นักเรียนจัดการความรู้กับการเคลื่อนผ่านของสังคม


มีส่วนร่วมสร้าง คุณอำนวยท่ามกลางข้อจำกัด อุปสรรคและโอกาสที่มีอยู่

การทำงานร่วมกันของหน่วยงานราชการและภาคีที่เกี่ยวข้องเท่าที่ผมรู้และร่วมสัมผัสด้วย เริ่มจาก1) กองทุนSIF โดยใช้กลไกคณะกรรมการจังหวัดร่วมพิจารณาและติดตามสนับสนุนรวมทั้งประเมินผลโครงการของชุมชน
2)แนวคิดประชาคมจังหวัด อำเภอ ตำบลที่ร่วมหารือ รู้กันในส่วนกลางระดับจังหวัด
3)ประชารัฐสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและ
4)คณะทำงานแผนแม่บทชุมชน
ที่ผมร่วมด้วยเต็มตัวและค่อนข้างมากคือคณะกรรมการกองทุนSIFจังหวัดและประชาคมจังหวัด

ทั้งหลายทั้งปวงไม่สามารถทำให้หน่วยงานราชการร่วมกันทำงานโดยมีชุมชนเป็นแกนกลางของการพัฒนา
เพื่อนผม(อัมพร แก้วหนู)เห็นว่า เป็นปัญหาโครงสร้าง เพราะกรมเป็นศูนย์กลางอำนาจซึ่งผมเห็นด้วย จะว่าไปก่อนนี้ผู้ว่าฯก็เป็นเพียงคนกลางที่เพื่อนราชการในภูมิภาคให้เกียรติเป็นผู้ประสานงาน มิใช่ผู้บริหารสูงสุด เพราะถือว่ามีฐานะเป็นกรมๆหนึ่งเท่าเทียมกัน จึงมีข้อเสนอให้ผู้ว่าขึ้นตรงกับนายกฯและเป็นผู้ว่าซีอีโอโดยถ่ายอำนาจจากกรมอื่น ๆมาให้ผู้ว่าซึ่งสังกัดกรมการปกครอง และใช้กลไกงบประมาณเป็นเครื่องมือจัดสรรอำนาจ แต่เท่าที่สัมภาษณ์ผู้ว่ามา ท่านบอกว่าก็ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่โดยโครงสร้างหลักซึ่งเป็นเงื่อนไขหรือที่มาของอำนาจแล้ว ยังเหมือนเดิม
การกระจายอำนาจให้อปท.เพื่อให้ตอบสนองชุมชนอย่างเป็นระบบก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมที่ยังไม่ลงตัวนัก ทั้งผู้นำท้องถิ่นและการจัดสรรอำนาจในแต่ละระดับโดยเฉพาะศูนย์กลางอำนาจคือรัฐบาล(พรรคไทยรักไทย)ที่ต้องการแสดงบทบาท ผลักดันนโยบายที่เสนอโดยคงอำนาจไว้

ผมเห็นว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยภาคชุมชนเอง ถ้าทำได้คงทำเสร็จไปนานแล้ว
เราต้องการการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนอย่างรู้เท่าทันในความเปลี่ยนแปลง โดยใช้ยุทธศาสตร์เพิ่มทุนทางปัญญาของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดมหกรรมจัดการความรู้ แห่งชาติที่รวมภาคประชาสังคม ราชการ และเอกชนเข้าไว้ด้วยกัน

หัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์เพิ่มทุนทางปัญญา(จัดการความรู้)คือทุกคนเป็นนักเรียน
ทุกคนเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองจากงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนเอง ครอบครัว องค์กร ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลก ด้วยการแบ่งปันความรู้และอื่น ๆ
อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เชื่อว่า บริษัท7-11หรือทรูจะคิดถึงสังคมและโลก นอกจากองค์กรของตนเอง
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเชื่อว่าราชการจะคิดถึงชุมชนอย่างจริงจัง

แต่จากประสบการณ์ผมเห็นว่า คอขวดอยู่ที่กระบวนการและแนวคิดที่แฝงมา

การทำงานร่วมกันที่ผ่านมาของภาคราชการและประชาสังคมล้วนวางอยู่บนการให้และรับ
ซึ่งต้องเปลี่ยนให้เป็นนักเรียนที่ใฝ่เรียนรู้
นักเรียนในบทบาทของคุณอำนวยต้องทำอะไร ?
ไม่ใช่ไปเพิ่มชาวบ้านขึ้นอีกคนหนึ่งในชุมชนอย่างแน่นอน

ผมเคยทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคม และร่วมกับหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษามา(ซึ่งเป็นหน่วยผลิตคุณอำนวยสนับสนุนการทำงานของชุมชน)พบว่า

คนทำงานไม่ต่างกันเลย ต่างกันที่ระบบซึ่งมีทั้งส่วนดีและไม่ดี เราจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมสร้าง  คุณอำนวยท่ามกลางข้อจำกัด อุปสรรคและโอกาสที่มีอยู่ ซึ่งผันแปรเปลี่ยนแปลงอย่างรู้เท่าทัน
โดยที่เราเองก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งด้วยเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 3997เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท