การอ้างอิง (reference)


การอ้างอิง (reference)

การอ้างอิง คือ  การระบุแหล่งที่มาของแนวคิดหรือข้อมูลที่ปรากฏในรายงานวิจัยของผู้เขียน  การจัดทำรายงานการอ้างอิงที่ถูกต้องจำเป็นต้องมีความรู้ในประเด็นต่อไปนี้

1. ประเภทของการอ้างอิง

     (1) การอ้างอิงในตัวเนื้อความ (in-text citation or in-text references) หรือเรียกว่าการอ้างอิงในวงเล็บ (parenthetical reference)

     (2) การอ้างอิงแบบแยกส่วนจากเนื้อหา มี 2 ประเภท ได้แก่

          (2.1) เชิงอรรถ (footnotes) ซึ่งเป็นการอ้างอิงในตอนล่างของหน้าที่มีการอ้างอิง   

          (2.2) การอ้างอิงในตอนท้ายเอกสารซึ่งมีการอ้างอิงแบบบันทึกหมายเหตุหรือข้อสังเกต เรียกว่า endnotes หรือ notes หรือรายการอ้างอิง (reference list) หรือ บรรณานุกรม (bibliography)

       การอ้างอิงเอกสารในตอนท้ายเอกสารที่เป็นแบบบันทึกหมายเหตุ (endnotes หรือ notes) อาจใช้วิธีการอ้างโดยเรียงตามลำดับหมายเลขที่มีการอ้างอิงในเนื้อหาก่อนหน้านั้น โดยมีแหล่งรายการอ้างอิงซ้ำได้หากอ้างมากกว่า 1 ครั้ง ทั้งนี้การอ้างอิงครั้งแรกจะอ้างอิงสมบูรณ์ มีรายละเอียดของชื่อผู้แต่ง ปี ชื่อเรื่อง แหล่งพิมพ์ ส่วนการอ้างอิงรายการซ้ำต่อมาจะเป็นการอ้างแต่ชื่อ  ผู้แต่ง ปี เลขหน้า

       สำหรับการอ้างอิงเอกสารในตอนท้ายเอกสาร ที่เป็นแบบรายการอ้างอิง (references list)  หรือบรรณานุกรม (bibliography) ใช้วิธีการอ้างแบบเลือกเรียงรายการเอกสารที่อ้างเพียงครั้งเดียวไม่ซ้ำกัน

        ในทางสังคมศาสตร์มักนิยมอ้างอิงในตัวเนื้อความหรือจัดทำเป็นรายการอ้างอิง (reference list) หรือบรรณานุกรม (bibliography) ส่วนทางมนุษยศาสตร์มักนิยมอ้างอิงแบบเชิงอรรถ (footnotes)

 

2. รูปแบบของการทำเชิงอรรถหรือบันทึกหมายเหตุ

       เชิงอรรถ (footnotes) เป็นการอ้างอิงที่แยกส่วนจากเนื้อหา ปรากฏอยู่ตอนล่างของหน้า ส่วนบันทึกหมายเหตุ (endnotes หรือ notes) เป็นการอ้างอิงแบบแยกส่วนจากเนื้อหา ปรากฏอยู่ตอนท้ายของเอกสาร เรียงลำดับตามหมายเลขที่มีการอ้างในเนื้อหา

       การทำเชิงอรรถหรือบันทึกหมายเหตุมี 4 ลักษณะ ได้แก่ (1) การอ้างแหล่งที่มาของเนื้อหาที่ปรากฏในส่วนเนื้อหา (text) โดยอาจเป็นการเขียนข้อความที่เป็นความคิดเห็นของแหล่งอ้างอิงหรือการคัดลอกข้อความของแหล่งอ้างอิง  (2) การอ้างอิงข้าม (cross-references) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า cf. หรืออาจใช้คำว่า see  เป็นการอ้างอิงถึงข้อความที่ปรากฏในเอกสารวิชาการฉบับเดียวกัน แต่อยู่ที่ส่วนอื่นหรือหน้าอื่น ถ้าเป็นภาษาไทย มักเขียนในวงเล็บว่า (ดูที่หน้า …..) (3) การอ้างอิงส่วนที่ผู้เขียนต้องการให้รายละเอียดเสริมเพื่อให้เข้าใจชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่แยกออกมานำเสนอในตอนท้ายของหน้า เพื่อมิให้ผู้อ่านเกิดการสะดุดทางความคิดในขณะอ่านข้อความในส่วนเนื้อหา และ (4) การเขียนหมายเหตุที่แสดงการยอมรับหรือให้เกียรติกับแหล่งที่อ้างอิงหรือบุคคลที่มีส่วนในการจัดทำเอกสารวิชาการ 

        จะเห็นว่าการทำเชิงอรรถหรือบันทึกหมายเหตุสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ แบบที่ 1 และ 2 เรียกว่า บันทึกหมายเหตุแบบอ้างอิง (reference notes)  และแบบที่ 3 และ 4 เรียกว่า บันทึกหมายเหตุแบบเนื้อหา (content  notes) ทั้งนี้บันทึกหมายเหตุแบบเนื้อหายังสามารถอ้างอิงแหล่งที่มาได้ซ้อนอยู่ภายในข้อความได้

 

3. จำนวนการอ้างอิงแต่ละครั้ง

       การอ้างอิงแหล่งที่มาของเอกสาร สามารถอ้างได้ทีละแหล่ง (single source) หรืออ้างพร้อมกันหลายแหล่ง (multiple sources) สำหรับการอ้างอิงหลายแหล่ง อาจเป็นเอกสารฉบับเดียวแต่มีผู้เขียนที่เป็นเจ้าของแหล่งที่ต้องอ้างมากกว่า 1 คน หรือเป็นการอ้างอิงแหล่งเอกสารที่มีมาจากผู้เขียนที่เป็นอิสระจากกัน

 

อ้างอิง

นงลักษณ์ วิรัชชัย. (2541). การเขียนบทความวิจัย.  เอกสารประกอบการบรรยายในโครงการ "เที่ยงวันวิชาการ" ณ ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542.

หมายเลขบันทึก: 399321เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครูสอนเลขมากค่ะที่เป็นกำลังใจให้

แล้วเจอกันค่ะ โชคดีในการเรียนรู้ ขอบคุณมากสำหรับสิ่งดีๆ ที่มีให้กัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท