การวิจัยพัฒนาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย(คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรุญ)


การวิจัยพัฒนาด้านความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย(คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรุญ)

ปัจจุบันมีการเพิ่มจำนวนประชากรโลกขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งสวนทางกับการลดลงของพื้นที่ที่ทำการเกษตร รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และสภาวะการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก จึงมีการนำเอาเทคโนโลยีด้านการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์มาใช้เพื่อเพิ่มและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต ให้มีลักษณะต่างๆตามความต้องการ รวมทั้งนำเอาวิธีการที่หลากหลายมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และการชลประทาน วิธีการเหล่านี้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ในระดับหนึ่ง แต่ใช้ระยะเวลานาน อีกทั้งการใช้สารเคมีทาง การเกษตรต่างๆเพื่อการเพิ่มผลผลิต ยังส่งผลต่อการเกิดสภาวะเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เกิดสารพิษตกค้างในดินและน้ำ เกิดการสูญหายของแมลงที่เป็นประโยชน์และพืชพื้นเมืองที่ใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์

                ในการปลูกพืชเศรษฐกิจจะได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น หากปลูกพืชที่มีความหลากหลายของลักษณะนิสัยและโครงสร้างควบคู่กับความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ในไร่ข้าวโพด จะไม่ปลูกธัญพืชอื่นๆ แต่จะปลูกกลุ่มพืชที่สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ เช่น ถั่ว กลุ่มไม้เลื้อย เช่นฟัก ฟักทอง และแตง กลุ่มไม้ผล เช่น ฝรั่ง ชมพู่ และ มะม่วง เป็นต้น ในแปลงทดลองที่ปลูกพืช 10 ชนิด ที่มีความหลากหลายทั้งโครงสร้างและชนิดพันธุ์ จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ถ้าเพิ่มชนิดพันธุ์มากขึ้นกว่า 10 ชนิด ผลจะดีขึ้นแต่ไม่เป็นนัยสำคัญ ดังนั้นพืช 10 ชนิด จะเป็นจำนวนน้อยที่สุดที่ให้ผลดีที่สุด ในสภาพระบบนิเวศธรรมชาติ เช่น ป่าเขตศูนย์สูตร หรือป่าในเขตอบอุ่น จำนวนชนิดพันธุ์ที่ให้ค่าเฉลี่ยของผลผลิตรวมสูงสุด จะประกอบด้วยพืชอยู่ร่วมกัน 10-40 ชนิด

 

การเพิ่มผลผลิตกับความหลากหลายของชนิดพันธุ์

                ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนิดพันธุ์ที่นำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นหรือประเทศ เป็นชนิดพันธุ์ที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกขยายพันธุ์ มาจากภาคเกษตรกรรม แต่มักจะมีคำถามว่า เหตุใดชาวไร่ ชาวนา ที่ผลิตอาหารเลี้ยงโลก แต่ตัวเองแทบอดตาย เกิดมาเพื่อต่ำต้อย เกิดมาเพื่อด้อย แม้แต่ลูกหลานก็ทิ้งอาชีพการเกษตร ออกไปทำงานข้างนอกทิ้งให้พ่อแม่ที่ชราอยู่ในหมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะเกษตรกรทำการปลูกพืชชนิดเดียวหรือเรียกว่าการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งก่อให้ดินเสื่อมโทรม พืชมีลักษณะทางพันธุกรรมเป็นเอกภาพ ไม่ทนทานต่อโรคระบาด ศัตรูพืช และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ต้นทุนสูง ผลผลิตลดลง ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกษตรกรจะบุกรุกป่า เพื่อต้องการพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันทำได้ยากขึ้น แต่ก็ยังมีข่าวออกมาเสมอๆ หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือการใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ และ พ่นยาฆ่าศัตรูพืช สารเคมีเหล่านี้ทำลายสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกรเองและตกค้าง เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ถ้าเกษตรกรไม่ระมัดระวังและไม่ปฏิบัติตามวิธีการใช้อย่างถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุขเคยประเมินถึงสารตกค้างในกลุ่มผัก ผลไม้ปอกเปลือก และผลไม้กินทั้งเปลือกไว้ในอัตรา 30% 40% และ 90% ตามลำดับ การสำรวจสารตกค้างของผักที่วางขายในตลาดปากคลองตลาด กรุงเทพฯ พบสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง 2 ชนิด ได้แก่ ออกโนฟอสเฟต และคาร์บาเมท ในกลุ่มผักสด 6 ตัวอย่าง คือ ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ถั่วแขก และผักโขม

เนื่องจากผลเสียของการเกษตรเชิงเดี่ยว จึงได้มีการทดลองทำการเกษตรเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยการปลูกพืชหลากหลายชนิดในบริเวณเดียวกัน ปรากฏว่ามีผลิตผลโดยรวมแล้วดีขึ้นและยังสามารถทนต่อความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า นอกจากนั้นยังเป็นการลดต้นทุนของการซื้อปุ๋ย และยาฆ่าศัตรูพืช ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

                นักนิเวศวิทยาเปรียบเทียบผลผลิตรวมของพืชจากแปลงต่างๆ ที่ทำการปลูกพืช 2, 5, 8 และ 16 ชนิดพันธุ์ตามลำดับ ในเรือนปฏิบัติการที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ (ecotron) และทำการทดลองแบบเดียวกันนี้ในเรือนกระจก (greenhouse) ผลจากที่ปลูกพืชทั้ง 2 แห่ง ปรากฏว่ากลุ่ม พืชที่มี 16 ชนิดพันธุ์จะให้ผลผลิตมากที่สุด และผลจากการศึกษาภาคสนามระหว่างปี พ.ศ.2530-2531 ซึ่งเป็นช่วงปีที่ทั่วโลกประสบสภาวะแห้งแล้งมาก พบว่าบริเวณที่มีจำนวนชนิดพันธุ์มากที่สุดได้ผลผลิตลดลงเพียง 1/4 เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณที่มีชนิดพันธุ์น้อยที่สุด และบริเวณที่มีชนิดพันธุ์มากสามารถฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าบริเวณที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์น้อยกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันความเสียหายจากการแปรปรวนของสภาพแวดล้อม แต่ในพื้นที่การเกษตร มนุษย์ ยังเป็นผู้คัดเลือกพันธุ์มาปลูก หากสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ เปลี่ยนแปลง หรือเกิดโรคระบาดก็จะสามารถทำลายพืชเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการรักษาป่า รักษาความหลากหลายทางชีวภาพในสภาพธรรมชาติยังจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นแหล่งสะสมชนิดพันธุ์และพันธุกรรม ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์

                ในการปลูกพืชเศรษฐกิจจะได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น หากปลูกพืชที่มีความหลากหลายของลักษณะนิสัยและโครงสร้างควบคู่กับความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ในไร่ข้าวโพด จะไม่ปลูกธัญพืชอื่นๆ แต่จะปลูกกลุ่มพืชที่สามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศได้ เช่น ถั่ว กลุ่มไม้เลื้อย เช่นฟัก ฟักทอง และแตง กลุ่มไม้ผล เช่น ฝรั่ง ชมพู่ และ มะม่วง เป็นต้น ในแปลงทดลองที่ปลูกพืช 10 ชนิด ที่มีความหลากหลายทั้งโครงสร้างและชนิดพันธุ์ จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ถ้าเพิ่มชนิดพันธุ์มากขึ้นกว่า 10 ชนิด ผลจะดีขึ้นแต่ไม่เป็นนัยสำคัญ ดังนั้นพืช 10 ชนิด จะเป็นจำนวนน้อยที่สุดที่ให้ผลดีที่สุด ในสภาพระบบนิเวศธรรมชาติ เช่น ป่าเขตศูนย์สูตร หรือป่าในเขตอบอุ่น จำนวนชนิดพันธุ์ที่ให้ค่าเฉลี่ยของผลผลิตรวมสูงสุด จะประกอบด้วยพืชอยู่ร่วมกัน 10-40 ชนิด

                มนุษย์นำชนิดพันธุ์มาใช้ประโยชน์โดยตรงจากชนิดพันธุ์เพาะเลี้ยงและชนิดพันธุ์ป่า ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์แบ่งประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนิดพันธุ์ได้ 2 แบบ คือ การใช้ในด้านบริการ และการใช้เป็นสินค้า

1. การใช้ในด้านบริการ ได้แก่ นำชนิดพันธุ์มาใช้ประโยชน์ทางด้าน งานวิจัย การศึกษา การท่องเที่ยว และการสันทนาการ เป็นต้น

2. การใช้เป็นสินค้า ได้แก่ การนำทรัพยากรชีวภาพมาเป็นเครื่องบริโภค และการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ทรัพยากรชีวภาพเหล่านั้นได้มาจาก ภาคการเกษตร การทำไม้ และการเก็บของป่า เป็นต้น

                มนุษย์นำทรัพยากรทางพันธุกรรมมาใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมล็ดพันธุ์พืชซึ่งเป็นที่อยู่ของแหล่งยีนต่างๆ สามารถนำมาซื้อขายได้โดยตรง หรือนำมาเพาะให้เกิดการเจริญพัฒนาขึ้นมา มนุษย์จะนำผลจากการเจริญเติบโตนี้ มาใช้เป็นอาหาร เป็นแหล่งเส้นใยและเป็นยาในการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ มนุษย์นำเทคโนโลยีชีวภาพมาตัดต่อ และถ่ายทอดยีนไปสู่ชนิดพันธุ์เดียวกัน หรือต่างชนิดพันธุ์ พืชสร้างสารเคมีขึ้นมาสำหรับป้องกันตนเอง ใช้เป็นสารล่อแมลงหรือขับไล่แมลง มนุษย์นำสารประกอบเคมีเหล่านี้มาใช้เป็นยาฆ่าแมลง ทำน้ำหอมและอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำมาประกอบเป็นยารักษาโรค ตัวยารักษาโรคปัจจุบันเป็นสารประกอบทางเคมีจากพืช หรือสังเคราะห์จากสารอื่นโดยลอกเลียนแบบโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบจากพืชทั้งสิ้น จึงนับว่าพืชให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลผ่านทางความรู้เรื่องสารประกอบทางเคมี

                ทรัพยากรพันธุกรรมกับการเกษตร ในการเกษตรได้นำทรัพยากรพันธุกรรมมาใช้คัดเลือกพันธุ์ตามต้องการ เช่น เก็บรักษาต้นที่ทนทานต่อโรค ผลมีรสหวาน เมล็ดลีบ ไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไป และทำการปรับปรุงพันธุ์ด้วยการผสมพันธุ์หรือใช้เทคโนโลยีชีวภาพ

                ในการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นยังคงใช้พันธุกรรมจากชนิดพันธุ์ป่ามาผสมพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ ที่เกษตรกรเคยใช้อยู่ ตัวอย่างเช่น การผสมมะเขือเทศพันธุ์เกษตร (Lycopersicon esculentum) กับมะเขือเทศพันธุ์ป่า (L. chmielewskii) ที่พบในประเทศเปรู ทำให้ได้สายพันธุ์ใหม่ที่มีสีสันสดใส ผลใหญ่ขึ้นและมีผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นจาก 4.5-6.2% เป็น 6.6-8.6% ทำให้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมมะเขือเทศ ซึ่งหมายถึงมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้น อ้อย (Saccharum officinale) เกือบจะสูญหายไปจากโลกหลายครั้ง จากการระบาดของ Mosaic virus ภายหลังมีการผสมและได้รับสายพันธุกรรมที่ต่อต้านไวรัส จากอ้อยสายพันธุ์ป่า (Saccharum spontaneum) เช่นเดียวกับไร่กาแฟที่ประเทศศรีลังกา ชวาและฟิลิปปินส์ ต้องสูญเสียไปทั้งหมดจากโรคราสนิม (rust) ต่อมาได้รับสายพันธุกรรมต่อต้านโรคราสนิม จากกาแฟสายพันธุ์ป่า และจากการพบข้าวโพดป่า (Zea diploperennis) ที่มีความทนทานต่อเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีบทบาทการปรับปรุงพันธุ์ทางเกษตรในอนาคต ป่าจึงเป็นบริเวณที่สำคัญมากของการสะสมพันธุกรรม ต่างๆ ไว้สำหรับเป็นสวัสดิการในอนาคตของมนุษย์

                มนุษย์นำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในการตัดต่อยีนกับชนิดพันธุ์ทางเกษตร สำหรับปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ให้ได้ลักษณะหรือมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์ การตัดต่อยีนนี้ จะตัดต่อยีนทั้งที่เป็นชนิดพันธุ์เดียวกันและต่างชนิดพันธุ์ เช่น การใช้เทคโนโลยีวิศวพันธุกรรมตัดต่อยีนเข้าไปในข้าวโพด ถั่วเหลือง ฝ้าย เพื่อพัฒนาให้พันธุ์พืชสามารถต้านทานโรคศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมีที่อาจจะตกค้างเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและทำลายสิ่งแวดล้อม และขณะนี้เทคโนโลยีชีวภาพพยายามที่จะนำรสชาติของกาแฟไปใส่ไว้ในถั่วเหลือง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถผลิตกาแฟจากถั่วเหลืองได้ และการตัดต่อยีนของสัตว์ลงไปในพืช เช่น การนำยีนของกระต่ายใส่ลงไปในต้นฝ้าย เพื่อให้ได้ผลผลิตฝ้ายที่ มีสีขาวนิ่มนวล แต่ได้คิดกันหรือไม่ว่า ถ้าละอองเกสรของพันธุ์ตัดต่อยีนมาผสมกับพันธุ์พืชปกติที่เราปลูกกัน ผลจะเป็นเช่นใด หรืออาจจะเกิดการกลายพันธุ์ไปหมด จนไม่เหลือพันธุ์ดั้งเดิมให้ชนรุ่นต่อไปได้รู้จัก นอกจากการตกแต่งยีนในพืชและสัตว์แล้ว ยังมีการนำยีนของมนุษย์ตัดแต่งลงไปในยีนของวัว เพื่อให้วัวสามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณสมบัติคล้ายน้ำนมมนุษย์มากที่สุดสำหรับการเลี้ยงทารก

                ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพเป็นเส้นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทาง ชีวภาพ ทำให้เกิดการชะล้างพันธุกรรม (genetic erosion) และทำให้พันธุกรรมเป็นพิมพ์เดียวกันหมด

                ทรัพยากรพันธุกรรมกับสมุนไพร การศึกษาค้นคว้าพันธุกรรมใหม่ๆ จากป่าโดยเฉพาะในเขตศูนย์สูตร รวมทั้งประเทศไทย เพื่อประโยชน์เป็นยาพื้นบ้านหรือสมุนไพร และพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบัน ซึ่งจะเกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและมีคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์ บรรพชนไทยได้ศึกษาและมีความรู้เรื่องสมุนไพรมาก ได้จดบันทึกลงในสมุดข่อย หรือถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง บริษัทผลิตยาจำนวนมากทำการศึกษาค้นคว้าพืช สัตว์ ฟังไจ และจุลินทรีย์ในที่ต่างๆ ของโลกโดยเฉพาะประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตรที่อุดมไปด้วยป่าร้อนชื้น ด้วยวิธี การต่างๆ เช่น การสัมภาษณ์จากหมอยาแผนโบราณ หรือผู้รู้เรื่องพืชสมุนไพร หรือศึกษาจากสมุดข่อย เพื่อการค้นหาสารเคมีซึ่งอาจนำไปสู่การผลิตเป็นยารักษาโรค ตัวอย่างเช่น กรณีเปล้าน้อย (Croton sublyratus) ปรากฏอยู่ในสมุดข่อย นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นนำไปสกัดสาร Plaunotol มาใช้ในการผลิตยา Kelnac ใช้รักษาและสมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ประเทศไทยได้ผลประโยชน์จากภูมิปัญญาของคนไทยเพียงค่าแรงงานในการดูแลไร่และโรงบ่มใบเปล้าน้อยเท่านั้น ไม่มีโอกาสได้ส่วนแบ่งจากผลกำไรมหาศาลของการจำหน่ายยา Kelnac

                แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ได้รับการล่วงละเมิดสิทธิ์ เช่น กรณีของโรงงานเภสัชกรรม Novartis ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เก็บตัวอย่างรา Tolypocladium inflatum จากประเทศนอร์เวย์นำไปสกัดสาร Cyclosporin A มาใช้ในการผลิตยา Sandimmun สำหรับผู้ป่วยจากการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ในปี พ.ศ. 2540 Novartis ได้กำไรสุทธิจากการจำหน่ายยาขนานนี้ถึง 1,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นอร์เวย์กำลังทวงสิทธิ์จาก Novartis ให้แบ่งปันผลประโยชน์คืนกลับมาให้แก่ประเทศนอร์เวย์เป็นรายปี

                เหตุการณ์ของเปล้าน้อยเป็นตัวอย่างที่ดีของการคุกคามจากชาติที่พัฒนาในการช่วงชิงองค์ความรู้และจดลิขสิทธิ์เป็นของตน ส่วน Tolypocladium inflatum เป็นตัวอย่างของการช่วงชิงทรัพยากรชีวภาพมาเป็นประโยชน์ของตน ซึ่งการประชุมลงนามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2535 ก็ได้ตระหนักถึงการกระทำอย่างไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาได้รับ และได้เขียนไว้ในอนุสัญญาให้ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและต่อรองผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากร

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของความหลากหลายของระบบนิเวศ

 

                ระบบนิเวศมีคุณค่าทางอ้อมแก่มนุษย์ มีบทบาทในการค้ำจุนให้การสนับสนุนทางด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหลักประกันสังคมและเป็นสวัสดิการของมนุษย์ ในทางเศรษฐศาสตร์มีทั้งที่ประเมินออกมาเป็นจำนวน เงินได้ เช่น ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และประเมินออกมาเป็นตัวเงินไม่ได้ เช่น เป็นแหล่งควบคุมให้เกิด ฤดูกาลต่างๆ เป็นแหล่งสร้างและกักเก็บน้ำตามธรรมชาติและเป็นแหล่งที่จะพบตัวอย่างใหม่ๆ

การใช้ประโยชน์ทางอ้อม

                ประโยชน์ทางอ้อมของระบบนิเวศที่สำคัญ ได้แก่ หน้าที่ของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดจากการทำงานของระบบนิเวศ ทำให้มีการหมุนเวียนระบบวงจรอาหาร เกิดฤดูกาล เป็นแหล่งเก็บสะสมน้ำรักษาต้นน้ำ น้ำใต้ดิน เกิดการสลายเปลี่ยนแปลงของเสียและมลพิษจนสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้ ลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เพิ่มขึ้นจากสภาวะเรือนกระจก รักษาส่วนผสมของก๊าซในบรรยากาศให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ของสิ่งแวดล้อมนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของมนุษย์ ในแต่ละระบบนิเวศประกอบด้วย ส่วนประกอบทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมี ได้แก่ ดิน น้ำ พืช สัตว์ และธาตุอาหาร กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในแต่ละส่วนประกอบ และที่เกิดขึ้นระหว่างส่วนประกอบ ก่อให้ระบบนิเวศเกิดการทำงาน เช่น วงจรแร่ธาตุสารอาหาร ผลผลิตทางชีวภาพ การเกิดน้ำและเกิดการตกตะกอน การทำงานของระบบนิเวศ มีความสำคัญในการรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ และมีบทบาทในการค้ำจุนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ภายใต้ระบบนิเวศนั้นๆ มนุษย์นำผลลัพธ์จากการทำงานของระบบนิเวศมาใช้ในการอยู่รอดและเป็นสวัสดิการของตน

                ประโยชน์ทางอ้อมของระบบนิเวศที่สำคัญต่อเศรษฐกิจอีกประการหนึ่ง ได้แก่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และเป็นแหล่งพันธุกรรม ตัวอย่าง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียนจะออกไข่บริเวณยอดหญ้าหรือรากพืชในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ปลาทู ปูทะเล และสัตว์น้ำอื่นๆ จะวางไข่และอนุบาล ตัวอ่อนบริเวณป่าชายเลน กุ้ง และปลาเก๋าจะอาศัยอยู่บริเวณแนวหญ้าทะเล และหญ้าทะเลยังใช้เป็นอาหาร ของสัตว์ทะเลหลายชนิด เช่น เต่าทะเล และพะยูน

นอกจากนั้น ระบบนิเวศยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการดึงเศรษฐกิจเข้าสู่ท้องถิ่นให้ชาวบ้าน ใกล้เคียงได้มีอาชีพต่างๆ ในด้านบริการแก่นักท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมี การจัดการที่ดี ในการดูแลรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่

 

                ประเทศไทยยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอยู่มาก การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในชาติเองและอาจรวมถึงประชากรโลกอาจทำได้หากมีการบริหารจัดการการผลิตทางการเกษตรแบบองค์รวม ไม่มุ่งเน้นเพียงเพิ่มผลผลิตชนิดใดชนิดหนึ่งสูงสุด โดยการพัฒนาเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการให้ธาตุอาหารพืชและป้องกันกำจัดสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาจมีผลในการทำให้พืชที่ปลูกมีผลผลิตลดลง คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรการเกษตรหรือนิเวศการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด และการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เหนือสิ่งอื่นใด การเพิ่มผลผลิตคือจิตสำนึก หรือทัศนคติที่จะแสวงหาทางปรับปรุง และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นเสมอ และการเพิ่มผลผลิตจะยั่งยืนหากได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ไม่บ่อนทำลายทรัพยากรเดิมให้สูญเสียหรือสูญหายไป

                อันที่จริงปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้ทรงพระราชทานไว้ เป็นปรัชญาที่มีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับการเพิ่มผลผลิต เพราะเป็นแนวทางของการปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ โดยอาศัยคุณสมบัติของคนในชาติเจ็ดประการคือ หนึ่ง มีความรอบรู้ที่เหมาะสม สอง มีความรอบคอบ สาม มีความซื่อสัตย์ สุจริต สี่ มีความอดทน ห้า มีความเพียร หก มีสติ เจ็ด มีปัญญา

 

Research and Development

งานวิจัยและพัฒนา คือ งานวิจัยที่มุ่งเน้นนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ในการพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการบริการ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาชุมชน การจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยไม่มุ่งหวังที่ผลงานตีพิมพ์ ดังนั้นนักวิจัยควรทำงานวิจัยตามความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ได้แก่ กลุ่มนักอุตสาหกรรม เกษตรกร ผู้แปรรูป ชุมชน ฯลฯ

                เป้าหมายหลักของงานวิจัยและพัฒนา คือ การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต การตลาด อุตสาหกรรม หรือสังคม ฯลฯ ดังนั้น การวัดความสำเร็จของโครงการวิจัยและพัฒนา จึงวัดที่ความสำเร็จจากการที่ผลงานนั้นๆ ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย หรือในเชิงสาธารณะ

ความหมาย และลักษณะของการวิจัยและพัฒนา

                 การวิจัยและพัฒนา (The Research and Development) เป็นลักษณะหนึ่งของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ที่ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ในการยกระดับคุณภาพงานหรือคุณภาพชีวิต

                 การวิจัยและพัฒนา เป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยมีการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (หมายถึงสื่อ/สิ่งประดิษฐ์ หรือวิธีการ) แล้วมีการทดลองใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพในเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ นวัตกรรมที่นำมาทดลอง คือ ปฏิบัติการ (Treatment) หรือตัวแปรต้น โดยมี “ดัชนีชี้คุณภาพ” ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นตัวแปรตาม

                 การวิจัยและพัฒนาจะให้ผลลัพธ์ที่สำคัญ 2 ลักษณะคือ

  1. นวัตกรรมประเภทวัตถุที่เป็นชิ้นอัน ซึ่งอาจเป็นประเภท วัสดุ/อุปกรณ์/ชิ้นงาน เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ชุดการสอน สื่อการสอน ชุดกิจกรรม เสริมความรู้ คู่มือประกอบการทำงาน เป็นต้น
  2. นวัตกรรมประเภทที่เป็นรูปแบบ /วิธีการ/ กระบวนการ/ระบบปฏิบัติการ อาทิ รูปแบบการสอน วิธีการสอน รูปแบบการบริหารจัดการ ระบบการทำงาน Quality Control (Q.C.) Total Quality Management (TQM) The Balanced Scorecard (BSC) ระบบ ISO เป็นต้น

ผลงานทางวิชาการประเภทงานวิจัยและพัฒนา คุณค่าของงานจะอยู่ที่ “สิ่งประดิษฐ์/ผลงานเป็นชิ้นเป็นอันที่สร้างขึ้น” หรือ “วิธีการ/รูปแบบการทำงาน/รูปแบบการจัดการ” ที่พัฒนาขึ้น ผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีคุณค่ามาก คือ กรณีที่สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือวิธีการที่ “ดูดี มีคุณค่า ใช้งานได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ” 

รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา  

                รูปแบบของงานวิจัยและพัฒนา แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ  โดยแต่ละประเภทมีธรรมชาติและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาโจทย์วิจัยของงานทั้ง 4  ลักษณะนี้จึงแตกต่างกัน  คือ

1. งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นการวิจัยที่มีการตั้งโจทย์การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง ดังนั้นประเด็นวิจัยจึงถูกตั้งขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูล และดำเนินการวิจัยโดยนักวิจัย กระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัยมักเป็นแบบระดมความคิดโดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ได้มีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของผู้ใช้ข้อมูล ผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้ที่ได้รับผลกระทบ (เช่น อาจใช้วิธีการระดมความคิดแบบ ZOPP หรือ Objective Oriented Project Planning) เมื่อได้กรอบการวิจัยแล้ว จึงประกาศเชิญชวนให้นักวิจัยได้ยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยตามกรอบที่ได้ระบุไว้แล้ว โดยในขั้นแรกแนะนำให้เสนอเป็นเอกสารเชิงหลักการก่อน เมื่อได้ปรับแต่งแนวคิดได้ตรงกันแล้ว จึงพัฒนาไปสู่การเขียนข้อเสนอโครงการฉบับเต็มต่อไป ประเด็นวิจัยสำหรับโครงการประเภทนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัจจุบันของเรื่องนั้นๆ และการวิจัยดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ปัญหานั้นต่อไป 

2. งานวิจัยเพื่อเตรียมรองรับปัญหาในระยะปานกลางถึงระยะยาว เป็นงานวิจัยที่เตรียมความพร้อมสำหรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยปัญหาดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นการกำหนดกรอบการวิจัยหรือตั้งโจทย์วิจัย จะต้องอาศัยความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก โจทย์การวิจัยอาจมาจากนักวิจัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือจากการระดมความคิดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องมีหลักฐานยืนยันแนวคิดนั้นๆ อย่างชัดเจนและรัดกุมว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหาสำคัญในอนาคตทั้งระยะใกล้และไกล 

3. งานวิจัยและพัฒนาซึ่งนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม หรือเป็นการวิจัยเพื่อให้ได้ทางเลือกใหม่ในการพัฒนา โจทย์ของงานวิจัยประเภทนี้มักถูกกำหนดโดยนักวิจัย หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการนั้นๆ การพัฒนาโครงการประเภทนี้ จำเป็นต้องมีหลักฐานยืนยันแนวคิดอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องชี้ให้เห็นความสำคัญและความเป็นไปได้ในเรื่องที่จะวิจัยอย่างชัดเจน นอกจากนี้ต้องมีการคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการขยายผลงานวิจัยดังกล่าวออกสู่การใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย 

4. งานขยายผลการวิจัย เป็นกระบวนการจัดการปลายทางเพื่อหาข้อมูลบางประการหรือสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างเพื่อให้ผลงานที่ได้จากการวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ลักษณะงานประเภทนี้อาจไม่ใช่งานวิจัยอย่างแท้จริงตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตามบางกรณีการดำเนินงานเช่นนี้อาจมีความจำเป็นในการผลักดันให้ผลงานถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง

 

แหล่งข้อมูล

Foundation for Thailand Productivity Institute

http://youth.ftpi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=52&Itemid=42

มธุรา สิริจันทรัตน์

http://digital.lib.kmutt.ac.th/magazine/issue4/articles/article2.html

สุมณฑา พรหมบุญ และคณะ

http://www.swu.ac.th/royal/book2/index.html

http://www.edu.nu.ac.th/techno/rujroadk/research&development.pdf

http://www.sobkroo.com/r_3.htm  

การวิจัยและพัฒนา (The Research &Development) โดย กฤษิยากร เตชะปิยะพร

 

หมายเลขบันทึก: 396195เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท