ประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค "สื่อพื้นบ้านประสานใจ" ตอนที่ 2 วันประกวดรอบตัดสิน


ตลอดเวลา 10 นาที ที่เด็ก ๆ ทำหน้าที่อยู่บนเวทีมันช่างน้อยเสียเหลือเกิน แต่ก็สามารถที่จะสื่อสารด้วยเสียงเพลงและลีลาท่าทางได้อย่างประทับใจ

การประกวดเพลงพื้นบ้าน 4 ภาค

“สื่อพื้นบ้านประสานใจ”

ตอนที่ 2 วันประกวดรอบตัดสิน

คณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ

โดย อ.ชำเลือง  มณีวงษ์

        เย็นวันที่ 4 กันยายน 2553 หลังจากเสร็จภารกิจ การขยายผลเครือข่ายเพลงอีแซวในวันแรกแล้ว ผมให้เด็ก ๆ เขาเปลี่ยนอิริยาบถกัน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็มาทบทวนบทร้อง ท่าทางประกอบและจังหวะรำมะนาช้า เร็ว ตีทำนองและตีโขยก มารวมตัวกันเต็มทีมในเวลาเกือบ 17.00 น. เริ่มทำการฝึกซ้อมทบทวนบทบาทของแต่ละกลุ่มและปรับแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้แสดงที่เห็นว่ายังไม่สมบูรณ์ แก่ ทำนอง ท่ารำ ความคิดสร้างสรรค์ จังหวะ การฝึกซ้อมทำได้ 3 หรือ 4 รอบเท่านั้นเวลาก็ดึกโข เกราว่ารุ่งเช้าจะไม่สดชื่นจึงให้เด็ก ๆ กลับบ้านโดยมีท่านผู้ปกครองมารอรับกันทุกคน

       

       

       

        เช้าวันที่ 5 กันยายน 2553  เป็นวันประกวดเพลงพื้นบ้านรอบสุดท้าย (รอบชิงชนะเลิศ) ของภาคกลาง ระดับประเทศ เด็ก ๆ มาพร้อมกันที่ห้อง 512 อาคาร 5 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 เวลา 08.00 น. แต่ต้องรอผู้แสดงอีก 1 คนที่มาล่าไปเล็กน้อย รถยนต์ของผมออกจากโรงเรียนในเวลา 08.20 น. ไปถึงโรงแรมสองพันบุรี (สถานที่ประกวด) เวลาเกือบจะ 09.00 น. นำคณะเข้ารายงานตัว และไปจัดเตรียมแต่งตัวนักแสดงในห้องรับรอง

        ผมได้รับเชิญไปบันทึกเทปโทรทัศน์ที่หน้าห้องอบรม ทีมงานให้ผมกล่าวเกี่ยวกับความพร้อมของวงลำตัด การเตรียมตัว ปัญหาอุปสรรคในการนำทีมงานมาประกวด และให้ผมฝากข้อคิดไปยังเยาวชนรุ่นใหม่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีไทย เพลงพื้นบ้าน ทำอย่างไรจึงจะได้รับความสนใจมากกว่านี้

        เวลา 10.00 น. เด็ก ๆ นักแสดงทุกทีมรวมทั้งทีมผู้ใหญ่ซึ่งมีทั้งหมด 10 ทีม เข้ารับการอบรมในห้องประชุมใหญ่ การประชุมอบรมเป็นไปในเชิงการถาม-ตอบระหว่างทีมที่มาประกวดกับท่านวิทยากร ส่วนใหญ่จะสอบถามเกี่ยวกับการแสดงลำตัดที่ถูกต้อง ทำนองร้องลำตัด จังหวะกลอง ทำอย่างไรลำตัดจึงจะอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน เวลาในการประกวดเท่าไรแน่ กฎเกณฑ์ กติกาในการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการ การตัดสินระหว่างทีมเด็กกับทีมผู้ใหญ่ (ความจริงเป็นการประกวดประเภทประชาชน) งานนี้ไม่มีเด็ก ไม่มีผู้ใหญ่ถือว่าเป็นประชาชนเท่ากัน ต่อจากนั้นเป็นการจับสลากจัดคิวการแสดง ทีมลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ จับได้ลำดับที่ 9 ใน 10 ทีม ได้แสดงเป็นคณะรองสุดท้าย เสร็จสิ้นการอบรมเวลา 12.00 น.

        ถึงเวลารับประทานอาหาร ทางกองประกวดให้การดูแลนักแสดงทุกทีมดีมาก ให้ความสะดวกเอาใจใส่ดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดไม่มีข้อบกพร่องโต๊ะอาหารละ 10 คน ผมไปกัน 12 คนจึงขอเก้าอี้เพิ่มอีก 2 ที่ เด็ก ๆ จะๆได้นั่งกลุ่มเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะนั่ง 12 คนก็มีอาหารเพียงพอ อิ่มไปตามๆ กันทุกคน จนถึงขนมเป็นเมนูสุดท้ายบนโต๊ะ และเมื่อถึงเวลา 13.00 น. ทีมที่เข้าประกวดทั้งหมดรวมตัวกันที่ห้องประชุม ผมนำเด็ก ๆ ไปยังห้องเตรียมตัวเพื่อที่จะได้บอกกล่าวในบางสิ่งบางอย่างก่อนที่จะเข้าไปในห้องประชุม

        ก่อนที่จะเริ่มการประกวดเพลงพื้นบ้าน ลำตัด มีพิธีการเปิดการประกวดโดยท่าน ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ เขต 8 กาญจนบุรี ที่ประทับใจคือ มีการแสดงลำตัดของศิลปินผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสุพรรณบุรีมานาน ท่านผู้นั้นคือ ขวัญใจ ศรีประจันต์ และทีมงาน ดูเหมือนว่าท่านจะถ่อมตัวบ้างเพราะทางเพลงของชาวสุพรรณฯ เป็นเพลงอีแซว เพลงฉ่อย แต่ก็ได้รับความสนุกสนาน ได้ชมการแสดงลำตัดของนักแสดงรุ่นครู

        เริ่มการประกวดเวลาประมาณ 14.00 น. ตลอดเวลาที่ดำเนินโครงการมีการถ่ายทอดเสียง โดยสถานีวิยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งระบบ AM. และระบบ FM. ตลอดเวลาจนเสร็จสิ้นประกาศผลได้ทีมที่ชนะเลิศจบการประกวด วงลำตัดขึ้นไปแสดงตามคิวที่ได้รับตั้งแต่คณะที่ 1 จนถึงคณะที่ 8 มีคณะที่เป็นประชาชนเต็มตัวอยู่ 2-3 คณะ และเป็นศิลปินลำตัดโดยอาชีพ เด็ก ๆ ก็ประหม่ากันทั้งวง ผมต้องแนะนำว่า เวทีนี้ไม่ใช่เวทีงานวัด แต่เป็นเวทีประกวดที่ผู้แสดงจะต้องนำเสนอไปตามกฎ กติกาเท่านั้น

       

        ทีมลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ ขึ้นเวทีแสดงเป็นคณะที่ 9 ด้วยความเงียบสงบ เด็ก ๆ นักดนตรีผู้ให้จังหวะ 5 คนขึ้นไปเตรียมความพร้อมแล้วมานั่งเป็นแถวหน้ากระดานโค้งเล็กน้อย เริ่มโหมโรงรำมะนาจังหวะช้า และจังหวะเร็ว นักแสดงทั้ง 6 คนเดินขึ้นเวที จนจบเสียงดนตรี นักแสดงทุกคนยกมือไหว้คณะกรรมการและท่านผู้ชม ได้รับเสียงปรบมือดังสนั่นห้องประชุม เสียงร้องสร้อยลำตัดจากท็อป-ธีระพงษ์ ดังขึ้นมาทันที การแสดงเริ่มแล้ว ตลอดเวลา 10 นาที (โดยประมาณ) ที่เด็ก ๆ ทำหน้าที่อยู่บนเวทีมันช่างน้อยเสียเหลือเกิน แต่ก็สามารถที่จะสื่อสารด้วยเสียงเพลงและลีลาท่าทางได้อย่างประทับใจ เพราะการตัดสินพิจารณาครบทุกประเด็น ตั้งแต่บทร้อง ความคิดสร้างสรรค์ในการแสดง ทำนองจังหวะ การแต่งกาย ลีลาท่าทาง จนถึงการรักษาเวลา ดูได้จากภาพที่ผมได้นำเอามาเสนอและคลิกชมบันทึกการแสดงสด ๆ บนเวทีประกวดได้ในกรอบด้านล่างนี้

                          

        ผลการประกวดเพลงพื้นบ้านประสานใจ ภาคกลาง “ลำตัด” รอบสุดท้าย ระดับประเทศ ได้แก่

        รางวัลชนะเลิศ      ทีมลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ    จากจังหวัดสุพรรณบุรี

        รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ทีมสายเลือดศิลปิน จากจังหวัดปทุมธานี

        รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 โรงเรียนวัดวังกุ่ม    จากจังหวัดสุพรรณบุรี

       

        ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ คณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาท) ได้รับโล่และเกียรติบัตรจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 กันยายน 2553 ที่ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ โดยมีสถานีโทรทัศน์ NBT ถ่ายทอดตั้งแต่เวลาประมาณ 13.00 น. ติดตามชมได้ ครับ

(ติดตาม ตอนที่ 3 หลังจากได้รับรางวัลชนะเลิศลำตัด ระดับประเทศ)

หมายเลขบันทึก: 391727เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2010 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะ

ขอแสดงความยินดีกับ ทีมลำตัดสายเลือดสุพรรณค่ะ

ที่ชนะเลิศ การประกวดเพลงพื้นบ้านประสานใจของภาคกลาง

เป็นความภาคภูมิใจที่ไม่มีวันลืมเลยนะคะ

ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะคุณครู

กับงานสืบสานตำนานเพลงสุพรรณ

ดีใจกับน้องๆที่มีคุณครูส่งเสริม

สนับสนุนอย่างจริงจังและจริงใจค่ะ

ผมขอเป็นกำลังใจให้พี่ๆ ได้ดูคลิปแล้วผมดีใจมากที่วงเพลงเราได้ชนะการแข่งขันลำตัด เพลงเราแข่งกันคนโตและเก่ง ผมขอเป็นกำลังใจให้นะคับ ผมจะพยายามฟึกหัดให้เก่งเหมือพีท๊อปนะคับ จากพล

หนูดีใจมากที่วงเพลงของเราทำได้ หนูจะเป็นคนสานต่อจากพีแป้งแม่เพลงสุดสวยของวงเรา หนูดีใจมากที่วงเพลงเราชนะมาได้

ยุพร สุขเกษม ม.3/4

สวัสดี ครับ Krudala

  • ขอบคุณมากครับ ที่เป็นกำลังใจให้กับเยาวชนกลุ่มนี้
  • ใช่ครับ เป็นภาพที่ติดตาตรึงใจไปอีกนานเท่านาน ถึงแม้ว่าจะเป็นจำนวนหลาย ๆ รางวัลแล้วก็ตาม

 

สวัสดี ครับ ครู ป.1

  • ขอขอบคุณ ครู ป.1 ที่เป็นกำลังใจให้มาตลอดอย่างยาวนาน
  • ผมทำงานเพลงพื้นบ้านด้วยใจรักมาตั้งแต่เด็ก ๆ เลิกไม่ได้และก็ไม่มีใครบังคับ
  • เสียดายความสามารถของเด็ก ๆ ถ้าเราไม่ถ่ายทอดตรงนี้แกก็ไปทำอย่างอื่น

สวัสดี พล-นนทวัชร์

  • ดีใจ ที่หนูเข้ามาอ่านในเว็บนี้ เพราะเป็นอีกครั้งที่รุ่นพี่นำเอาชื่อเสียงมาให้วงเพลงอีแซว ในนามของคณะลำตัดสายเลือดสุพรรณฯ กับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ
  • ครูก็อยากให้หนูตั้งต้นอย่างเอาจริงเอาจัง ความสามารถเรามี ขาดก็แต่เพียงความตั้งใจ (นี่ครูพูดจริง ๆ นะพล)

สวัสดี อร-ยุพร

  • ครูก็ดีใจเหมือนหนูนั่นแหละ ที่ทีมงานลำตัดของเราทำได้ เขาทำกันอย่างเต็มที่ อรไม่ได้ไปดูที่เวทีจริง ครูขอผลัดเอาไว้ไปในวันโชว์ผลงาน 4 ภาคที่ห้องประชุม กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 29 กันยายน 2553 ก็แล้วกันนะ
  • แค่หนูคิดว่า หนูจะสานต่อ ครูก็ปลื้มใจมากแล้ว หนูทำได้แน่ ขอเพียงกล้า ๆ อีกหน่อยนะ
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท