วิวัฒนาการอักษรโบราณในดินแดนสุวรรณภูมิ


          ก่อนจะมาเป็นอักษรไทย และอักษรท้องถิ่นอื่นๆในดินแดนสุวรรณภูมิปัจจุบัน อักษรโบราณในดินแดนสุวรรณภูมิ ได้มีวิวัฒนาการยาวไกล ใครจะรู้ว่า ต่างก็ล้วนมีที่มาเป็นอักษรตระกูลเดียวกับอักษรโรมัน

(ลำดับวิวัฒนาการ ให้ถือจากบนลงล่างเสมอ สำหรับซ้าย-ขวา ได้ใส่ลูกศรบอกทิศทางไว้แล้ว  สีแดง - นอกสุวรรณภูมิ   | สีเหลือง - ในสุวรรณภูมิ    | สีส้ม - ทั้งในและนอกสุวรรณภูมิ | ทั้งนี้ อักษรนอกสุวรรณภูมินั้นแบ่งรูปแบบอย่างคร่าว ๆ หรืออาจแสดงเฉพาะอักษรสำคัญ ๆ เท่านั้น ส่วนอักษรในสุวรรณภูมิจะแบ่งรูปแบบอย่างละเอียด)

           อักษรที่เก่าแก่ที่สุดของโลกคืออักษรเฮียโรกลิฟฟิกของอียิปต์ ซึ่งเป็นต้นตระกูลของอักษรไทยด้วย! อักษรในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลางได้วิวัฒนาการมาระยะหนึ่ง (ตามในผัง) จนถึงอักษรฟินิเชีย ซึ่งถือว่าเป็นอักษรแม่ของโลก เนื่องจากฟินิเชียเป็นชนชาติพ่อค้า ได้ติดต่อค้าขายกับดินแดนต่าง ๆ และเผยแพร่อักษรออกไปไกล อักษรเปอร์เซีย อาหรับ และพราหมีของอินเดียก็มาจากอักษรฟินิเชีย
           จากนั้นอักษรได้วิวัฒนาการมาทางตะวันออกเรื่อย ๆ จากอักษรพราหมี ก็ได้แตกเป็นอักษรเทวนาครี (อินเดียฝ่ายเหนือ) ซึ่งยังใช้อยู่ในอินเดียปัจจุบัน และอักษรปัลลวะ (อินเดียฝ่ายใต้) อักษรปัลลวะนี้ได้เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ และพัฒนาต่อเป็นอักษรขอมโบราณและมอญโบราณ จากตรงนี้อักษรจะแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ คือกลุ่มมอญและกลุ่มขอม
           ยังมีอักษรอีกกลุ่มหนึ่งคืออักษรสายจามปา วิวัฒนาการมาจากอักษรพราหมีเช่นกัน แต่อาจจะผ่านปัลลวะอีกทีหนึ่งก็ได้ แบ่งเป็นจามปาสายญวนและสายขอม ซึ่งอันหลังนี้ได้รับอิทธิพลอักษรขอมโบราณ
           ต่อมา อักษรกลุ่มมอญและกลุ่มขอมได้ผสมกันในไทยจนกลายเป็นอักษร ๓ กลุ่ม คือกลุ่มไทยกลาง ไทยเหนือ และกลุ่มขอม
           กลุ่มไทยกลาง วิวัฒนาการมาจากอักษรขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งมาจากอักษรขอมโบราณอีกต่อหนึ่ง เกิดเป็นอักษรพ่อขุนรามคำแหง อักษรต้นแบบของชาติไทย จากนั้นได้วิวัฒนาการมาเรื่อยจนถึงสมัยอยุธยา ซึ่งได้เกิดอักษรอีกชนิดซึ่งเลียนแบบอักษรขอม ขมวดหางล่างและสะบัดหางบน คืออักษรไทยย่อ จากนั้นอักษรไทยอยุธยาแบบธรรมดาและอักษรไทยย่อได้ผสมกันกลายเป็นอักษรแบบ เดียวกัน ในสมัยธนบุรี-รัตนโกสินทร์ สำหรับอักษรไทยสุโขทัย (สมัยหลังพ่อขุนรามคำแหง) และไทยอยุธยา ได้แพร่กระจายออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดเป็นอักษรไทยน้อย และอักษรลาวปัจจุบัน
           กลุ่มไทยเหนือ วิวัฒนาการมาจากอักษรพ่อขุนรามคำแหง ผสมกับอักษรกลุ่มมอญ (มอญได้วิวัฒนาการไปเป็นกวิ พม่า และกะเหรี่ยงด้วย แต่อักษรเหล่านี้ไม่ค่อยปรากฏในไทย) เกิดเป็นอักษรธรรมล้านนา ใช้เขียนภาษาบาลี และอักษรฝักขาม ใช้เขียนภาษาไทยทั่วไป อักษรธรรมล้านนาได้กระจายไปยังลาวเกิดเป็นอักษรธรรมอีสาน และอักษรฝักขามได้กระจายไปทางเหนือ เกิดเป็นอักษรไทใหญ่ และไทลื้อ รวมทั้งวิวัฒนาการในดินแดนล้านนาเองเป็นอักษรไทยนิเทศด้วย
           กลุ่มขอม วิวัฒนาการมาจากอักษรขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่นเดียวกับกลุ่มไทยกลาง แต่แยกกลุ่มออกไปเป็นอักษรเขมรปัจจุบัน และอักษรขอมไทย ใช้เขียนภาษาบาลีของกลุ่มไทยกลาง วิวัฒนาการเรื่อยมาจากสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์
           ปัจจุบัน ได้มีการกำหนดอักษรไทยมาตรฐาน (ตัวคัดลายมือ) ออกมาหลายแบบ เรียกว่าอักษรไทยมาตรฐาน เช่น อักษรอาลักษณ์ อักษรมาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย เป็นต้น
           *** มีอักษรอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้พัฒนามาในดินแดนนี้เลย แต่เข้ามาในระยะหลังจากชาวยุโรป คืออักษรโรมัน ซึ่งใช้เขียนเกือบทุกภาษาในยุโรป รวมทั้งภาษาอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลในไทยสมัยปัจจุบันมากพอสมควร ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการประดิษฐ์อักษรอริยกะ ซึ่งดัดแปลงจากอักษรโรมัน ไว้สำหรับใช้เขียนภาษาบาลี (ทำนองเดียวกับอักษรขอม แต่เขียนง่ายกว่า) แต่ต่อมาได้เลิกใช้ไป ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้คิดการจุดใต้ตัวอักษร (พินทุ) เพื่อใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลีได้สมบูรณ์ อักษรขอมจึงค่อย ๆ หายไปจากไทย ส่วนอักษรกลุ่มไทยเหนือ ได้ถูกห้ามใช้ในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม (นโยบายชาตินิยม) ในปัจจุบัน ทั่วประเทศจึงใช้เพียงอักษรไทยกลาง และปรากฏการใช้อักษรโรมันอย่างแพร่หลาย (เขียนภาษาอังกฤษ)

ขอบคุณข้อมูลจาก :
http://www.siamboran.net/

หมายเลขบันทึก: 398723เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 08:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 เมษายน 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท