ก่อนอื่น พี่จุดขอขอบพระคุณผู้ป่วย และญาติ ทุกท่าน ที่มาร่วมกิจกรรมการ ลปรร “ เรื่องการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด “ มากนะคะ คิดอยู่นานเหมือนกันค่ะว่า จะถ่ายทอดบทเรียน / เสียงสะท้อนจากการเล่าถึงประสบการณ์การป่วยของตนเอง / คนในครอบครัว ในครั้งนี้อย่างไรดี จึงจะเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นอกเหนือจาก F to F ที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว
ในที่สุดก็คิดว่า พี่จุดน่าจะเขียนบันทึกเล่าผ่าน gotoknow เพื่อขยายพันธุ์ การเรียนรู้ จากกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม สู่กลุ่มหอผู้ป่วย / หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากในโรงพยาบาล สู่ นอกโรงพยาบาล จากในจังหวัด สู่ต่างจังหวัด หรือแม้แต่ จากในประเทศ สู่ต่างประเทศ เหมือนการขยายพันธุ์เซลล์ จาก หนึ่งเซลล์ สู่ สอง...สี่...แปด....สิบหก.....สามสิบสอง............เซลล์ ไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้น บันทึกที่พี่จุดจะเขียนเล่าต่อไปนี้ หากมีตอนหนึ่งตอนใด หรือคำพูดหนึ่งคำพูดใด ที่เป็นการล่วงเกิน ละเมิดสิทธิ์ ของผู้ป่วย / ญาติ หรือกระทบความรู้สึก / ไม่สบอารมณ์ ฯลฯ พี่จุดต้องขออภัยทุกท่านล่วงหน้าไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ เพราะเจตนาเพียงเพื่อต้องการถ่ายทอดให้ทีมสุขภาพผู้ดูแล / ทีมอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้สนใจทั่วไป ได้เข้าใจถึง สภาพจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากการดูแลตนเอง / คนในครอบครัว เพื่อพวกเราจะได้นำความรู้ ประสบการณ์ เหล่านี้มาทบทวนทางวิชาการ เพื่อได้ความรู้ใหม่ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยให้ดีมีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป หากบันทึกนี้ดีมีประโยชน์ ขออานิสงค์ครั้งนี้โปรดกลับคืนสู่ผู้ป่วย ให้ท่านทั้งหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดด้วยนะคะ
ในการร่วมกิจกรรม ลปรร วันนั้น
ผู้ป่วยคนที่หนึ่ง เล่าว่า เมื่อรู้ข่าวว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็ง ไม่คิดอะไรมาก คิดแต่เพียงว่า เมื่อผ่าตัดเสร็จตัวเองคงจะเรียบร้อย ไม่น่าจะมีปัญหาแต่ประการใด ไม่นึกเลยว่า จะต้องใช้เวลากับการป่วยด้วยโรคนี้นานมาก โดยเฉพาะการได้รับยาเคมีบำบัด ช่างเป็นช่วงเวลาที่ทรมานมากที่สุดช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีอาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังได้รับยาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์
เธอเล่าต่อว่า ความทรมานทางด้านร่างกายคือ เธอมีอาการปวดกระดูกตาม มือ เท้า ข้อต่างๆ เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ผมร่วง สารพัดที่ประดังเข้ามา
ส่วนทางด้านจิตใจ เธอรู้สึก หดหู่ เศร้า ไม่อยากจะเจอใคร ไม่มีใครเข้าใจเธอ พอเริ่มอาการจะดีขึ้น ก็ครบเวลาที่จะต้องได้รับยาเคมีบำบัดอีกแล้ว เธอคิดว่า เธอไม่อยากจะได้ยาอีก แต่ก็ผ่านมาได้จนได้ยาครบ 12 ครั้ง
เธอรู้สึกสูญเสียความมั่นใจ แม้จะพยายามทำใจให้ยอมรับ แม้จะได้รับการดูแลแนะนำอย่างดี จากแพทย์และพยาบาล แต่ไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกมั่นใจกลับคืนมาเลย ได้แต่พยายามดูแลรักษาตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อครอบครัว ช่างเป็นความเจ็บปวดที่ยาวนาน แม้บางครั้งจะเจ็บไม่มากแต่ก็เจ็บตลอดเวลา
แล้วพี่จุดจะเล่าประสบการณ์ของผู้ป่วยคนต่อไปให้ทราบคราวหน้านะคะ