พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (ตอน ๓)


 

พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม 

พระมหาสมบูรณ์  วุฑฺฒิกโร,ดร.

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย

 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

๒.๓ แนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในสังคมไทย

    นักคิดและนักวิชาการคนสำคัญในสังคมไทยที่เสนอแนวคิดเกียวกับมิติทางสังคมในพระพุทธศาสนามีหลายท่านด้วยกัน   แต่แนวคิดที่ถือว่าได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด คือ แนวคิดของพุทธทาสภิกขุ เรื่อง “ธัมมิกสังคมนิยม” และแนวคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เรื่อง “ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม”  สำหรับนักคิดและวิชาการไทยท่านอื่น ๆ ส่วนมากจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของทั้งสองท่านนี้  แม้แต่สมาชิกของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ (พ.พ.ส.) หลายท่านก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของทั้งสองท่านนี้เอง

    ๑) แนวคิดธัมมิกสังคมนิยม[1] :  พุทธทาสภิกขุ เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาในช่วงที่สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตทางสังคมและการเมืองอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๑๕๑๖ โดยท่านได้ให้ความหมายของคำว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” ว่า หมายถึง สังคมหรือสังคมนิยมที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมหรือประกอบด้วยธรรม  คำว่า “ธรรม” ในที่นี้ ท่านใช้หมายถึงธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติ  ดังข้อความที่ว่า “ธรรมชาติแท้ ๆ มีลักษณะสังคมนิยม  มีเจตนารมณ์ของสังคมนิยม  มันเป็นตัวสังคมนิยม  เพราะมันไม่มีอะไรที่อยู่ได้ตามลำพังคนเดียว  ตัวเดียว  ส่วนเดียว  ธาตุเดียว  อณูเดียว  นี่มันมีไม่ได้  มันต้องเป็นกลุ่มเป็นก้อนกันไปทั้งนั้น  ในหนึ่งปรมาณูก็อยู่อย่างสังคมนิยม”[2]  จะเห็นว่า ธรรมชาติที่พุทธทาสภิกขุมองว่ามีเจตนารมณ์สังคมนิยม ก็คือระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันของสรรพสิ่ง  ตั้งแต่สิ่งที่เล็กที่สุดระดับปรมาณู ๆ ไปจนถึงสิ่งที่กว้างใหญ่ระดับจักรวาล  เจตนารมณ์สังคมนิยมของธรรมชาตินี้เองที่ช่วยค้ำจุนให้สรรพสิ่งดำรงอยู่ได้  ดังข้อความที่ว่า “ในร่างกายนี้ก็ต้องมีระบบสังคมนิยม  มันจึงรอดมาได้  ในหมู่บ้านนี้ก็มีระบบสังคมนิยมมันจึงรอดอยู่ได้  กระทั้งทั่วโลก  มันก็น่าหัวมากทีเดียว  ถ้าเราจะพูดว่าในระบบจักรวาลมันก็เป็นสังคมนิยม  ถ้าไม่เป็นเมื่อไหร่มันจะต้องวินาศ”[3]

    ตามทัศนะของพุทธทาสภิกขุ  สังคมนิยมเมื่อนำมาใช้ในความหมายทางจริยธรรม  จะมีความหมายในแง่ของจิตสำนึกที่เห็นแก่ส่วนรวมซึ่งตรงกันข้ามกับความเห็นแก่ตัว ดังข้อความที่ว่า “สังคมนิยมมีความหมายว่าต้องเห็นแก่สังคม  เพราะฉะนั้น  เห็นแก่ตัวคนเดียวไม่ได้”[4]  โดยท่านได้ยกตัวอย่างอุดมการณ์ของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นว่าเป็นภาพสะท้อนการทำงานตามเจตนารมณ์สังคมนิยม  “อุดมคติของโพธิสัตว์นั้น…ต้องช่วยเหลือผู้อื่น  เสียสละเพื่อผู้อื่น  แม้ชีวิตของตัวก็สละได้นี่ก็เพราะว่าเห็นแก่สังคม  ในพุทธศาสนาก็ยอมรับอุดมคติอันนี้  ยอมนับเนื่องเข้าไว้ในพระพุทธศาสนา  นั่นก็เพราะมีเจตนาของสังคมนิยม”[5]  แม้ระบบของ “ศีล” หรือ “วินัย”  ก็เช่นเดียวกัน พุทธทาสภิกขุมองว่าบัญญัติหรือจัดตัตามเจตนารมณ์สังคมนิยมของธรรมหรือธรรมชาติ (ธัมมิกสังคมนิยม)  กล่าวคือ เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อผูกพันให้สังคมอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นตามเจตนารมณ์ของธรรม ดังข้อความที่ว่า

     พระพุทธองค์ทรงบัญญัติระบบวินัย  ทำให้เราเห็นได้ทีเดียวว่า  เป็นระบบที่ผูกพันกันไว้เป็นพวกเป็นหมู่  ไม่แยกออกจากกันไป  คำว่า “สังฆะ”  แปลว่า หมู่  หรือ พวก  มันไม่ได้แปลว่า เดี่ยว  คนเดียว  เมื่อมันอยู่เป็นพวกมันก็ต้องมีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว  หรือมีหลักธรรมสัจจะอันใดอันหนึ่ง  ที่จะทำให้คณะสงฆ์ตั้งอยู่ได้เป็นหน่วยเดียว  จากส่วนประกอบของหน่วยหลายร้อนหลายพันหลายหมื่นหน่วย  ดึงเข้าเป็นสังคมที่ถูกต้อง” [6]

    สรุปความว่า แนวคิดเกี่ยวกับมิติทางสังคมของพระพุทธศาสนาที่พุทธทาสภิกขุนำเสนอขึ้นมา ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิดเรื่องธรรมหรือกฎธรรมชาติ (อิทัปปัจจยตา)  ซึ่งท่านมองว่าธรรมหรือกฎธรรมชาตินี้มีเจตนารมณ์เชิงสังคมอยู่ (ธัมมิกสังคมนิยม) เหตุที่ท่านมองอย่างนี้เพราะสรรพสิ่งในจักรวาลล้วนดำรงอยู่โดยการอิงอาศัยกันตามกฎอิทัปปัจจยตา  ไม่มีสิ่งใดเลยที่สามารถดำรงอยู่อยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวเป็นอิสระ  การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นสังคมหรือยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งถือว่าดำเนินตามเจตนารมณ์สังคมนิยมของธรรมชาติ (ท่านโต้งแย้งลัทธิปัจเจกนิยมและบริโภคนิยมว่าไม่ดำเนินเจตนารมณ์ของธรรมชาติ)  ดังนั้น การที่พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยขึ้นมาก็ดี  การตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมาก็ดี  หรือสอนให้ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเมตตาธรรมก็ดี  ล้วนแต่ทรงดำเนินเจตนารมณ์เชิงสังคมนิยมทั้งสิ้น 

    ๒) แนวคิดศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม :  ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาคือ พระธรรมปิฎก (สมณศักดิ์ปัจจุบัน คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก เป็นพระสงฆ์อีกท่านหนึ่งที่พยายามจะฟื้นฟูมิติทางสังคมของพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมาใหม่  ซึ่งท่านมองว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่ถูกมองข้ามไปหรือถูกมองในเชิงปัจเจกจนเกินไป เป็นที่ทราบกันดีว่า เรื่องศีลหรือวินัยที่อธิบายตามจารีตประเพณีในสังคมไทย  ส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องของความดีงามส่วนบุคคลเป็นสำคัญ  โดยมองเพียงว่าสังคมที่ดีเกิดจากการมีปัจเจกชนที่ดีหลายคนมารวมกัน  ส่วนมิติของศีลในด้านการจัดวางระบบหรือโครงสร้างทางสังคมเพื่อสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาคนแทบจะไม่มีการกล่าวถึงเลยในสังคมไทย   พระธรรมปิฎก ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก  โดยท่านได้อุทิศพื้นที่ในหนังสือพุทธธรรมถึงหนึ่งบท (๒๐ หน้ากระดาษ) สำหรับอธิบายมิติทางสังคมของศีลหรือวินัยเป็นการเฉพาะ  โดยตั้งชื่อบทว่า “ศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคม[7]  (ต่างจากพุทธทาสภิกขุที่มองว่าธรรมชาติมีเจตนารมณ์ทางสังคม)  ท่านมองว่า หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สะท้อนมิติทางสังคมของพระพุทธศาสนาได้อย่างเด่นชัดที่สุด  คือ หลักคำสอนในขั้นของศีลหรือวินัย  ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า

คำสอนและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา  ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคม และสะท้อนเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนาในด้านความสัมพันธ์ทางสังคมมากที่สุดก็คือ คำสอนและหลักปฏิบัติในขั้นศีล  เพราะศีลเป็นระบบการควบคุมชีวิตด้านนอกเกี่ยวด้วยการแสดงออกทางกายวาจา  เป็นระเบียบว่าด้วยความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน  การดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหมู่ชน  การจัดสภาพความเป็นอยู่และสิ่งแวดล้อมให้เรียบร้อยและเกื้อกูลแก่การดำรงอยู่ด้วยดีของหมู่ชนนั้น  และแก่ความผาสุกแห่งสมาชิกทั้งปวงของหมู่ชน  อันจะเอื้ออำนวยให้ทุกคนสามารถบำเพ็ญกิจกรณีย์ที่ดีงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป[8]

      พระธรรมปิฎกมองว่า ถ้าเราไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของศีลในทางสังคมแล้ว  ไม่เพียงเจตนารมณ์นั้นจะไม่ขยายกว้างออกไปสู่การปฏิบัติในสังคมคฤหัสถ์เท่านั้น  แม้แต่เจตนารมณ์ส่วนที่มีอยู่แล้วในวินัยของสงฆ์เอง  ก็จะเลือนลางเหลืออยู่เพียงในสภาพของพิธีกรรมเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้ การที่จะฟื้นฟูศีลหรือวินัย  ไม่ควรเน้นแต่เพียงความเคร่งครัดด้านรูปแบบเพียงอย่างเดียว  สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมคือการรักษาเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลหรือวินัยของสงฆ์ให้คงอยู่  ไม่ให้เลือนลางเหลืออยู่แต่ในรูปของพิธีกรรมอย่างแห้งแล้ง  นอกจากนั้น  ควรขยายเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลให้กว้างออกไปสู่การปฏิบัติในสังคมคฤหัสถ์รอบนอกด้วย  โดยจัดสรรวินัยที่เป็นระบบชีวิตและระเบียบสังคมแบบพุทธของชาวบ้าน  ให้เกิดมีขึ้นอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกาลสมัย[9]

     กล่าวเฉพาะวินัยของพระสงฆ์  พระธรรมปิฎก มองว่า เป็นระบบที่ครอบคลุมชีวิตด้านนอกของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ทุกมุม  เริ่มตั้งแต่กำหนดคุณสมบัติ  สิทธิ  หน้าที่  และวิธีการรับสมาชิกใหม่เข้าสู่ชุมชนคือสงฆ์  การดูแลฝึกอบรมสมาชิกใหม่  การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทำกิจการของสงฆ์พร้อมด้วยคุณสมบัติและหน้าที่ที่กำหนดให้  ระเบียบเกี่ยวกับการแสวงหา  จัดทำ  เก็บรักษา  แบ่งสรรปัจจัย ๔  ระเบียบการรับและการจัดแบ่งส่วนอาหาร  การทำจีวรและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับจีวร  ข้อปฏิบัติของคนไข้และผู้รักษาพยาบาลไข้  การจัดสรรที่อยู่อาศัย  ข้อปฏิบัติของผู้อยู่อาศัย  ระเบียบการก่อสร้างที่อยู่อาศัย  การดำเนินงานและรับผิดชอบในการก่อสร้าง  การจัดผังที่อยู่อาศัยของ     ชุมชนสงฆ์ว่า พึงมีอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ บ้าง  ระเบียบวิธีดำเนินการประชุม  การโจทหรือฟ้องคดี  ข้อปฏิบัติของโจทก์  จำเลยและผู้วินิจฉัยคดี  วิธีดำเนินคดีและตัดสินคดี  การลงโทษแบบต่าง ๆ เป็นต้น   เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ดำเนินตามเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลทั้งสิ้น[10]

    พุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎก มีจุดเน้นในเรื่องเจตนารมณ์ทางสังคมของพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน คือ ท่านแรกเน้นที่ธรรมหรือธรรมชาติว่ามีเจตนารมณ์ทางสังคม ส่วนท่านหลังเน้นเรื่องบัญญัติหรือวินัยว่ามีเจตนารมณ์ทางสังคม    กล่าวคือ พุทธทาสภิกขุมองว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยให้เจตนารมณ์ทางสังคม ก็เพราะเจตนารมณ์ของธรรมกำหนดให้ต้องบัญญัติอย่างนั้น  ส่วนพระธรรมปิฎก มองว่าศีลหรือวินัยมีเจตนารมณ์ทางสังคม  แต่ไม่ได้ยืนยันว่าธรรมมีเจตนารมณ์ทางสังคมหรือไม่  เพียงแต่บอกว่า การบัญญัติวินัยที่ดีต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม คือต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในธรรม  ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

     ธรรมจึงเป็นทั้งฐานของวินัย และเป็นทั้งจุดหมายของวินัย  (๑) ที่ว่าเป็นฐาน หมายความว่า ต้องรู้ความจริงของกฎธรรมชาติ  จึงจะสามารถมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์เพื่อให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากธรรมนั้นได้  ถ้าไม่รู้  การจัดตั้งก็ผิดพลาดหรือไร้ความหมาย  (๒) ที่ว่าเป็นจุดหมายคือ การที่ให้มนุษย์มาอยู่ร่วมกัน และมีการจัดตั้งระเบียบแบบแผนทั้งหมดนั้น ก็เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากธรรมนั่นเอง[11]

    จะเห็นว่า การที่พระธรรมปิฎกบอกว่าธรรมเป็นรากฐานของวินัยนั้น  ด้วยเหตุผลที่ว่าวินัยถูกบัญญัติขึ้นโดยพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้ความจริงของธรรมหรือกฎธรรมชาติ  และการที่พระองค์บัญญัติวินัยให้มีเจตนารมณ์ทางสังคมนั้น  ท่านก็ไม่ได้ยืนยันว่า เพราะกฎธรรมชาติมีเจตนารมณ์ทางสังคมบังคับอยู่  จึงต้องบัญญัติวินัยให้มีเจตนารมณ์ตามนั้น  ท่านเพียงแต่บอกว่า การบัญญัติจัดวางวินัยให้มีเจตนารมณ์ทางสังคม  จะเป็นสภาพแวดล้อมที่ดี (ปรโตโฆสะ) หรือเกื้อกูลให้คนที่อยู่ในสังคม (สังฆะ) ได้พัฒนาตนให้เข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้เร็วขึ้น 

    ๓) แนวคิดสังคมคือโครงสร้างของศีลธรรม :  ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา คือ นายแพทย์ ประเวศ วสี  โดยได้รับอิทธิพลทั้งจากแนวคิดของพุทธทาสภิกขุ และพระธรรมปิฎกดังที่กล่าวมาแล้ว นพ. ประเวศ มองว่า ศีลธรรมหรือศาสนาเหมือนกับสถาบันทางสังคมอื่น ๆ  คือต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๒ ส่วน ได้แก่ (๑) ส่วนที่เป็นโครงสร้าง  และ (๒) ส่วนที่เป็นเครื่องตกแต่ง  ส่วนที่เป็นโครงสร้างก็คือสถาบันทางสังคม  เช่น สถาบันครอบครัว  สถาบันชุมชน  และส่วนที่เป็นเครื่องตกแต่ง ได้แก่ หลักศีลธรรมหรือหลักคำสอนทางศาสนาที่เรานำมา อบรมสั่งสอนกัน ส่วนที่ถือว่าสำคัญที่สุด คือส่วนที่เป็นโครงสร้าง  เพราะเป็นหลักค้ำประกันหรือเป็นฐานรองรับศีลธรรม  ถ้าส่วนที่เป็นโครงสร้างนี้ล่มสลายเสียแล้ว  ก็ไม่สามารถที่จะปลูกฝังศีลธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมได้

    ศีลธรรมก็เหมือนสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้าง  ส่วนที่เป็นสิ่งตกแต่ง  เหมือนอาคารซึ่งมีโครงสร้างกับสิ่งตกแต่งให้มันน่าอยู่มากขึ้น  สวยงามมากขึ้น  มีประโยชน์มากขึ้น  สิ่งที่พระสอนจะสอนในสิ่งที่เป็นส่วนตกแต่งแต่ส่วนโครงสร้างมันพังไปแล้ว  ถ้าโครงสร้างพังแล้วถึงจะพยายามตกแต่งอย่างไร  มันก็ไม่มีอะไรให้ตกแต่ง[12] 

    นพ. ประเวศ ได้ตั้งคำถามว่า “ผมพยายามจับตรงนี้มาหลายปี  ก็ตั้งคำถามเหมือนกัน  ผมเป็นชาวพุทธ  เราก็รักพุทธศาสนา  และพุทธศาสนาเป็นของดี  และเราเป็นเมืองพุทธ      แล้วทำไมมีความเสื่อมมากมาย  จะตอบปัญหาตรงนี้อย่างไร” [13] นอกจากความเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรม  นพ.ประเวศยังได้ตั้งคำถามว่าทำไมสังคมไทยไม่ประสบความสำเร็จในการปลูกฝังศีลธรรม  ทั้งที่เรามีพระสงฆ์มากมาย  มีการสมาทานศีล ๕ อยู่เป็นประจำ และมีการสนับสนุนให้พระสงฆ์ไปสอนศีลธรรมในโรงเรียน “ขณะนี้เราพูดเรื่องศีลธรรมแต่มองไม่เห็นความหวังอะไรเลย  เพราะเราไปมองแค่การเรียนการสอนจริยธรรมในโรงเรียน  และเมื่อเรียนแล้วก็มองไม่เห็นว่า      ศีลธรรมจะดีขึ้นอย่างไร  พระก็สอนเยอะ  ทุกวันก็มีการให้ศีลห้า  แต่คนก็ละเมิดกันมากขึ้นตามไปด้วย”[14]   ถามว่าทั้งที่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นของดี  แต่ทำไมถึงไม่มีพลังในการเข้าไปแก้ปัญหาสังคม   การที่จะตอบปัญหานี้ได้ นพ.ประเวศเสนอให้วิเคราะห์ปัญหาระดับโครงสร้างหรือระดับสังคม  แทนที่จะมองว่าเป็นความชั่วหรือความไม่ดีส่วนบุคคล

    เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องการทำความเข้าใจเรื่องทางสังคม  ชาวพุทธจะไม่ค่อยสนใจตรงนี้  ชาวพุทธจะสนใจเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล  เพราะฉะนั้นทั้ง ๆ ที่พุทธศาสนาเป็นของดี  เราจึงคงดูเสมือนไม่มีพลังที่จะใช้พุทธ-ศาสนาเข้าไปแก้ไขปัญหา  เพราะไม่ได้สนใจ  ทำความเข้าใจเรื่องมิติทางสังคม  เอาเฉพาะตัวของตัวคนเดียวว่าทำอย่างไรจึงจะหมดกิเลส  เมื่อสังคมเสื่อมเลยกระทบหมดทุกคน[15]

    ต่อประเด็นปัญหานี้  แพทย์ประเวศได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง” (structural violence) ว่าเป็นรากฐานที่มาของความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและเป็นที่มาของความล้มเหลวในการปลูกฝังศีลธรรม  โครงสร้างของความรุนแรง หมายถึง สภาพที่สถาบันทางสังคม เช่น สถาบันครอบครัว  ชุมชน  อยู่ในภาวะอ่อนแอหรือล่มสลายจนไม่สามารถทำหน้าที่เป็น “ภูมิคุ้มกันทางสังคม” ได้  นอกจากนั้น โครงสร้างแบบนี้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนคนทั้งหลายให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยไม่รู้ตัวด้วย

    เรื่องโครงสร้างของความรุนแรง เป็นเรื่องร้ายแรงมากกว่าเรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งทำไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้  โครงสร้างทั้งโครงจะขยับคนทั้งหลายให้เข้าไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและโดยไม่รู้ด้วยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เรียกว่าเป็นโครงสร้างของความรุนแรง  ขณะนี้เรามีโครงสร้างของความรุนแรงดำเนินอยู่[16]

    ดังนั้น  คำตอบสำหรับการฟื้นฟูศีลธรรมในสังคมไทยตามทัศนะของนพ.ประเวศ  จึงไม่ใช่การมุ่งทำให้แต่ละคนเป็นดีแล้วสังคมทั้งหมดจะดีขึ้นเอง  หากแต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะให้โครงสร้างของสังคมเข้มแข็งจนสามารถเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมได้  บนรากฐานของโครงสร้างสังคมที่เข้มแข็งนี้เองจึงจะสามารถปลูกฝังศีลธรรมได้ง่าย  และบางครั้งศีลธรรมก็สามารถเกิดขึ้นได้เองโดยอาศัยโครงสร้างทางสังคมเป็นตัวหล่อหลอมในรูปแบบของวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต

    ถ้าเราอยู่ในชุมชน  ชุมชนจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ความอบอุ่นทางจิตใจ  ช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ  ลูกเต้าได้ช่วยกันดูแล  มันเป็นความอบอุ่นอันพึ่งพิงกันได้  ผมจึงเรียกตรงนี้ว่าเป็น “ภูมิคุ้มกันทางสังคม”  เมื่อครอบครัวแตก  ชุมชนแตก  สังคมหมดภูมิคุ้มกัน  หลังจากนั้นเป็นโรคอะไรเข้ามาก็ระบาดรุนแรงเกิด “โรคของวิกฤตการณ์ทางสังคม”[17]

    ๔) แนวคิดกรรมเชิงสังคม (Collective Social Action) :  ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาคือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้ขาดมิติทางสังคมแต่อย่างใด หากแต่พระพุทธศาสนาที่เรานับถือกันในสังคมไทยเป็นพระพุทธศาสนาที่เน้นหนักมิติเชิงปัจเจกบุคคลเพียงด้านเดียว   เช่นเวลาที่เราอธิบายถึงคนที่กำลังอยู่ในภาวะเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง  เรามักจะมองเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมหรือกรรมส่วนบุคคล   โดยไม่สนใจตั้งคำถามในระดับโครงสร้างหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมว่ามีความบกพร่องอย่างไร    นี้คือมิติของพระพุทธศาสนาที่นิธิ มองว่าสังคมไทยไม่ได้หยิบยกขึ้นมาเน้นย้ำ “ในส่วนความหมายเชิงสังคมของพระพุทธศาสนานั้น  นับตั้งแต่โบราณมา  ไม่ค่อยได้เน้นในสังคมไทย  เพราะศาสนาผีรับหน้าที่รักษากฎระเบียบทางสังคมอยู่แล้ว  พระพุทธศาสนาไทยจึงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาจิตใจของบุคคลมากกว่า”[18]  ด้วยเหตุนี้ “พระพุทธศาสนาไทยจึงมักถูกโจมตีเสมอว่า ไม่ค่อยมีมิติทางสังคมในคำสอน  แต่ที่จริงแล้วพระพุทธศาสนาเถรวาทไม่ได้ขาดมิติทางสังคมแต่อย่างใด  เพียงแต่ในเมืองไทย  มิติด้านนี้ถูกละเลยไปเองต่างหาก”[19]

    มีหลักธรรมหลายประการที่นิธิ เห็นว่าควรมีมิติทางสังคมด้วย  ถึงจะสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ อาทิ หลักคำสอนเรื่องกรรม  ในเรื่องนี้  นิธิ ให้ความเห็นว่า

    คนไทยมักมองกรรมเป็นเรื่องของบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว  บุคคลทำ  กรรมดีมาน้อยจึงเกิดมาจน…อย่างไรก็ตาม  ถ้ามองว่ากรรมยังมีอีกมิติหนึ่งคือกรรมของสังคมซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของความจนนั้นมีสาเหตุมาจากสังคมเอง เช่น เขาทำไร่ทำนาเขาอยู่ดี ๆ ก็ไปอพยพเขาขึ้นไปอยู่บนยอดเขาแห้งแล้ง  เพื่อจะเอาที่ดินของเขาไปทำเขื่อน  ก็กลายเป็นคนจนรากเลือดอยู่บนเขา  ก็เห็นได้อยู่ชัด ๆ ว่ากรรมที่ทำให้เขาจนนั้นเป็นกรรมของสังคมแน่[20]

     ในเรื่องของศีลก็เช่นกัน  เรามักเข้าใจว่าปาณาติบาตเป็นการกระทำเฉพาะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น  แต่นิธิเตือนว่ายังมีปาณาติบาตที่เกิดขึ้นได้โดยไม่มีบุคคลเป็นผู้กระทำ  เช่น ความตายที่เกิดจากความอยากจนและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจ  และความตายที่เกิดจากการสัญจรด้วยรถยนต์  “ปาณาติบาตกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่อาจซัดทอดปัจเจกบุคคลใด ๆ ได้  เพราะไม่มีใครฆ่าใครด้วยกาย  วาจา หรือใจ  เลยต้องยกให้เป็นความผิดของสังคม”[21]

      นิธิมองว่า ปาณาติบาตเกี่ยวข้องกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะเราแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  และเราต่างก็ยอมให้ระบบที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำต่ำสูงดำรงอยู่ต่อไป  คำถามก็คือ ถ้าอย่างนั้นการสมยอมให้เป็นเช่นนั้นเป็นการฆ่าใช่หรือไม่ นิธิ เสนอว่า เราควรคิดถึงปาณาติบาต (หรือศีลข้ออื่น ๆ) ในแง่มุมที่กว้างขึ้น  จริงอยู่เมื่อพูดอย่างเคร่งครัดแล้ว  การล่วงละเมิดศีลนั้นต้องมีเจตนามาเกี่ยวข้องด้วย  ถ้าไม่มีเจตนาให้ชีวิตใดชีวิตหนึ่งตกล่วงไป  ก็ไม่ถือว่าผิดศีลข้อปาณาติบาต  อย่างไรก็ตามความจริงมีอยู่ว่าในสังคมทุกวันนี้  การกระทำของเราแต่ละคนสามารถส่งผลถึงชีวิตของคนอื่นได้อย่างง่ายดาย  เนื่องจากความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างสลับซับซ้อนและแน่นแฟ้น  ดังนั้น หากต้องการดำรงชีวิตโดยเบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุด  การถือศีลปาณาติบาต (และศีลข้ออื่น ๆ) อย่างเดิม ๆ ย่อมไม่เพียงพออย่างแน่นอน  จำเป็นต้องมีความสำรวมระวังเพิ่มขึ้น  ซึ่งหมายถึงการมีหลักปฏิบัติอย่างอื่นมากำกับตนเองมากขึ้น  จะโดยการถือศีลข้ออื่นเพิ่มขึ้นหรือขยายความหมายของศีล ๕ ให้กว้างจากเดิมก็แล้วแต่  ทั้งนี้โดยมีสาระสำคัญอยู่ตรงที่การตระหนักว่าการกระทำของเราสามารถส่งผลเสียต่อผู้อื่นได้โดยผ่านกลไกต่างๆ ในสังคมด้วย  มิใช่ว่าจะกระทบอย่างซึ่งๆ หน้าหรือกระทบโดยตรงเท่านั้น  การอธิบายหรือขยายความหมายของศีลในลักษณะนี้ช่วยให้ศีลในพระพุทธศาสนาเป็นหลักประกันแห่งความสงบสุขในชีวิตและสังคมอย่างแท้จริงสำหรับยุคนี้[22]

       ถ้าศีลมีมิติทางสังคมดังที่กล่าวมา  ความมีเมตตากรุณาของชาวพุทธ (รวมทั้งการทำบุญ) ก็จะมีความหมายกว้างขึ้นด้วย  คือไม่ใช่แต่เพียงการให้ทานหรืออาหารแก่คนตกทุกข์ได้ยากเท่านั้น  หากยังรวมไปถึงการทำกิจกรรมทางสังคมเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนอย่างถึงรากถึงโคน นิธิ เห็นว่าเมตตากรุณาตามความหมายนี้จะก่อให้เกิดการร่วมมือกันจนเกิดเป็นองค์กรทางสังคม  ซึ่งจะเป็นทางออกสำคัญสำหรับสังคมปัจจุบัน  ทั้งนี้เพราะปัจจุบันสังคมกำลังเกิดปัญหานานัปการที่แก้ได้ยาก (เช่น ยาเสพย์ติด  อาชญากรรม  ปัญหาทางจิตใจ) เนื่องจากฝากความหวังการแก้ปัญหาไว้กับปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว  ปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อองค์กรทางสังคมมาเป็นกำลังสำคัญด้วย[23]

       มิติทางสังคมนี้ นิธิ เห็นว่ายังสามารถเอามาใช้กับแนวคิดเรื่องโลกหน้าได้ด้วย  ทั้งนี้เพราะ “สังคมและชาติหน้านั้นเป็นแนวคิดเดียวกัน  เพราะชาติหน้าคือที่ซึ่งตัวเราหรือคนที่เรารักจะไปผุดไปเกิดในอนาคต  อย่างเดียวกับที่สังคมคือที่ซึ่งเราจะฝังลูกหลานของเราซึ่งก็คือตัวตนของเรานั่นเอง  และคนที่เรารักเอาไว้ในนั้นในอนาคต”[24]  หรือถึงไม่เชื่อเรื่องชาติหน้าเลย  การสอนพระพุทธศาสนาโดยคำนึงถึงมิติทางสังคมด้วยก็สามารถสร้างสำนึกในทางศีลธรรมอย่างเดียวกับที่คนสมัยก่อนเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ  ดังที่ นิธิ เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “ถ้าจะไม่พูดถึงโลกหน้าเลย  ก็ต้องพูดถึงสังคมซึ่งเป็นความยืนยงของโลกนี้  เป็นสถานที่จุติของลูกหลานของเราและคนที่เรารักในกาลนานข้างหน้า เป็นสภาวะที่ทำให้เราเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ฉะนั้น  แม้ไม่มีชาติหน้า  เราก็ยังต้องเอื้อต่อประโยชน์ของสังคมอยู่นั่นเอง”[25]

       นิธิมองว่า การอธิบายหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยให้ความสำคัญต่อมิติทางสังคมด้วย  นอกเหนือจากมิติทางจิตวิญญาณและการประพฤติปฏิบัติส่วนบุคคล  จะช่วยให้  พระพุทธศาสนามีพลังในการอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในสังคม  แทนที่จะสรุปอย่างสั้น ๆ ว่าปัญหาทั้งหลายในโลกนี้เกิดจากความโลภ ความโกรธ  ความหลงของบุคคล  ซึ่งเท่ากับไม่ได้ตอบปัญหาอะไรเลย  และอาจเป็นการส่งเสริมความมักง่ายของชาวพุทธในการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาหาเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างทั่วถึง  การคำนึงถึงปัจจัยทางสังคมยังช่วยให้การส่งเสริมศีลธรรมในสังคมเป็นไปอย่างได้ผล  เพราะเมื่อตระหนักว่าศีลธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลอย่างเดียว  หากยังมีปัจจัยทางสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย (ทั้งในฐานะสิ่งที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของเรา  และสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเราและส่งต่อไปยังผู้อื่น)   ดังนั้น  เมื่อต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมีศีลธรรม  ก็ไม่คิดแต่จะพร่ำสอนวอนย้ำให้ทุกคนจงทำดี ๆ เท่านั้น  หากยังต้องพยายามสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการมีศีลธรรม  พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมให้ทุกคนได้มีส่วนสร้างสรรค์สังคมให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย  มิใช่แต่ทำความดีเฉพาะตัวเท่านั้น (มีต่อตอน ๔)

   

หมายเลขบันทึก: 396197เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 19:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการเจ้าค่ะ

มารับความรู้ต่อ

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท