เมื่อวันที่ 9/9/48 น้ำไปเยี่ยมดูกิจกรรม "HA สัญจร" ที่จัดขึ้น ณ โรงพยาบาล ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา (ไปคนเดียว คุณธวัช ป่วยการเมือง (ล้อเล่น)) ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นวงคุณภาพรพ.อีกวงหนึ่งที่มีเป้าหมายในปีแรกว่าจะสัญจรไปใน 5 รพ. (เป็น5 รพ.ที่คาดว่าเมื่อใช้กระบวนการkm เข้ามาใช้แล้วน่าจะกระตุ้นให้ผ่านการประเมินฯ ได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ในกิจกรรมสัญจรไปในแต่ละครั้ง "เจ้าภาพ" จะเป็นผู้กำหนด "ประเด็น" แลกเปลี่ยนเอง รูปแบบที่เห็น ก็คือเจ้าภาพจะนำเสนอเรื่องที่แลกเปลี่ยนก่อน โดยวันที่น้ำไป เขาแลกเปลี่ยนกันในเรื่อง การบริหารจัดการความเสี่ยง ผู้ป่วย MI, MD,และงานในศูนย์ประสานฯ พอเจ้าภาพนำเสนอเสร็จ....(ซึ่งการเล่าแบบนี้น้ำคิดว่ามันเป็นการทบทวนตัวเองอย่างหนึ่ง)คำถามที่ได้ยินไม่ขาดคือ ...รพ.อื่นมีวิธีไหน ทำอย่างไร ช่วยแนะนำ หรือเล่าให้เราฟังหน่อย ...
จากนั้นช่วงบ่ายก็จะไปดูของจริงเหมือนทัวร์ในรพ.ภาชี ฝ่ายเจ้าภาพจะเป็นผู้นำทางและให้คำแนะนำ ...นอกจากนี้เมื่อเดินไปถึงจุดไหน เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ ณ จุดนั้นก็จะให้คำแนะนำอย่างละเอียด ตรงนี้ทำให้ผู้มาร่วมแลกเปลี่ยนเห็นภาพ เห็ฯของจริงจากการแลกเปลี่ยนในช่วงเช้าค่ะ ...และ ช่วงนี้น้ำได้เห็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเห็นในตอนที่เข้าไปดูงานในห้องศูนย์ประสานงานการพยาบาล ซึ่งมีแฟ้มเอกสารมากมาย เชื่อไหมว่าเขาให้รพ.อื่นๆ ค้น รื้อ ถ่ายรูป ศึกษาเอกสารได้อย่างเปิดเผย ซึ่งน้ำเห็นมีแฟ้มที่น่าจะเป็นความลับอยู่ด้วย เช่น แฟ้มข้อร้องเรียนก็ถูกวางอยู่ ถามคุณเยาวพร พูลมา หัวหน้าการพยาบาล ก็บอกว่าตั้งแต่KM เข้ามา มีการ ลปรร.กันมาก เรื่องที่ปล่อยให้มีการดูงานแบบไม่หวงความรู้นี้ก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน "เขาอยากดูอะไรก็ให้เขาดูไปเถอะ ยังไงก็เอาไปไม่ได เพราะถ้าไม่เข้าใจเข้าก็เอาไปใช้ไม่ได้ หรือถ้าเขาได้เรียนรู้อะไรไป ก็ต้องเอาไปปรับใช้อยู่ดี ฉะนั้นจึงไม่มีการหวงความรู้กัน" ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่น้ำประทับใจมาก
หลังจากการเดินดูของจริงแล้วก็กลับมาที่ห้องประชุม ซึ่งตามกำหนดการนั้นจะต้องมีการแบ่งกลุ่มย่อย แล้วแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่ไปดูของจริงข้างต้น แต่เนื่องจากฝนตก และเป็นวันหยุด บางรพ.มีภารกิจสำคัญ ทำให้เหลือผู้เข้าร่วมน้อยจนไม่สามารถแบ่งกลุ่มย่อยได้ จึงมีการทำ AAR กันเลย ซึ่งเท่าที่ฟังๆ ก็เป็นคำชมเชยซะส่วนใหญ่ นอกจากนี้ก็มีนพ.ยุทธพงษ์ หรือ อ.ยิ้ม จากรพ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวิทยากรผู้ให้คำแนะนำ
ตอนหลังน้ำถามคุณอารีย์ หรือพี่แขก ตำแหน่งน้ำไม่แน่ใจค่ะ อยู่ สสจ.บอกว่ารูปแบบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละครั้งที่มีการสัญจรนั้น สสจ.จะไม่กำหนด แต่จะให้อิสระกับเจ้าภาพ ในการกำหนดเป้าหมาย และประเด็น รวมทั้งรูปแบบ โดยสสจ.จะคอยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ห่างๆ (ตรงนี้มีคุณประกิจ ทำหน้าที่คุยกระตุ้นได้ดีค่ะ) และมีงบประมาณมาให้เท่านั้น ส่วนสิ่งที่สสจ.คาดหวังก็ไม่สูงเกินจริง คุณอารีย์บอกว่าต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการนำความรู้ไปใช้ได้จริงก็พอแล้ว
(ส่วนข้างล่างนี้เป็นส่วนหนึ่งในบทความที่น้ำเขียนลงในหนังสือ "นานาการจัดการความรู้"ค่ะ)
คุณประกิต นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า ได้แนวคิดจากการไปร่วมงานที่บ้านภู่หว่าน แล้วกลับมามองย้อนดูในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของกลุ่มโรงพยาบาลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีอยู่เดิมแล้วว่า ที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนกันก็จริง แต่ไม่ค่อยได้อะไรจากการแลกเปลี่ยน ประกอบกับนพ.อนุวัฒน์ ผอ.พรพ.เข้ามาจัดอบรมเรื่องการจัดการความรู้ให้ ทำให้เรื่องการนำ การจัดการความรู้มาใช้ง่ายขึ้น โดยเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสสจ.พระนครศรีอยุธยา จะถูกแบ่งออกกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามประเด็นที่มักจะไม่ผ่านการประเมิน HA จากพรพ. 5 ประเด็นย่อยๆ ด้วยกัน คือ กลุ่มการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มการเฝ้าระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล กลุ่มการบริหารจัดการความเสี่ยงในโรงพยาบาล กลุ่มดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน (EMS) และกลุ่มองค์กรพยาบาล ซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice,CoP)
ซึ่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใน 5 ประเด็นข้างต้น จะมีสมาชิกที่เป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งจังหวัดรวม 16 โรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลท่าเรือ โรงพยาบาลนครหลวง โรงพยาบาลบางไพร โรงพยาบาลบางบาล โรงพยาบาลบางประอิน โรงพยาบาลบางประหัน โรงพยาบาลผักไห่ โรงพยาบาลภาชี โรงพยาบาลลาดบัวหลวง โรงพยาบาลวังน้อย โรงพยาบาลเสนา โรงพยาบาลบางซ้าย โรงพยาบาลอุทัย โรงพยาบาลอุทัย โรงพยาบาลมหาราช และโรงพยาบาลบ้านแพรก โดยแต่ละชุมชนจะเลือกประธานและเลขาฯ กันเอง พร้อมกับนัดหมายแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบเดือนเว้นเดือนสลับกันไป ส่วนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ส่วนใหญ่จะแลกเปลี่ยนกันด้วยทฤษฎี ขั้นตอนนี้ สสจ.ฯ ได้นำธารปัญญามาเป็นเครื่องมือโดยใช้วิธีตั้งคำถามหลังการประเมินตนเองว่า “ให้ช่วยเล่าหน่อยว่าทำไมถึงประเมินตนเองให้อยู่ระดับนั้นๆ” ทำให้คนเล่าเริ่มเล่าเรื่องโดยที่ไม่นำทฤษฎีมาจับ
นอกจากนี้การนำการจัดการความรู้มาใช้ ยังส่งผลให้เกิดรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใหม่ๆ คือ “HA สัญจร” ซึ่งเกิดจากแนวคิดว่าใน 16 โรงพยาลนั้นมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพน่าจะผ่านการประเมินของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาลในปี 2548 จำนวน 4-5 แห่ง จึงดำเนินกิจกรรม HA สัญจรขึ้นโดยมีแผนจะสัญจรไป 5 แห่งด้วยกัน โดยใช้รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และดูของจริง โดยให้เจ้าภาพเป็นผู้กำหนดเรื่องที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่โรงพยาบาลนั้นๆ ต้องการคำแนะนำ และข้อเสนอแนะจากเพื่อนต่างโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกิจกรรมHA สัญจรนี้ จะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลที่คาดว่าจะผ่านเกณฑ์การประเมินในปี 2548 เท่านั้น แต่จะมีสมาชิกเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้ง 16 โรงพยาบาล มีเพียงสถานที่ที่จะสัญจรไปเท่านั้น ที่มีแผนว่าจะไป 5 โรงพยาบาลในปีแรกก่อน
ที่สำคัญเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกิจกรรม HA สัญจรแต่ละครั้ง จะมีวิทยากรที่มีความรู้มาให้คำแนะนำเสมอ ซึ่งเปรียบเสมือนมีการประเมินย่อยๆ