“ไตรภาคีร่วมพัฒนา” ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพชุมชน


“ไม่เคยมาถามหรอก เห็น ๆ ก็เป็นโครงการแล้ว บอกชาวบ้านว่ามีปัญหานั้น ปัญหานี้ หลัง ๆ ก็บอกว่าเป็นนโยบาย เราก็เบื่อ เพราะเห็นทำทีนึงก็หายไปนาน มาอีกทีก็ปัญหาใหม่อีกแล้ว ส่วนปัญหาที่เราจะบอก ไม่เคยได้อ้าปาก เรียกว่าอ้าปากค้างทุกที” ...เสียงสะท้อนจาก แกนนำสุขภาพในพื้นที่...

“ไตรภาคีร่วมพัฒนา” ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพชุมชน

ยอร์น  จิระนคร  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
อนุชา  หนูนุ่น  นักวิชาการสาธารณสุข สสจ.พัทลุง

อรัมภบท
     การเสวนาทีมวิจัย “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” ณ ห้องประชุมขวัญเมือง สสจ.พัทลุง เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 โดยมีผลลัพธ์ที่คาดหวัง คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และรับทราบ รับฟังปัญหา อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอต่าง ๆ ระหว่างทีมนักวิจัย นักวิจัยในพื้นที่ ตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนชุมชน ทั้งจากชุมชนที่มีความก้าวหน้ามากในการพัฒนาสุขภาพชุมชน เช่นชุมชนแพรกหา ชุมชนเกาะเรียน ชุมชนที่เพิ่งเริ่มต้นในการพัฒนาทีมอย่างชุมชนลำกะ ชุมชนที่เริ่มหยุดเพราะหาทางเชื่อมต่อไปยังหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบระดับบนไม่ได้อย่างชุมชนควนเพ็ง หรือชุมชนที่เริ่มสนใจ และมีความเชื่อว่าพลังชุมชนจะแก้ปัญหาชุมชนได้เอง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร เชื่อมต่อกับใครบ้าง อย่างเช่นชุมชนสี่แยกไสยวน เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปจากที่ประชุมในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

บรรยากาศของที่การเสวนาในวันที่ 4 เมษายน 2548
     การนัดกลุ่มเป้าหมายเพื่อมาเสวนากันในวันนี้ เป็นการนัดหมายจากผู้ที่สนใจในโครงการวิจัย “ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน” หลังจากที่ได้นำเสนอแนวคิด หลักการเบื้องต้นออกไปทั้งโดยวิธีเชิญชวนผ่านกระดานข่าว (เวปบอร์ด) ของสำนักงานฯ และการส่งเอกสารพร้อมใบสมัครไปยังหน่วยบริการสาธารณสุข รวมถึงการขอเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักพัฒนาชุมชนในพื้นที่ ตัวแทนพื้นที่ที่ดำเนินการพัฒนาสุขภาพชุมชนไปแล้ว และมีความต่อเนื่องในการดำเนินงานอยู่ (สำเร็จ) หรือหยุดลงเพราะติดปัญหาอุปสรรค (ไม่สำเร็จ) ตลอดจนพื้นที่กำลังดำเนินการในขั้นเริ่มต้น คือเริ่มพัฒนาทีมงานอยู่ รวม 58 คน เมื่อถึงเวลานัดหมาย (ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการเสวนาฯ) ทุกคนที่เข้าร่วมประชุมก็มีความกระตือรือร้น สอบถามประเด็นต่าง ๆ รวมถึงเริ่มพูดคุยทำความรู้จักกัน ที่รู้จักกันก่อนแล้วก็ได้ทักทายกัน และมีแลกเปลี่ยนพูดคุยกันในประเด็นการพัฒนาสุขภาพชุมชน เป็นกลุ่มย่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงได้เริ่มการเสาวนาตามกรอบที่ได้ตกลงกันขึ้นในที่ประชุม โดยได้ให้ทีมนักวิจัยหลักได้เล่าถึงที่มาที่ไป กระบวนการที่จะดำเนินการ และผลลัพธ์ที่คาดหวังก่อน จึงจะเป็นการเล่าประสบการณ์จากพื้นที่ต่าง ๆ และเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้ซักถามซึ่งกันและกันตามประเด็นที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ การพิจารณากรอบคิดที่นักวิจัยหลักได้ร่างขึ้นมานำเสนอ ถึงความเหมาะสม และความครอบคลุม และตามด้วยการหาข้อสรุปเพื่อการวางแผนในการดำเนินการลำดับขั้นต่อไป

ที่มาที่ไปของการเสวนาวันนี้คืออะไร และต้องการอะไรจากการเสวนาครั้งนี้
     ประเด็นที่ นายแพทย์ยอร์น  จิระนคร ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยหลัก ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งได้จากผลการทบทวนเบื้องต้นของสถานการณ์การพัฒนาสุขภาพชุมชนในปัจจุบันของจังหวัดพัทลุง จำแนกได้ 6 ลักษณะ คือ
     1. เป็นพื้นที่ที่มีแผนชุมชนแล้ว เป็นพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงได้เลย
     2. เป็นพื้นที่ที่มีแผนชุมชนแล้ว และสามารถพัฒนาทีมให้เป็นพี่เลี้ยงได้
     3. เป็นพื้นที่ที่กำลังจัดทำแผนชุมชนอยู่
     4. เป็นพื้นที่ที่กำลังดำเนินการ แต่ไม่ค่อยต่อเนื่อง
     5. เป็นพื้นที่ที่หยุดดำเนินการแล้ว
     6. เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ

     ประเด็นสำคัญพบว่าทั้งหมดยังไม่มีการเชื่อมโยงถึงกัน ไม่ว่าจะเป็นในแนวราบ ชุมชนใกล้เคียง หรือแนวดิ่งกับหน่วยงานที่รอให้การสนับสนุน
     คำถามวิจัยจึงเกิดขึ้นคือ “เราจะมีรูปแบบหรือวิธีการที่ดีและมีความเหมาะสมกับบริบทของจังหวัดพัทลุงอย่างไร ที่จะพัฒนาและบูรณาการแผนชุมชนด้านสุขภาพสู่การนำไปปฏิบัติได้จริงในทุกระดับ” โดยที่มาของคำถามวิจัย (โดยสรุป) มีดังนี้
     1. ในปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและประชาชนอย่างชัดเจน
     2. ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์พิสูจน์ได้และได้รับการยอมรับแล้วว่า รูปแบบการสั่งการไม่สามารถสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชนให้เกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงการพัฒนาอย่างฉาบฉวย
     3. การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนคือหัวใจของการพัฒนา เป็นหลักคิดและเป็นความเชื่อที่สำคัญของการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในปัจจุบัน
     4. ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์พิสูจน์ได้และได้รับการยอมรับมานานแล้วอีกประการหนึ่ง คือการแก้ปัญหาจากมุมมองภายนอกมักจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด หรือไปแก้ในส่วนที่ไม่ใช่ปัญหาของชุมชนจริง ๆ
     5. วัฒนธรรมในการทำงานชุมชนของภาครัฐ ส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนหรือประชาชน เพื่อแก้ปัญหาหรือการพัฒนาต่าง ๆ มักจะเป็นไปในลักษณะต่างคนก็ต่างทำ แต่พอให้ร่วมกันทำกลับล้มเหลว ไม่สามารถทำร่วมกันได้

     ที่ผ่านมา (ก่อนการนำเสนอต่อที่ประชุมเสวนาวันนี้) ได้นำเสนอกรอบแนวคิดครั้งแรก ต่อ สวรส.ภาคใต้ (มอ.) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 โดยมุ่งตอบคำถามว่า “ที่ผ่านมา อบต. สนับสนุน หน่วยงานภาครัฐ/เอกชน ในพื้นพี่เพื่อการพัฒนาสุขภาพอย่างไรบ้าง” ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขระดับจังหวัด ที่จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณ หรือทรัพยากรอย่างเป็นธรรมสอดคล้องกับความจำเป็นและสภาพปัญหาของพื้นที่ อีกทั้งเพื่อให้ได้ทราบถึงความเข้มแข็งและการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ กับองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้เพราะการจัดสรรทรัพยากรลงสู่ชุมชนจากรัฐบาลเริ่มมีทิศทางและสัดส่วนที่เปลี่ยนไปยังราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นตามกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจที่กำหนดไว้ ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเตรียมการรับการเปลี่ยนแปลงนี้แต่เนิ่น ๆ ในฐานะที่นักวิจัยหลักต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการกับปัญหาสุขภาพในภาพรวมทั้งจังหวัด สรุปได้ตามกรอบแนวคิดในครั้งแรก ดังนี้


     สวรส.ภาคใต้ (มอ.) ได้รับข้อเสนอโครงร่างวิจัย และให้ผู้วิจัยไปนำเสนอเพิ่มเติม ซี่งก็ได้รับคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิว่าควรปรับเปลี่ยน โดยแนะนำให้ใช้กรอบแนวคิดเดิมนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาครั้งนี้ และการศึกษาควรจะได้มุ่งตอบคำถามและมุ่งการพัฒนา (R&D) ไปพร้อม ๆ กัน พร้อม ๆ กันก็ควรจะได้แสวงหาพันธมิตรในการพัฒนาร่วมไปด้วย จึงเป็นที่มาของกรอบแนวคิดใหม่ที่เน้นไตรภาคี (ภาคเอกชนหรือประชาชน ภาครัฐ และภาคการเมืองหรือการบริหารระดับท้องถิ่น) ร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน เพื่อให้เกิดรูปแบบที่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อขยายไปยังพื้นที่ต่อไปได้อย่างเหมาะสม มีแนวทางในการกำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายลักษณะไตรภาคี มีเครือข่ายไตรภาคีในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ในการร่วมกันพัฒนาสุขภาพชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาสุขภาพชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน นำไปสู่สุขภาวะที่แท้จริง ทั้งนี้ได้เริ่มทบทวนแนวคิด และข้อเท็จจริงของลักษณะการพัฒนาสุขภาพชุมชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงก็พบในลักษณะที่ได้นำเสนอแล้วตั้งแต่ตอนต้น จึงได้พัฒนากรอบแนวคิดใหม่ ดังนี้

เวทีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไรบ้าง มีประเด็นใดที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน

     เริ่มต้นด้วยการเปิดโอกาสให้มีการซักถามถึงความตั้งใจ และความมั่นใจของทีมงานว่าจะเดินไปสู่อุดมการณ์เดียวกันได้หรือไม่ มีใครจะแต่งเติมเสริมเพิ่มอะไรอีกบ้าง ที่ประชุมก็อภิปรายกัน และสอบถามทีมนักวิจัยหลัก ทีมงานที่เข้าเสวนาฯ ซึ่งก็สรุปได้ใจความว่าทุกคนที่มานั่งอยู่ในห้องประชุมนี้มีความมุ่งมั่นเป็นทุนเดิม และมาด้วยสมัครใจทั้งนั้น ซึ่งอยากเห็นความเป็นจริงที่ชุมชนได้ลุกขึ้นมาช่วยกันพัฒนาสุขภาพของชุมชนด้วยตัวเอง และปัญหาต่าง ๆ ก็จะได้ถูกแก้และดำเนินการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน หรือบูรณาการเข้าด้วยกัน เช่นจะพัฒนาระบบการดูแลตนเอง แต่ชาวบ้านบอกว่าไม่มีเวลา ต้องไปทำงานเพื่อปากเพื่อท้องก่อน หมดเวลาราชการเราก็กลับ (ซึ่งตอนนั้นเขาจะมีเวลา) อย่างนี้เป็นต้น
     สำหรับประเด็นที่ตัวแทนภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่จากชุมชนต่าง ๆ ได้นำเสนอเช่น
     1. ชุมชนตำบลแพรกหา การจัดทำแผนชุมชนที่ผ่านมาได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจริง ๆ เรียกว่าทุกบ้าน โดยการให้แต่ละบ้านบอกสิ่งที่กลัวมากที่สุด และอยากเห็นอยากให้เป็นไปมากที่สุด ทั้งหมดนำมาขัดเกลา จัดกลุ่ม และนำกลับไปถามอีกครั้งโดยการประชาคมว่าใช่หรือไม่ แล้วก็ให้ลงคะแนนแบบชาวบ้าน เพื่อจัดลำดับว่าจะทำ จะแก้ จะพัฒนาอะไรก่อนหลัง ทุกวันนี้ อบต.ได้นำมาใช้เพื่อทำเป็นแผนฯ 5 ปี ของ อบต.และใช้ไปแล้วประมาณร้อยละ 60-70 ทำไมเหรอที่ อบต.ต้องหยิบฉวยมาทำ เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ ถ้าทำตามนี้ก็จะได้ใจชาวบ้าน
     2. ชุมชนบ้านเกาะเรียน (เขตเทศบาลฯ ตะโหมด) ความสุขของคนเกาะเรียนที่ประมวลได้ และทุกคนได้ให้ความเห็นร่วมไว้ คือ “ทำแล้วบายใจ” [แปลได้ว่า “กระทำแล้วเกิดความสบายใจ”] กลุ่มที่ขับเคลื่อนคือกลุ่มเยาวชน กลุ่ม อสม. กลุ่มผู้สูงอายุ และทุกกลุ่มจะประสานถึงกัน เทศบาลจะคอยให้การประสานกับทุกกลุ่มอย่างลงตัว ความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยกลุ่มที่กล่าวถึงไม่ใช่ประเด็นปัญหา แต่ร่องรอยของการเรียนรู้และบทเรียนที่ได้ เป็นสิ่งที่น่าจดจำมากกว่า วันหลังจะได้ขบคิดและพัฒนากระบวนการใหม่, เมื่อก่อน (อดีต) มองสุขภาพที่หมอ วันนี้เรามองสุขภาพที่ตัวเองมากขึ้น และที่ได้จากการเรียนรู้ที่ผ่านมา เราพบว่าเรายังจะต้องเชื่อมประสานทั้งแนวดิ่งและแนวราบให้มากขึ้นกว่านี้ ตรงส่วนนี้ทีเราพบว่าชุมชนเรายังมีปัญหา และปัญหาที่ยากกว่านั้นคือ ไม่รู้ว่าจะเชื่อมไปให้ถึงได้อย่างไร วันนี้ที่มาร่วมเสวนาจึงมองเห็นแนวทางมากขึ้นแล้ว ถ้าไม้ล้มฯ เสียอีก
     3. ชุมชนบ้านลอน ที่ชุมชนเพิ่งจะได้ทำแผนชุมชนเสร็จ แต่พอเสร็จแล้วจะนำไปส่งเพื่อขอเชื่อมประสานกับ อบต. หรืออำเภอ เขาบอกว่าส่งช้า เขาส่งไปจังหวัดแล้ว สรุปก็คือทำแผนฯตามเขาสั่ง เป็นแผนราชการที่นั่งทำโดยผู้นำฯ หรือข้าราชการไม่กี่คน ที่เราทำจริงนะมันช้า (เพราะต้องทำตามธรรมชาติของชาวบ้าน) ไม่ทัน สุดท้ายก็โดนด่าว่าทำไปไม่เห็นได้อะไรเลย ไม่ได้ใช้เลยอุตส่าห์อย่างทุ่มเท
     4. ชุมชนลำปำ ตัวแทนที่มาจาก อบต. เล่าถึงเหตุการณ์จริง ๆ ว่า ผู้มีอำนาจเรียกคนที่ไว้ใจมานั่งทำกันไม่กี่คน ใช้ความคิดส่วนตัว เป็นไปเพื่อให้มีแผนฯไว้ประดับ แต่ก็ยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่แนวคิดของการมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบ แต่มองหาก็ไม่เคยเจอ วันนี้ได้มีโอกาสถูกชวนเชิญมา ถือเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่ง จะกลับไปเตรียมพื้นที่รองรับสิ่งนี้ และตัวแทนชาวบ้านได้เสริมว่าความต้องการของชาวบ้านมี 2 ลักษณะ คือ แท้-เทียม ซึ่งโดยกระบวนการบางที่ต้องถามซ้ำ ๆ ถึงจะได้ความต้องการที่แท้จริงออกมา ไม่งั้นชาวบ้านเองก็จะมีแต่ความต้องการเทียม ๆ เพราะปัจจัยเอื้อให้เรานึกถึงแต่ความง่าย ๆ ฟุ้งเฟ้อ
     5. ชุมชนบ้านควนเพ็ง โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้เล่าถึงประสบการณ์ว่าในพื้นที่ยังเป็นปัญหาตามมุมมองคือจำนวนคนที่เข้าร่วมประชาคมมีน้อย แต่ผลสรุปจะบอกว่าเป็นของชุมชนนั้น ปัญหาก็เลยมาอยู่ที่ทำอย่างไรให้ทุกบ้านออกมาบอกว่าจะเอาอย่างไร ออกมาให้มากที่สุด ก็ยังดีเมื่อไม่ออกมา ก็ไม่ค่อยค้านอะไร ก็เลยทำให้เดินไปได้ แต่ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างนี้
     6. ชุมชนทุ่งนารี พูดถึงการเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของ อบต.บางครั้งต้องทำกันนาน ๆ ไม่ใช่จะมาดีเอาตอนที่จะไปขอสนับสนุน จะต้องมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง และแสดงความจริงใจ เน้นว่าไม่ใช่การฝักไฝ่การเมือง เพราะเมื่อเปลี่ยนขั้วเราจะทำงานยาก, การทำงานพัฒนาแบบราชการนั้น ถ้าทำแบบเดิม ๆ แล้วเราจะนั่งทำบนโต๊ะ ปัญหาอยู่บนโต๊ะ แก้บนโต๊ะ ก็เลยล้มเหลวบนโต๊ะ แต่ประเมินว่าสำเร็จเสมอ
     7. ชุมชนตำบลร่มเมือง ได้เล่าว่าที่ผ่านมานั้น เราได้ทำแผนยุทธศาสตร์ตำบลโดยการระดมความคิดเห็นจากบ้าน มาสู่หมู่บ้าน เมื่อมาถึง อบต.ก็ขอแรงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในตำบลมาช่วยเติมเต็ม แต่นั่นแหละเชื่อมต่อไปกว่านี้ไม่ได้ เหมือนที่หลาย ๆ คนพูดถึง ก็อยากให้ระดับจังหวัดช่วยประสานให้เกิดการบูรณาการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ แต่ต้องบูรณาการเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่บูรณาการบนกระดาษแล้วบอกว่าบูรณาการแล้ว
     8. ตัวแทนภาคเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้กล่าวสรุปว่าบทเรียนที่ได้วันนี้มีพอสมควร และมีคุณค่า สรุปได้ว่าหลาย ๆ พื้นที่มีต้นทุนอยู่แล้ว มีทีมงานแล้ว และมีองค์ความรู้บ้างแล้ว แต่ก็กลับเหมือน ๆ กันคือ ไม่สามารถนำมาเชื่อมประสานไปสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนและต่อเนื่องได้

ตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมประชุม ฯ

          “มีงบมา แต่เอาไม่ทัน ปัญหาเลยไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด เพราะต้องรีบทำ กลายเป็นว่าต้องแก้ปัญหาการใช้เงิน เพราะถ้าใช้ไม่หมด ก็คือใช้ไม่เป็น” 
          เสียงสะท้อนจาก เจ้าหน้าที่ของรัฐคนหนึ่ง

          “ไม่เคยมาถามหรอก เห็น ๆ ก็เป็นโครงการแล้ว บอกชาวบ้านว่ามีปัญหานั้น ปัญหานี้ หลัง ๆ ก็บอกว่าเป็นนโยบาย เราก็เบื่อ เพราะเห็นทำทีนึงก็หายไปนาน มาอีกทีก็ปัญหาใหม่อีกแล้ว ส่วนปัญหาที่เราจะบอก ไม่เคยได้อ้าปาก เรียกว่าอ้าปากค้างทุกที” 
          เสียงสะท้อนจาก แกนนำสุขภาพในพื้นที่

          “มันเคยชิน เหมือนกันที่ต้องคอยให้หมอมาทำพ่นหมอกควัน เวลาลูกหลานเราใครสักคนไข้เลือดออก ลองหมอไม่มาก็จะฟ้องผู้ใหญ่ ก็ฟ้อง อบต. ถามจริง ๆ อย่าโกรธกันนะ ใครสอนเรา นี่ผมคิดเสมอนะไม่เชื่อนักหรอกที่บอกว่า ไม่มีอันตรายอะไรนะ น้ำยาที่พ่น อย่างน้อยก็ใช้นำมัน ได้กลิ่นก็เหม็น คือมันทำย่างไร ถ้าได้ทำกันทุกบ้านไม่ให้ยุงลายวางไข่ได้ เรื่องก็น่าจะง่ายลงเยอะ” 
          เสียงสะท้อนจาก อสม.คนหนึ่งในพื้นที่

          "ข้อมูลไม่จริง และไม่มีใครรับผิดชอบ"
          เสียงสะท้อนจาก ประธานชมรม อสม.จังหวัดพัทลุง

ข้อสรุปของที่ประชุมเสวนาฯ ในประเด็นลำดับขั้นตอนต่อไปของการวิจัยฯ ได้ว่าอย่างไรบ้าง

     หลังจากที่ประชุมได้ซักถามเรื่องกรอบแนวคิดเพิ่มเติม ซึ่งทีมนักวิจัยหลัก ก็ได้พยายามตอบในทุกคำถาม รวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน เช่น ข้อคำถามที่ว่าการใช้เวลาที่ยาวนาน และดูเหมือนจะยุ่งยากในการดำเนินการ ความไม่คุ้นชิน หรือการที่จะเชื่อมโยงมาสู่ตำบล อำเภอ หรือจังหวัดได้อย่างไร ก็ได้อธิบายไปว่าเรื่องระยะเวลาที่แท้จริงจะกำหนดช่วงเวลากว้าง ๆ ไว้ คือประมาณ 2-3 ปี ไม่เกินนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีกระบวนการเก็บรวมรวมข้อมูลไป วิเคราะห์ไป แปลผล แลกเปลี่ยน ทบทวน "คิดไป ทำไป ทบทวน วางแผน พัฒนา" ไปจนกว่าจะอิ่มตัว ซึ่งเป็นลักษณะของการวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือ PAR อยู่แล้ว ในระหว่างการดำเนินงานสิ่งที่จะตกผลึกอยู่ตลอดเวลา คือองค์ความรู้ทั้งเชิงทฤษฎี และปฏิบัติ ที่จะถูกบูรณาการเข้าด้วยกัน เป็นองค์ความรู้ที่ทุกคนแตกฉานมากขึ้น รวมถึงประสบการณ์ที่จะได้รับ ที่สำคัญนักวิจัยทุกระดับจะได้พัฒนาส่วนขาดที่ตนเอง หรือที่กลุ่มประเมินออกมา และหาช่องทางจัดการพัฒนาขึ้นเพื่อเติมเต็มส่วนนั้น ซึ่งอาจจะใช้วิธีแลกกันในทีม หรือหากไม่มีจริง ๆ ก็ต้องหาวิทยากรจากข้างนอกมาช่วย เรียกว่างานนี้จะเป็นการพัฒนาสุขภาพชนชน พัฒนาตัวนักวิจัยทุกระดับ และพัฒนาศักยภาพของชาวบ้านด้วย

     ในด้านการเชื่อมโยงนั้น ขั้นต้นขอให้ดำเนินการในพื้นที่นำร่อง แต่ละรอบให้ชัดเจน เข้มแข็งก่อน (ซึ่งคัดจากพื้นที่ที่มีการเคลื่อนไหวอยู่แล้วในทิศทางเดียวกันก่อน ซึ่งขณะนีกำลังพิจารณา 3 พื้นที่ คือ ชุมชนลำกะ ชุมชนบ้านเกาะเรียน และชุมชนลานช้าง และทีมนักวิจัยหลักได้พยายามเข้าไปทำความรู้จักและสร้างความเป็นกันเองอยู่) เมื่อได้พื้นที่ที่เหมาะสมที่จะขยายสู่ตำบล รอบขยาย (รอบที่ 1) ก็ค่อย ๆ ขยาย พื้นที่ที่ตามหลังมาก็จะเริ่มขยายได้โดยการเรียนรู้ตามรูปแบบแรก และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จากนั้นก็จะได้พื้นที่ตัวอย่างที่เริ่มเข้าสู่ระดับอำเภอ เป็นรอบขยาย (รอบที่ 2) และในระยะเวลาไล่เรี่ยกัน การขยายตัวของรอบที่ 1 ก็จะเกิดขึ้นเพิ่มอีก (ประมาณการไว้ที่ 11 พื้นที่) รอบที่ 2 ก็พร้อมมากขึ้น รูปแบบของรอบที่ 3 ที่จะเป็นการนำเข้ามาสู่ระดับจังหวัด ก็จะเกิดความพร้อมพอดี ทั้งนี้ก็ต้องใช้ยุทธวิธีสร้างกระแส แนะนำเชิญชวนให้ผู้บริหาร เช่นผู้ว่า หรือหัวหน้าส่วนอื่น ๆ อบจ. ตลอดจนภาคเอกชน/องค์กร ไดรู้จักโครงการ และการสื่อสารสาธารณะก็จะทำงานเอง ถึงตอนนั้นความร่วมมือระดับจังหวัดซึ่งน่าจะยากที่สุดก็จะถูกทำให้ง่ายลงได้

     ที่ประชุมได้สอบถามประเด็นความหมายของคำว่า "สุขภาพ" ว่านักวิจัยหลักหมายถึงอะไร ก็ได้ตอบไปว่าหมายถึงทุกความหมายที่พื้นที่ตกผลึกความหมายของคำว่าสุขภาพว่าหมายถึงอะไร นักวิจัยก็จะให้ความหมายตามนั้น ด้วยเชื่อว่าความหมายของชาวบ้านจะผสมผสานวิถีแห่งภาวะสุขภาพได้ลีกซึ่งและตรงประเด็นที่เป็นความต้องการพัฒนาสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมมากกว่าหรือแตกต่างจากในทฤษฎี แต่อาจจะแตกต่างกันได้ในแต่ละบริบทของพื้นที่

     จากนั้นที่ประชุมได้เห็นชอบตามกรอบแนวคิดที่นักวิจัยหลักได้นำเสนอ แต่ที่ประชุมได้ขอให้สมาชิกที่เข้าประชุมได้ช่วยกันใส่รายละเอียดของกระบวนการดำเนินไปของการพัฒนาสุขภาพชุมชนในแต่ละขั้นตอน (ส่วนที่เป็นวงรีทั้ง 3 ระดับในกรอบแนวคิด เรียกว่ากรอบคิดเพื่อเดินเรื่อง) ด้วยการระดมสมองและกำหนดกรอบคิดเพื่อเดินเรื่องไว้ สรุปได้ดังนี้

     จากกรอบคิดเพื่อเดินเรื่องจะเห็นได้ว่าที่ประชุมได้ให้ความสำคัญของมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไว้อย่างกว้าง ๆ ทั้งนี้อาจจะมีเพิ่มเติมได้อีกมาก โดยมีแผนพัฒนาสุขภาพชุมชนเป็นจุดศูนย์รวม ภายใต้การดำเนินงานความร่วมมือแบบไตรภาคี โดยมีทุน (ความรู้เดิม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ เทคโนโลยีของท้องถิ่นเองหรือขอสนับสนุนถ้าจำเป็น และทุนอื่น ๆ ของชุมชนที่มีอยู่แล้ว เป็นต้น) มีเจ้าภาพรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการเคลื่อนไหวของกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญต้องมีการถ่ายทด แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกันเป็นระยะ ๆ ซึ่งใช้กระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาแบบคิดไป ทำไป ภายใต้หลักคิดแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เน้นการมีส่วนร่วมทุกรูปแบบ ให้ชุมชนกำหนดหรือใช้มาตรการทางสังคมกันเอาเอง มีการสื่อสารสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนข้างนอก และคนข้างในเอง ถือว่ากิจกรรมที่ดำเนินการเกี่ยวกับสุขภาพทั้งหมดเป็นบริการสาธารณสุข มีความน่าเชื่อถือและเป็นวิชาการ มีการเรียนรู้ไป คิดวิเคราะห์ไป พัฒนาไป และมุ่งสู่ความเข้มแข็งของชุมชนแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน

โอกาสความสำเร็จจะเกิดได้จากปัจจัยอะไรบ้าง อย่างไร

     วันนั้นที่ประชุมได้ร่วมตอบแบบสอบถามที่เป็นเครื่องมือวัดโอกาสสำเร็จของการดำเนินงานตามแนวคิดนี้ โดยให้เป็นคะแนนเต็ม 100 คะแนนในแต่ละด้าน คือความพร้อมของทีม ความสามารถในการแสวงหาแหล่งทุน การสนับสนุนจากภาคีอื่น ๆ นอกพื้นที่/ชุมชน และองค์ความรู้ในการจัดการของทีม ด้วยข้อคำถามง่าย ๆ คือ "ท่านคิดว่าปัจจัยทั้ง 4 นี้ ปัจจัยใดจะทำให้การพัฒนาสุขภาพชุมชนตามแนวคิดที่สรุปกันวันนี้สำเร็จลงได้ มาก-น้อยกว่ากันอย่างไร โปรดให้คะแนนตามความเป็นจริงที่ท่านคิด (ท่านสามาระให้คะแนนในแต่ละด้านได้สูงสุดคือ 100 คะแนน ซึ่งหมายถึงปัจจัยนี้เป็นสาเหตุที่จะทำให้สำเร็จได้มาก และต่ำสุดคือ 1 คะแนน ซึ่งหมายถึงปัจจัยนี้เป็นสาเหตุที่จะทำให้สำเร็จได้น้อย)" เมื่อนำมารวมกัน ก็ได้ข้อสรุปเป็นระดับคะแนนเฉลี่ยดังรูป

     จากผลการให้คะแนนพบว่า (ผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 58 คน) โดยเฉลี่ยแล้วเชื่อว่าความพร้อมของทีม เป็นปัจจัยที่เอื้อให้การดำเนินงานสำเร็จมากที่สุด (ร้อยละ 91) รองลงไปคือ องค์ความรู้ในการจัดการของทีม (ร้อยละ 83) ความสามารถในการแสวงหาแหล่งทุน (ร้อยละ 72)  และการสนับสนุนจากภาคีอื่น ๆ นอกพื้นที่/ชุมชน (ร้อยละ 61) ตามลำดับ

     จากประเด็นนี้ทีมนักวิจัยหลักจึงต้องทบทวนกระบวนการใหม่อีกครั้ง โดยได้มีการหารือ และประชุมย่อย ๆ หลาย ๆ ครั้งในห้วงเวลาต่อมา ก็สามารถพัฒนาขึ้นเป็นลำดับขั้นตอนในการดำเนินงานเสียใหม่ โดยเน้นที่การสร้างและพัฒนาความพร้อมของทีมในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการของทีมงาน ดังมีขั้นตอนในระยะที่ 1 ของการเตรียมการ ดังที่จะได้นำเสนอไว้ต่อไปนี้ คือ

     1. ดำเนินการเสวนาเพื่อรับฟังสถานการณ์ปัจจุบันของการจัดทำแผนชุมชนในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง จากภาคีต่าง ๆ เช่น ผู้สนใจ/ภาคีที่กำลังดำเนินงาน/ภาคีที่มีประสบการณ์เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันกับทีมนักวิจัย พ.ค.2548
     2. ทบทวนวรรณกรรม เอกสารทางวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" (ทบทวนฯ ช่วงที่ 1) มิ.ย.2548  
     3. จัดเวทีเสวนากลุ่มเล็ก (เสวนา 5 บาท) ในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อแสวงหาพันธมิตรในดำเนินงาน (เริ่มประเด็นเสวนาเมื่อสมาชิกมีตั้งแต่ 5 ขึ้นไป และลงขันคนละ 1 บาท เพื่อแสดงเจตนาในการร่วมเสวนา) มิ.ย.- ก.ค.2548  
     4. จัดเวทีเสวนากลุ่มเล็กกับกลุ่มข้าราชการ/แกนนำภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนชุมชนในจังหวัด เพื่อแสวงหาพันธมิตรในการดำเนินงาน ก.ค.2548  
     5. จัดประชุมทีมวิจัย/ที่ปรึกษา เพื่อระดมสมองและกำหนดแผนปฎิบัติการและลำดับขั้นตอนในการดำเนินงาน ก.ค.2548  
     6. พัฒนาทีมวิจัยด้านวิทยากรกระบวนการ/วิทยากรชุมชน/เทคนิคการถอดบทเรียน/กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพชุมชน แก่ทีมวิจัยในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย 11 ทีม ทีมละ 5 คน และทีมวิจัยหลัก/ผู้ช่วยวิจัย 10 คน รวม 65 คน ต.ค.2548  
     7. ทบทวนวรรณกรรม เอกสารทางวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม "ไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน" และสรุปข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ค้นพบในเบื้องต้น (ทบทวนฯ ช่วงที่ 2) ต.ค.2548  
     8. ขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบการจัดทำแผนชุมชนด้านสุขภาพ "แผนพัฒนาสุขภาพชุมชน" โดยทีมงานชุมชนไตรภาคีระดับพื้นที่ 11 ชุมชน พ.ย.2548 - มี.ค.2549
     9. จัดเวทีถอดบทเรียนจากการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบการจัดทำแผนชุมชนด้านสุขภาพ "แผนพัฒนาสุขภาพชุมชน" โดยทีมงานชุมชนไตรภาคีระดับพื้นที่ ธ.ค.2548 - เม.ย.2549
     10. จัดทำรายงานการวิจัยระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์ และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้สู่สาธารณะ เม.ย.2549
     11. จัดประชุมวิชาการเพื่อนำเสนอผลการวิจัยระยะที่ 1 และเพื่อการแสวงหาพันธมิตรผู้สนใจเพิ่มเติมในการขยายผลสู่พื้นที่อื่น ในการวิจัยระยะที่  พ.ค.2549
     หมายเหตุ : ได้มีการปรับเงื่อนเวลาใหม่ เมื่อ 9 ส.ค.2548

     อนุชา  หนูนุ่น  บันทึกไว้เมื่อ 16 กันยายน 2548

หมายเลขบันทึก: 3992เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2005 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
     อยากรู้เหตุผลที่เลือกชุมชนเกาะเรียน ลำกะ ลานช้าง เพียง 3 แห่งที่นำร่อง ที่อื่นพร้อมเหมือน จะขอเข้าร่วมบ้างได้ไหม

     เรียน คุณคนโหมด

     ก่อนอื่นผมขอตอบในประเด็นที่สอบถามโดยแยกเป็น 2 คำถามนะครับ

     1) เหตุผลที่เลือกชุมชนเกาะเรียน ลำกะ ลานช้าง เพียง 3 แห่งที่นำร่อง เนื่องจาก ชุมชนเกาะเรียนนั้นได้มีการพัฒนาในรูปแบบนี้เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งยังเหลือร่องรอยให้เห็น เช่น กลุ่มเยาวชนเกาะเรียน-บ้านพลี ที่ได้ร่วมกันจัดทำ "โครงการการเดินรณรงค์เคาะประตูบ้านป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเอดส์" โดยชุมชนให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นอย่างดี อีกทั้งเทศบาลเองก็ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ด้วยเหตุผลบางประการที่เกิดจากความไม่ไว้ใจคนนอก การพัฒนาจึงหยุดชงักลง ซึ่งน่าสนใจมาก ส่วนชุมชนลำกะนั้น เมื่อได้รับโครงการ PCU ในฝันไปทำ ผมเข้าไปสังเกตกระบวนอยู่การเกือบครบปี ก็มั่นใจได้ว่าชุมชนมีความพร้อมในระดับที่น่าพอใจแล้ว และชุมชนลานช้างเป็นชุมชนที่ร่วมกับสถานีอนามัยอย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว ณ วันนี้ยังไม่มีโครงการจากภายนอกเข้าไปปนเปื้อนอะไรเลย และชุมชนเริ่มค้นหาอยู่พอดี 3 ชุมชน 3 แบบ จึงเหมาะสมที่จะนำร่อง (pirot) ในรอบแรกครับ

     ที่อื่นพร้อมเหมือน จะขอเข้าร่วมบ้างได้ไหม คำตอบคือด้วยความเต็มใจมาก และเป็นความมุ่งหวังอยู่แล้วที่จะขยายความร่วมมือกันทั้งแนวดิ่งและแนวราบ หากเป็นในอุดมคติแล้ว ย่อมอยากเห็นในภาพรวมทั้งจังหวัด และมากกว่านั้นด้วยซ้ำครับ

     และขอขอบคุณด้วยใจจริงที่สนใจ มีอะไรคืบหน้าจะได้นำเรียนเป็นระยะ ๆ ใน http://gotoknow.org/tri-paki แห่งนี้ครับ

เป็นBlogที่มีเนื้อหายาวมากBlogแรกที่ผมอ่านด้วยความสนใจ
การเคลื่อนผ่านแผนแม่บทชุมชนน่าสนใจมาก เมื่อวานผมลงพื้นที่ทีมงานจากส่วนกลางก็ต้องการเคลื่อนงานเรื่องคุณธรรมผ่านหรือร่วมกับขบวนแผนแม่บทชุมชนในภาคใต้ซึ่งตอนนี้เสนอคร่าวๆไว้7จังหวัด
ผมเห็นว่า พื้นที่เป้าหมายที่พัทลุงน่าจะร่วมอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับของอนุชาด้วย จะได้หลอมรวมเรื่องสุขภาพและคุณธรรมซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายและปัจจัยสำคัญของแผนแม่บทชุมชนครับ
เป็นการเสริมขบวนแผนแม่บทชุมชนให้แข็งแกร่งขึ้น

ยังไงคงได้หารือกับทีมพัทลุงต่อไปครับ

(ตัวแทนทีมแผนแม่บทชุมชนที่มาจากพัทลุงเมื่อวานคือตัวแทนจากลานวัดลานวัฒนธรรมตะโหมดครับ)

     ถ้าหากพื้นที่เป้าหมายตามที่กล่าวถึงในการดำเนินงานเรื่องคุณธรรมนะครับ ผมว่าดีมาก และจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับหมอยอร์นอีกทีหนึ่ง และเร็ว ๆ นี้ครับผมจะจัดการให้ทีมงานหลักได้พบกับทีมงานของพี่ (คุณภีม) เพื่อผูกเกลอกันก่อน พี่คิดเห็นอย่างไรครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท