ภาษาถิ่นหรือภาษาท้องถิ่น


            ประเทศไทย นอก จากจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในนาม เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของทรัพยากรข้าวปลาอาหารแล้ว ด้านความงดงามทางวัฒนธรรม ที่มีสีสันโดดเด่นแตกต่างกันในแต่ละภาค ก็ดูเหมือนจะได้รับการกล่าวขานระบือไกลไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมการแสดง หรือวัฒนธรรมด้านภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาษาถิ่น” ที่กำลังมีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้

นิยามภาษาถิ่น

         ภาษาถิ่น  ประกอบด้วยคำ 2 คำ ได้แก่ คำว่า “ ภาษา ” และ “ ถิ่น " ซึ่งแต่ละคำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ . ศ . 2525 ( พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2539) ได้ให้คำจำกัดความดังนี้

          “ภาษา” น . เสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูด ถ้อยคำที่ใช้พูดกัน ; โดยปริยาย หมายถึง คนหรือชาติ ที่พูดภาษานั้น ๆ เช่น นุ่งห่มและแต่งตัวตาม ภาษา หรือหมายความว่า มีความรู้ ความเข้าใจ

          “ถิ่น” น . ที่ แดน ที่อยู่ เช่น ถิ่นเสือ ถิ่นผู้ร้าย

         เมื่อนำคำทั้ง 2 คำ มาเรียงเข้ากันเป็นกลุ่มคำหรือวลี จึงได้คำว่า “ภาษาถิ่น” ซึ่งหมายถึงภาษาที่ใช้พูดติต่อสื่อสาร ตามท้องถิ่นต่าง ๆ สื่อความหมาย เข้าใจกันในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งแต่ละถิ่นอาจพูดแตกต่างกันไปจากภาษาไทยมาตรฐาน ทั้งในด้านเสียง คำ และการเรียงคำบ้าง แต่ความหมายคงเดิม

ความหมายของภาษาถิ่น

         ภาษาถิ่น คือ คำที่ใช้เรียกภาษาที่ใช้พูดกันในหมู่ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ต่างๆ กัน โดยมียังคงมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญของภาษานั้น เช่น ภาษาไทย มีภาษาถิ่นหลายภาษา ได้แก่ ภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ ภาษาถิ่นเหนือ และภาษาไทยกลาง หรือถิ่นกลาง เป็นต้น โดยทุกภาษาถิ่นยังคงใช้คำศัพท์ ไวยากรณ์ ที่สอดคล้องกัน แต่มักจะแตกต่างกันในเรื่องของวรรณยุกต์ เป็นต้น หากพื้นที่ของผู้ใช้ภาษานั้นกว้าง ก็จะมีภาษาถิ่นที่หลากหลาย และมีภาษาถิ่นย่อยๆ ลงไปอีก ทั้งนี้ภาษาถิ่นแต่ละถิ่น จะมีเอกลักษณ์ทางภาษาของตนด้วย ภาษาถิ่นนั้นมักเป็นเรื่องของภาษาพูด หรือภาษาท่าทาง มากกว่า

การกำหนดภาษาถิ่น

ภาพ:Pasa_q2.jpg


         การกำหนดภาษาหลัก หรือภาษาถิ่นนั้น นักภาษาศาสตร์จะพิจารณาคุณลักษณะในเชิงภาษาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ภาษาไทย และภาษาลาว ถือว่าต่างก็เป็นภาษาถิ่นของกันและกัน (อาจนับภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาหลักก็ได้ โดยไม่มีนัยสำคัญทางภาษาศาสตร์) แต่เนื่องจากภาษาถิ่นทั้งสองอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของสองประเทศ โดยทั่วไปจึงถือว่าเป็นคนละภาษา

         แนวคิดในการจำแนกภาษาถิ่นนั้น มักพิจารณาจาก

         ลักษณะเชิงสังคม ซึ่งเป็นลักษณะแปรผันอย่างหนึ่งของภาษา ที่พูดกันในชนชั้นสงคมหนึ่งๆ

  • ภาษามาตรฐาน กำหนดมาตรฐานจากลักษณะการใช้งาน (เช่น มาตรฐานการเขียน)
  • ภาษาเฉพาะกลุ่ม
  • ภาษาสแลง

         หากลักษณะแปรผันของภาษาถิ่นนั้น เป็นเพียงลักษณะของเสียง ในทางภาษาศาสตร์จะเรียกว่า สำเนียง ไม่ใช่ ภาษาถิ่น ซึ่งในบางครั้งก็ยากที่จะจำแนกว่าภาษาในท้องถิ่นหนึ่งๆ นั้น เป็นภาษาย่อยของถิ่นหลัก หรือเป็นเพียงสำเนียงท้องถิ่นเท่านั้น

สาเหตุการเกิดภาษาถิ่น

         สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาษาถิ่นต่าง ๆ หรือภาษาถิ่นย่อยมานั้น เรืองเดช ปันเขื่อนขัตย์ ได้ให้เหตุผลใหญ่ ๆ อยู่ 3 ประการคือ

         1. ภูมิศาสตร์อยู่คนละท้องถิ่น

         ขาดการไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันเป็นเวลานาน หลายชั่วอายุคน ถ้าต่างถิ่นต่างไม่ไปมาหาสู่กันเป็นเวลานาน ๆ ทำให้กลุ่มชนชาติไทย รวมทั้งภาษาของกลุ่มเขาเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นภาษาถิ่นอื่น ๆ ซึ่งไม่เหมือนกันกับภาษาดั้งเดิมในที่สุด

         2. กาลเวลาที่ผ่านไปจากสมัยหนึ่งไปสู่อีกสมัยหนึ่ง

         ทำให้ภาษาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและตามเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลง คำศัพท์ที่เรียกยากกว่าไปเรียกคำศัพท์ที่เรียกง่ายกว่ากะทัดรัดกว่า

         3. อิทธิพลของภาษาอื่นที่อยู่ใกล้เคียง

         ซึ่งเป็นชนหมู่มากมีอิทธิพลกว่ามีการยืม คำศัพท์จากภาษาที่มีอิทธิพลกว่า

มนต์เสน่ห์ของภาษาถิ่น

         เสน่ห์ที่สำคัญของภาษาถิ่น นอกจากจะใช้สื่อความหมายกับบุคคลที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันให้เข้าใจตรงกัน แล้ว ภาษาถิ่นยังมีความโดดเด่นในการช่วยรักษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของท้องถิ่นนั้น ๆ ไว้ด้วย อาทิ การแสดงโนราห์ของภาคใต้ ที่ต้องใช้ภาษาถิ่นใต้ ถ้าเราใช้ภาษาถิ่นอื่น หรือภาษากรุงเทพฯ ก็จะไม่สื่อ หมดอรรถรสโดยสิ้นเชิง

         การศึกษาและเรียนรู้ภาษาถิ่นนั้นนับว่ามีความสำคัญอย่าง ยิ่ง โดยนอกจากทำให้เราได้สัมผัสกับความงดงามของภาษาถิ่นในแต่ละท้องถิ่นแล้ว การที่เรารู้และเข้าใจภาษาถิ่น ยังช่วยทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันของแต่ละท้องถิ่น นั้น ๆ โดยปริยาย และที่สำคัญยังทำให้ผู้รู้ภาษาถิ่นนั้นสามารถอ่านศิลาจารึกสมัยก่อนซึ่งมักมีภาษาถิ่นเขียนไว้ได้อย่างคล่องแคล่ว

ประโยชน์ในการศึกษาภาษาไทยถิ่น

  • เกิดความเข้าใจในเรื่องของภาษาว่าภาษาในโลกนี้ นอกจากจะมีหลายตระกูลแล้ว ในตระกูล หนึ่ง ๆ ยังมีภาษาย่อยอีกหลายภาษา
  • เข้าใจความเป็นมาของภาษา และซาบซึ้งในวัฒนธรรมในการใช้ภาษาและเห็นความสำคัญ ของภาษาไทยถิ่นนั้น ๆ
  • เข้าใจในเรื่องการกลายเสียงและความหมายของคำ ในภาษาถิ่นหนึ่ง อาจเห็นการใช้คำบางคำบางถิ่นฟังแล้วอาจถือว่าเป็นคำหยาบแต่ความหมายไม่ใช่ อย่างที่เข้าใจ เป็นต้น
  • เป็นแนวทางในการเรียนรู้วิธีการ และวิเคราะห์ภาษาในระบบต่าง ๆ เช่น เสียงพยัญชนะเสียงสระ เสียงวรรณยุกต์ และอื่น ๆ
  • เป็นประโยชน์ในการสอนภาษาแก่เด็กนักเรียนที่พูดภาษาถิ่นและแก้ไขปัญหา เด็กนักเรียน ที่ออกเสียงภาษาไทยมาตรฐานไม่ชัด พร้อมนำความรู้ไปแก้ปัญหาในการเรียนการสอนภาษาไทยแก่เด็กนักเรียน 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- วิกิพีเดีย

หมายเลขบันทึก: 398713เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2010 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นี่ล่ะครับ ที่ผมอยากเห็นทุกโรงเรียนสอนภาษาถิ่นเป็นเรื่องเป็นราวเสียที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท