างกันแห่งคติ คือ เพราะความต่างกันแห่งกรรม เมื่อจะยังภพตามที่ปรารถนาให้เกิดขึ้นย่อมให้เกิดด้วยคติ[7]

                  คนและสัตว์ทั้งหลาย เกิดเป็นสัตว์ไม่มีเท้า มีเท้า ๒ มีเท้า ๔ มีเท้ามาก มีรูป ไม่มีรูป มีสัญญา ไม่มีสัญญา มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เกิดเป็นสัตว์สูง สัตว์ต่ำ เป็นต้น เกิดเป็นผู้มีผิวพรรณดี และผิวพรรณเลวเป็นต้น  เป็นผู้มีลาภ และเสื่อมลาภเป็นต้นในอัตภาพนั้นๆ ย่อมปรากฏเพราะความต่างกันแห่งกรรม จิตที่เป็นไปในภายในต่างกันโดยกรรม เพศ  สัญญา  และโวหาร เป็นต้น ในคติทั้งหลาย อันต่างโดยความเป็น เทวดา มนุษย์ และสัตว์เดรัจฉานทั้งหมด ล้วนมาจากการกระทำของจิต[8]

             ธรรมชาติสั่งสมกรรม  [9]หมายถึง กรรมคือการกระทำทั้งปวง อันเกิดขึ้น ด้วยเจตนาและสรรพกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เกิดสั่งสมไว้ที่จิตนี้เอง ไม่ได้สั่งสมไว้ในที่อื่น เรียกว่า สันดาน หรือ สัญชาตญาณก็มี [10]

                  สิ่งที่วิจิตรทั้งหลาย ที่ปรากฏอยู่ในโลกก็เพราะจิต และตัวที่อยู่เบื้องหลังความวิจิตร คือกรรมกิเลส (กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม)ได้แก่ อวิชชา  ตัณหา อุปาทาน นั่นเองเป็นตัวทำให้วิจิตร กิเลสกับกรรมย่อมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ฉะนั้น เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว กิเลสคือแรงผลักดันที่เป็นเหตุให้ทำกรรม  ส่วนกรรมคือ การกระทำที่เกิดจากกิเลส กิเลสที่เป็นต้นเหตุให้ทำกรรม นอกจากอวิชชา  ตัณหา อุปาทาน แล้ว ราคะ โทสะ โมหะ  ซึ่งแปลเป็นสำนวนไทยว่าความรัก (ความใคร่)  ความเกลียด และความลุ่มหลง(ความเข้าใจผิด) เหล่านี้ก็เป็นกิเลส  ความกลัวภัยทำให้กษัตริย์เมืองจีนต้องสร้างกำแพงยักษ์  ความรัก(ราคะ) ทำให้กษัตริย์ในราชวงศ์ โมกุล พระองค์หนึ่งสร้างทัชมาฮาล ขึ้นเป็นสุสานรัก สำหรับเป็นที่ระลึกแด่พระมเหสี  ความเกลียด (โทสะ) เพราะตัวเองต้องสูญเสียผลประโยชน์จึงทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ กับโซเวียต ต้องใช้เวลาไปในการสร้างอาวุธ เพื่อทำสงครามหักล้างซึ่งกันและกัน[11]

         ความกลัว คือ ตัวโทสะ ทั้งความรักความเกลียด ความกลัว ล้วนมีความหลง  ความไม่รู้ตามเป็นจริง เป็น  สมุฏฐาน การกระทำของจิต ล้วนเกิดมาจากแรงผลักดันของกิเลส  คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และประสบสิ่งต่างๆในชีวิตไม่เหมือนกัน  อันเป็นสาเหตุให้แต่ละคนสะสมอุปนิสัยต่างๆกัน  เด็กที่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตั้งแต่เยาว์วัย ก็ย่อมสะสมอุปนิสัยนั้น  คนที่โกรธบ่อยๆก็ย่อมสะสมความโกรธไว้มาก แต่ละคนสะสมอุปนิสัยรสนิยม และความชำนาญมาต่างๆกัน[12]

           คนและสัตว์ได้สะสมอุปนิสัยที่ไม่ดีและกิเลสไว้มาก  กิเลสมีหลายระดับชั้น มีกิเลสอย่างละเอียด กิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างละเอียดไม่ปรากฏ แต่เป็นอนุสัยคือกิเลสที่ละเอียดสะสมในจิตในขณะที่นอนหลับสนิท และไม่ฝันนั้น อกุศลจิตไม่เกิดแต่ก็มีอนุสัยกิเลสอยู่ในจิตสันดาน  เมื่อตื่นขึ้นอกุศลจิตก็เกิดขึ้นอีก อกุศลจิตจะเกิดได้อย่างไร ถ้าจิตแต่ละดวงไม่ได้สะสมอนุสัยกิเลสไว้ และถึงแม้ว่าจิตที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นอกุศลจิต แต่จิตนั้นก็ยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ตราบที่ปัญญายังไม่ได้ดับให้หมดสิ้นไป กิเลสอย่างกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส)นั้น ต่างกับอนุสัยกิเลส เพราะปริยุฏฐานกิเลสเกิดขึ้นพร้อมกับจิตซึ่งมี โลภะ โทสะและโมหะเป็นมูล เช่น ความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น หรือได้ยิน หรือสัมผัสทางกาย  หรือความไม่พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ ปริยุฏฐานกิเลส ได้เป็นปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรม กิเลสอย่างหยาบเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลกรรมทางกาย  วาจา ใจ เช่นการฆ่า  การกล่าวร้ายผู้อื่น หรือความต้องการที่จะเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน กรรม (เจตนาเป็นนามธรรมประเภทหนึ่ง) ซึ่งสะสมไว้ด้วย  ฉะนั้นทุกคนจึงสะสมกิเลสและกรรมต่างๆ กัน[13]

ธรรมชาติรักษาผลของการกระทำ [14] หมายความว่า จิตนี้ย่อมรักษาผลของการกระทำและผลของกิเลส ซึ่งได้สั่งสมอำนาจนั้นไว้ มิได้สูญหายไป เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นวิบาก รับผลของกรรมนั้น เมื่อมีโอกาส   จะเห็นได้ว่าคนเราเกิดมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน บางคนมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่สุขสบาย และประสบแต่สิ่งที่น่ายินดีพอใจเป็นส่วนมาก บางคนอาจประสบสิ่งที่ไม่น่ายินดีพอใจเป็นส่วนใหญ่  ยากจนหรือต้องทนทุกข์ เพราะโรคภัย เมื่อเราได้ข่าวเด็กป่วยเพราะขาดอาหาร  เราก็อาจสงสัยทำไม เด็กเหล่านี้จึงมีสภาพเช่นนี้ในขณะที่เด็กอื่นๆ  มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ 

วิบากจิตเป็นจิต ที่ประสบกับสภาพธรรมที่ไม่น่ายินดีพอใจ หรือสภาพธรรมที่น่ายินดีพอใจ  จิตที่เป็นวิบากนั้นเป็นผลของการกระทำของเราเอง เราเคยคิดว่าเป็นตัวตนที่ประสบสิ่งที่ไม่น่ายินดี พอใจหรือสิ่งที่น่ายินดีพอใจ แต่แท้จริงแล้วไม่มีตัวตน มีแต่จิตเท่านั้น ที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ จิตบางดวงเป็นเหตุ จิตเหล่านี้เป็นเหตุ ให้เกิดกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมซึ่งสามารถทำให้ผลซึ่งสมควรแก่เหตุนั้น จิตบางดวงเป็นผลหรือเป็นวิบาก  เมื่อเห็นสิ่งซึ่งไม่น่ายินดีพอใจ ก็ไม่ใช่ตัวตนที่เห็นแต่เป็นจิต  คือ จักขุวิญญาณ  ซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมอย่างหนึ่ง ที่ได้กระทำแล้วในชาตินี้หรือในชาติก่อนๆ จิตดวงนี้เป็น อกุศลวิบากจิตเมื่อเห็นสิ่งที่น่ายินดี พอใจก็เป็นกุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่ประสบอารมณ์ ซึ่งไม่เป็นที่น่ายินพอใจ ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๕ทวาร นั่นเป็นอกุศลวิบาก ทุกครั้งที่ประสบอารมณ์ซึ่งเป็นที่น่ายินดีพอใจทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๕ ทวาร นั่นก็เป็นกุศลวิบาก[15]

  ธรรมชาติสั่งสมสันดานตนเอง [16]ที่ชื่อว่าจิต เพราะสั่งสมสันดานตนเอง หมายความว่า จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับลงเป็นปัจจัยให้จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันไม่ขาดสาย เป็นสันตติ สืบเนื่องกันไป  ลงสู่ภวังค์แล้วเกิดขึ้นใหม่อีกเสมอเป็นนิตยกาล [17]จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นย่อมดับไปทันที แล้วจิตดวงต่อไปก็เกิดสืบต่อ จิตไม่เที่ยง แต่ก็ไม่มีแม้สักขณะเดียวที่ไม่มีจิต ถ้าขณะใดไม่มีจิต ร่างกายขณะนั้นก็จะเป็นร่างที่ตายแล้ว แม้ในขณะหลับสนิท ก็มีจิตเกิดดับ จิตแต่ละดวงซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปนี้ เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อไป และแม้แต่จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ ก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงแรกของชาติหน้าคือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จิตดวงต่อไปจะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าจิต ดวงก่อนดับไปแล้ว ในขณะหนึ่งๆจะมีจิต เพียงหนึ่งดวงเท่านั้น แต่จิตก็เกิดดับรวดเร็ว จนทำให้เรารู้ว่าในขณะหนึ่งนั้นมีจิตมากกว่าหนึ่งดวง เราอาจคิดว่าเราเห็น  และได้ยินพร้อมกัน แต่ความจริงนั้น จิตแต่ละดวงเกิดต่างขณะกัน เราสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเองว่า การเห็นเป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งต่างจากการได้ยิน[18] หรืออีกนัยหนึ่ง ที่ชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมไว้ซึ่งการแผ่ขยายของตน สั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อของตน  สั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อเพื่อการมีตัวตนต่อไป การสั่งสมมีหลายประเภทดังนี้

 สั่งสมไว้ซึ่งการแผ่ขยายของตน  หมายความว่า  จิตของเรามี  ๒ ระดับ คือภวังคจิต กับวิถีจิต  ภวังคจิต ได้แก่ จิตที่ไร้สำนึก ไม่ขึ้นสู่วิถีปรากฏชัดในขณะที่หลับหรือสลบ ส่วนวิถีจิตไดัแก่จิตในสำนึกเป็นจิตในขณะตื่นซึ่งทำให้เราสามารถรับรู้สิ่งสัมผัสรอบตัวเราได้ เช่นการเห็นรูป การได้ยินเสียง ฯลฯ ตลอดถึงการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ จิตทั้งสองระดับนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อใดเราหลับ การเห็นรูป การได้ยินเสียง ฯลฯ ก็ไม่เกิดขึ้น นั่นหมายความว่า วิถีจิตดับ ภาษาอภิธรรม เรียกว่า จิตไม่ขึ้นสู่วิถี ก็หมายความว่า จิตตกภวังค์ ต่อเมื่อใดเราตื่น การเห็นรูป การได้ยินเสียง ฯลฯ ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก นั่นหมายความว่า จิตได้ล่วงพ้นสภาพตกภวังค์แล้วกลับขึ้นสู่วิถีจิต ซึ่งทำให้เรา สามารถรับรู้สิ่งสัมผัสรอบตัวเราดุจเดิม  การที่วิถีจิตกลับตกภวังค์ และการที่ภวังคจิตก้าวขึ้นสู่วิถีในลักษณะเช่นนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่าการแผ่ขยาย  อันเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของจิต[19]

 สั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อของตน หมายความว่า จิตเป็นธรรมชาติที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา การเกิดดับของจิตนั้น เรามองได้  ๒ แง่ คือแง่หยาบ เป็นแง่ที่เราสังเกตเห็นได้ในชีวิตประจำวันของเรา เช่นการที่เราเปลี่ยนความคิดจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง การเปลี่ยนความคิดเช่นนี้แหละ เป็นการเกิดดับของจิตคราวหนึ่ง ซึ่งเป็นการเกิดดับอย่างหยาบที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวันของเรา  แง่ที่ละเอียด คือการเกิดดับในตัวของจิตเอง เป็นการเกิดดับที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว จนยากที่จะใช้สติปัญญาขั้นธรรมดากำหนดจับได้ นอกจากใช้สติปัญญาในสมาธิชั้นสูง[20]

สั่งสมไว้ซึ่งการสืบต่อเพื่อการมีตัวตนต่อไป หมายความว่า

ทุกครั้งที่จิตเกิด นามรูป (ตัวเรา-ตัวเขา ) ก็เกิด  ทุกครั้งที่จิตดับนามรูปก็ดับ เมื่อจิต (ความคิด) เกิด นามรูปก็เกิดเพราะในจิตนั้นมีการยึดถือ (อุปาทาน) เกิดร่วมอยู่ด้วย และการยึดถือนั้นย่อมเป็นการยึดถือแบบมีตัวตนเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ความคิดเกิดในความคิดนั้นจึงมีความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นเขา เกิดแทรกซ้อนอยู่ด้วยเสมอทุกขณะจิตในชีวิตประจำวันของเรา

การยึดถือเปรียบเหมือนเชื้อไฟ ที่ทำให้จิตของเราไม่สามารถดับสนิทลงได้ แม้เมื่อถึงคราวจุติ (ตาย) ปฏิสนธิ (เกิดใหม่) ก็จะต้องมีอีก และพร้อมกับการปฏิสนธินั้น ตัวตน  (นามรูป) ใหม่ก็ได้โอกาสเกิดขึ้นอีก การสืบต่อเพื่อการมีตัวตนต่อไปจะเป็นอยู่อย่างนี้ ตลอดกาลตราบที่ตัณหาอุปาทาน อันเป็นต้นตอ แห่งวัฏฏะ ยังไม่ถูกขจัดไปจากจิตของเรา[21]

 จิตรับอารมณ์ต่างๆ  [22]ที่ชื่อ จิต เพราะ ย่อมรู้อารมณ์ ต่างๆ  จิตทางตา รู้รูปารมณ์ (เห็นสี) จิตทางหู รู้สัททารมณ์  (ได้ยินเสียง) จิตทางจมูก    รู้คันธารมณ์ (รู้กลิ่น)  จิตทางลิ้น      รู้รสารมณ์ (รู้รส) จิตทางกาย  รู้โผฏฐัพพารมณ์  (เครื่องกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ) จิตทางมโน รู้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจ) จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ จิตทุกดวงต้องรู้อารมณ์ จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ จิตรู้ อารมณ์ ต่างๆ ทางทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ การเห็นเป็นจิตซึ่งรู้อารมณ์ ที่ปรากฏทางตา เราอาจใช้คำว่า สิ่งที่ปรากฎทางตา เรียกสิ่งที่ถูกเห็น แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบ จักขุประสาท  ก็มีปัจจัย ที่ทำให้การเห็นเกิดขึ้น  การเห็นต่างกับการคิดนึกเรื่องสิ่งที่เห็น การคิดนึกเป็นจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ทางมโนทวาร การได้ยินก็ต่างกับการเห็น  การได้ยินมีเหตุปัจจัยและรู้อารมณ์ต่างกับการเห็น เมื่อเสียงกระทบโสตปสาทก็มีปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รู้เสียงนั้น จะต้องมีเหตุและปัจจัยที่เหมาะควรแก่การเกิดขึ้นของจิตแต่ละประเภท เราไม่สามารถรู้กลิ่น ทางหู และลิ้มรสทางตา จิตที่ได้กลิ่น รู้กลิ่นทางจมูก จิตที่ลิ้มรสรู้รสทางลิ้น จิตที่รู้สิ่งซึ่งสัมผัสกายรู้โผฏฐัพพารมณ์ทางกาย จิตที่รู้อารมณ์ ทางใจ สามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่างในขณะหนึ่งๆนั้นจะมีจิตเกิดได้ที่ละดวง และรู้อารมณ์ได้เพียงทีละอารมณ์ เท่านั้น[23]

สรุปแล้ว ในจิตตุปปาทกัณฑ์ ไม่ได้อธิบายความหมายของจิตไว้  แต่สามารถที่จะประมวลได้ว่าจิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล และจิตที่เป็นอัพยากตะ และจิตที่แสดงไว้ในอรรถกถา,อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา, อภิธัมมาวตาร, อภิธัมมัตถสังคหะ หมาย ถึงการรับรู้อารมณ์อยู่เสมอ อารมณ์ที่จิตรู้นั้นก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธัมมารมณ์ จิตเป็นผู้สร้างสรรพวัตถุ ต่างๆ สร้างสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม ที่สวยงาม ร่างกายของมนุษย์ และสัตว์ต่างๆรวมทั้งอวัยวะต่างๆ ล้วนมีความวิจิตร แตกต่างกัน ก็เพราะกรรมดีกรรมชั่ว  กรรมต่างๆจะเกิดได้ต้องอาศัยจิตเป็นผู้สั่งการให้กระทำ และการกระทำทุกอย่างถือว่าเป็นเหตุ รูปร่างลักษณะของมนุษย์เป็นผลของการกระทำของแต่ละคน  จิตทำตัวเองให้มีลักษณะที่เป็นบุญและเป็นบาป กล่าวคือบุคคลบางคนชอบทำบุญ รักษาศีล เจริญกรรมฐาน  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจิตฝ่ายกุศลชักชวนให้ทำ บุคคลบางคนชอบเบียดเบียนผู้อื่นหรือสัตว์ หรือชอบฆ่าผู้อื่นเป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจิตฝ่ายอกุศลชักชวนให้ทำ จิตจะทำตนเองให้ โลภ ให้โกรธ ให้หลง หรือให้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง  จิตยังทำหน้าที่สั่งสมกรรม คือการกระทำทั้งปวง ที่เกิดขึ้นด้วยเจตนา สั่งสมผลของการกระทำไว้ที่จิตซึ่งเรียกว่าสันดาน จิตรักษาผลของการกระทำผลของกิเลสไว้ ซึ่งเรียกว่าวิบากจิต จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา จิตดวงเก่าเป็นปัจจัยให้ดวงใหม่เกิดขึ้น สืบต่อกันเป็นสันตติ(ไม่ขาดสาย)

 


        [1] วิภาวินี. ๑/๖๗.

        [2] พระครูสังวรสมาธิวัตร, คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก,หน้า ๑๒.

        [3] บรรจบ  บรรณรุจิ, จิต มโน วิญญาณ,หน้า ๑๗.

        [4] สํ.ขนฺธ.(ไทย) ๑๗/๑๐๐/๑๙๑ - ๑๙๒, (บาลี) ๑๗/๑๐๐/๑๑๙.

        [5] อภิ.สงฺ.อ. ๑/๒๓๐. พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๑ ภาคที่ ๑ ธรรมสังคณี และอรรถกถา ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ,๒๕๓๐.

        [6] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๒๓๐.

        [7] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๒๓๐.

        [8] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๒๓๑.

        [9] วิภาวินี. ๑/๖๗.

        [10] พระครูสังวรสมาธิวัตร, คู่มือการศึกษาอภิธรรม,หน้า ๑๒–๑๓.

        [11] บรรจบ  บรรณรุจิ, จิต มโน วิญญาณ, หน้า ๑๘–๑๙.

        [12] Nina  Van  Gorkm แปลโดย  ดวงเดือน  บารมีธรรม, พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๓),หน้า ๓๑.

        [13] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๓๒.

        [14] วิภาวินี. ๑/๖๔.

        [15] Nina  Van  Gorkn  แปลโดย ดวงเดือน  บารมีธรรม, พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน,หน้า ๓๓/๓๔.

        [16] วิภาวินี. ๑/๖๗.

        [17] พระครูสังวรสมาธิวัตร, คู่มือการศึกษาพระอภิธรรมปิฎก,หน้า ๑๓.

[18] Nina Van Gorkn แปลโดย ดวงเดือน บารมีธรรม, พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน,หน้า ๓๗–

๓๘.

        [19] บรรจบ  บรรณรุจิ, จิต มโน วิญญาณ,หน้า ๒๒–๒๓.

        [20] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๒๓.

        [21] เรื่องเดียวกัน,หน้า ๒๔/๒๕.

        [22] วิภาวินี,หน้า ๑/๖๗.

        [23] Nina  Van  Gorkn ,พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน,หน้า ๓๘–๓๙.

คำสำคัญ (Tags): #อภิธรรม
หมายเลขบันทึก: 400041เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ เดินทางต่อมาอ่านเจ้าค่ะ (ร่วมค้นหาจิตทีเป็นกุศลและอกุศลเรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม)

จะได้เข้าใจสัจธรรมมากยิ่งขึ้นค่ะ

รักษาสุขภาพน๊ะค่ะ อย่านอนดึกมากด้วยค่ะ

หาเวลาพักผ่อนด้วยเจ้าค่ะ

ด้วยความเป็นห่วง

ชยานันต์ (ศิษย์มีครูเจ้าค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท