ภูมิปัญญาการต่อเรือมาด


วิถีการออกทะเลหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านน่าจะมีการทบทวนหวนกลับมาใช้วิถีแบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ออกหาปลาด้วยเรือใบ เรือแจว หรือ เรือพาย ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องการต่อเรือนับวันจะหดหายไปจากชุมชน หากผู้คนชุมชนต่างๆริมทะเลสาบสงขลาละเลยไม่ให้ความสำคัญอาจทำให้สูญหายได้

ภูมิปัญญาการต่อเรือมาด

 

            ผืนน้ำผืนใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่ ๑,๐๔๒ ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งรับน้ำผืนใหญ่ที่มีลักษณะเป็นทะเลสาบแบบลากูน(Lagoon)ขนาดใหญ่ และการที่ทะเลสาบสงขลาได้รับทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม จึงทำให้ทะเลสาบสงขลาเป็นระบบนิเวศผสมผสาน หรือ “ทะเลสาบสามน้ำ” ที่มีทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ จึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่หล่อเลี้ยงผู้คนรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาทั้ง ๓ จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา กว่าล้านคนมาตั้งแต่อดีต และในชุมชนยังเต็มไปด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้าน และศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ กอปรกับชาวชุมชนยังมีการใช้วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายในการประกอบอาชีพโดยใช้ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพย์ในดิน สินในน้ำ เพื่อเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวแบบพอเพียง จึงเป็นวิถีชุมชนในลุ่มน้ำหนึ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้  ชาวบ้านริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลาในพื้นที่รอบลุ่มทะเลสาบทั้งสองฝั่งทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง มีการประกอบอาชีพทำการประมงพื้นบ้านในทะเลสาบสงขลา นับพันกว่าครัวเรือน

 

 และชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้กำลังประสบปัญหาจากภาวะน้ำในทะเลสาบสงขลา แห้ง ตื้นเขิน และมีสภาพขุ่น-ถึงน้ำเสีย ทำให้ปริมาณปลาในทะเลมีจำนวนน้อยลง และพันธุ์ปลาบางชนิดเริ่มสูญพันธุ์ ทำให้ประมงพื้นบ้านหาปลาได้น้อยและประสบกับภาวะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านจะมีรายได้จากการออกหาปลาทุกวัน เฉลี่ยเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะยังมีกำไรวันละ ๒๐๐ กว่าบาท แต่ปัจจุบันนี้หาปลาได้วันละประมาณ ๕๐ บาท หรือบางวันหาปลาแทบจะไม่ได้เลยบวกกับในช่วงนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชาวบ้านต้องเพิ่มต้นทุนในการออกเรือหาปลาขึ้นตาม อีกทั้งข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันก็ทยอยปรับตัวเพิ่มราคาขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพชาวประมงส่วนใหญ่จึงได้รับผลกระทบพบกับปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายตามมา แต่ต้องฝืนทำ เพราะด้อยการศึกษาและไม่มีอาชีพอื่นรองรับ วิถีการออกทะเลหาปลาของชาวประมงพื้นบ้านน่าจะมีการทบทวนหวนกลับมาใช้วิถีแบบดั้งเดิมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ออกหาปลาด้วยเรือใบ  เรือแจว หรือ เรือพาย ซึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องการต่อเรือนับวันจะหดหายไปจากชุมชน หากผู้คนชุมชนต่างๆริมทะเลสาบสงขลาละเลยไม่ให้ความสำคัญอาจทำให้สูญหายได้     

  

     ดังนั้นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน  มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้มีความคิดที่จะจัดโครงการสืบค้นและสืบสานภูมิปัญญาการต่อเรือให้ยังคงอยู่ เพื่อเป็นรายได้ของชาวชุมชนและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมขึ้น  ในปี งบประมาณ ๒๕๕๒ ให้กับผู้ที่สนใจเรียนรู้กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรมโดยทั่วไป

 แหล่งข้อมูลการเรียนรู้

            ที่ตั้ง     ถนนสายทะเลน้อย – ลำปำ  หมู่ที่ ๓  ตำบลพนางตุง  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง

          เจ้าของกิจการ นายสุชาติ  เหมือนสังข์  อายุ ๕๐ ปี เป็นชาวตำบลทะเลน้อยโดยกำเนิด   อดีตเป็นชาวประมงพื้นบ้านเคยออกทะเลหาปลามาประมาณ ๑๐ ปี และต่อเรือใช้เอง ปัจจุบันหันมาประกอบอาชีพต่อเรือขายเมื่อประมาณ ๒๐ ปีมานี้ โดยช่วงแรกๆต่ออยู่ที่อำเภอร่อนพิบูลจังหวัดนครศรีธรรมราช เพิ่งย้ายมาตั้งอู่ต่อเรือที่นี่เมื่อปี ๒๕๕๐ โดยมีช่างลูกมือจำนวน ๗ คน เป็นช่างต่อเรือ ๕ คน และช่างเลื่อยไม้ ๒ คน ช่างที่มีประสบการณ์และมีฝีมือดี คือ นายเขียว  เหมือนใจ

การต่อเรือ นายเขียว เหมือนใจ และลูกมือช่าง สามารถต่อเรือให้แล้วเสร็จได้ วันละ ๑ ลำ (โดยไม่อุดชัน ตอกหมัน )

 

ไม้ที่ใช้ในการต่อเรือ  เป็นไม้ตะเคียนทองที่หาซื้อมาจากในป่าจังหวัดนครศรีธรรมราช

เครื่องมือที่ใช้  มีทั้งเครื่องมือภูมิปัญญาแบบช่างโบราณรุ่นเก่า เช่น ขวานถาก หรือผึ่ง ค้อน ตาปู  สิ่ว ดินสอ แม่แรงเข้าไม้  ลิ่มไม้ ส่วนเครื่องมือสมัยใหม่หรือเครื่องทุ่นแรงที่ใช้ในการต่อเรือ เช่น  เลื่อยวงเดือนไฟฟ้า  กบไฟฟ้า

  

ราคาค่าตอบแทนในการต่อเรือ  ค่าฝีมือในการต่อเรือเมตรละ ๓๐๐ – ๕๐๐ บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ (เรือเล็กราคาต่ำ เรือใหญ่ราคาสูง)

ราคาของเรือ  ขึ้นอยู่กับขนาด รูปแบบของเรือและการนำไปใช้ เช่น เรือมาดขนาด ๙ เมตร เหมือนกัน หากต่อใช้ในทะเลใน(ทะเลสาบสงขลา หรือทะเลน้ำจืด) ราคาประมาณลำละ ๑๕,๖๐๐  บาท  หากต่อใช้ในทะเลนอก(ทะเลอ่าวไทยหรือทะเลน้ำเค็ม) ราคาประมาณลำละ ๒๐,๖๐๐  กว่าบาท

เรือแจว เรือถ่อ หรือเรือใบ(น้ำจืด)ความยาว ๖-๗ เมตร ราคาประมาณลำละ ๘,๐๐๐  บาท

เรือพาย (น้ำจืด) ความยาว ๕-๖ เมตร ราคาประมาณลำละ ๖,๐๐๐  บาท

ราคาของการต่อเรือที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยูกับขนาด คุณลักษณะ และพื้นที่ของการนำเรือไปใช้งาน

หมายเลขบันทึก: 392163เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2010 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท