นปส.55 (41): ปิดทองหลังพระ


ในหลวงทรงตรัสสอนว่า “จงปิดทองหลังพระ ปิดไปเยอะๆทองจะล้นมาด้านหน้าเอง ทำหน้าทีเพื่อหน้าที่ไม่ใช่เพื่อรางวัล ขอให้เอาความสำเร็จเป็นรางวัล อย่ามัวไปหวังบำเหน็จรางวัลอื่น”

สัปดาห์ที่ 12 ของการฝึกอบรม พวกเราจะมีเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในวงกินข้าวทั้งมื้อเช้า กลางวันและเย็น ทำให้ได้รู้จักรู้ใจกันมากขึ้น ผมรู้สึกว่าทุกคนเปิดใจอยากรู้จักกัน แม้หลายคนจะไม่ใช่คนช่างพูดช่างคุยก็ตาม ผมก็เปลี่ยนวงกินข้าวไปทุกวัน เนื่องจากพี่ๆหลายคนไม่ได้อยู่หมู่ลูกเสือหรือกลุ่มปฏิบัติการเดียวกัน เช่น พี่เล็ก พี่หนู (กฤษณ์) พี่เกรียง พี่เวช เป็นต้น

พี่เล็กหรือกฤตชัย อรุณรัตน์ ผู้อำนวยการการศึกษานอกโรงเรียนลพบุรี เป็นคนแรกที่ผมรู้จักในรุ่นในวันแรกที่มาอบรม พี่เล็กเป็นคนพูดน้อยแต่ยิ้มง่าย เป็นมิตร สุภาพเรียบร้อย ในรุ่นที่ชื่อเล็ก 2 คนอีกคนคือพี่ศุภวัชร

พี่หนูหรือกฤษณ์ จินตะเวช นายอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นคนพูดน้อย เล่นดนตรีเก่ง มีวงดนตรีคลาสสิกมาแสดงในงานของรุ่นเสมอๆ เป็นคนสุภาพนุ่มนวล ไม่ถือตัว ยิ้มง่ายเป็นมิตร ในรุ่นมีชื่อหนูสองคน ส่วนใหญ่เราจะเรียกพี่กฤษณ์ตามชื่อจริง

พี่เกรียงหรือเกรียงชัย ธันวานนท์ สรรพากรพื้นที่นครราชสีมา 2 เป็นคนเงียบๆเรียบๆสบายๆ มีน้ำใจ ให้ความเป็นเองกับเพื่อนๆดี ไม่ถือตัว

พี่จุ๊บหรือเจษฎา จิตรัตน์ นายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นคนคุยสนุก เป็นมิตร ร่าเริง เป็นกันเองกับเพื่อนๆ มีความคิดเป็นของตนเอง ให้เกียรติผู้อื่น เป็นคนสบายๆ ไม่เรื่องมาก ยิ้มง่าย

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2553 ช่วงเช้าเรียนวิชา อุดมการณ์และวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ผสมสรุปความได้ว่า คนไทยคลั่งไคล้คำว่า “ประชาธิปไตย” กันมาก พูดกันจนพร่ำเพรื่อ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าใจอย่างแท้จริง เราเขียนรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดด้วยภาษาที่สดสวยแต่กลับมีคนไม่มากที่อ่านศึกษาและเข้าใจรัฐธรรมนูญจริง ประชาธิปไตยไม่ใช่การมัวแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการแก้ไขรากฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ประเทศอังกฤษไม่มีการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้แค่จารีตประเพณีก็ยังพัฒนายั่งยืนมาได้ยาวนาน คนไทยชอบลอกฝรั่ง ชอบเอาอาหารสำเร็จรูปของเขามายัดใส่ปากเรา ของดีๆแต่เราใช้ไม่เป็นก็ป่วยการ

ประเทศอิสราเอล สอนประชาธิปไตยในห้องเรียนโดยครูไม่ได้พูดคำว่าประชาธิปไตยเลย เขาให้เด็กนักเรียนแบ่งกลุ่มกันเองตามสมัครใจ (เหมือนพรรคการเมือง) แล้วให้แต่ละกลุ่มตัดข่าวที่กลุ่มเห็นชอบร่วมกันมากที่สุดไปส่งครู (Majority rule, minority right) โดยจะต้องสรุปให้เหลือ 1 เรื่องให้ได้ (กติกาสังคม) แล้วก็ชวนให้เด็กสนทนาเพื่อให้เขาคิดและสรุปความเป็นประชาธิปไตยด้วยตัวเด็กเอง

คนไทยชอบเล่นฟอร์ม เอารูปแบบเป็นที่ตั้ง เน้นพิธีการ สาระเป็นอย่างไรมักไม่ค่อยทราบ ประชาธิปไตยไทยจึงมีแต่รูปแบบ ไม่เน้นเนื้อหาสาระ ไม่ดูเป้าหมายทั้งที่เป้าหมายแท้จริงของประชาธิปไตยคือ ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ไม่ใช่แค่จีดีพีโต (Growth) ขึ้น แต่ต้องดูเสถียรภาพความมั่นคง (Stability) และความเป็นธรรม (Distribution) คือการกระจายรายได้ด้วย จึงจะเติบโตแบบสมดุล มั่นคง ยั่งยืน ซึ่งตรงกับเป้าหมายของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง

ในหลวงทรงเป็นนักประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา จากปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” ท่านทรงใส่ความเป็นนักประชาธิปไตยลงไปด้วย ท่านไม่ปกครอง (เพราะดูเผด็จการ) แต่ท่าน “ครอง” ซึ่งเป็นการอยู่ร่วมกันโดยถ้อยทีถ้อยอาศัยเอาใจใส่เห็นใจกัน ท่านไม่ทำแค่ “ประชาชน” ท่านทรงทำเพื่อ “มหาชนชาวสยาม” คือทุกคนทั้งไทยและไม่ไทย เมื่อมาอยู่แผ่นดินไทย ท่านจะดูแลทั้งหมด และโดยธรรมซึ่งหมายถึงทศพิธราชธรรมหรือGood Governance และทรงปฏิบัติพระองค์เป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงเป็นพวกใครพวกหนึ่งและทรงรับฟังประชาชน มีประชาพิจารณ์อยู่เสมอ

โครงการพัฒนาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้น “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และไม่ประสงค์จะให้มองเป็นเผด็จการ จึงปรับโครงการหลายอย่างเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยมุ่งเน้นไปที่ประชาชนมีความอยู่ที่ดีขึ้น

พระเจ้าอยู่หัวทรงทำราชการ ข้าราชการทุกคนทำอาชีพรับราชการ คือรับงานของพระราชามาปฏิบัติ จึงควรมุ่งและยึดถือในพระปฐมบรมราชโองการ และปฏิบัติตามหลักการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเอง ดังนี้

  1. ทรงมุ่งช่วยเหลือพัฒนาให้ประชาชนสามารถ “พึ่งตนเอง” ได้เป็นหลัก
  2. ทรงเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเพื่อให้มีความพร้อมก่อนที่จะรับสิ่งใหม่ๆจากภายนอก ทรงเรียกว่า “ระเบิดจากข้างใน”
  3. ทรงเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
  4. ทรงยึดหลักการพัฒนา ตาม “ภูมิสังคม” คือภูมิศาสตร์ (ธรรมชาติ)และสังคมวิทยา (คน)

ช่วงบ่ายเรียนรายวิชา การเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท การเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดย พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร สรุปได้ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarch) พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ทรงคิด ทรงไตรตรองแล้วทรงลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เองจนเป็นผลสำเร็จ และให้พสกนิกรได้เรียนรู้ความสำเร็จเหล่านั้นได้ จนเกิดเป็นทฤษฎี หลักการที่เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและได้รับการยอมรับในระดับโลก เช่น หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy)

พระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในสิทธิ หน้าที่และบทบาทของพระองค์เป็นอย่างดี จึงทรงวางพระองค์เป็นกลางเสมอ ทรงเป็นกันเองกับประชาชน ทรงมีความอุตสาหะไม่ย่อท้อ แต่ก็ไม่ทรงบังคับผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จ ไม่ทรงท้อแท้ ทรงมีอุเบกขา ไม่ยึดติด ทรงมีปณิธานมุ่งมั่นเพื่อประชาชนในแผ่นดินไทยเสมอ พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง ทรงเข้าใจธรรมะและสามารถนำหลักธรรมมาปรับใช้ในชีวิตจนเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรได้ พระองค์ทรงปฏิบัติตาม “โลกธรรม8” คือลาภ ยศ สรรสเริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อยศ นินทาและทุกข์ รวมทั้งทรงปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม หรือธรรมของพระราชาหรือหลักปฏิบัติ 10 ประการในการทำราชการ คือ ทาน ศีล บริจาคะ อาชวะ มัทวะ ตปะ อโกธะ อวิหิงสา ขันติ และอวิโรธนะ

เป็นข้าราชการ มาจากคำว่า ข้า+ราชะ+การ โดยข้า คือผู้รับใช้ คนไทยเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จึงใช้สรรพนามแทนตนเองว่า ข้า ส่วน ราชะคือพระเจ้าแผ่นดิน   และการคือภารกิจการงานต่างๆ ข้าราชการจึงเป็นผู้ที่อาสารับภารกิจการงานต่างๆของพระเจ้าแผ่นดินนำไปปฏิบัติ” เปรียบได้กับพญาครุฑ พาหนะของพระนารายณ์ ราชการจึงใช้ตราครุฑ เป็นตราประจำ มีข้อคิดเตือนใจว่า “อย่าเอาอย่างเลวๆของคนอื่น จงดูอย่างพระจริยานุวัตรของพระเจ้าอยู่หัว

มีคำบรรยายที่อาจารย์วสิษฐ์เล่าให้ฟังและเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตหลายประการ เช่น “อย่าหวั่นไหว ในความล้มเหลวและอย่าหวั่นไหวในความสำเร็จ” และ “อย่าเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาไปพบทันทีที่เขาทำหน้าที่บกพร่อง จงฟังเหตุผลและไม่โกรธ” และ “คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” และ “จะเป็นนายคน อย่าไปโกรธเขา” และอาจารย์เล่าถึงในหลวงทรงตรัสสอนว่า “จงปิดทองหลังพระ ปิดไปเยอะๆทองจะล้นมาด้านหน้าเอง ทำหน้าทีเพื่อหน้าที่ไม่ใช่เพื่อรางวัล ขอให้เอาความสำเร็จเป็นรางวัล อย่ามัวไปหวังบำเหน็จรางวัลอื่น” และ “จงคิดดีทำดี เพื่อประชาชนแล้วสิ่งดีๆจะไหลกลับมาหาเราเอง”

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2553 ช่วงเช้า เรียนรายวิชา การพัฒนาระบบบริการของกระทรวงมหาดไทย โดยนายจาดุร อภิชาตบุตร สรุปใจความสำคัญได้ว่า เครื่องมือในการทำงานราชการสำคัญมี 4 ประการคือคุณธรรม จริยธรรม นิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล หน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย มี 4 ด้านคือด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านการพัฒนาทางกายภาพ

งานราชการเป็นงานบริการ (Service) ข้าราชการจึงต้องเป็นผู้ให้บริการ คำว่าข้าคือผู้รับใช้ (คนไทยเป็นคนอ่อนน้อมจึงแทนตนเองว่าข้า) ข้าราชการจึงต้องมีทัศนคติในการทำงานเป็นคนสาธารณะ (Public man) การเป็นรัฐที่มีประสิทธิภาพ ต้องประกอบด้วยGoverning (ที่Clean & Clear) มีDirecting (ที่Shape & Sharpen) และมีManaging (ที่ Care & Share) การบริหารราชการที่ดี ควรมีลักษณะ 4 ประการ คือ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความโปร่งใส ไม่มีฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือผลประโยชน์ทับซ้อน ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และมีความยุติธรรมอย่างทั่วถึง

การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จะก่อให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ และมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาปรับเปลี่ยน (Change) การขจัดออก (Remove) หรือการเพิ่ม (Add)

ช่วงบ่าย เป็นการชี้แจงAction learning ที่พวกเราจะต้องลงไปศึกษาชุมชน 1 สัปดาห์ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆละ 1 ภาค และในแต่ละกลุ่มใหญ่จะแบ่งออกเป็นกลุ่มเล็กๆแยกกันไปแต่ละหมู่บ้านอีกกลุ่มละ 5-6 คน อาจารย์พินัย อนันตพงศ์และอาจารย์ปรีชา วุฒิการณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มที่จะไปศึกษาพื้นที่ภาคอีสานที่จังหวัดสกลนคร อาจารย์ได้แนะนำแนวทางการศึกษาเรียนรู้เชิงปฏิบัติและได้กำหนดแนวทางการศึกษาเรียนรู้ให้ทราบ หลังจากนั้นก็พบอาจารย์จรัญญา ที่ปรึกษาทำไอเอส เพื่อติดตามความก้าวหน้าและปรับปรุงให้เหมาะสมมากขึ้นซึ่งผมกำลังอยู่ในระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่

การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Action learning) เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ปฏิบัติและชุมชน ประมวลแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและจัดทำรายงานผลการศึกษาเรียนรู้โดยกำหนดให้นักศึกษาแต่ละกลุ่มได้ศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่หมู่บ้าน

การศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่หมู่บ้าน แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนคือการศึกษาเรียนรู้ภูมิสังคมและวิถีชีวิตของชุมชน การศึกษาเรียนรู้ระบบการจัดการชุมชนและการศึกษานโยบายภาครัฐและผลกระทบต่อการพัฒนาของชุมชน

วัตถุประสงค์และประเด็นการศึกษาเรียนรู้ภูมิสังคมและวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อเข้าใจชุมชนหนึ่งในลักษณะที่เป็นระบบชีวิตหนึ่งที่มีตัวตนมีที่มา มีเอกลักษณ์ มีทรัพยากรที่เป็นฐานชีวิต มีความเป็นพลวัตรปรับตัว เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านไปตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆทั้งภายในและภายนอกชุมชน บางช่วงเวลาเร็ว บางช่วงช้า มีการสั่งสมทุนปัญญา ทุนทรัพยากร ทุนการจัดการ และทุนทางวัฒนธรรมของตนเองมากน้อยต่างกัน ส่งผลให้มีความสามารถ ความพร้อมในระดับหนึ่งที่ฟันฝ่าแหวกว่ายไปในสายธารที่เชี่ยวแรงของโลกาภิวัตน์ได้อย่างเท่าทัน พอเพียงและปลอดภัยหรือไม่อย่างไร โดยกำหนดประเด็นสำคัญในการศึกษา ดังนี้

1)   การเรียนรู้จากชีวิตความเป็นอยู่ การตั้งถิ่นฐาน การบริหารจัดการชุมชน ภายใต้กรอบหรือบริบทของขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม

2)      การศึกษาทรัพยากรและปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อวิถีชีวิตชุมชนภายในพื้นที่ เช่น ระบบดิน ชลประทาน ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในชุมชน

3)      การเปลี่ยนแปลงของชุมชนอันเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชหรือเทคโนโลยีตามนโยบายรัฐบาล การส่งเสริมวิสาหกิจในชุมชน และการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมตามความต้องการของตลาด

4)      ลักษณะทางชีวภาพและกายภาพของชุมชน ทรัพยากร และปัจจัยต่างๆที่เป็นฐานชีวิตให้แก่ชุมชนที่ศึกษาและชุมชนอื่นในพื้นที่ลุ่มน้ำเดียวกันหรือแอ่งนิเวศน์เดียวกัน เช่น แหล่งน้ำ การจัดการชลประทาน สภาพความสมบูรณ์ของดิน ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และระบบนิเวศน์ของพื้นที่

5)      การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนอันเกิดจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ คือ บทบาทรัฐในการพัฒนาชนบท และพลังของเศรษฐกิจระบบตลาดเสรี เช่น การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ตามนโยบายรัฐบาล การเข้ามาของระบบเงินตราและระบบทุน ระบบสินเชื่อ การส่งเสริมวิสาหกิจในชุมชนและการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมตามความต้องการของตลาด

วัตถุประสงค์และประเด็นการศึกษาเรียนรู้ระบบการจัดการชุมชน เพื่อเข้าใจและประเมินความเข้มแข็งของชุมชนในแง่มุมของความสามารถของชุมชนในการจัดการใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขต่างๆที่เป็นโอกาส เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาและความสามารถของชุมชนในการรับรู้ กำหนด และจัดการแก้ไข ปัญหาการหารายได้ การประกอบอาชีพ และปัญหาสังคมของชุมชนให้ผ่อนคลาย ทั้งนี้ มุ่งค้นหาประสบการณ์ของชุมชนในแง่มุมมอง หลักคิดที่มีต่อปัญหาและโอกาสการพัฒนา และกลวิธี แนวทาง ขั้นตอนการจัดการที่ชุมชนถือปฏิบัติ รวมทั้งการเรียนรู้ของชุมชน กำหนดประเด็นในการศึกษา ดังนี้

1)      การศึกษากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของภาครัฐ ที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือประกอบอาชีพภายในชุมชน ระบบการบริหารจัดการเงินทุน ระบบการผลิตเชิงเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายในชุมชน รวมทั้งปัจจัยความเสี่ยงในการเกิดหนี้สินภายในชุมชนด้วย

2)      การวิเคราะห์โอกาสหรือข้อจำกัดของชุมชน ตามกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ว่าควรได้รับการสนับสนุนในประเด็นใดเป็นสำคัญ หรือการดำเนินแนวทางพัฒนาชุมชนภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ รวมทั้งแนวทางการลดข้อจำกัดที่มีอยู่

3)      การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารจัดการชุมชนว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีกระบวนการ ขั้นตอนในการกำหนด ติดตาม และประเมินผลอย่างไรบ้าง

4)      การจัดการชุมชนเข้มแข็งตามยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขของกระทรวงมหาดไทย อาจพิจารณาว่า ภาครัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ หรือชุมชนเองจะต้องได้รับการสนับสนุนในด้านใดบ้าง จึงจะมีศักยภาพด้านการจัดการตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ รวมทั้งพิจารณาข้อจำกัดที่เป็นตัวแปรสำคัญในการบริหารจัดการชุมชน

5)      การวิเคราะห์ภาพรวมของภาคเกษตรในพื้นที่ สามารถพิจารณาเป็นห่วงโซ่ตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต การแปรรูป การตลาด รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

วัตถุประสงค์และประเด็นการศึกษานโยบายภาครัฐและผลกระทบต่อการพัฒนาของชุมชน เพื่อประเมินการกำหนดนโยบายภาครัฐในพื้นที่ว่ามีผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านภายในชุมชนหรือไม่อย่างไร โดยมุ่งเน้นเสาะหาบทเรียนหรือการเรียนรู้ของทั้งภาครัฐและชุมชนที่เกิดขึ้น ทั้งในแง่ของการมีส่วนร่วมของชุมชน อุปสรรคปัญหาในการดำเนินการ โอกาสการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนและวิถีทางที่ภาครัฐและชุมชนควรถือปฏิบัติ มีประเด็นสำคัญในการศึกษา ดังนี้

1)      การกำหนดนโยบายของภาครัฐด้านการเกษตรสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตในเชิงบวกและลบอย่างไรบ้าง การเตรียมความพร้อมของภาครัฐต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

2)      การนำเสนอแนวคิดของชุมชนที่มีต่อนโยบายการเกษตร รวมทั้งแนวคิดของนักศึกษา เพื่อทำให้นโยบายการเกษตรกับวิถีชีวิตของชุมชนสอดคล้องและดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 390661เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2010 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับคุณหมอได้เรียนรู้จากการเรียนของคุณหมอด้วย

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

ตอบช้าไปนิดนึงครับ การเขียนทำให้ผมไมโอกาสในการทบทวนบทเรียนของตนเองด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท