คนกับถ่าน


เราก็คงยังอยู่ที่แม่กลองนะคะเพื่อไปรู้จักกับวิถีชาวบ้านที่ชุมชนเขายี่สาร
พี่ธนูเป็นผู้ให้ความรู้กับเรา ท่านจบการศึกษามาจากประเทศฟิลิปปินส์ แต่ต้องมาดำเนินกิจการของครอบครัวที่มีมาแต่เดิมก็คือเผาถ่าน พี่ธนูเล่าว่าถ่านที่นี้เผาโดยใช้ไม้โกงกางที่มีมาประมาณ 80 ปี ที่ชุมชนนี้เป็นชุมชุมเดียวที่ยังสามารถตัดไม้เผาถ่านและนำออกจำหน่ายได้ทั้งในและนอกประเทศ เป็นเพราะผู้ใหญ่บ้าน เพราะเป็นอาชีพบนที่ดินของตนเองทั้งที่ปลูกป่าไม้โกงกางเองและก็ตัดเมื่อได้ขนาดพร้อมกับปลูกทดแทนด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 12-15 ปี ดังนั้นจะเป็นข้อจำกัดที่ผู้เป็นเจ้าของจะต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่ป่าไม้ของตน ดังนั้นแทบจะเรียกได้ว่าตัดต้นก็ต้องปลูกต้นทีเดียวเลย
ประชากรที่อยู่ที่ชุมชนนี้มีประมาณ 10 นามสกุลแบ่งเป็น 3 หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านมีประชากรประมาณ 2,000-3,000 คน พื้นที่ที่นี่เคยเป็นเกาะมาก่อนเมื่อ 700-800 ปีที่แล้ว เคยเป็นเมืองท่าของคูบัว เป็นเพราะมีผั่งงอกไปประมาณ 6 กิโลเมตร จนเป็นปัจจุบัน ความหมายของยี่สารก็คือ ตลาด ที่เคยเป็นพื้นที่ดินป่ามาก่อนแต่พอมีเรื่องการเลี้ยงกุ้งกุลาดำขึ้นมา บางคนก็เปลี่ยนไปเป็นนากุ้งบ้างเพราะได้เงินดีแรกๆ แต่แล้วก็หมดไป จะหันมาทำป่าอีกก็ต้องใช้เวลานาน ก็จะทิ้งว่างก็มีเพราะไม่มีเงินลงทุนด้วย กลับมาทำได้พื้นที่ก็ตกเป็นของนายทุนมากเลย พื้นที่ที่มี ก็เช่ามาทำป่าไม่ได้เพราะไม่ให้เช่าทำระยะยาว แต่นากุ้งทำได้เพราะทำระยะสั้น  ดังนั้นพื้นที่ป่าตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เมื่อปลูกแล้วก็ไปทำอย่างอื่นพอลืมๆสักพักก็ได้ตัดแล้วนั่นเป็นคำบอกเล่าของพี่ธนู
ราคาของถ่านจะอยู่ที่กิโลละ 10-15 บาทและก็ไปดีกับพ่อค้าคนกลางเท่านั้นที่จะนำไปขาย จะทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาได้เอง และส่งออกได้เองปกติแล้วก็จะประมาณ 25 ตันจะได้หนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ มีเหมือนกันที่บ้านบางตระบูนที่เขาก็มีอาชีพดังกล่าวแต่เขาไม่สามารถส่งออกได้ก็ต้องมาอาศัยเป็นชื่อของคนยี่สารอยู่
เหตุที่ราคาของถ่านไม้โกงกางราคาดีเนื่องจากจะไม่มีควันมากนักซึ่ง จะเห็นความต่างระหว่างไม้อื่นกับโกงกางได้ทั้งสีควันและปริมาณรวมทั้งกลิ่น และเมื่อนำถ่านไปใช้จะให้ความร้อนสูง ติดไฟได้นาน และไม่แตกกระจายทำความรำคาญให้ผู้ใช้ ถึงมีผู้นิยมมากโดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง
ไม้โกงกางที่มาจากเขมรก็ไม่ดีเท่าไม้โกงกางของไทยเป็นคนละพันธุ์กันของไทยเป็นใบเล็กแต่ของเขมรเป็นใบใหญ่ คุณภาพถ่านของเราจะดีกว่า
พื้นที่ป่าเป็นชายฝั่งทะเล ถ้ามีที่ประมาณ 100 ไร่ตัด 3 ปีก็ยังไม่หมดเลยปกติถ้าตัด 3 คนก็จะเร็วขึ้นตัดแล้วก็ต้องคอยๆทยอยขนมาถ้าน้ำลงเรือเข้าไม่ถึงก็ไม่สามารถที่จะขนมาได้ก็ต้องดูน้ำขึ้นลงด้วย ความยาวต่อท่อนก็ประมาณ 1.35-1.4 เมตร ราคาค่าจ้างอยู่ที่ท่อนละ 1.50 บาท จะใช้เวลาประมาณ 5-6 วันถึงจะได้ลำเรือหนึ่ง แต่ถ้าท่อนใหญ่ก็จะประมาณ 2 บาท ตัดแล้วก็ต้องมาทุบเอาเปลือกออกด้วยเพื่อจะได้เผาได้เร็ว ถ้าสดก็จะต้องใช้เวลาเผานาน ส่วนยอดหรือกิ่งก้านก็จะใช้ไว้ทำฟืนอีกที ซึ่งจะตกประมาณ หนึ่งเดือนถึงจะได้เผาหนึ่งเตา
เมื่อตัดแล้วจะรีบทำการปลูกเลยโดยวิธีการปลูกก็ใช้ลูกหรือผลจากต้นที่ทำการรวบรวมไว้มาปักๆให้ถีไว้เพื่อป้องกันการตายก็ต้องดูเวลาน้ำขึ้นลงอีกเช่นกันไม่อย่างนั้นก็ต้องซ่อมมาก โดยมากจะทำการปลูกถี่มากเพื่อให้ไม้ฉลูดไปตั้งตรงขึ้นไปแขนงน้อยจะได้ไม่มีปัญหาเวลาที่จะเอาเข้าเตา เคยมีคนมาสอนให้ปลูกห่างเช่นกันก็เกิดปัญหามากเลย ขนาดใหญ่ก็จริงแต่แขนงก็มากเวลาตัดก็ใช้เวลาอีก
เมื่อตัดมาแล้วก็ต้องทำการหอบเอาเข้าเตาซึ่งเป็นรูปครึ่งวงกลม จะทำการเรียงในแนวตั้งก่อนโดยจะเอาขนาดใหญ่เข้าก่อน และไม้เล็กก็จะเอาขึ้นด้านบนเรียงขึ้นไปเรื่อยๆเมื่อใส่เต็มแล้วก็จะปิดเตาเหลือช่องไว้ติดไฟเท่านั้นป่องไฟจะมีทั้งหมด 4 ป่องต่อเตาจะใช้เวลาเผาประมาณ 45 วันเหมารวมทั้งหมดเลยทั้งหมด ซึ่งเตาที่มีจำนวน 5 เตา การที่ใส่จะคอยใส่พร้อมๆกันเลยเพื่อไม่ให้เสียเวลา เพราะต้องใช้คนใส่ฟืนก็ต้องเดินดูทุกเตาจะได้ทำงานพร้อมๆ กันได้ทีเดียว หลังจากดับแล้วก็จะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการที่จะ ปล่อยให้เย็น ข้อที่จำกัดว่าไม่ควรที่จะเร่งให้ไฟมากๆ เพื่อให้สุกเร็ว ต้องค่อยเป็นค่อยไปจะได้ถ่านที่คุณภาพดีกว่า และจะมีที่ไม่สุกบ้างด้านล่างๆก็จะเผาที่เตาหลุมผีด้านนอกอีกทีหนึ่ง ส่วนป่องควันทั้ง 4 ป่องก็จะทำการเก็บน้ำส้มควันไม้ด้วยซึ่งจะคอยจนกว่าไฟจะติดดีก่อนพื่อจะให้ได้คุณภาพน้ำส้มที่ดีด้วย โดยการสังเกตจากสีของควันไฟนั้นโดยมากก็อยู่ที่ประมาณ 4-5 วันหลังติด และก็จะเก็บประมาณ 4-5 วันเท่านั้นจะได้ประมาณ 100 ลิตร ส่วนตัวเขย่าดำที่ติดออกมาเรียกว่าทาร์ ซึ่งจะมีพิษต่อพืชแต่จะช่วยให้ไม้ไม่ผุกันปลวกได้
โรงเผาถ่านจะสร้างจากไม้ไผ่และหลังคาจะมุงด้วยจากซึ่งจะระบายควันได้เป็นอย่างดีกว่าวัสดุอย่างอื่นแต่ก็เสี่ยงต่อการติดไฟเช่นกัน ตัวเตาเป็นต้นกำเนิดมาจากจีน เรียกว่าฟูเจียนมาสร้างไว้ตั้งแต่แรก แต่แกก็เสียชีวิตแล้วก็เหลือแต่ลูกแก แต่ก็แกมากแล้วและก็พยายามสอนลูกชายก็ไม่เอา เป็นเตาที่ใช้อิฐมอญทำและต้องเป็นอิฐอยุธยาจะดีกว่า ในการสร้างต้องมีวิธีการสร้าง และใช้เวลานานประมาณหนึ่งเดือนต่อเตา แต่ก็สามารถอยู่ได้ถึง 30-40 ปีขึ้นกับการดูแลของเจ้าเอง โดยชั้นล่างจะใช้อิฐหนาสองชั้น และกลางจะเป็น ชั้นครึ่งและด้านบนจะเป็นชั้นเดียว และจะใช้ดินเหนียวในหารฉาบทั้งหมดเลยซึ่งเป็นดินเหนียวปนทราย ซึ่งเป็นดินมาจาเพชรบุรี
ก็มีทางการต้องการให้ทำเป็นถ่านขาวคือเตาจะมีความร้อนอยู่ที่ 1000 องศา เป็นเตาแบบญี่ปุ่นเพื่อจะให้ความอันตรายเนื่องจากสารทาร์หมดไป แต่ก็ยังใช้งานไม่ได้ ซึ่งถ่านที่ได้ก็จะนำไปใช้ทำถ่านไฟฉาย อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมทั้งจะให้ความเป็นกรดต่อน้ำส้มควันไม้สูงประมาณ pH 3 ตัวกรดจะทำอันตรายต่อสังกะสีดังนั้นท่อควันจำเป็นต้องใช้เป็นอลูมีเนียมที่ราคาสูง
ถ่านที่ได้สามารถจำหน่ายได้ทั้งหมดขึ้นว่าจะจำหน่ายรวมหรือแยกเท่านั้นแต่ก็มีอีกส่วนคือผงถ่านที่ได้นั้นพี่ธนูก็นำมาทำเป็น ถ่านก้อนโดยนำมาผสมใส่อุปกรณ์การผสมคล้ายโม่หมุนปูนซิเมนต์จะผสมผงถ่าน 50 kg แป้งมัน 5% อยู่ที่ ประมาณ 2.5 kg ผสมน้ำโดย ใช้ฝักบัวรดน้ำผักรดไปเรื่อยผสมให้เข้ากันโดยจะใช้น้ำประมาณ 20-25 ลิตร และจะให้ไหลมาตามเครื่องโม่นั้นหลังจากเข้ากันดีและก็จะใช้ที่ตัดกตัดเป็นท่อนๆ ซึ่งความยาวก็ไม่เท่ากันนักเพราะใช้คนตัด และก็นำไปผึ่งแดดก็จำหน่ายกิโลกรัมละ 14 บาทกัยผู้ที่ขายหมูกะทะต่างๆหรือตามขายอาหาร
นอกจากนี้แล้วพี่ธนูยังแนะนำเราให้ได้รู้จักกับการย้อมผ้าด้วยๆไม้อีกชนิดนึ่งที่ชื่อว่าตะบูนเป็นไม้ที่ขึ้นที่ชายเลนเช่นกัน โดยการลอกเอาส่วนเปลือกมาต้มน้ำประมาณ 3 ชั่วโมงก็ใช้ได้และนำผ้ามามัดกับเชือกฟางซึ่งแต่ละชิ้นก็จะได้ ลวดลายต่างกันไปแล้วแต่การมัด นำผ้าที่มัดแล้วแช่ไว้ประมาณ 5 วันก็จะใช้ได้ ส่วนเปลือกที่เหลือหลังต้มก็ใช้ถมที่
และที่นี่ยังเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆด้วยจากทุกบ้านที่ทำกันไม่ว่าจะเป็นผ้ามัดย้อม หรือน้ำส้มควันไม้ก็จะทำให้เกิดรายได้เสริมมาได้อีกทางหนึ่ง
อีกทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ของหมู่บ้านอีกด้วยซึ่งสมเด็จพระเทพฯทรงเสด็จมาเปิดและเสด็จมาทรงงานด้วยอีกครั้ง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำการเก็บรวบรวมของๆที่อยู่ที่หมู่บ้านเอง และของจากวัดด้วยซึงได้ใช้ศาลาการเปรียญของวัดที่จะใช้สำหรับนั่งสมาธิหรือบำเพ็ญเพียรบางช่วงมาใช้ทำ และได้รับเงินบริจาคมาด้วยและก็มีการหมุนเวียนคนมาเฝ้าดูส่วนมากก็เป็นคุณครูที่สอนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หลังๆก็มีค่าอาหารให้บ้าง แต่พอช่วงบำเพ็ญเพียรก็จะปิดและใช้ทำเป็นที่บำเพ็ญเพียรได้ ทำให้ได้รู้เรื่องราวสมัยก่อนอย่างมาก และของก็ได้รับการรักษาให้เด็กรุ่นหลังได้เรียนรู้ด้วย
หมายเลขบันทึก: 395672เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2010 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 13:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท