แรงพยายามเพื่อลูกสมองพิการ


สองอาทิตย์นี้ ผมประทับใจในความพยายามหาทางช่วยเหลือลูกสมองพิการของสองครอบครัว ที่เรียนรู้พัฒนาทักษะชีวิตมีสุขด้วยกิจกรรมบำบัด แม้ว่าจะไม่เคยรู้ว่ากิจกรรมบำบัดคืออะไรมาก่อน

กรณีศึกษาทั้งสองรายมีความบกพร่องทางสมอง ส่งผลให้การควบคุมศรีษะไม่ดี การควบคุมความตึงตัวของร่างกายไม่ดี การควบคุมการดูดกลืนไม่ดี และการพัฒนาของเด็กช้ากว่าวัย รายหนึ่งอายุ 14 เดือน อีกรายหนึ่งอายุ 9 เดือน 20 วัน แต่ทั้งคู่มีอาการเกร็งกระตุก ร่างกายเคลื่อนไหวได้โดยการสั่งการของสมองไม่เกิน 60% แม้ว่าเด็กจะรับรู้สัมผัส-ขยับข้อต่อ-ได้ยิน-จ้องมอง-ยิ้ม-สื่อสารด้วยเสียงร้องไห้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ (ไม่ชอบ หิวนม อยากเล่น)  

เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ปกครองของกรณีศึกษาทั้งสองรายนี้ มีความพยายาม มุ่งมั่น ซักถาม บันทึกวิดีโอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ดร.ป๊อป ได้อย่างน่าประทับใจ

กรณีศึกษาทั้งสองราย มีปัญหาข้างต้นตั้งแต่แรกเกิด แต่แพทย์และพยาบาลในสถานบันการแพทย์ที่มีชื่อเสียงจัดโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการแบบสอนผู้ปกครองในท่าพื้นฐาน เช่น สอนนวดส่วนต่างๆของร่างกาย 16 ท่าทาง ด้วยความถี่ที่เด็กจะร่วมมือ แล้วไม่มีการติดตามปรับโปรแกรมกระตุ้นพัฒนาการ สอนนวดริมฝีปากและการดูดนมจนเด็กดูดได้ก็หยุด ทั้งนี้ไม่มีการส่งปรึกษานักกิจกรรมบำบัดใดๆ จนเวลาผ่านไป 2 เดือนในรายแรก และ 7 เดือนในรายที่สอง 

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า "การทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพทางการแพทย์ที่ส่งเสริมการพัฒนาเด็กหนึ่งคนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ (คุณภาพมากกว่าปริมาณ) นั้นยังไม่เกิดขึ้นมากนักในสถานพยาบาลไทย" หรืออีกมุมหนึ่ง "คนไทยหลายคน บุคลากรทางการแพทย์หลายคน ยังไม่เข้าใจว่า นักกิจกรรมบำบัด มีหน้าที่พัฒนาทักษะชีวิตของเด็กคนหนึ่งๆ ได้อย่างไร และทำไมโปรแกรมการพัฒนาเด็กจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากนักกิจกรรมบำบัด ในระบบวิชาชีพทางการแพทย์สากล"   

บทสรุปจากกรณีศึกษาสองรายนี้...ทำให้ผมอยากสรุปประเด็นที่ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์ละเลยใน "การพัฒนาเด็กให้เกิดทักษะชีวิตที่มีสุข" ดังนี้

  • เวลาเด็กตื่นนอนนั้น หากมีอาการเกร็งแขนขา หรือร้องไห้จนเกร็งแขนขา เราควรทำให้เด็กอบอุ่นก่อนอุ้มมาจากที่นอน เราสามารถกอดเด็กบนที่นอน นำผ้าห่มรอบตัว พลิกตัวเด็กไปซ้ายขวาช้าๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลายร่างกายโดยรวม จากนั้นค่อยๆ ขยับข้อต่อจากส่วนร่างกายที่เกร็งก่อน (ทีละข้างและทีละข้อต่อจากปลายสู่ต้นของร่างกาย เช่น ขยับกระดกข้อเท้าเบาๆ จนเด็กงอสะโพกและเข่าเอง) หากขยับข้อต่อไม่ได้เพราะมีอาการเกร็งมาก เราต้องเคาะหรือสัมผัสแบบลึกบริเวณกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านตรงข้ามกับกล้ามเนื้อที่เกร็งอยู่ - ตรงนี้อาจต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติกับนักกิจกรรมบำบัดในแต่ละกรณีศึกษาไป ไม่มีสูตรและรูปแบบตายตัวเพราะเด็กแต่ละรายมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การรับรู้ข้อต่อและการเคลื่อนไหว และระดับอาการเกร็วแตกต่างกันไป
  • เวลาป้อนนมหรือน้ำเด็กด้วยขวด ไม่ควรจัดท่านอนให้คอเด็กแหงนจนเกินไป ผู้ป้อนอาจปรับท่าให้คอเด็กตั้งตรงกับลำตัวที่เอนไม่ต่ำกว่า 45 องศา หรือเกือบ 90 องศา บนตักของผู้ป้อนที่อาจยกขาข้างหนึ่งให้สูงกว่าขาอีกข้าง หรือท่าหันหน้าเด็กเข้าหาลำตัวผู้ป้อนโดยพิงกำแพง ตั้งขาสองข้างตั้งฉากกับพื้น หรือหาอุปกรณ์ที่นั่งให้เด็กนั่งเกือบตรง ไม่แหงนคอ และมีสายประคองคอและสะโพก จากนั้นค่อยๆ สัมผัสแก้มและใบหน้าเบาๆ ไม่ให้เด็กกลัวการป้อน เริ่มนำจุกยางของขวดนมหรือน้ำสัมผัสริมฝีปาก เหงือกด้านนอกบนล่าง จนเด็กขยับปากดูด จึงเทหยดนมหรือน้ำจากขวดให้เด็กดูดนำเข้าปาก แล้วตามด้วยนำขวดเข้าไปในปาก แต่ไม่ต้องเทลงไป ให้เด็กฝึกดูดเอง เราช่วยดัดกระพุ้งแก้มของเด็กทีละข้างในกรณีที่มีการอมนมหรือน้ำ เราช่วยกดมุมปากของเด็กสองข้างในกรณีที่มีการดูดเร็วเกินไป ทั้งนี้นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยตรวจประเมินความสามารถในการดูดกลืนของเด็กอย่างละเอียดและมีเทคนิคเพิ่มเติม เช่น การกระตุ้นกลไกการป้องกันการสำลัก-การไอ-การกลืนที่สัมพันธ์กับระบบการหายใจ-การขับถ่ายด้วย
  • เราต้องเตรียมความพร้อมของเด็กในการเคลื่อนไหวแขนขา เช่น จัดท่านั่ง ยืดกล้ามเนื้อ และแนะนำให้เด็กเรียนรู้การเคลื่อนไหว ไม่ควรให้สิ่งเร้ามากกว่าหนึ่งอย่างในขณะที่เด็กเรียนรู้การเคลื่อนไหว เช่น ส่งเสียงบอกเด็กในขณะที่ปิดเสียงดนตรี เปิดเสียงดนตรีผ่อนคลายในขณะที่เงียบสังเกตและจับศรีษะของเด็กให้มองตามการเคลื่อนไหว เป็นต้น ไม่ควรจัดท่าทางและการเคลื่อนไหวรูปแบบเดียว เช่น ควรเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้และเราช่วยจับศรีษะขณะอุ้มหันหน้าสำรวจสิ่งแวดล้อม ขณะนั่งจากท่านอนหงายสู่ท่าตะแคงสู่ท่านั่งขัดสมาธิ/ท่าพับเพียบพร้อมฝึกสวมใส่-ถอดเสื้อ-กางเกง เป็นต้น
  • การจัดสิ่งแวดล้อมในการเปิดเพลง การเปิดไฟ การจัดเบาะ การจัดของเล่นทีละอย่าง การฝึกกับผู้ปกครองหนึ่งท่านอย่างใจเย็น และการสังเกตช่วยเหลือเด็กแบบไม่บังคับและรู้จักปรับท่าทางการเคลื่อนไหวของเด็กอย่างลึกซึ้ง เช่น เด็กยิ้มฟังดนตรี แล้วพยายามเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนด้วยวิธีการไถซีกร่างกายที่แข็งแรงกว่าไปบนเบาะ เราต้องค่อยๆ จัดท่าแขนขาอย่างนุ่มนวล เพิ่มการเรียนรู้ของเด็กในการพลิกตัวและคีบแทนการไถลำตัว เป็นต้น

โปรแกรมกิจกรรมบำบัดควรปรับเปลี่ยนความง่ายถึงท้าทายความสามารถของเด็กในระดับรู้สึกตัวและเป็นธรรมชาติในแต่ละครั้งของการนัดหมายมาให้บริการ หากโปรแกรมมีรูปแบบซ้ำซากและไม่มีการประเมินผลความก้าวหน้าของโปรแกรมและการพัฒนาของเด็ก ก็เปรียบเสมือนกิจกรรม กระบวนการ และวิธีการ ที่บำบัดไม่ได้ตามกฎหมายการแสดงบทบาทที่ดีของนักกิจกรรมบำบัด   

หมายเลขบันทึก: 390423เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2010 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ผมอยากแนะนำให้ผู้สนใจอ่านบันทึกความรู้เพื่อการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางระบบประสาทที่

http://gotoknow.org/blog/otpop/350037 (ตอนที่ 1)

http://gotoknow.org/blog/otpop/350038 (ตอนที่ 2)

หากมีคำถามใดๆ เชิญปรึกษาฟรีที่ ดร.ป๊อป อีเมล์ [email protected]

ขอบันทึกความก้าวหน้าของน้องรายหนึ่งจากอีเมล์ของคุณแม่

ดีใจกับคุณแม่และญาติของน้องออมสินด้วยครับ ค่อยๆ ลดเกร็งก่อนฝึกการทำงานของแขนขาในกิจกรรมการเล่นทุกครั้ง เพื่อให้น้องออมสินรู้สึกมีความสุขในการเรียนรู้ความสามารถของเขา

ขอบคุณมากครับที่ส่งข่าว

อ.ป๊อป

--------------------------------------------------------------------------------

From: xxxxxx

To: aaaaa

Subject:

Date: Mon, 13 Sep 2010 03:53:47 +0000

เรียนดร.ป๊อบ ที่เคารพ

จากที่วันนั้นน้อง อ.ไปทำกิจกรรมบำบัดกับดร.นี้ก็ประมาณอาทิตย์กว่าๆสังเกตุว่าเวลาน้องอ.นั้งรถกลมๆจะตั้งคอได้มากกว่าเดิมแต่ถ้าอุ้มถ้านั้งคอจะไม่ค่อยตั้งเท่าไหร่แต่ก็ตั้งบ้างเป็นบางครั้ง แต่อาการเกร็งก็ยังมีตลอดเป็นระยะ ส่วนการจิกเท้าก็ยังมีอยู่ค่ะ ตอนนี้ก็จะนวดเขาทุกวันแต่ก็ไม่จะทำบ่อยๆในช่วงเย็นตอนกลับบ้านค่ะ น้องจะชอบเล่นกับลูกบอลลากค่ะเวลาเอานั้งกับลูกบอลจะยิ้มชอบมากเลยค่ะ

ขอบันทึกความก้าวหน้าของน้องรายหนึ่งจากอีเมล์ของคุณแม่ฉบับที่ 2

เรียน คุณแม่น้องอ.

ถ้าคุณแม่จำได้ ที่ผมแนะนำให้คุณแม่เข้าไปกอดและห่มผ้ารอบตัวน้องขณะที่ร้องตกใจและเกร็ง แล้วเปิดเพลงผ่อนคลายที่น้องชอบ ก็จะเกิดอุณหภูมิที่อุ่นรอบตัวน้องพร้อมเสียงที่ผ่อนคลายก็จะช่วยลดเกร็งระดับหนึ่ง จากนั้นคุณแม่ต้องทำท่าลดเกร็งยืดแขนหรือขาทีละข้าง และทำท่าอื่นๆ ที่เคยสอนไปแล้ว เช่น กลิ้งตัว กระตุ้นให้ลงน้ำหนักจากท่านอนหงายมาตะแคงมานั่ง เน้นงอขาเพื่อลดเกร็งเหยียด และเน้นเหยียดแขนเพื่อลดเกร็งงอ สำหรับการอุ้มต้องค่อยปรับท่าที่เคยสอนไปและสังเกตว่า ถ้าเด็กเกร็งเล็กน้อยก็อยู่นิ่งสักครู่ก็จะคลายเอง ใจเย็นๆ และค่อยๆ ฝึกอย่างต่อเนื่องนะครับ

โชคดีครับ

อ.ป๊อป

--------------------------------------------------------------------------------

From: xxxxxxxxxxxx

To: bbbbbbbb

Subject: FW:

Date: Tue, 14 Sep 2010 08:23:59 +0000

เรียนอ.ดร.ป๊อบที่เคารพ

อ.ค่ะการลดเกร็งก่อนฝึกการทำงานของแขนขาทำอย่างไรค่ะใช่การเอาผ้ามาคลุมให้อุ่นๆแล้วก็กอดเขาเปิดเพลงที่เขาชอบให้ฟังใช่มั้ยค่ะเพราะสังเกตุว่าเวลาที่ฝึกน้องเขาทำกิจกรรมทำไปนานๆจะรู้สึกเหมือนกับว่าน้องจะคอยเกร็งนะค่ะ แล้วถ้าบางครั้งเราอุ้มผิดท่าจะรู้สึกเหมือนเขาจะคอยเกร็งขอคำแนะนำเพิ่มเติมหน่อยนะค่ะเกี่ยวกับการลดเกร็งที่อ.บอก

ขอแสดงความนับถือนะค่ะ

แม่น้องอ.

ขอบันทึกความก้าวหน้าของน้องรายหนึ่งจากอีเมล์ของคุณแม่ฉบับที่ 3

From: XXXXXXXXXXXX

To: BBBBBBBBBBB

Subject: ขอบคุณมากนะค่ะ

Date: Wed, 15 Sep 2010 03:15:50 +0000

เรียนอ.ดร.ป๊อบที่เคารพ

ขอบคุณมากนะค่ะสำหรับคำแนะนำจะทำตามอยางต่อเนื่องนะค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

แม่น้องอ.ค่ะ

วันนี้คุณแม่ ก. ได้พาน้อง ภ. มาตรวจประเมินการพัฒนาของเด็กหลังจากฝึกโดยพ่อแม่หนึ่งเดือนของการได้รับโปรแกรมกิจกรรมบำบัดเพิ่มทักษะการดูดกลืนอาหาร เพิ่มความรู้สึกสัมผัส ข้อต่อ และความตื่นตัวบนบอล เพิ่มการทำท่าทางลดเกร็งบ่อยขึ้น เพิ่มการนั่งตั้งคอขณะป้อนนมด้วยช้อน (ลองกระตุ้นการดูดด้วย) และเพิ่มการอุ้มและนั่งเล่นคอหลังตรงพร้อมอุปกรณ์ที่มีแสง

ปรากฎว่า น้อง ภ. เกร็งแขนลดลง แต่ยังคงเกร็งขามากอยู่ น้องยังคงดูดกลืนปากแบบอัตโนมัติเลยควบคุมการดูดจุกนมแบบตั้งใจไม่ได้ เลยแนะนำให้ทานนมและอาหารเหลวด้วยช้อน ซึ่งดูดจากช้อนได้ดีขึ้น น้องยังคงมองไปด้านขวามากกว่าด้านซ้ายด้วยสาเหตุปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติจากสมอง น้องมีการมองตามแสงไฟในที่มืดได้ดีขึ้น แต่ที่บ้านฝึกได้น้อยเพราะผู้ปกครองติดงาน เลยรู้สึกว่า เห็นผลการพัฒนาเด็กที่ช้า

ผมจึงตรวจและแนะนำการกระตุ้นท่าตั้งคอขึ้นลงน้ำหนักบนแขนจากท่านอนหงาย และค่อยๆ ปรับลงน้ำหนักบนฝ่ามือ แล้วจับไหล่สองข้างพร้อมยืดตัวขึ้นแล้วโยกหน้าหลังให้คอตั้งตรงและมีการจ้องมองที่ตื่นตัว และสอนผู้ปกครองจับเด็กงอสะโพกลงน้ำหนักกดเข่าลงฝ่าเท้าทีละข้างแล้วยกงอขาเข้าหาลำตัวเพื่อกระตุ้นให้ถีบเท้าออกมาในท่านอนหงาย

และกระตุ้นการลงน้ำหนักทีละข้อต่อตั้งแต่พลิกตัวไปด้านซ้าย (ดันตรงกระดูกลำตัวขวาที่โค้งงอเกินไป) งอสะโพกและแตะเข่าบนเบาะ พร้อมลงน้ำหนักฝ่ามือขวา จากนั้นย้ายกดน้ำหนักลงฝ่ามือซ้ายที่คว่ำเหนือมือขวา แล้วจับไหล่ยกตั้งในท่าคลานลงน้ำหนักสองมือ งอเข่าสองข้าง ค้างไว้โดยประคองดันซีกขวาที่แข็งแรงไปทางซีกซ้ายที่อ่อนแรง

ในกรณีที่บ้านไม่มีคนฝึกกิจกรรมบำบัดแบบนี้ ซึ่งจำเป็นต้องฝึกบ่อยครั้ง ควรจัดเก้าอี้แบบพิเศษ ซึ่งผมประสานงานให้ผู้ปกครองคุยกับช่างประดิษฐ์แล้ว

ติดตามผลอีกหนึ่งอาทิตย์ข้างหน้า

ติดตามผลกับคุณแม่น้อง อ. พบว่า มีอาการเกร็งกระตุกบ่อยครั้งขณะสอนการบ้านต่อจากคราวที่แล้ว เลยแนะนำให้จัดท่างอตัวแล้วอยู่ในอ้อมกอดของผู้อุ้มในท่านั่งงอตัวพร้อมเด็ก รอกระตุกลดลงก็อุ้มพาดบ่าชิดคอผู้อุ้มแล้วลูบจนเด็กไม่กระตุก หากร้องจนกระตุกก็อุ้มโยกไปมาช้าๆ ให้เด็กผ่อนคลาย

เด็กมีการพัฒนามองตามและดูดปากได้ดีขึ้น แต่ยังเกร็งงอแขนและคอยังอ่อนแรง (ดีขึ้น 10% จากหนึ่งเดือนที่แล้ว)

จึงแนะนำท่าฝึกคอตั้งในท่าขัดสมาธิพร้อมยกแขนเหยียดมือชูเหนือศรีษะทีละข้าง ยกสลับแตะกับเข่าตรงกันข้าม อุ้มจับงอตัวและเหยียดตัวคอตั้งขึ้น กระตุ้นกลิ้งตัวแขนเหยียดขาตรงข้ามแขนให้งอแบบช่วยจับร่างกายช่วงบนโดยไม่บังคับลงน้ำหนัก ทำต่อเนื่องกันในช่วงที่เด็กไม่กระตุกและหลังทานยาลดเกร็ง

เมื่อตื่นนอนให้จับคว่ำบนบอล มีท่าที่จับสะโพกโยกบอลซ้ายไปขวาและตรงกลาง มีท่าที่จับแขนเหยียดไปข้างหน้าพร้อมแบมือและโยกบอลไปข้างหน้า และมีท่าที่จับแขนเหยีดแบมือโยกบอลไปข้างหน้าค้างไว้แล้วโยกบอลไปข้างหน้าและมาข้างหลังพร้อมจับขาสองข้างเหยียด

สงสัยถึงการใช้พลังงานทีหมดไปเร็วของเด็ก จึงทราบว่า กลไกการทำงานระบบสสารในร่างกายที่เชื่อมโยงกับเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทไม่ดีพอ เด็กน่าจะปรับทานโปรตีนเพื่อสำรองพลังงาน แยกจากทานคาร์โบไฮเดรต 1 ชม. เพื่อการสงวนพลังงานอย่างเหมาะสม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการต่อไป

ติดตามผลในหนึ่งเดือนข้างหน้า

ผมได้เรียนปรึกษา อ.ชนิดา อาจารย์มีประสบการณ์โภชนาการบำบัด แนะนำว่า เด็กที่มีความผิดปกติของการเผาพลาญพลังงานในร่างกายด้วยสาเหตุความบกพร่องของเกลือแร่ในร่างกาย ควรต้องเพิ่มความเข้มข้นของอาหารมากกว่าปกติ เพื่อให้เด็กได้สำรองใช้พลังงานได้พอเพียง เช่น นมที่เพิ่มจำนวนช้อนมากขึ้นให้พร้อมโปรตีนและเกลือแร่ เป็นต้น

ขอบันทึกความก้าวหน้าของน้อง อ. ดังนี้

From: PPPPPPP

To: aaaaaaa

Subject: RE:

Date: Wed, 20 Oct 2010 10:23:51 +0700

เรียนคุณแม่น้องอ.

เน้นฝึกยืดแขนขาก่อนทำกิจกรรมทุกครั้ง และถ้าสังเกตเห็นน้องเกร็ง ให้ลองค่อยๆจับน้องทำกิจกรรมอย่างช้าๆ อย่าหยุดทำกิจกรรมทันที เพราะจะทำให้น้องไม่ได้เรียนรู้การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

เท่าที่ดูรูป น้องอ. ตั้งคอและลำตัวได้ดีขึ้น แต่ต้องพยายามลูบหลังมือน้องทั้งสองข้างให้แบมือด้วย เพราะยังคงเกร็งมากอยู่

ขอให้กำลังใจคุณแม่จน้องอ. และครอบครัว และขอให้น้องอ.มีการพัฒนาที่ดีขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

อ.ป๊อป

--------------------------------------------------------------------------------

From: aaaaaaa

To: PPPPPPP

Subject:

Date: Wed, 20 Oct 2010 03:04:37 +0000

เรียนอาจารย์ ป๊อบที่เคารพ.

ตอนนี้ทางเราก็ทำกิจกรรมให้กับน้องอ. ทุกวันเลยค่ะแต่ทำมากไม่ได้เพราะเวลาทำมากน้องอ. จะเกร็งค่ะ

ส่งรูปตอนทำกิจกรรมที่บ้านมาให้ดูด้วยค่ะ

ขอแสดงความนับถือ

แม่น้องอ. ค่ะ

ขอบคุณครับคุณ Notto

ขอบคุณโครงการดีๆๆของดร ป๊อบนะค่ะ มันเป็นดครงการที่ดีมากเพราะโครงการนี้ทำให้น้องออมสินดีขึ้นถึงแม่จะช้ากว่าเด็กคนอื่นๆๆในรุ่นเดียวกัน แต่ดร.ก้อทำให้ออมสินดีขึ้น ขอบคุณมากๆๆนะค่ะ

เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๕ มีโอกาสจัดกิจกรรม โครงการ หมออาสามาหานะเธอ ที่เกาะสมุย ได้รับการสนับสนุนจาก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี..........สามารถเยี่ยมชมรายละเอียดได้ที่เพจ ชมรมเพื่อนสมุย(อาสาพัฒนาคนพิการทุกประเภทเกาะสมุย) น้ะค้ะ

ยินดีและเป็นกำลังใจให้กับคุณกัญญวรรณ จันทน์ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท