ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ประมงจังหวัด เอางูเห่าลงเกาหลังลูกเขียด


กระแสประมงชายฝั่ง กับการที่ประมงจังหวัดคุณอารี อินทรสมบัติ ดึงเชฟรอนเข้ามาอบรมประมงอาสาเรื่องปฐมพยาบาลกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เมื่อชาวบ้าน ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง ต่างลุกขึ้นมาตั้งคำถามกันทั่วหน้าถึงความเหมาะสม

ประมงจังหวัด เอางูเห่าลงเกาหลังลูกเขียด

ดึงเชฟรอนอบรมปฐมพยาบาลแทนสาธารณสุข

เรื่อง/ภาพ สายธารธรรม

ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน ฉบับที่ ๕ พฤษภาคม ๕๓

 

        กระแสประมงชายฝั่ง กับการที่ประมงจังหวัดคุณอารี  อินทรสมบัติ ดึงเชฟรอนเข้ามาอบรมประมงอาสาเรื่องปฐมพยาบาลกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เมื่อชาวบ้าน ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง ต่างลุกขึ้นมาตั้งคำถามกันทั่วหน้าถึงความเหมาะสม

        เนื่องจากการอบรมประมงอาสา หรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการตรวจตรา ดูแลเฝ้าระวังทางชายฝั่งเที่ยวนี้ ประมงจังหวัดดึงเอาเชฟรอน  มาช่วยในการอบรมการปฐมพยาบาล ชาวบ้านต่างตั้งคำถามกันทั่วหน้า ว่า ประมงจังหวัดคิดอะไร หน่วยงานสาธารณสุขมีทำไมไม่ไปขอความร่วมมือ ประมงทราบหรือไม่ว่า เชฟรอนเป็นตัวทำลายชาวประมงเสียเอง การเปิดทางให้เชฟรอนครั้งนี้ ส่งผลให้เสียศรัทธาที่มีมาอย่างยาวนานของประมงจังหวัดเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดคำที่ว่า “ประมงจังหวัด เอางูเห่าลงเกาหลังลูกเขียด” เพราะรู้ดีว่าชาวบ้านคัดค้านการสร้างท่าเรือ การขุดเจาะน้ำมันอย่างแข็งขัน ท่าทีในครั้งนี้ของประมงจังหวัด จึงเหมือนเอางูเห่าเชฟรอนมาจ้องเขมือบชาวบ้านที่เป็นเหมือนดั่งลูกเขียด

        อารี  อินทรสมบัติ กล่าวว่า “เชฟรอนเข้ามาแสดงความประสงค์ขอเข้าช่วย และมีทีมแพทย์ที่มีความชำนาญเรื่องนี้ อีกทั้งยังไม่ต้องเสียค่าวิทยากร และได้คุยกับทางทีมงานเชฟรอนแล้วว่า จะไม่พูดเรื่องท่าเรือ และพี่เองก็ไปนั่งร่วมเวทีกำกับด้วยทุกครั้ง” อารีกล่าวเปิดใจแบบไม่คิดอะไรมากนัก  และเมื่อถูกถามว่าทำไม่ใช่สาธารณสุข  อารีตอบว่า “พี่ว่าก็ไม่เสียหายอะไร มันเป็นคนละส่วน เห็นว่ามีประโยชน์เราก็ต้องใช้ เชฟรอนเสนอมาเองในส่วนนี้ เลยไม่ต้องเอาสาธารณสุขเข้ามา” ตอบแบบเลี่ยงๆพร้อมตัดบทการสนทนาไป

        บังมุ นายเจริญ โต๊ะอิแต อ่าวท่าศาลากล่าวว่า “ประมงอบรม ๒ วันวันแรกคนเข้าไม่มากนัก วันที่สองช่วยบอกคนก็เลยเข้าเยอะ แต่ที่เราไม่ทราบ คือ ในช่วงท้ายประมงเอาเชฟรอนมาอบรมเรื่องปฐมพยาบาล เราก็อึดอึด ชาวบ้านมองหน้ากันจะชวนกันเดินออก แต่ไม่อยากหักหน้าประมงจังหวัดเพราะรู้จักคบหากันมานาน เขาก็รู้ว่าเราไม่ยอมรับและเชฟรอนยังมาทำลายพวกเรา ผมถามว่าหากเชฟรอนสร้างได้ หาดทรายพัง น้ำมันรั่วไหลเหมือนต่างประเทศ ใครรับผิดชอบ” ถามไปก็ไม่มีใครตอบ

        จากนั้นที่สิชล ลุงวิน จินดานิล เปิดเผยมาว่า “ผมบอกประมงจังหวัดแล้ว เรื่องนี้คิดดูให้ดี มันมีผลกระทบต่อจิตใจชาวบ้าน ดึงศัตรูของชาวประมงมาอบรม สมควรที่ไหน หน่วยงานสาธารณสุขตั้งเยอะแยะ เรื่องนี้ต้องอื้อฉาว ผมเจอผู้ว่าวันไหนผมจะบอก” ลุงวินบอก พร้อมทั้งนั่งกำกับเวทีและติดตามพฤติกรรมทั้งสองวัน

        และครั้งที่สามที่ปากพนัง ไพรี หรือ ไพโรจน์ รัตนรัตน์ ลุกขึ้นกล่าวโวยวายทั้งห้องประชุม และเล่าว่า“หน่วยงานนี้ ชักไม่ชอบมาพากล ใช้ไม่ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า ประมงจังหวัดดูถูกกระทรวงสาธารณสุขว่าไม่มีความรู้ ความสามารถทางอ้อม เพราะเป็นหน่วยงานราชการเดียวกันแต่ไม่ใช้ ไปใช้เชฟรอน เชื่อเชฟรอนมากกว่าสาธารณสุข เรื่องปฐมพยาบาลอนามัยก็มี โรงพยาบาลก็มีเป็นหน้าที่เขาอยู่แล้ว ผมรับไม่ได้”  และอีกคน กำนันแรด หรือกำนันตำบลแหลมตะลุมพุก นักอนุรักษ์ตัวยง เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานอำเภอ ก็ได้ขึ้นทวงถามเรื่องนี้เช่นเดียวกัน และเปิดเผยว่า “เอาคนทำลายเรา มาอบรมพวกเรา ผมไปที่กลายในเวทีอีไอเอ ชาวบ้านที่นั้นก็ไม่เอา วันนี้เชฟรอนไปที่ไหนคนไล่ทั้งนั้น แต่ประมงยังไปดึงเข้ามา หรือว่ารู้เห็นเป็นใจเกี่ยวกับเรื่องนี้”

        แม้ว่าประมงจังหวัดจะอ้างเรื่องงบประมาณที่มีอยู่น้อยนิด แต่ข่าววงในแว่วมาว่า “ค่าใช้จ่ายในครั้งนี้หัวหน้าประมงจังหวัดยืมเงินสำรองจากจังหวัดมาแล้ว”

        ดังนั้น หากเชฟรอนสมทบด้วย เงินเหล่านี้ซ้ำซ้อนหรือไม่ คำถามทางจริยธรรมย่อมเกิดขึ้นทันที ในใจประชาชนไม่มากก็น้อย

คงเหลือแต่พื้นที่อำเภอหัวไทร และอำเภอเมือง ประมงจังหวัดจะแก้ไขท่าทีหรือไม่ จิ้งจกทักยังต้องฟัง แต่นี้ถูกตั้งคำถามไปแล้วสี่อำเภอโปรดติดตามครับ

 

หมายเลขบันทึก: 392172เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท