ต้นไม้ของท่านพุทธทาส ... ปู่สอน กล้าศึก (ตอน 8)


บันทึกวันจันทร์ที่ 27 กันยายน 2553

ต้นไม้ของท่านพุทธทาส

 

 

ผมนึกได้ว่า ผมเขียนถึงต้นไม้บ่อยมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา

เพราะอากาศเป็นใจ ในการปลูกต้นไม้

ดินก็อ่อนนุ่ม เอาเสียมและจอบขุด...ไม่นานก็นำต้นไม้ลงหลุ่มได้แล้ว

และคาดว่า อากาศชุ่มชื่นอย่างนี้ ไม่ต้องถนุถนอมฟูมฟักให้มากนัก

แต่ข้อควรตระหนักสำหรับผม คือ ...

ปลูกต้นไม้หน้าฝน จะตายง่าย เพราะรากของต้นไม้จะเน่าได้ง่ายกว่าฤดูอื่น ๆ

 

ท่านพุทธทาส ได้บรรยายธรรม เกี่ยวกับต้นไม้ไว้หลายครั้ง

ใช้เป็นเครื่องอุปมา หรือเปรียบเทียบกับสรรพสิ่ง และโลกไว้

ยกตัวอย่าง... การเปรียบเทียบการปลูกต้นไม้ เปรียบเทียบกับ

วัยหรือช่วงอายุกับการปลูกต้นไม้ไว้อย่างน่ามหัศจรรย์

และน่าเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของผมได้

ท่านเล่าว่า...

 

ตามธรรมดา ของ เด็ก ย่อมคุ้นเคยกับการปลูกต้นไม้

เด็ก ๆ จะชอบต้นเทียน  ปลูกต้นดาวเรือง  ปลูกต้นสามเดือน

หรือคนที่กรุงเทพฯ เขาเรียกว่า "บานไม่รู้โรย".

เด็ก ๆ นี่รู้จักต้นไม้เหล่านี้ดี เพราะ เป็นต้นไม้สำหรับเด็ก

และเด็กที่ฉลาดก็ปลูกต้นไม้เหล่านี้ได้ผลดี

มีดอกสวยอวดเพื่อนได้ เรียกกันมาดู  นี่เด็กๆ.

 

เมื่อ เด็กโตขึ้นไป  จะเป็นคนรุ่น  แล้ว คนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว

จะปลูกต้นไม้ที่สูงขึ้นไปกว่านั้น เช่น ปลูกกล้วย  ปลูกอ้อย

ปลูกสับประรด  เป็นต้น

มันเหมาะสมแก่ความรู้ความสามารถ.

มันก็ปลูกได้ดี  ซึ่งมันก็ต้องยากกว่า ที่ต้องปลูกต้นไม้เล็ก ๆ เช่น

ต้นเทียน  ต้นดาวเรือง  เป็นต้น.

 

พอ โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ก็สามารถ ที่จะปลูกต้นมะม่วง

ต้นมาก ต้นมะพร้าว  ปลูกได้ดีมีผล 

เพราะมันเป็นคนโตแล้ว  ไม่ใช่เด็กแล้ว.

 

ถึง รุ่นแก่รุ่นเฒ่า  ที่จิตใจสูงขึ้นไป

ก็ ปลูกต้นที่มีความหมายสูงขึ้นไป เช่น ต้นโพธิ์  ต้นไทร ต้นยูง  ต้นยาง

ที่มีร่มเงา มีอะไรสูงกว่ากินตามธรรมดา.

 

ขอให้ดูว่า เราก็คุ้นเคยกับการปลูกต้นไม้ เพาะเลี้ยงต้นไม้

รักษาต้นไม้จนสำเร็จประโยชน์ตามวัยของเราเป็นลำดับ ๆ ไป,

มันมีความจริงของมันเฉพาะชั้นเฉพาะตอน.

ที่เขาจะเรียกกันโดยสมัยนี้ (2526) ว่า...

มีเทคนิคของมันเฉพาะขั้นเฉพาะตอน,

จะต้องมีความรู้ใช้เทนนิคเหล่านั้นให้ถูกต้อง

ให้มีผลดีเต็มที่

การปลูกต้นไม้เหล่านั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์...

 

เมื่อนำถ้อยคำของท่านพุทธทาสมาวิเคราะห์

ผมทบทวนและสรุปเองได้ว่า...

เป็นเรื่องจริง  เป็นทฤษฎี  เป็นสัจธรรม  ที่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์

 

เมื่อเปรียบเทียบถ้อยคำของท่านพุทธทาสมาวิเคราะห์กับชีวิต "ปู่สอน  กล้าศึก"

ผมวิเคราะห์ว่า ปู่ก็มีแนวคิด แนวปฏิบัติ ตามรอยท่านพุทธทาส

ปู่สอน อายุ 78 ปีแล้ว แต่คิดจะ ปลูกต้นที่มีความหมายสูงขึ้นไป

ตั้งแต่แต่วัยหนุ่ม (ปลูกมาตั้งแต่อายุ 40 ปี ต้นๆ )

ดังนั้น ปู่สอน จึงมีแนวคิดการปลูกต้นไม้ข้ามช่วงวัย

จึงไม่แปลกที่ปู่สอน ค้นพบคำตอบของชีวิต...ได้เร็วกว่าคนอื่น ๆ

 

และเมื่อเปรียบเทียบถ้อยคำของท่านพุทธทาสมาวิเคราะห์กับชีวิต "ของผมเอง"

จะพบว่า ผมปลูกต้นไม้ย้อนวัย

เพราะปีนี้ผมย่างเข้าวัย 40 ปี แล้ว

ผมยังปลูก "ผักชี" เอาไว้โรยหน้า (ตัวเองและหน่วยงาน)

เผลอ ๆ ก็มีการ "นั่งเทียน" ปลูกผักชี

โดยเฉพาะเมื่อมีการประเมินผลงาน

ในช่วงเดือนมีนาคม  และเดือนนี้หล่ะครับ...กันยายน  ...สิ้นปีงบประมาณ

ดังนั้น  "ผมเอง" จึงมีแนวคิดการปลูกต้นไม้ย้อนช่วงวัย

จึงไม่แปลกที่ผมเอง  ยังไม่สามารถค้นพบคำตอบของชีวิตได้.

 

เมื่อวิเคราะห์ถึงการปลูกต้นไม้ของ "เจ้าหลักเจ้านาย"

จะพบว่า..ชื่นชมกับ "ต้นผักชี" ของเหล่าลูกน้อง...

ว่า...ปลูกผักชี ได้งดงามน่ารับประทาน

และนำผักชีเหล่านั้น ...ส่งต่อเจ้าหลักเจ้านายระดับสูง ๆ ต่อไป ....

 

 ปล. "ปู่สอน กล้าศึก" ที่เขียนไว้แล้วในบันทึกผม  สามารถอ่านเพิ่มเติม

ตามบันทึกข้างล่าง

*  ปู่สอน กล้าศึก ผู้ปลูกต้นไม้ในใจทุกคน

* ปู่สอน กล้าศึก ผู้ปลูกต้นไม้ในใจทุกคน (ตอน 2)

* THE MAN WHO PLANTED TREES ... ปู่สอน กล้าศึก (ตอน 3)

* ต้นอัลมอนด์ที่สนามหน้าบ้านของเธอ......... ปู่สอน กล้าศึก (ตอน 4)

* ก้อนเมฆบนต้นไม้ คำคมปู่สอน กล้าศึก (ตอน 5)

* ใบไม้วิเศษ ใบที่ 1-25 ...ปู่สอน กล้าศึก (ตอน 6)

* ใบไม้วิเศษ ใบที่ 26-50 ... ของปู่สอน กล้าศึก (ตอน 6)

* ใบไม้วิเศษ ใบที่ 51-75 ...ของปู่สอน กล้าศึก (ตอน 6)

* โอกาสของความสุข...ปู่สอน กล้าศึก ผู้ปลูกต้นไม้ในใจทุกคน (ตอน 7)

 

**********

 

 

หมายเลขบันทึก: 398783เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ..สำหรับสาระธรรมต้นไม้ของท่านอาจารย์พุทธทาส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท