พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม (ตอน ๔)


พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม 

พระมหาสมบูรณ์  วุฑฺฒิกโร,ดร.

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย

 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

    ๕) แนวคิดประชาสังคมเชิงพุทธ :  ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา คือ พระไพศาล วิสาโล    คำว่า ประชาสังคม (Civil Society) ตามทัศนะของพระไพศาล  คือ สังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสูงในกิจการสาธารณะระดับต่าง ๆ  คือตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ  โดยมีการรวมตัวหรือกระทำผ่านองค์กรต่าง ๆ ด้วยความสมัครใจอย่างเป็นอิสระจากรัฐและทุน   อีกนัยหนึ่ง หมายถึง เครือข่ายองค์กรประชาชนที่มีกิจกรรมเชิงสาธารณะ  โดยแยกต่างหากจากกิจกรรมที่รัฐเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับสถาบันของรัฐและไม่ใช่กิจกรรมในระบบตลาด

    ตามทัศนะของพระไพศาล  พระพุทธศาสนามีหลักธรรมหลายประการที่สอดคล้องแนวคิดประชาสังคม ดังจะเห็นได้ว่า “คุณธรรมพลเมือง” (Civic Virtues) เช่น การมีวินัยในตนเอง  การเห็นแก่ส่วนรวม  ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  และการให้อภัย  เข้ากันได้กับหลักธรรมหลายหมวด เช่น สังคหวัตถุ ๔  ฆราวาสธรรม ๔ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐  สำหรับประเด็นข้อโต้แย้งที่ว่าพระพุทธศาสนาขาดมิติทางสังคม  พระไพศาลมองว่า แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนพัฒนาตนค่อนข้างมาก  ส่วนประชาสังคมเป็นเรื่องของสังคมที่เลยพ้นระดับบุคคลออกไป  แต่ก็มิใช่สิ่งที่ขัดแย้งกันหรือเป็นคนละเรื่องกัน  เพราะถึงอย่างไรพระพุทธศาสนาก็มิได้จำกัดตัวอยู่ในขอบเขตพรมแดนทางด้านจิตใจล้วน ๆ อย่างที่มักเข้าใจกัน  การฝึกฝนพัฒนาตนนั้น  แม้จะมีจุดหมายสูงสุดอยู่ที่การเสริมสร้างปัญญาให้เข้าถึงความจริงของชีวิตหรือสัจธรรม  แต่ก็ต้องอาศัยสภาพแวดล้อม  อันได้แก่สภาพความเป็นอยู่  ตลอดจนระเบียบชีวิตและระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน  เพื่อกำกับความประพฤติ  กล่อมเกลาจิตใจและพัฒนาปัญญาให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องดีงาม  ระเบียบชีวิตและระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือแบบแผนของสังคมนี้ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า วินัย  ตรงกันข้ามกับที่คนทั่วไปเข้าใจกัน  พระพุทธศาสนานั้นมิได้มีแต่เรื่องธรรมะเท่านั้น  นั่นเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา  อีกครึ่งหนึ่งก็คือวินัย  ต่อเมื่อมีทั้งธรรมและวินัยจึงเรียกว่าพระพุทธศาสนา  ดังในสมัยพุทธกาลคำว่า “ธรรมวินัย” เคยเป็นคำเรียกชื่อของพระพุทธศาสนา[1] 

    นอกจากนั้น  พระไพศาล ยังเสนอให้รื้อฟื้นหลักธรรมหลาย ๆ อย่างที่มีมิติทางสังคมอยู่แล้วแต่ถูกมองข้ามไป รวมทั้งการขยายแนวคิดเดิมให้มีความหมายกว้างขึ้น เช่น อปริหานิยธรรม (ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความเสื่อม) ปัจจุบันแทบจะไม่มีการพูดถึงเลยทั้งที่เป็นธรรมว่าด้วยความเจริญของหมู่คณะโดยตรง  อุเบกขา  แม้จะเป็นธรรมที่พูดถึงกันมาก  แต่ก็เข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ครบถ้วน  คือเข้าใจว่า หมายถึงการวางใจเป็นกลางเท่านั้น  แต่ที่จริง อุเบกขา มิได้หมายความแค่วางใจเป็นกลางเฉย ๆ หากแต่เป็นการวางใจเป็นกลางที่มีจุดหมายเพื่อไม่ให้ละเมิดธรรมหรือเสียหลักการ  ทั้งนี้เพราะถ้าปราศจากอุเบกขาแล้ว  ความเมตตากรุณาที่มีต่อตัวบุคคล  อาจทำให้เลยเถิดจนเป็นผลเสียต่อธรรมได้  เช่น ช่วยเพื่อนโดยเอาเงินส่วนรวมไปให้เขา  พระพุทธศาสนาเน้นอุเบกขาในกรณีดังกล่าว  เพื่อรักษาธรรมหรือหลักการของส่วนรวมเอาไว้  เป็นการป้องกันส่วนรวมมิให้เสียหาย  เห็นได้ชัดว่าอุเบกขานั้นเป็นธรรมและหลักการของส่วนรวม  มิใช่คำนึงแต่หน้าที่หรือคุณธรรมต่อตัวบุคคลเท่านั้น  แม้แต่คำว่า “บุญ”  ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยคุ้นเคยกันดีแต่เข้าใจคลาดเคลื่อน  บุญในความหมายที่แท้  ต้องเป็นเรื่องของการช่วยเหลือผู้อื่น (หรือส่วนรวม) และการขัดเกลาตนเอง  เป็นการหลักการที่ควรที่จะฟื้นฟูอย่างจริงจัง  เพราะส่งเสริมจริยธรรมทางสังคมโดยตรง  ทั้งยังสอดคล้องกับหลักการประชาสังคมด้วย  โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “คุณธรรมพลเมือง” (Civic Virtues)[2]

    จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า แม้นักคิดและนักวิชาการในสังคมไทยที่เสนอแนวคิดเกี่ยวกับมิติทางสังคมของพระพุทธศาสนาอย่างหลากหลาย  แต่โดยสรุปแล้วมีฐานอยู่บน ๒ แนวคิดหลัก ๆ  คือ แนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมชาติ (nature-based) และแนวคิดที่ตั้งอยู่บนฐานของวินัย (discipline-based) แนวคิดแรก ได้แก่ แนวคิดธัมมิกสังคมนิยมของพุทธทาสภิกขุ  ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองว่าธรรมหรือกฎธรรมชาติมีเจตนารมณ์ทางสังคม  เพราะควบคุมสรรพสิ่งในจักรวาลให้เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผนและดำเนินไปแบบพึ่งพาอาศัยกันหรือขึ้นอยู่กับกันและกัน   ดังนั้น วิถีชีวิตแบบเน้นความสำคัญของสังคมจึงถือว่าดำเนินตามเจตนารมณ์ของธรรมชาติ  ส่วนแนวคิดที่ ๒ ได้แก่ แนวคิดศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคมของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองศีลหรือวินัยในมิติที่ครอบคลุมทั้งเรื่องความประพฤติดีงามส่วนบุคคลและการจัดววางระเบียบแบบแผน  การจัดโครงสร้าง และการจัดระบบความสัมพันธ์ของคนในสังคม  สำหรับแนวคิดท่านอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดทั้งสองนี้   

๓. การตีความศีลห้าของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ

     แนวคิดในการตีความศีล ๕ แนวใหม่ของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของบุคคลสำคัญอย่างน้อย ๒ ท่านด้วยกัน คือ แนวคิดเรื่อง “อริยวินัย” ที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) เสนอไว้ในบทความเรื่องศีลกับเจตนารมณ์ทางสังคมที่กล่าวมาแล้ว และแนวคิดของพระติช นัท ฮันห์  เกี่ยวกับการตีความศีล ๕ แนวใหม่  ดังนั้น ในบทที่ ๓ นี้   นอกจากจะอภิปรายในประเด็นการตีความศีล ๕ ของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติแล้ว  ผู้เขียนยังจะเสนอแนวคิดเรื่อง “อริยวินัย” และหลักการสทานศีล ๕ ของพระติช นัท ฮันห์  ควบคู่กันไปด้วย   เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดทั้งสองนี้กับแนวคิดในการตีความศีลห้าของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ

    ๓.๑ เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ

    เครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ (พ.พ.ส.) (International Network of Engaged Buddhists-INEB) ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยการริเริ่มของสุลักษณ์  ศิวรักษ์   โดยมีบุคคลสำคัญที่รับเป็นองค์อุปถัมภ์ เช่น องค์ทะไล ลามะ  สมเด็จพระมหาโฆษนันทะ (กัมพูชา)  พระติช   นัท ฮันห์  พุทธทาสภิกขุ  มีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ มากกว่า ๕๐๐ คน[3]       สุลักษณ์ได้กล่าวถึงจุดยืนในการตั้งองค์กรว่า

    INEB หรือพุทธศาสนิกเพื่อสังคม มีจุดยืนตรงที่ช่วยให้ชาวพุทธร่วมสมัยเห็นความทุกข์ยากต่าง ๆ  โดยเอียงข้างอยู่ฝ่ายผู้ยากไร้และคนปลายอ้อปลายแขมที่ถูกเอาเปรียบ  หากไม่สอนให้เกลียดผู้ที่ข่มเหงคะเนงร้ายเรา  โดยหาทางเข้าถึงโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคม  แล้วหาทางออกจากทุกขสัจทางสังคม  ตามแนวทางของพระอริยมรรคอย่างสันติ[4]

    สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กรมี ๔ ประการ คือ

    ๑) มุ่งพัฒนาแนวความคิดพุทธศาสนาเพื่อสังคม (Socially engaged Buddhism) ที่มีฐานอยู่บนความมีสติ  ปัญญา  และกรุณา

    ๒) จัดอบรมระดับพื้นฐานในเอเชียเพื่อส่งเสริมความเข้าใจ การวิเคราะห์ และการสร้างพลังอำนาจเพื่อนำไปสู่ความสามัคคีและความยุติธรรมในโลก ให้แก่ปัจเจกบุคคล ชุมชน และสังคม (ในรูปแบบของการจัดประชุมปฏิบัติการ  การจัดสัมมนา  และการศึกษาดูงาน) 

    ๓) สร้างเครือข่ายที่กว้างขวาง และการทำงานร่วมกันในหมู่ชาวพุทธและกลุ่มที่ทำงานเพื่อสังคมอื่น ๆ 

    ๔) ส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างชาวพุทธและระหว่างศาสนาต่าง ๆ

    นอกจากนั้น “โครงการอริยวินัย” ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ  ก่อตั้งโดยสุลักษณ์  ศิวรักษ์ และวีระ  สมบูรณ์  จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ คือ ต้องการฟื้นฟูพุทธธรรมในส่วนของศีลหรือวินัยให้กลับมามีบทบาทและมีพลังในการอธิบายปัญหาของสังคมโลกยุคใหม่  โครงการนี้มีผู้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกทั้งที่เป็นชาวพุทธและศาสนิกในศาสนาอื่นๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ  มีการจัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาคำตอบออกจากปัญหาความรุนแรงในสังคมหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) ปัญหาวัฒนธรรมบริโภคนิยม  ผู้ที่เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของโครงการนี้มีทั้งจากทวีปเอเชีย  ยุโรป  และอเมริกา[5]

      โครงการอริยวินัย  เกิดจากการขยายแนวคิดเรื่อง “อริยวินัย” ที่พระธรรมปิฎกเขียนไว้ในหนังสือพุทธธรรม[6] วีระ สมบูรณ์ ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งโครงการได้ให้ความหมายของคำว่าว่า อริยวินัย ว่าเป็นองค์ประกอบส่วนนอกสุดของระบบพุทธธรรม  เป็นเรื่องของการนำเอาหลักอริยธรรมมาประยุกต์ใช้  โดยกำหนดออกมาเป็นแบบแผน   กฎเกณฑ์  และข้อบัญญัติต่าง ๆ เพื่อจะนำมนุษย์ไปตามเส้นทางของอริยธรรมและก็เข้าสู่อริยสัจในที่สุด  วินัยหรือตัวแบบแผนการปฏิบัติต่าง ๆ ที่อยู่รอบนอกนี้  จะต้องแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย  เปลี่ยนไปตามกลุ่มชน  แปรเปลี่ยนไปตามสภาพต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิต  ระบบความสัมพันธ์  ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัย  ดังนั้น  อริยวินัย ต้องเป็นส่วนที่มีความยึดหยุ่น  เป็นส่วนที่ควรมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  สถานที่  ชุมชน  และเงื่อนไขปัจจัยอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ก็ย่อมต้องอยู่ในขอบข่ายที่จะเอื้อให้มนุษย์ได้เข้าสู่เส้นทางของอริยธรรม[7]

      นอกจากนั้น พระไพศาล วิสาโล  ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ ได้ให้ความหมายของอริยวินัยเพิ่มเติมว่า อริยวินัย หมายถึงระบบความสัมพันธ์และระบบการฝึกฝนอบรมที่นำมนุษย์เข้าสู่อริยธรรมเพื่อเข้าถึงอริยสัจในที่สุด  อีกนัยหนึ่ง อริยวินัย หมายถึง แบบแผนที่สร้างอารยวัฒิให้แก่หมู่คนในสังคม ได้แก่ ศรัทธา  ศีล  สุตะ  จาคะ และปัญญา กล่าวคือ (๑) ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นคุณธรรมและความดีงามยิ่งกว่าจะเอาความเชื่อฝากไว้กับวัตถุ ศรัทธาดังกล่าวรวมไปถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ว่าจะสามารถประจักษ์แจ้งในสัจธรรมจนจิตเป็นอิสระและเข้าถึงความดีงามสูงสุดได้  (๒) ศีล คือความประพฤติด้วยความเอื้ออาทรต่อกัน  มีน้ำใจและไม่ละเมิดผู้อื่น  ตระหนักถึงหน้าที่ที่พึงมีต่อสังคม  และกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม  (๓) สุตะ   คือการสดับความรู้ที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตในทางที่ดีงาม  การรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและเรียนรู้ร่วมกัน  การสร้างองค์ความรู้ที่ส่งเสริมการพัฒนาตนอย่างเป็นองค์รวม  ช่วยให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม   (๔) จาคะ  คือการเสียสละแบ่งปัน ทั้งนี้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น  จนพร้อมที่จะเสียสละและช่วยเหลือกัน  ยิ่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาจนความเห็นแก่ตัวลดลง  ก็ยิ่งช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น  (๕) ปัญญา  คือ กระบวนการเรียนรู้ในชุมชนและการพัฒนาองค์ความรู้ที่ช่วยให้เห็นความเป็นจริงอย่างเป็นองค์รวม[8] 

       ๓.๒  เหตุผลที่ต้องตีความศีลห้าแบบใหม่

       สังคมอินเดียโบราณอันเป็นบริบทแวดล้อมแห่งการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา  เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม  สภาพของปัญหาและความซับซ้อนของปัญหาไม่อาจจะเทียบได้กับปัญหาของสังคมปัจจุบัน  แน่นอนว่าศีล ๕ ซึ่งเป็นหลักพุทธจริยธรรมที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคม  จึงถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับปัญหาจริยธรรมในสังคมเกษตรกรรม สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางศีลธรรมที่เป็นความผิดตรงไปตรงมาเท่านั้น  เช่น ศีลข้อปาณาติบาต  พระอรรกถาจารย์ได้สร้างเกณฑ์ตัดสินไว้ว่า  (๑) สัตว์มีชีวิต  (๒) รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต  (๓) มีจิตคิดจะฆ่า  (๔) พยายามฆ่า (๕) สัตว์ตายด้วยความพยายามฆ่านั้น[9]  ถ้าครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ประการนี้จึงถือว่าละเมิดศีลข้อนี้  เกณฑ์วินิจฉัยเหล่านี้สามารถอธิบายปัญหาทาง จริยธรรมในสังคมเกษตรกรรมซึ่งเป็นปัญหาแบบง่าย ๆ ตรงไปตรงมา  แต่เมื่อสังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมโบราณมาเป็นสังคมแบบใหม่ที่ค่อย ๆ ทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  จึงมีคำถามตามว่า  การฆ่าในศีลข้อนี้มีความหมายแค่ไหน  มีความหมายตรง ๆ ตามตัวอักษรเท่านั้น (คือลงมือฆ่าด้วยอาวุธ  ยาพิษ  หรืออุปกรณ์พิเศษอื่น ๆ) หรือว่าการฆ่าอาจครอบคลุมมาถึงการปล่อยให้ตายอย่างที่เรียกกันในปัจจุบันว่าการุณฆาตแบบลบ (negative euthanasia) หรืออาจรวมถึงการปล่อยสารพิษจากโรงงานแล้วสร้างมลพิษที่บั่นทอนสุขภาพของผู้คน  แม้การุณฆาตแบบบวกอันได้แก่การทำให้ตายเพราะความเมตตาก็อาจก่อให้เกิดคำถามได้ว่าผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่[10]  นี่คือส่วนหนึ่งของปัญหาท้าทายในสังคมยุคใหม่ที่ทำให้ชาวพุทธหลายท่านให้ความสนใจกับการตีความศีล ๕ แนวใหม่ให้สามารถตอบประเด็นปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้  ดังคำกล่าวของพระติช นัท ฮันห์ ที่ว่า “ศีลห้าเป็นของเก่าแก่มาก  ซึ่งย้อนกลับไปได้ถึงสมัยพุทธกาล  พวกเรารู้สึกว่ามันควรได้รับการพูดเสียใหม่  ควรได้รับการพูดถึงอีกครั้งในความหมายที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับคนในปัจจุบัน”[11]

       สุลักษณ์  ศิวรักษ์ มองว่า การอธิบายความหมายและขอบเขตของศีลห้าอย่างที่ชาวพุทธส่วนใหญ่เข้าใจอยู่เดิมนั้น ยังไม่ครอบคลุมสภาพปัญหาของสังคมปัจจุบัน แท้จริงแล้วศีลห้าเป็นหลักปฏิบัติสำหรับฆราวาสชาวพุทธให้มีส่วนร่วมในการช่วยกันลดปัญหาของสังคมปัจจุบัน จึงจำเป็นที่จะต้องอธิบายขยายความหมายของศีลห้าในแต่ละข้อให้ครอบคลุมกับสภาพปัญหาสังคมปัจจุบัน[12]

      วีระ สมบูรณ์[13]  มองความหมายของศีลในเชิงพลวัตรว่า สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา  รูปแบบของปัญหาทางศีลธรรมไม่ว่าจะเป็นการฆ่า  การลักทรัพย์  การขโมย เป็นต้น ก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย  ขอบเขตในการตีความศีล ๕ นั้น เราไม่สามารถที่จะกำหนดตายตัวได้แน่นอนว่าอะไรแค่ไหนจึงจะเหมาะสม  ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นอะไรเป็นปัญหา  อะไรเป็นประเด็นของสังคม แล้วเราก็เอาศีลไปจับแล้วหาคำตอบให้แก่สังคมว่า อะไรแค่ไหนถือว่าก้าวล่วงขอบเขตศีลธรรม  นอกจากนั้น  ต้องทำให้คนเปลี่ยนทัศนคติต่อศีล ๕ ในเชิงลบ (negative) มาเป็นเชิงบวก (positive) คือ แทนที่จะมองว่า ศีลเป็นข้อห้ามหรือข้อบังคับ  ก็เปลี่ยนมามองถึงประโยชน์จากการรักษาศีลที่เกิดแก่ตนเองและสังคมทั้งหมด รวมทั้งผลเสียที่เกิดจากการประพฤติผิดศีลที่จะกระทบต่อตนเอง  สังคม และคนรอบข้าง  นั่นคือ ต้องมองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกันหมด 

       ประชา หุตานุวัตร[14]  มองว่า การตีความศีล ๕ แนวใหม่  เป็นการประยุกต์สาระของศีลมาอธิบายให้เหมาะสมกับยุคสมัย  เพราะการตีความศีลแบบเดิมไม่สามารถครอบคลุมปัญหาใหม่ๆ ของสังคมได้  ปัญหาการละเมิดศีลได้เปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว  การตีความศีล ๕ ในพระไตรปิฎกนั้น เป็นการตีความตามสภาพสังคมเกษตรกรรมที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากมาย  เน้นปัญหาระหว่างบุคคลกับบุคคลเป็นหลัก   การตีความศีล ๕ แนวใหม่เป็นความพยายามที่จะทำให้ศีลเหมาะสมกับสังคมอุตสาหกรรมและสังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนมาก เช่น ถามว่าระบบธนาคารปัจจุบันเป็นระบบอทินนาทานหรือเปล่า เพราะเป็นการขโมยผลได้จากการนำน้ำพักน้ำแรงของคนจำนวนมากไปไว้กับคนจำนวนน้อย ธนาคารหลายแห่งมีการนำเงินฝากของประชาชนไปลงทุนในบริษัทที่ผลิตหรือค้าอาวุธ เป็นต้น  ดังนั้น การยังยึดอยู่ในกรอบของศีลแบบเดิมๆ มีแต่จะทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นเรื่องของคนแก่ และเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลจำนวนน้อยเท่านั้น

       โจเซฟ จอห์นเซน (Joseph Johnsen)  มองปัญหาศีลธรรมในเชิงความรุนแรงเชิงโครงสร้างว่า ศีล ๕ จำเป็นต้องได้รับการอธิบายให้สมสมัย ให้สามารถอธิบายโครงสร้างและปรากฏการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  สังคมปัจจุบันปัญหาความรุนแรง (Violence) แฝงอยู่ในสังคมมากมาย   ทั้งการดำรงชีวิตและการเสพบริโภคล้วนมีความรุนแรงที่เจือปนอยู่   ดังนั้น ศีลควรจะเป็นตัวช่วยให้ความรุนแรงลดลง และควรทำให้พ้นออกไปจากความเป็นปัจเจกชนสู่สังคม[15]

       อธิษฐาน คงทรัพย์ มองปัญหาการละเมิดศีลปัจจุบันโดยโยงไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมว่า  ปัญหาสังคมปัจจุบันมีความเชื่อมโยงถึงกันหมด ปัญหาหนึ่ง ๆ เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับอีกหลายสาเหตุ เช่น การกินอาหารฟาสฟูด (fast-food) ก็เชื่อมไปถึงการเสพอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อตัวเอง การกินที่เบียดเบียนสัตว์  การตีความศีลห้าก็เช่นเดียวกัน เราไม่สามารถที่ตีความศีลข้อใดข้อหนึ่งอย่างโดดๆ  ต้องตีความหมายให้กว้างถึงสังคม  ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องของส่วนตัวที่ใครอยากปฏิบัติก็ปฏิบัติไป  แต่ควรจะมองว่าเป็นเรื่องของสังคมที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน[16]

       โดยรวมแล้ว เหตุผลหลัก ๆ ที่กลุ่มเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมฯ เสนอให้มีการตีความศีลห้าแบบใหม่  คือ (๑) ศีลห้าในความหมายเดิมออกแบบมาเพื่อให้คอดคล้องกับสภาพปัญหาของสังคมเกษตรกรรม  เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป  ความหมายของศีล ๕ ก็สมควรได้รับการตีความใหม่ด้วย   (๒) ปัญหาทางศีลธรรมในสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนเกินกว่าที่จะอธิบายได้ด้วยความหมายของศีลห้าแบบเดิม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องตีความศีล ๕ แบบใหม่เพื่อให้ทันกับความซับซ้อนของปัญหา (๓) การตีความศีลห้าแบบเดิมเน้นความหมายในเชิงลบ (negative) คือมองว่าการรักษาศีล ๕ คือการงดเว้นไม่ได้เบียดเบียนคนอื่นอย่างเดียว  ทำให้ละเลยความหมายของศีล ๕ ในเชิงบวก (positive) คือ ความกระตือรือร้นล้นในการเข้าร่วมหรือขัดขวางไม่ให้บุคคลอื่นละเมิดศีลธรรม (๔) การตีความศีล ๕ แบบเดิมในเน้นความหมายในเชิงปัจเจกมากกว่าความหมายในเชิงสังคม  คือ เน้นความหมายในแง่ที่ว่า การรักษาศีล ๕ เป็นความดีส่วนตัวของใครของมัน แทนที่จะมองเป็นเรื่องของสังคม  เป็นเรื่องของการจัดโครงสร้างทางสังคม  การจัดองค์กร หรือสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เพื่อเป็นรากฐานของศีลธรรม

 


[1] พระไพศาล วิสาโล,  พุทธศาสนาไทยในอนาคต  แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต (กรุงเทพมหานคร:  มูลนิธิสัดศรี-สฤษดิ์วงศ์, ๒๕๔๖), หน้า ๔๑๐–๔๑๓.

[2] พระไพศาล วิสาโล,  พุทธศาสนาไทยในอนาคต  แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต,หน้า ๔๒๗–๔๓๐.

[3] “คำถวายรายงานสมเด็จพระสังฆราช”, เสขิยธรรม ๕ (เมษายน - มิถุนายน ๒๕๓๘) : ๖๕.

[4] ส. ศิวรักษ์, “ประชุมพุทธศาสนาเพื่อสังคมที่เกาหลี,”  เสขิยธรรม  ๕๘ (ตุลาคม-ธันวาคม, ๒๕๔๖) : ๑๑.

[5] “ ประชุม ‘อริยวินัย’  คืบหน้า จัดตั้งองค์กรเยาวชนชาวพุทธนานาชาติ,”  ธรรมานุรักษ์  ๒  (กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔),   หน้า  ๑.

[6] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๔๕๒.

[7] วีระ สมบูรณ์,  อริยวินัยกับศาสตร์สำหรับคริสต์ศตวรรษที่ ๒๑  (กรุงเทพมหานคร :มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๔๕), หน้า ๑๔–๑๕.

[8] พระไพศาล วิสาโล,  พุทธศาสนาไทยในอนาคต  แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต,หน้า ๔๓๗–๔๓๘.

[9] ขุ.ขุ.อ.(บาลี) ๒๒–๒๓.

[10] สมภาร  พรมทา, พุทธปรัชญา  มนุษย์  สังคม  และปัญหาจริยธรรม ธรรม (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๓๕๐–๓๕๑.

[11] “พุทธศาสนาสำหรับสังคมสมัยใหม่  สนทนากับติช นัท ฮันห์,”  เสขิยธรรม  ๔๗  (มกราคม-มีนาคม, ๒๕๔๔) : ๒๖.

[12] อ้างใน Kenneth Kraft, ed., Inner Peace, Inner World : Assays on Buddhism and Non-violence (New York: State University of New York Press), p. 127-133.

[13] วีระ  สมบูรณ์, บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๗,  คณะรัฐศาสตร์ ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงณ์มหาวิทยาลัย .

[14] ประชา   หุตานุวัตร, บทสัมภาษณ์ผ่านอีเมล  เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๗.

[15] โจเซฟ  จอห์นเซน, ผู้ช่วยโครงการอริยวินัย, บทสัมภาษณ์เมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๔๗,  สถาบันสวนเงินมีมา เจริญนคร กรุงเทพ ฯ.

[16] อธิษฐาน  คงทรัพย์,  บทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗,  อาศรมสนิทวงศ์  จังหวัดนครนายก

หมายเลขบันทึก: 396202เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้มากครับ ขอบพระคุณครับ

ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมาก  ขออนุญาตคัดลอกนำไปใช้ แต่จะอ้างอิงจากพระอาจารย์นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท