ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

วีถีชาวเลที่คลองปากดวด เพียงทอดแห....วันหนึ่งก็หลายร้อยบาท


“มีเพียงแห หลักไม้ หัวอาหาร คนสิชลก็ไม่อดตาย บ้านเรามันอุดมสมบูรณ์ ทำงานวันละ 2-3 ชั่วโมงก็อยู่ได้แล้ว” ลุงวิน นายวิน จินดานิล นักสู้แห่งสิชล สหายเฒ่า เจ้าเก่า ชวนผมลงคลองไปทอดแห หลังจากชั่งใจอยู่นานสองนานว่าจะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี สุดท้ายจึงยอมเชื่อ และชวนน้องที่ ม.วลัยลักษณ์ไปด้วยสองคน แรกๆ ตั้งใจว่าจะหาพันธุ์ปลาน้ำจืดไปทำงานวิจัยสักหน่อย แต่ลุงวินบอกว่า “ปลาน้ำจืดไม่รู้ ถ้าจะเอาลูกปลาน้ำเค็มไปบ้านผม จังหูเหม็ด (มาก)ทอดแหที่เดียวเอาไม่ตรึก (เอาไม่หมด)”

วีถีชาวเลที่คลองปากดวด เพียงทอดแห....วันหนึ่งก็หลายร้อยบาท

สายน้ำแห่งชีวิตรอยต่อท่าศาลา-สิชล

เรื่อง / ภาพ : สายธารธรรม

ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๕ พฤษภาคม ๕๓

 

“มีเพียงแห หลักไม้ หัวอาหาร คนสิชลก็ไม่อดตาย  บ้านเรามันอุดมสมบูรณ์ ทำงานวันละ  2-3 ชั่วโมงก็อยู่ได้แล้ว” ลุงวิน นายวิน จินดานิล  นักสู้แห่งสิชล สหายเฒ่า เจ้าเก่า ชวนผมลงคลองไปทอดแห  หลังจากชั่งใจอยู่นานสองนานว่าจะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี สุดท้ายจึงยอมเชื่อ และชวนน้องที่ ม.วลัยลักษณ์ไปด้วยสองคน  แรกๆ ตั้งใจว่าจะหาพันธุ์ปลาน้ำจืดไปทำงานวิจัยสักหน่อย แต่ลุงวินบอกว่า “ปลาน้ำจืดไม่รู้ ถ้าจะเอาลูกปลาน้ำเค็มไปบ้านผม จังหูเหม็ด (มาก)ทอดแหที่เดียวเอาไม่ตรึก (เอาไม่หมด)” 

        บ่ายแก่ของวันหนึ่ง ผมและน้องนักศึกษาเดินทางไปบ้าน ลุงวิน เพื่อต้องการปลาน้ำเค็มเอามาทำวิจัย เพื่อศึกษาโครโมโซม เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ที่ทำอยู่ พร้อมทั้งอยากชมวิถีชีวิตของชาวประมงที่ลุงวินบอกว่าคลองนี้อุดมสมบูรณ์ ลงทุนแหผืนเดียวแปดร้อยบาทก็เลี้ยงชีวิตได้ทั้งครอบครัว

        ฝนก็ตกหนักการเดินทางของเราสามคนก็ลำบากไม่ใช่น้อย ไปถึงปากซอยหน้าบ้านลุงวิน เจอสาวปากแดงเดินทองน่องอยู่ คนนี้ไม่ใช่ใคร ภรรยารวยของลุงวินนี้เอง เดินเคี้ยวหมาก ปากแดงอยู่ปากซอยหน้าบ้าน เราทักทายอย่างเป็นกันเองภาษาลูกหลาน “ไปไหนน้องสาวปากแดง” แกหันมายิ้มเพราะพวกเรารุ่นลูกเรียกแกว่าน้อง “เข้าไปต๊ะ ลุงวินแกรอตั้งแต่บ่ายแล้ว เดี๋ยวกินข้าวกันก่อนแหละค่อยไป” ทักทายเสร็จเราก็ขับรถเข้าบ้านลุงวิน แกนุ่งผ้าขาวม้าเสื้อไม่ใส่ดูดใบจากอยู่หน้าบ้าน “นึกว่าไม่มาเสียแล้ว กินไหรกันมายัง เดี๋ยวให้ป้ารวยทำกับข้าวก่อนแหละ ค่อยไป” เราทักทายกันพอหอมปากหอมคอ พร้อมทั้งยื่นของฝากที่เราอยากกินไปฝากแก เพื่อร่วมทำกับข้าวด้วย  ระหว่างกินข้าว ลุงวินเล่าให้ฟังว่าคลองนี้อุดมสมบูรณ์มาก ชาวประมงทำมาหากินกันในคลอง ไม่ต้องออกเรือไปไหน ทั้งอวนปลากะพง ราวเบ็ด ทอดแห

        คลองที่ลุงวินพูดถึง คือ คลองปากดวด เป็นคลองที่กั้นระหว่างอำเภอท่าศาลากับอำเภอสิชล ระหว่างตำบลกลายกับตำบลเสาเภา เอ่ยชื่อตำบลกลาย หลายคนคงนึกออก เพราะปากน้ำกลายอยู่ทางทิศใต้ ปากน้ำปากดวดทางทิศเหนือ แล้วตรงกลางละ ก็พื้นที่ตั้งของโครงการท่าเรือเชฟรอน ไฟฟ้าถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมัน และนิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีนะซิ

        ประมาณหนึ่งทุ่ม ลุงวินเตรียมอาหารไก่ประมาณ ๒ กิโลกรัม กระติกใส่น้ำแข็ง ไม้ไผ่ยาวประมาณ ๒ เมตรสิบอัน พร้อมแหยาวๆ หนึ่งผืน  เราช่วยหิ้วสัมภาระ เดินตามลุงวินไปลงคลอง เดินตามลุงวินกลางคืนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแกเดินเร็ว ก้าวยาว ยิ่งตอนลงคลองไปแล้วแกเดินหายไป พวกเราลอยคอตามหลังรองเท้าก็ไม่ใส่ เปลือกหอยนางรมก็เยอะพอสมควร ประมาณ ๕ นาทีเราไปถึงหาดทรายริมคลอง พร้อมกับพี่ยุงที่ตอมและเรียก “พี้ พี้ พี้” ตลอดเวลา ลุงวินลุยน้ำ เอาไม้ไผ่ที่เตรียมมาปักลงไปในน้ำขนานไปกับแนวคลอง พร้อมทั้งหว่านอาหารหนึ่งกำมือ เพื่อเป็นเหยื่อล่อให้กุ้งขึ้นมากิน  มองจนแกดำเนินการเสร็จเราก็ยังไม่เข้าใจ แกกลับขึ้นมาพร้อมอธิบายว่า “ช่วงนี้น้ำกำลังขึ้น เอาหลักไม้ลงไปปักเป็นหลักหมาย  หว่านอาหารให้กุ้งขึ้นมากิน ทิ้งไว้ ๑๕ นาทีแล้วลงไปทอดแห” แกอธิบายสั้น น้องนักศึกษาที่ไปด้วยอีกคนหนึ่งเป็นเด็กสุรินทร์ อีกคนเป็นเด็กสมุทรสาคร ท่าทางไม่ค่อยเชื่อ “ลุงมันจะได้สักทีลูกถ้วยไหม มันมากขนาดนั้นเลยเหรอ” น้องถามอย่างสงสัย ลุงวินหันมายิ้มไม่พูดอะไร

        จากนั้นไม่นานลุงวินเดินลงไปในน้ำ เอาแหขึ้นเตรียมแล้วทอดทันที พวกเรานั่งมองดูเฉยๆ เสียงลุงวินตะโกนบอกมาแล้วขึ้นมาริมหาด “เอา ! วางวะ เดี๋ยวเอากุ้งใส่ถัง” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ครั้งแรกได้กุ้งมาเยอะมาก หากใส่กระป๋องน้ำดื่มขวด ๕ บาทเข้าใจว่าล้น “โหลุงครั้งเดียวพอเลย” น้องที่มาจากสุรินทร์อุทาน “เดี๋ยวทอดไปเรื่อยๆ คืนหนึ่งสี่ห้ากิโลทำงานวันหนึ่งสองสามชั่วโมงสี่ห้าร้อยเราเอาเสีย” ลุงวินอธิบาย หลักไม้อันแรกที่ทอดแล้ว ลุงวินเดินเอาอาหารไปหว่านอีกรอบ จากนั้นหมุนเวียนไปทอดหลักอื่นๆต่อไป ครบหนึ่งรอบก็นั่งดูดใบจากครั้งหนึ่ง

        คืนนี้ลำคลองคึกคึกเป็นพิเศษ เพราะดูเป็นเรื่องแปลก ที่ลุงวินพาสหายเด็กมาทอดแหด้วย พร้อมพูดภาษากลาง คนที่ทอดแหถัดไปต่างตะโกนกันโหวกเหวกและเข้ามาสนทนาด้วย “คลองสายนี้โชคดีที่ลุงวิน ที่สู้กับพวกทำน้ำสกปรก เลี้ยงหมู เลี้ยงกุ้ง วันนี้น้ำเลยดี ทอดแหคืนหนึ่งอย่างน้อยก็สามสี่ร้อย บางคืนได้เป็นพัน” เสียงของประมงรุ่นหนุ่มที่มาทอดแหเล่าให้ฟัง พร้อมทั้งชื่นชมลุงวินไม่ขาดปาก

        กุ้งที่นำไปขายแล้วแต่ขนาด ตัวใหญ่กิโลละร้อยห้าสิบ ตัวเล็กสุดก็ห้าสิบบาท แต่ส่วนใหญ่ขายแบบเหมา คือ เหมารวมกิโลละ ๘๐ บาท “เราไม่ต้องลงทุนอะไร แหผืนเดียวใช้ ๒ ปี อาหารวันละ ๒ กิโล น้ำมันไม่ต้องซื้อ คลองบ้านเราหากินง่าย” ประมงหนุ่มอีกคนเล่าให้ฟัง  อีกทั้งการทอดแหแต่ละครั้งยังติดปลาขี้ตัง ปลากระบอก ปลาขี้จีนมาด้วย ซึ่งนับว่าเป็นความอุดมสมบูรณ์และการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวที่ไม่ยากนัก  บางคนก็วางอวนปลากะพง วางเบ็ด  สายน้ำแห่งนี้จึงเป็นอีกสายเลือดใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงผู้คนแถบนี้ไปอีกนานเท่านาน ตราบใดที่ทุกคนยังรู้สึกว่า การรักษาคลอง คือ การรักษาชีวิตอีกหลายคนในครอบครัว

        คืนนี้  เราทอดแหตามหลักไม้ไปสี่รอบ ลุงวินก็ชวนกลับ  ได้กุ้งมาเต็มกระติกพอดี ลุงวินบอกว่าต้องกลับแล้ว เพราะน้ำแข็งที่เตรียมมาไม่พอ ขากลับลุงวินเหวี่ยงแหเอาลูกปลาที่เราต้องการใส่ถังให้ด้วย ได้ลูกปลามาเต็มทีเดียว

        ขากลับ เจอคนทอดแหตลอดลำคลอง ลุงวินเล่าต่อว่า “ที่จริงใช้เรือจะง่ายกว่าถ้ามาคนเดียว โดยทอดเสร็จปลดในลำเรือไม่ต้องคอยเก็บกุ้งบนพื้น และไม่ต้องเดินขึ้นเดินลงบนฝั่ง แต่นี้เพราะมากันหลายคน แต่ละคนนั่งเรือจมกันพอดี” ลุงวินอธิบายพร้อมแซวเพราะเราแต่ละคนเกินแปดสิบกิโลทั้งนั้น

        เดินสวนน้ำขึ้นมา ทุกคนทักทายลุงวินตลอดแนวลำคลอง บางคนเรียกลูกพี่ บางคนเรียกอาจารย์ เพราะหลายคนบอกว่า  หากไม่มีลุงวิน คลองนี้ก็มีแต่น้ำ ไม่มีกุ้ง ไม่มีปลา และเราเพิ่งรู้ว่า สถานที่ลุงวินไปทอดแหนั้น ไม่ใช่สถานที่ที่ลุงวินไปทอดทุกคืน เพราะแต่ละที่จะมีเจ้าของจองอยู่แล้ว สถานที่ลุงวินอยู่อีกฝั่ง แต่พวกเราไปด้วยแกเลยไปทอดที่พวกเราไปสะดวก  แต่ก็เหมือนว่าเจ้าของเดิมไม่ได้ว่าอะไร พอพวกเรากลับ เขาก็มาทอดต่อทันที

        สิ่งหนึ่งที่เราสรุปตรงกันว่า เราจะกลับมาอีก พร้อมทั้งเอาน้ำจิ้ม มาทอดแห ก่อไฟย่างกุ้งกินที่นี้ “บ้านผมหากินยาก ได้ปลามาเอามาทำปลาร้า เพราะจะได้กินนานๆ ไม่น่าเชื่อว่า ที่นี้หากินง่ายขนาดนี้ ทำงานพักเดียวก็ได้เงินตั้งหลายบาท ผมเชื่อแล้วว่า ทำไปลุงวินต้องออกไปคัดค้านโครงการต่างๆ อย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะลำคลองแห่งนี้ เสมือนหม้อข้าวหม้อแกงของแก และอีกหลายชีวิตที่นี้นี้เอง” น้องนักศึกษาจากสุรินทร์กล่าวอย่างเข้าใจ

        ขากลับเราเดินตามรอยลุงวินกลับบ้านอีกครั้ง เพราะเราเดินตามหลัง แต่เราไม่ต้องเดินเร็วมาก เพราะเราคุ้นเคยเส้นทาง แต่ที่แน่ๆ เราต้องเดินตามเส้นทางที่แกเดินไปก่อนหน้านี้แน่นอน

หมายเลขบันทึก: 392175เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท