ทำอย่างไรจึงเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเสร็จใน ๑๐ วัน?


"เมื่อเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนอะไร ก็ให้ลงมือเขียนไปเลย ยังไม่ต้องสนใจภาษาว่าจะผิดจะถูก จะเขียนได้ดีหรือไม่ดี เขียนเอาความคิดออกมาก่อน เขียนไปให้จบเท่าที่ความคิดมันจะแล่นไป"

 

ผมเขียนบันทึกเรื่อง ทำอย่างไรจึงจะรักคนที่เรารู้สึกไม่ชอบ?
(http://gotoknow.org/blog/inspiring/389133) ในบล็อกนี้เมื่อวาน
โดยอ้างถึงหนังสือชื่อ โลกสดใสเมื่อคนไข้กับหมอปฏิบัติต่อกันฉันมนุษย์
ที่ผมเขียนในสไตล์ “เรื่องเล่า”

หนังสือเล่มนี้เกิดจากการเล่าเรื่องการเข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อนของผม
ที่ผมเขียนลงในเว็บบล็อกนี้เป็นตอนๆ ภายใต้ชื่อเรื่อง สุขใจเมื่อไปขึ้นเตียงผ่าตัด
(คลิกไปอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/inspiring/321431)  
นักเขียนบล็อก (blogger) เรียกกันว่า Book from Blog แปลว่า หนังสือจากบล็อก
ซึ่งปัจจุบันทำกันเยอะ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ในเมืองไทยเราก็มีไม่น้อย

มิตรคนหนึ่งเป็นอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.มหิดล ถามผมว่า
ผมใช้เวลาเขียนหนังสือเล่มนี้นานเท่าไร
ผมตอบว่า ๑๐ วัน เพราะผมเข้ารับการผ่าตัดวันที่ ๑๔ ธ.ค.๕๓
หมอให้กลับมาพักฟื้นที่บ้านวันที่ ๑๖ ธ.ค.๕๓
ผมเริ่มค่อยๆ ทะยอยเอาที่โน๊ตไว้มาเขียนใส่ในบล็อกวันละตอน
เพราะยังไม่อยากนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ
วันที่ ๒๕ ธ.ค.๕๓ ตรงกับวันคริสต์มาส เป็นวันสุดท้ายที่ผมทะยอยเอาไปใส่จนหมด

อีกทั้งเรื่องในบันทึกนั้น มีเรื่องของ “ความรู้สึก” เกี่ยวข้องอยู่มาก
เรื่องของความรู้สึกนี้อยู่ในความทรงจำผมได้ไม่นานเท่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์
นอกจากนี้ เรื่องของความรู้สึกนี้ เขียนขณะยังสดๆ อยู่ จะถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่า
หากทิ้งไว้จนแห้งแล้ว ถ่ายทอดออกมาก็จะแห้งตามไปด้วย ไม่มีชีวิตชีวา
เมื่อไม่มีชีวิตชีวา ก็ไม่มีเสน่ห์ และไม่มีพลัง
กลายเป็น “เรื่องเล่าที่ไม่เร้าพลัง”

อ.เสรี พงศ์พิศ ผู้อำนวยการสถาบันที่ผมทำงานอยู่ สอนวิธีเขียนหนังสือให้พวกเราว่า
เมื่อเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนอะไร ก็ให้ลงมือเขียนไปเลย
ยังไม่ต้องสนใจภาษาว่าจะผิดจะถูก จะเขียนได้ดีหรือไม่ดี
เขียนเอาความคิดออกมาก่อน เขียนไปให้จบเท่าที่ความคิดมันจะแล่นไป
เรื่องความสละสลวยของภาษา รวมทั้งการสะกด ค่อยตกแต่งเอาทีหลังได้
หรือจะเพิ่มจะตัดเนื้อหา เพิ่มตัวอย่าง หรืออะไร ทำทีหลังก็ได้
ผมก็ได้หลักที่ท่านให้มาปฏิบัติ ซึ่งก็เวิร์กมากครับ
ทำให้เขียนอะไรได้เร็ว

ท่านยังสอนพวกเราว่า เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชีวิตต้องเป็น “นักเล่าเรื่อง”
และต้องฝึก “เล่าให้เป็น” ด้วย

การเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวันของผม
จึงเป็นการฝึกเล่าเรื่องตามที่ท่านแนะ

เราแต่ละคนมี “เรื่องราว” ผ่านเข้ามาในชีวิตทุกวัน
หากฝึกเป็นคนช่างสังเกตเสียหน่อย ก็จะมีเรื่องอะไรต่อมิอะไรให้เขียนเยอะแยะไปหมด
หากเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเราไม่อยู่สถานที่และเวลาที่จะเขียนได้ทันที
ก็จด “หัวข้อความคิด” ไว้ก่อน แล้วเขียนทันทีที่มีโอกาส
ผมจึงมีสมุดพกเล็กๆ กับปากกาสำรองไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกงเสมอ
เอาไว้จดหัวข้อความคิด หรือเรื่องย่อไว้ก่อน

เวลาจะเขียน ผมมักจะเขียนเฉพาะหัวข้อสั้นๆ ลงในกระดาษก่อน
จากนั้นเขียน(พิมพ์)จากความคิดเป็นตัวหนังสือลงเครื่องทางคีย์บอร์ดเลย
บางเรื่องก็เขียนไว้อ่านเอง เพราะมีบางเรื่องที่เราไม่อยากให้คนอื่นอ่าน

มีบ่อยครั้งที่ตั้งใจเขียนแล้วลืม หรือมีงานอย่างอื่นมากจนไม่มีโอกาสเขียน
ผมก็ไม่ห่วงหาอาวรณ์อะไร ปล่อยมันไป โลกไม่ได้แตกซักหน่อยถ้าไม่เขียนเรื่องนั้น
อีกทั้ง เดี๋ยวเรื่องใหม่ก็มาอีก มาทุกวันจริงๆ

ตัวอย่างเช่น เรื่องที่ผมเกิดสังเกตเห็นมือตัวเองเอื้อมออกไปจะแย่งภาพถ่ายจากมือภรรยามาดู
เหตุการณ์การเคลื่อนของมือแค่เสี้ยววินาทีนั้น มันกลับนานมากในความรู้สึกของผม
เหมือนภาพสโลว์โมชั่นในหนัง ทำให้ผมหยุดมือตัวเองไว้ได้
ผมเข้าใจว่าในภาษาพระเรียก การตื่นรู้ที่จู่โจมเราอย่างไม่ทันตั้งตัว
ทำให้ผมค่อยๆ ลดมือตัวเองลง แล้วเปิดใจฟังเธอเล่าความประทับใจในภาพนั้นอย่างใส่ใจ
เกิดการฟังคนที่เรารักทั้งตัวทั้งใจโดยไม่มีคำพูดใดๆ มีแต่ภาษาท่าทางที่สื่อออกไป
โดยเธอเองก็ไม่มีทางรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในจิตใจผม
แต่ผมก็สังเกตได้ว่า เธอรู้สึกดีที่ผมเอาใจใส่เข้าไปร่วมในประสบการณ์ที่เธอเล่านั้น
(อ่านเรื่องนี้ได้ใน http://gotoknow.org/blog/inspiring/317170)

หากหมั่นสังเกตตนเองและสิ่งรอบตัว แค่เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันเรื่องเดียวนี้
ก็สามารถเขียนออกมาเป็นเรื่องเป็นราวได้แล้ว
และก็สามารถเขียนได้เร็วด้วยโดยเทคนิคดังกล่าว.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๓ 

หมายเลขบันทึก: 389519เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2010 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ ไม่ได้เขียนมานานตอนนี้มันตื้อๆเขียนไม่ค่อยออกค่ะ..ต้องเคาะสนิมสมองซักหน่อยละ

สวัสดีค่ะ

เขียนเร็วจังค่ะ

ที่ดิฉันเขียนเร็วที่สุด คือ 2 สัปดาห์ (แต่อันที่จริงคือบางส่วนเขียนและเผยแพร่ไปแล้ว เพียงแต่จับมารวมกัน และเขียนเพิ่มเติม)

มีดอกไม้มาเป็นกำลังใจค่ะ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ครับ สำหรับเทคนิคดีๆครับ 

ตอนนี้ผมมีเนื้อหาที่เตรียมจะเขียนออกมาเป็นหนังสืออยู่ชุดหนึ่ง อาจต้องรีบที่จะ "ปล่อยของ" เรียบเรียงออกมา ปล่อยให้เนิ่นนานไปความรู้สึกก็เหมือนจะจางหายไปด้วย

กระผมชอบหนังสือ "โลกสดใส..." ครับ เป็นเล่มหนึ่งที่ได้รับในช่วง HA Forum ปีที่ผ่านมาครับ

 

น่าสนใจมากค่ะ เห็นด้วยค่ะ เคยแล้วที่ว่าความรู้สึกมันแห้งไป ทำให้ขาดแรงบันดาลใจที่จะเขียน ขอบคุณนะคะสำหรับเรื่องเล่าดีๆ เสียดายมากที่ไม่ได้ฟังอาจารย์ วันที่8กันยายนที่อาจารย์จะไปพูดที่รามาธิบดี พอดีดิฉันต้องไปชวนเพื่อนพยาบาลที่พิษณุโลกให้สอนด้วยใจ พอดี เสียดายมากค่ะ

ขอบคุณสำหรับแรงบันดาลใจค่ะ เพราะหนูกำลังจะเขียนงาน แต่เขียนไม่ออก ไม่ลื่นไหล ได้แนวคิดจากอาจารย์ ทำได้แล้วค่ะ

           ผมได้อ่าน "นิทานอีสป เรื่องมด" ผมเห็นว่ามีประโยชน์ปลูกจิตสำนึกได้ดีจึงอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนด้วย ความว่า การบริหารคน เป็นศิลปะ ลึกซึ้งเกินกว่าจะมองเพียงด้านเดียว นิทานอีสปเรื่องจริงที่พบได้ในองค์กรคุณ Dr.pakorn suwanprapa การบริหารคน เป็นศิลปะ ลึกซึ้งเกินกว่าจะมองเพียงด้านเดียวนิทานอีสปเรื่องจริงที่พบได้ในองค์กรคุณ

            Dr.pakorn suwanprapaผมเป็นนักทรัพยากรมนุษย์ก็็หลายปี เห็นอะไรขำขำ มาก็มาก ผ่านการพัฒนาองค์กรมานับครั้งไม่ถ้วน แก้ปัญหาด้านแรงจูงใจของพนักงานมาก็มากมาย แต่ทราบมั้ยครับว่าอะไรเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้พนักงานหมดศรัทธากับองค์กร จนเป็นคนที่หมดไฟ เป็นไม้ตายซาก (Deadwood) ขององค์กร ลองดูนิทานอีสป เรื่องนี้กันครับทุกๆวันมดตัวน้อยมาทำงานแต่เช้า และลงมือทำงานทันทีเธอสร้างผลงานมากมาย และเธอก็มีความสุขกับงานดีสิงโตที่เป็นหัวหน้า ก็รู้สึกแปลกใจที่เธอทำงานได้ดีโดยไม่ต้องมีการควบคุมสิงโตเลยคิดใหม่ทำใหม่ โดยใช้แนวคิดว่าขนาดไม่มีหัวหน้าดูแลยังทำงานดีเช่นนี้แล้วถ้ามีหัวหน้า เธอต้องทำงานดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย สิงโตจึงจ้าง แมลงสาบมาเป็นหัวหน้ามดและแมลงสาบมีความสามารถมากในเรื่องการเขียนรายงานแมลงสาบ เริ่มด้วยการตั้งระบบลงเวลาทำงาน โดยการตั้งเครื่องตอกบัตรแมลงสาบต้องการเลขามาช่วยเขียนและพิมพ์รายงานแมลงสาบจึงจ้าง แมงมุมมาเป็นเลขาส่วนตัวสิงโตปลื้มกับการทำงานของแมลงสาบมากที่ให้รายงานและแนวโน้มต่างๆจากรายงานที่ส่งทำให้สิงโตได้หน้า เพื่อการนี้ แมลงสาบจึงขอซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์เพื่อการทำงานให้สิงโตแน่นอนต้องมี แผนก IT เขาจึงจ้างแมลงวันมาเป็น IT manager แต่มดเบื่อกับระบบงานแบบใหม่มากเพราะมัวแต่รายงาน งานเอกสารมากมาย และการประชุมที่แสนเสียเวลาและแล้วก็ถึุงเวลาที่ต้องเลือกหัวหน้าแผนกที่มดทำงานอยู่แต่ตำแหน่งนี้ตกเป็นของ จั๊กจั่น จั๊กจั่นทำงานชิ้นแรกคือ สั่งซื้อ พรม อุปกรณ์การยศาสตร์ เช่นเก้าอี้ใหม่ในสำนักงานของเขาเอง จั๊กจั่นต้องการเครื่องใช้สำนักงานและผู้ช่วยจากแผนกเดิมเพื่อเตรียมงบประมาณและแผนกที่มดทำงานก็เป็นแผนกที่โศกเศร้า ไร้เสียงหัวเราะ ทุกคนในแผนกก็หัวเสียง่าย จั๊กจั่นของบทำการสำรวจ ศึกษา สภาพการทำงานที่เหมาะสม สิงโตก็เห็นด้วยว่าที่แผนกมด ทำงานได้แย่ลงจึงจ้างนกฮูกเข้ามาเป็นทีปรึกษาเพื่อศึกษาวิธีการที่จะเพิ่มผลิตภาพ นกฮูกสรุปว่า ที่แผนกของมดมีการจ้างคนมากเกินไปเลยทำให้ผลิตภาพไม่ดีเดากันนะครับว่าใครจะถูกปลดออกเป็นคนแรก มดนั่นเอง เพราะที่ปรึกษาบอกว่ามดเป็นคนที่ไร้แรงจูงใจ และทัศนคติไม่ดี ตัวละครทั้งหมดล้วนแต่สมมุติขึ้นทั้งนั้นครับคงคุ้นๆนะครับ เรื่องนี้ มีจริงในหลายองค์กร ระบบงานที่ดูเหมือนดี และน่าจะมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล แต่คนดำเนินการไม่มีความคิดรวบยอดเข้าสู่เป้าหมายหลักขององค์กร จนทำให้คนที่ตั้งใจทำงานจริงๆ กลายเป็นจำเลยไปในที่สุด ถ้าเป็นพนักงานขาดแรงจูงใจด้วยสาเหตุดังนิทานข้างต้น มันแก้ยากครับ ถ้าอยากให้มดกลับมาทำงานดีดังเดิม ก็ต้องให้สิงโต พิจารณาตัวเองครับ
ว่าแต่ท่านเป็นสัตว์ชนิดไหนในนิทานครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท