มูลนิธิข้าวขวัญ, โรงเรียนชาวนา


ชาวนาส่วนมากเป็นหนี้” ชาวนาในสุพรรณบุรีเป็นหนี้ประมาณ 500,000 บาทต่อครัวเรือน” (อ.เดชากล่าว) ชมชอบในวัตถุนิยม อยากได้ความสะดวกสบาย สัดส่วนการถือครองที่นามีเพียง 30% (เฉพาะในสุพรรณบุรี) มีมือปืนรับจ้าง

มูลนิธิข้าวขวัญ (มขข.)

ที่อยู่: 13/1 หมู่ 3 ถ.เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซอย 6 ต.สระแก้ว อำเภอ เมือง จังหวัด สุพรรณบุรี 72230

เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรที่เหมาะสมกับท้องถิ่น พัฒนาพันธุกรรมข้าว และพืชพื้นบ้าน วิจัยและพัฒนาผลกระทบของสารเคมีทางการเกษตร ตลอดจนค้นหาทางเลือกร่วมกับเกษตรกรในการทำเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี โดยมี อ.เดชา ศิริภัทร เป็นผู้อำนวยการ ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยแยกตัวจากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในนาม ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม (Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE ) ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ โดยมีสำนักงาน บนเนื้อที่ 7 ไร่ครึ่ง ในเขตเทศบาลท่าเสด็จ ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตจังหวัด สุพรรณบุรี 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.อู่ทอง และ อ.ดอนเจดีย์ รวมทั้งเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 36 เครือข่าย มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรและชุมชน มีการเรียนรู้จากความรู้ภายนอก และการฟื้นฟูความรู้ดั้งเดิมมาจัดการอย่างบูรณาการเพื่อให้เกิดระบบการเกษตรที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น มีกิจกรรมคือ โรงเรียนชาวนา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรที่สำคัญ คือ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ( สคส.) และ JICA ในการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจัดการความรู้ ภายใต้หลักสูตรการเรียนรู้ 3 หลักสูตรสำคัญ คือ

หลักสูตรที่ 1 การบริหารจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี

หลักสูตรที่ 2 การปรับปรุงบำรุงดินโดยชีววิธี

หลักสูตรที่ 3 การพัฒนาพันธุ์ข้าว

ได้ฟังคำบรรยายจาก อ.เดชา ศิริภัทร ในเรื่องการเรียนการสอนของโรงเรียนชาวนาโดยใช้เครื่องมือ KM เห็นผลสัมฤทธิ์ เพื่อการทำนาในระบบเกษตรยั่งยืนหรือเกษตรอินทรีย์

KM ย่อมาจาก Knowledge Management หมายถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ หรือการจัดการกับความรู้ เพื่อก่อให้เกิด จิตสำนึกแห่งการเป็นพวกเดียวกัน มีเอกภาพในความหลากหลาย จิตสำนึกแห่งการเป็นมิตรต่อกัน จิตสำนึกแห่งการพึ่งพาอาศัยกัน จิตสำนึกแห่งการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไว้วางใจกัน จิตสำนึกในการสร้างพลังร่วมของหมู่คณะ

เกษตรกรส่วนใหญ่ในจังหวัดสุพรรณบุรีทำนาแบบใช้สารเคมีและมีระบบรับจ้างทำนา เริ่มตั้งแต่รับจ้างทำเทือก หว่านข้าว ฉีดยาคุมฆ่าหญ้า หว่านปุ๋ยเคมีรอบแรก เมื่อข้าวแตกกอ ตั้งท้อง ออกรวง สุดท้ายได้เวลาเก็บเกี่ยว ก็จ้างคนเกี่ยว ทุกขั้นตอนมีคนรับจ้างทำให้หมด จึงมีคำกล่าวจากเกษตรกรส่วนมากที่ทำนาในภาคกลางว่า”เดี๋ยวนี้การทำนาสบาย มีเงินอย่างเดียว เพราะจ้างเขาทุกขั้นตอน” จึงเกิดอาชีพใหม่เป็น”มือปืนรับจ้าง” รับจ้างทำนาทุกขั้นตอน

การทำนาแต่บรรพบุรุษ เห็นชาวนาส่วนใหญ่แบกจอบแบกเสียม จูงควายเทียมคันไถ เตรียมข้าวปลาอาหารในกระติ๊ก เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในย่าม ออกจากเรือนในหมู่บ้านไปกันเป็นกลุ่มเพื่อไปนาของแต่ละคน ออกกันแต่เช้าตรู่ ชาวนาทุกคนทำนาของแต่ละคนไป เมื่อต้องการแรงงานมากชาวนาทุกคนช่วยกันลงแรงที่เรียกกันว่า”ลงแขก” ช่วยกันด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นชาวนาด้วยกัน ไม่มีการคิดหรือตีราคาค่างวดออกมาเป็นตัวเงิน อยู่ด้วยกันอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ยึดถือวัตถุนิยมมากนัก อยู่อย่างเรียบง่ายแต่ไม่จน รวยด้วยน้ำใจ ทุกครัวเรือนไม่เป็นหนี้ อยู่อย่างเป็นสุข ไม่หวาดผวาว่าผืนนาผืนสุดท้ายที่ทำนาอยู่ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาอันยาวนานจะต้องถูกขายหรือถูกยึดเพื่อชำระหนี้

อ.เดชา ได้ก่อตั้งโรงเรียนชาวนามาเป็นเวลากว่า 20 ปี มีนักเรียนที่จบจากที่นี่หลายรุ่น แต่หาลูกศิษย์ที่มาทำนาแบบนายั่งยืนที่เป็นรูปธรรมมีน้อยมาก ชาวนาส่วนมากเป็นหนี้” ชาวนาในสุพรรณบุรีเป็นหนี้ประมาณ 500,000 บาทต่อครัวเรือน” (อ.เดชากล่าว) ชมชอบในวัตถุนิยม อยากได้ความสะดวกสบาย สัดส่วนการถือครองที่นามีเพียง 30% (เฉพาะในสุพรรณบุรี) มีมือปืนรับจ้าง (เหตุที่ก่อให้ชาวนาไม่ทำนาด้วยลำแข้งของตนเอง) นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายนักวิชาการ นักส่งเสริมหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายให้เกษตรกรไทยทำเกษตรแบบยั่งยืน มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มีหนี้ อยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างสังคมไทย อย่างพร้อมหน้าพร้อมตามีปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ ลูกหลาน

ตัวอย่างที่ อ.ทิพวัลย์ พาพวกเราไปเยี่ยมพี่ชัยพร ทำนา 102 ไร่ เก็บเกี่ยวครั้งล่าสุดได้ข้าวเปลือก 97 เกวียน เฉลี่ยแล้วที่นา 1 ไร่ ได้ข้าวเปลือก 1 เกวียน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก โดยที่พี่ชัยพรลงทุนเพียง 2,000 กว่า บาทต่อไร่ และขายข้าวได้ประมาณ 8,000 กว่า บาทต่อเกวียน สุทธิมีเงินเหลือประมาณ 600,000 บาท นอกจากที่พี่ชัยพรได้เงินแล้วยังได้สุขภาพที่ดีและที่สำคัญยังได้สร้างระบบนิเวศน์ที่ดีกลับคืนสู่ชุมชน ที่เป็นเช่นนี้เพราะพี่ชัยพรทำนาแบบใช้สารเคมีน้อยมาก (ใช้เฉพาะยาคุมและฆ่าหญ้าเท่านั้น) เริ่มตั้งแต่การทำเทือกมีการใช้มูลสุกร เชื้อไตรโคเดอร์ม่า หมักฮอร์โมนเอง หมักสมุนไพรไล่แมลง ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผืนนาของพี่ชัยพรหวนคืนกลับมาสู่ระบบนิเวศน์ที่ดีในอนาคต มีทั้งไส้เดือน กบ เขียด ตัวห้ำตัวเบียน ดินไม่แข็ง มีโครงสร้างดินที่ดี มีการควบคุมแมลงโดยวิธีธรรมชาติ ในที่สุดเป็นการทำนาแบบนายั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพากระบวนการและเทคนิคต่างๆจากภายนอก ผลผลิตที่ได้ท้ายสุดกลายเป็นผลผลิตอินทรีย์ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการบริโภค นอกจากนี้พี่ชัยพรยังปรับปรุงสร้างอุปกรณ์การเกษตรเพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่การทำนา เช่น สร้างผานไถกลบฟาง สร้างกล่องตีเทือก สร้างรถพ่วงเพื่อลากรถไถ สร้างเครนยกบนรถ สมแล้วที่พี่ชัยพรได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น ขอให้รักษาความดีนี้ให้ยืนนานเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรทั่วไปนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อพัฒนาชุมชนเป็นเกษตรยั่งยืน

ขอเป็นกำลังใจให้ อ.เดชา ศิริภัทร และโรงเรียนชาวนาพร้อมทั้งเครือข่าย 36 เครือข่ายและเครือข่ายที่จะขยายให้ได้ทั่วประเทศจงประสบความสำเร็จสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ในอนาคตอันใกล้นี้

ข้อสังเกตจากการทำนาของพี่ชัยพรมีการใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดคุมฆ่าในช่วงอายุข้าวไม่เกิน 15 วันหลังหว่าน พวกเราเป็นนิสิตสาขาวิจัยและพัฒนาการเกษตรน่าจะนำข้อสังเกตนี้เป็นโจทย์ในการทำวิจัย เพื่อวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรทำนาโดยปราศจากการใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง

หมายเลขบันทึก: 396203เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท