ทุนนิยมกับปัญหาการกระจายรายได้


จากรูปแบบของทุนนิยมที่แปรเปลี่ยนไปเป็นมุ่งเน้นให้เปิดเสรีการค้า และลดการควบคุมจากภาครัฐ ตามแนวคิดของ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” นั้น ก็จะเห็นได้ว่าเป็นการลดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทในการโอนถ่ายการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั่นเอง

             การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ถือว่าเป็นภาระหน้าที่หลักในทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นไปในลักษณะของการบริหารจัดการเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในสังคมยิ่งขึ้น ซึ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาจะมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในประเทศเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงถือว่าเป็นภาระหน้าที่ที่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดสรรให้มีการกระจายรายได้อย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งโดยรวมในสังคม ไม่ใช่เข้ามาจัดสรรเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มที่มีอิทธิพลเดิมให้เพิ่มมากขึ้น

 

             โดยการจัดสรรนั้นรัฐบาลอาจใช้นโยบายทางการคลัง (budgetary policies) หรือนโยบายนอกระบบการคลัง (non-budgetary policies) หรือทั้งสองนโยบายพร้อมกันเลยก็ได้ สำหรับนโยบายการคลังนั้นส่วนหนึ่งก็คือรายได้สาธารณะ (public revenues) ของรัฐบาลและอีกส่วนหนึ่งคือ นโยบายรายจ่ายสาธารณะ (public expenditures) ของรัฐบาล และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นนโยบายด้านภาษีที่จะต้องครอบคลุมฐานภาษีให้กว้างเพื่อให้เกิดการเหลื่อมล้ำของรายได้ให้น้อยที่สุด ส่วนนโยบายนอกระบบการคลังนั้น คือ นโยบายอื่นทั้งหมดที่ไม่ได้ผ่านเข้ามาในระบบภาษีอากรและงบประมาณของแผ่นดิน เช่น นโยบายปฏิรูปที่ดิน การควบคุมราคาและการค้ากำไรเกินควร เป็นต้น

 

            ระบบเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการบริหารจัดการของภาครัฐในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ซึ่งระบบเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ของทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้คือ ระบบทุนนิยม ซึ่งปรัชญาของระบบนี้ มุ่งเน้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนโดยที่รัฐมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลและเอื้ออำนวยความสะดวกให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนไหลลื่นเท่านั้น โดยระบบทุนนิยมมีวิวัฒนาการส่งผ่านแนวความคิดโดยสำนักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันทางวิธีดำเนินการ แต่มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ การมุ่งเน้นให้เปิดเสรีทางด้านต่าง ๆ และลดบทบาทของภาครัฐให้น้อยลง ซึ่งในปัจจุบัน“ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” Washington Consensus แปรสภาพกลายเป็นนโยบายเศรษฐกิจโลก (Global Economic Policy) ที่มุ่งให้นานาประเทศนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตนเอง ซึ่งเป้าหมายหลักของฉันทมติวอชิงตันแรกเริ่มนั้นเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของระบบเศรษฐกิจละตินอเมริกาที่นำเสนอโดยนายจอห์น วิลเลียมสัน แต่ท้ายที่สุดเมนูนโยบายดังกล่าวกับสร้างความชอบธรรมให้กับประเทศมหาอำนาจกดดันให้นานาประเทศรวมทั้งไทยใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

               "ฉันทมติแห่งวอชิงตัน" นั้น มีสาระสำคัญหลัก ๆ ในการดำเนินเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจ คือ (๑) สนับสนุนการเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศ (trade liberalization) (๒) สนับสนุนการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (privatization) และ (๓) สนับสนุนการลดการควบคุมและการกำกับระบบเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (deregulation)

            

            จากรูปแบบของทุนนิยมที่แปรเปลี่ยนไปเป็นมุ่งเน้นให้เปิดเสรีการค้า และลดการควบคุมจากภาครัฐ ตามแนวคิดของ “ฉันทมติวอชิงตัน” นั้น ก็จะเห็นได้ว่าเป็นการลดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทในการโอนถ่ายการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั่นเอง รัฐวิสาหกิจในส่วนของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็น ไฟฟ้า น้ำประปา พลังงาน ถือได้ว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นสำหรับประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรูปแบบการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าหากมีการแปรรูปโดยมีการผูกขาดโดยภาคเอกชนแล้ว การผูกขาดดังกล่าวจะทำให้ราคาของสินค้าสูงขึ้น เท่ากับเป็นการซ้ำเติมผู้มีรายได้น้อยให้เลวลงไปอีก ช่องว่างระหว่างรายได้ของประชาชนก็จะยิ่งกว้างมากกว่าเดิมและเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงขึ้น และที่สำคัญประชาชนโดยส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐวิสาหกิจทุกคนมีส่วนร่วมของการเป็นเจ้าของ และราคาของสินค้าสร้างความรู้สึกเป็นธรรมในสังคม ซึ่งถ้าหากถูกโอนถ่ายไปสู่ภาคเอกชนแล้วนอกจากภาครัฐจะประสบกับปัญหาทางด้านของการจัดสรรการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติทางสังคมด้วย

 

              ระบบทุนนิยมในปัจจุบันของประเทศไทยที่ดำเนินนโยบายตามกรอบของ “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน” โดยการ สนับสนุนการเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศ (trade liberalization) สนับสนุนการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (privatization) และ สนับสนุนการลดการควบคุมและการกำกับระบบเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (deregulation) นั้นถือว่าเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นลดบทบาทของภาครัฐในกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เล็กลงเป็นอย่างมาก ซึ่งในความเป็นจริงประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่มที่กำลังพัฒนา ดังนั้น บทบาทและหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรของภาครัฐยังมีความจำเป็น (เนื่องจากช่องว่างของรายได้ของประชาชนในสังคมยังมีความเหลื่อมล้ำกันมาก) โดยเฉพาะทรัพยากรเกี่ยวสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป ภาครัฐควรมุ่งเน้นในการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการมากกว่า โดยเฉพาะกฎ ระเบียบบางอย่างที่ไม่ทันสมัย ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนให้ทันเหตุการณ์มากขึ้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 396201เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท