ประเภทของการวิจัย


วิธีการวิจัย

        สวัสดีค่ะพบกันอีกแล้ว!!!!!!!!!  อย่าเพิ่งเบื่อนะคะ    เพื่อนๆคงมีความรู้พื้นฐานการวิจัยกันบ้างพอสมควรแล้วเรามารู้จักประเภทของการวิจัยกันดีกว่านะคะ….....ลุยกันเลย 

ประเภทของการวิจัย 

 การจัดแบ่งประเภทการวิจัยขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่จะนำมาใช้แบ่งดังนี้

             1. เกณฑ์วัตถุประสงค์ของการวิจัย    ได้แก่  การวิจัยเชิงบริสุทธิ์หรือการวิจัยขั้นพื้นฐาน   การวิจัยเชิงประยุกต์   การวิจัยเชิงบรรยายหรือค้นหาบุกเบิก   และ การวิจัยเชิงอธิบาย

              2. เกณฑ์การจัดกระทำตัวแปร  ได้แก่   การวิจัยเชิงธรรมชาติ   การวิจัยเชิงทดลอง   และ การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง
              3. เกณฑ์ช่วงเวลาของปรากฎการณ์หรือตัวแปรที่ทำการศึกษา   ได้แก่   การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์   การวิจัยเชิงย้อนรอย    การวิจัยเชิงสำรวจ    การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์   และการวิจัยเชิงอนาคต

               4.เกณฑ์เทคนิคและเนื้อหาเฉพาะ  ได้แก่  การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  การวิจัยและพัฒนา  การวิจัยในชั้นเรียน  และการวิจัยเชิงประเมิน

                  จะเห็นได้ว่าวิธีการหรือเทคนิควิจัยนั้นมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละวิธีก็มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันไป  

การเก็บรวบรวมข้อมูล

                การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นขั้นตอนการวิจัยที่ต่อเนื่องมาจากการกำหนดคำถามการวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัยและสมมุติฐานการวิจัย  ทั้งนี้ในขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลจะมีประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณา ได้แก่  แหล่งข้อมูลการวิจัย  เครื่องมือและวิธีการใช้เก็บรวบรวมข้อมูล  ตลอดจนการพัฒนาและเลือกใช้เครื่องมือ  วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งมีสาระโดยสังเขปดังต่อไปนี้

                แหล่งข้อมูลการวิจัย

                แหล่งข้อมูลการวิจัย  หมายถึง  แหล่งที่จะให้ข้อมูล หรือมีข้อมูลตามที่ผู้วิจัยต้องการ  อาจเป็นบุคคล  สิ่งของ  สัตว์ หรืออื่นๆ ก็ได้  แหล่งข้อมูลการวิจัยที่กล่าวนี้เมื่อนักวิจัยจะทำการเก็บรวบรวมก็ต้องคำนึงถึงลักษณะสำคัญสองส่วน คือ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างของแหล่งข้อมูล

                ประชากร (Population)  หมายถึง  ทุกสิ่ง ทั้งหมดหรือทุกหน่วยของแหล่งข้อมูลที่ผู้วิจัยต้องการศึกษารวบรวม

                กลุ่มตัวอย่าง (Sample group)  หมายถึง  ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวแทนประชากรที่ผู้วิจัยต้องการศึกษา

                ลักษณะของเทคนิควิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่าง

                1)  การเลือกแบบเครือข่ายหรือก้อนหิมะ  เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างเริ่มจากการเลือกบุคคล หรือกลุ่มที่เป็นตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด  หลังจากนั้นให้ตัวอย่างหรือผู้เข้าร่วมการวิจัยบอกชื่อตัวอย่างเพิ่มที่คิดว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ให้ข้อมูลในเรื่องที่ผู้วิจัยต้องการจะทราบได้เป็นอย่างดี  และให้บุคคลที่ถูกระบุชื่อหาผู้ที่คิดว่าจะให้ข้อมูลดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งได้รายชื่อที่ซ้ำๆ กัน จึงยุติการเลือกตัวอย่าง

                2)  การเลือกแบบครอบคลุม  เริ่มจากนักวิจัยเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด  โดยที่กลุ่มตัวอย่างมักจะเป็นชุมชนหรือองค์กรหนึ่ง  แล้วทำการศึกษารวบรวมข้อมูลตามประเด็นต่างๆ  จากทุกๆ หน่วยของกลุ่มตัวอย่าง

                3)  การเลือกแบบโควตา หรือการกระจายสูง  เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนจากประชากรกลุ่มย่อยๆ ให้ครบทุกกลุ่ม  โดยเริ่มจากนักวิจัยกำหนดคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการซึ่งสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่ศึกษาเพื่อกำหนดร้อยละของกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการแล้วจึงเลือกตามนั้น

                4)  การเลือกกรณีสุดโต่ง  เป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้  โดยกลุ่มตัวอย่างจะมีลักษณะแตกต่างจากลักษณะปกติทั่วไปอย่างชัดเจน  แล้วจึงศึกษาตัวแปรต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ  อธิบายและเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างและความเหมือนกันของปรากฏการณ์นั้นกับกลุ่มที่มีลักษณะปกติ

                5)  การเลือกกรณีตามแบบทั่วไป  มีลักษณะตรงกันข้ามกับกรณีสุดโต่ง  นักวิจัยจะเลือกตัวอย่างที่มีคุณลักษณะตามที่บุคคลส่วนใหญ่มี  นักวิจัยจะทำการกำหนดเกณฑ์คุณลักษณะ  โดยพิจารณาให้เป็นเกณฑ์ที่มีลักษณะกลางๆ

                6)  การเลือกกรณีเฉพาะ  เป็นการเลือกตัวอย่างที่มีคุณลักษณะบางประการเฉพาะตัวแตกต่างจากคุณลักษณะประชากรส่วนใหญ่

                7)  การเลือกกรณีเด่น  คือ  การเลือกกรณีรู้จัก  เลือกโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ศึกษาเสนอรายชื่อบุคคลที่ผู้วิจัยควรจะเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่าง

                8)  การเลือกกรณีตามแบบทั่วไปในอุดมคติ  เป็นการผสมแนวคิดการเลือกกรณีตามแบบทั่วไปและการเลือกกรณีสุดโต่ง  นักวิจัยจะกำหนดคุณลักษณะของตัวอย่างที่ต้องการให้เป็นไปในลักษณะสุดโต่ง  ซึ่งเป็นคุณลักษณะตามอุดมคติ  หลังจากนั้นก็เลือกตัวอย่างที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริงโดยพยายามให้สอดคล้องกับคุณลักษณะในอุดมคตินั้น

                9)  การเลือกกรณีเปรียบเทียบ  นิยมใช้กับงายวิจัยเชิงคุณภาพที่มีแบบแผนการวิจัยที่เรียกว่า พหุพื้นที่  ซึ่งเป็นแบบแผนการวิจัยที่ใช้กลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในพื้นที่ต่างกันเพื่อศึกษาปัญหาเดียวกัน  และยังใช้สำหรับแบบแผนการวิจัยเชิงคุณภาพที่เรียกว่า พหุกรณี  ซึ่งเป็นแบบแผนการวิจัยที่ศึกษากับตัวอย่างตั้งแต่ 2 กรณีขึ้นไป  โดยตัวอย่างนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหรือร่วมกันสรุปคือการเลือกกรณีนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาจากกรณีต่างๆ เป็นสำคัญ 

เครื่องมือและการเก็บรวบรวมข้อมูล

                ก่อนใช้เครื่องมือและวิธีการใดๆ ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  สิ่งแรกที่นักวิจัยต้องพิจารณาตอบตนเองให้ได้ คือ ข้อมูลที่จะเก็บรวบรวมมีลักษณะอย่างไร  ซึ่งข้อมูลในงานวิจัยนั้นอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่  ข้อมูลที่แสดงถึงคุณลักษณะของปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ทำการศึกษาซึ่งเรียกว่า ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative data)  ได้แก่  เหตุการณ์  เรื่องราว  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  วิถีชีวิต เป็นต้น  ในขณะที่ข้อมูลอีกประเภทหนึ่งจะเป็นข้อมูลที่แสดงถึงปริมาณหรือจำนวนของปรากฏการณ์หรือตัวแปรที่ต้องการศึกษา เรียกว่า  ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data)  ข้อมูลประเภทนี้ได้แก่  จำนวนหรือตัวเลขที่กำหนดขึ้นแทนค่าของตัวแปร  เช่น  น้ำหนัก  อายุ  ส่วนสูง  รายได้  อุณหภูมิ เป็นต้น

                ซึ่งลักษณะข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิจัยจำเป็นต้องจำแนกให้ได้ว่าในการดำเนินงานวิจัยของตนนั้นต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลใด  อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้เหมาะสมกับข้อมูลที่ตองการ  ซึ่งเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นก็มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้เกณฑ์แบ่ง แบ่งออก เป็น 4  กลุ่ม ดังนี้

                1)  ประเภทวัสดุอุปกรณ์  (Material and hardware)  เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่บุคคลสร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูลเชิงกายภาพ  ตัวอย่างเช่น เครื่องชั่ง  ตวง และวัด ถ้วยตวง  กระบอกตวง ไม้บรรทัด  ตลับเมตร  เป็นต้น  นอกจากเครื่องมือที่กล่าวนี้แล้วเครื่องทางการแพทย์บางอย่าง เช่น  เครื่องวัดอัตราการเต้นของชีพจร  และความดันโลหิต  ก็จัดอยู่ในเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลประเภทนี้ด้วยเช่นกัน

                2)  ประเภทไม่ใช้ภาษา (Non - verbal)  เป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นหรือสิ่งเร้า  จะมีลักษณะเป็นภาพหรือชิ้นส่วนวัสดุสิ่งของ  ซึ่งจะนำไปให้บุคคลลงมือปฏิบัติหรือพิจารณาแล้วตอบคำถาม  เครื่องมือประเภทนี้ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลทางจิตภาพในส่วนที่เป็นทั้งข้อมูลสติปัญญาและข้อมูลทางบุคลิกภาพ  เช่น  แบบทดสอบประกอบการหรือการปฏิบัติ (Performance test)  เพื่อวัดสติปัญญา ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นลูกบาศก์ (ทำด้วยไม้หรือพลาสติก)  และกระดาษหรือภาพชิ้นส่วน  เป็นต้น

                3)  ประเภทใช้ภาษา (Verbal)  เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเอกสารสิ่งพิมพ์  ทำหน้าที่เป็นสิ่งเร้าโดยให้บุคคลอ่านแล้วตอบคำถามโดยการเขียนหรือทำเครื่องหมายตอบ  เครื่องมือประเภทนี้เป็นที่รู้จักและนิยมใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างแพร่หลาย  ซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภท  ได้แก่  แบบสำรวจรายการ  มาตราส่วนประมาณค่า  แบบสอบถามและแบบทดสอบ  เป็นต้น 

    เครื่องมือประเภทเทคนิควิธีการเก็บข้อมูลต่างๆ อันได้แก่  การสังเกต  การสัมภาษณ์  และการสนทนากลุ่ม  ว่ามีวิธีการดำเนินการอย่างไร ดังนี้ค่ะ

1)  การสังเกต  (Observation)  เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ตาดูและหูฟังอย่างตั้งใจอย่าง มีจุดมุ่งหมาย  การสังเกตแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่  การสังเกตเชิงปริมาณ (Quantitative observation)  และการสังเกตเชิงคุณภาพ (Qualitative observation)

     การสังเกตเชิงปริมาณ (Quantitative observation) บางครั้งเรียกว่า การสังเกตแบบมีโครงสร้างหรือการสังเกตอย่างมีระบบ   เป็นการสังเกตที่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน  เช่น  เวลา  สถานที่  หรือวิธีการสังเกต

     การสังเกตเชิงคุณภาพ (Qualitative observation)  บางครั้งเรียกว่า  การสังเกตเชิงธรรมชนติ (Naturalistic observation)  เป็นการสังเกตที่นักวิจัยเข้าไปสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนามวิจัยอย่างรอบด้าน และบันทึกสิ่งที่สังเกตไว้  การสังเกตเชิงคุณภาพแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ ตามความเข้มข้นของการสังเกตและการมีส่วนร่วมของผู้สังเกต ดังนี้

                -  การสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์ (Complete participant)  หมายถึง  การที่ผู้วิจัยเข้าไปอยู่ร่วมเป็นสมาชิกเดียวกับกลุ่มคนที่นักวิจัยต้องการศึกษาพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางสังคมของบุคคลนั้นๆ  นักวิจัยต้องใช้เวลาแทบทั้งหมดเข้าไปอยู่ในสนามวิจัย  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ให้สมาชิกในสนามวิจัยไว้วางใจแล้วทำการสังเกต  โดยที่คนในกลุ่มนี้ไม่รู้ตัวว่าถูกทำการสังเกต  การสังเกตแบบนี้นิยมใช้กันมากในงานวิจัยเชิงคุณภาพ

                -  การสังเกตแบบมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกต (Participant as-observation)  หมายถึง  การที่ผู้สังเกตเข้าไปอยู่ร่วมกับกลุ่มคนในสนามวิจัย  โดยแจ้งให้สมาชิกทราบว่านักวิจัยเป็นใครและมีวัตถุประสงค์อย่างไร  นั่นคือ  สมาชิกในสนามวิจัยจะรู้ตัวว่าถูกสังเกตพฤติกรรมโดยนักวิจัย  ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้ได้ข้อมูลหรือพฤติกรรมของบุคคลที่ไม่เป็นไปตามปกติ

                -  การสังเกตแบบผู้สังเกตในฐานะมีส่วนร่วม (Observation as-participant)  การสังเกตแบบนี้ผู้วิจัยจะแสดงบทบาทเป็นผู้สังเกตมากกว่าการเป็นผู้มีส่วนร่วม และเมื่อเปรียบเทียบสองวิธีที่ผ่านมา การสังเกตแบบนี้จะทำให้ได้ข้อมูลน้อยกว่า  เพราะการสังเกตแบบนี้ผู้สังเกตจะใช้เวลาไม่มากในการเข้าไปอยู่ร่วมในสนามการวิจัย  นอกจากนั้นแล้วนักวิจัยก็ต้องบอกสมาชิกในสนามวิจัยให้รู้ว่าจะสังเกตอะไรอีกด้วย  ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลปกปิดเสแสร้งอีกเช่นกัน

                -  การสังเกตแบบเป็นผู้สังเกตโดยสมบูรณ์ (Complete observation)  หรือบางครั้งเรียกว่า การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non – participant observation)  เป็นการสังเกตที่นักวิจัยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกิจกรรมหรืออยู่ในสนามการวิจัย  ผู้สังเกตหรือนักวิจัยมีฐานะเป็นคนนอกเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของสมาชิก โดยที่สมาชิกหรือคนกลุ่มนั้นไม่รู้ตัวว่าถูกสังเกต เพราะผู้สังเกตไม่ได้บอกให้รู้ว่าจะทำการสังเกต

2)  การสัมภาษณ์  (Interview) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การพูดคุยซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ระหว่างบุคคลหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ (Interviewer) และมีบุคคลที่เป็นผู้ถูกสัมภาษณ์ (Interviewee)  การสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น

      การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ หรือแบบมีโครงสร้าง (Formal or Structure Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่มีการกำหนดประเด็นที่จะสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน  อาจทำได้หลายวิธี  เช่น  การสัมภาษณ์แบบเผชิญหน้า  การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์  การสัมภาษณ์ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

     การสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการหรือแบบไม่มีโครงสร้าง (Informal or Unstructure Interview)  เป็นการสัมภาษณ์ที่มีลักษณะเหมือนการพูดคุยในชีวิตประจำวัน  ผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์กันจนสนิทคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้วจึงสัมภาษณ์

3)  การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion)  เป็นการอาศัยความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่มที่มีต่อคำถามของผู้วิจัยเป็นข้อมูลตอบคำถามและวัตถุประสงค์การวิจัย  โดยสมาชิกที่เข้าร่วมพูดคุยนั้นนักวิจัยได้คัดเลือกอย่างเจาะจงจากกการพิจารณาพื้นภูมิหลังหรือคุณลักษณะต่างๆ ที่คล้ายคลึงกัน  นักวิจัยกับสมาชิกไม่จำเป็นต้องมีความคุ้นเคยกันมาก่อน  และใช้เวลาสั้นๆ ในการเก็บข้อมูล  เอาเฉพาะประเด็นที่ต้องการ

     ขั้นตอนของการสนทานากลุ่ม

                1.  กำหนดเรื่อง  และวัตถุประสงค์ที่จะศึกษา

                2.  กำหนดกรอบและประเด็นที่จะนำมาให้สมาชิกผู้ร่วมสนทนาได้แสดงความคิดเห็น

                3.  กำหนดและคัดเลือกสมาชิกกลุ่มผู้ร่วมสนทนา

                4.  จัดกลุ่มและดำเนินการสนทนา

                5.  สรุปและปิดประเด็นการสนทนา 

 

เอกสารอ้างอิง
รัตนะ บัวสนธ์. (2551).  ปรัชญาวิจัย (Philosophy of Research). กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี  อ่อนสวัสดิ์. (2553).  เอกสารประกอบการบรรยาย วิชา ระเบียบวิธีวิจัยขั้นสูง (390611).พิษณุโลก. มหาวิทยาลัยนเรศวร.

 

หมายเลขบันทึก: 399320เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2010 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ เป็นกำลังใจนะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท