เมืองชุมพรสมัยรัตนโกสินทร์


เมืองหน้าด่านตั้งแต่สมัยอยุธยา

บทบาทของเมืองชุมพรสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องศึกสงครามอยู่ค่ะ  วันนี้เรามาติดตามกันต่อนะคะ

สมัยรัตนโกสินทร์
รัชกาลที่ ๑ 
เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงแห่งประเทศพม่าได้จัดกองทัพใหญ่มาตีกรุงเทพมหานครทั้งเหนือและทางใต้  โดยแบ่งเป็นหลายทัพ  ที่เกี่ยวข้องกับเมืองชุมพรมีดังนี้
-       ให้เนมโยคุงนรัด ถือพลสองพันห้าร้อยเป็นทัพบกยกมาทางเมืองมฤต  (มะริด)  มาตีเมืองชุมพร  เมืองไชยา  และแก่งหวุ่นแมงญีถือพลสี่พันห้าร้อยเป็นแม่ทัพยกหนุนมาทางหนึ่ง   
-       เมื่อข่าวศึกมาถึงพระนคร  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และสมเด็จกรมพระราชวังบรมมหาสุรสิงหนาทได้มีหนังสือบอกถึงเมืองชุมพร  เมืองถลาง  เมืองกาญจนบุรี  เมืองราชบุรี  เมืองตาก  เมืองกำแพงเพชร  เมืองพิษณุโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองสวรรคโลก  เมืองนครลำปาง  เตรียมรับมือข้าศึก
-       กองทัพพม่ายกยกกองทัพเรือมารออยู่ที่เมืองมฤต (มะริด)  มีแก่งหวุ่นแมงญีเป็นแม่ทัพยกมาทางเมืองกระ  เมืองระนอง  เข้าตีเมืองชุมพรและเผาเมือง จากนั้นยกไปตีเมืองไชยา  โดยแม่ทัพตั้งค่ายอยู่ที่เมืองชุมพร  ขณะนั้นทางกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ส่งกองทัพมาช่วยเนื่องจากติดศึกอยู่ที่กาญจนบุรี
-       สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีรับสั่งให้สมเด็จกรมพระราชวังบรมมหาสุรสิงหนาท เสด็จมายังเมืองชุมพร (ทางทะเล)  เมื่อตั้งค่ายและพลับพลาแล้วสมเด็จกรมพระราชวังบรมมหาสุรสิงหนาท ให้พระยากลาโหมราชเสนา (กองทัพหน้า) ยกทัพบกไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองไชยา  เมื่อตีทัพพม่าที่ไชยาแตกแล้วได้มากราบทูลที่ค่ายหลวงเมืองชุมพร
พ.ศ. ๒๓๓๖  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  โปรดให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกกองทัพไปตีเมืองมะริด  ซึ่งพม่ายึดเอาไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐  โดยกองทัพสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ตั้งอยู่ที่ริมทะเลหน้านอกในแขวงเมืองชุมพร  และโปรดให้หาไม้มาต่อเรือรบจนพอแก่ความต้องการจึงยาตราทัพไปตีเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดต่อไป
พ.ศ. ๒๓๓๘  พม่าได้ยกกองทัพเรือมาตีเมืองถลาง  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดให้เจ้าพระยาพลเทพ  (บุนนาค)  เป็นแม่ทัพยกกองทัพเรือมาขึ้นบกที่เมืองชุมพร  แล้วเดินทัพไปตีกองทัพพม่าที่ยึดเมืองถลางแตกหนีไป  ในคราวนั้นจับพม่าเป็นเชลยได้เป็นจำนวนมาก
รัชกาลที่  ๒

                พ.ศ. ๒๓๕๒ พระเจ้าปดุงแห่งประเทศพม่าได้ส่งกองทัพเรือมาตีเมืองถลาง  และเมืองมะลิวัน (เมืองขึ้นของเมืองชุมพร)  ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ติดเขตแดนพม่า  เมื่อตีเมืองมะลิวันได้แล้วก็เข้าไปตีเมืองระนอง  และเมืองกระบุรี  ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพรได้อีก ๒ เมือง จากนั้นเดินทัพเข้ามาตีเมืองชุมพรได้อีกหนึ่งเมืองและตั้งมั่นอยู่   ณ  เมืองชุมพร    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นแม่ทัพยกไปขับไล่พม่า  เมื่อเดินทางถึงเมืองชุมพรสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์โปรดให้พระยาจ่าแสนยากร (บัว)  เป็นแม่ทัพกองทัพหน้าเข้าตีกองทัพพม่าที่ครองเมืองชุมพรทันที    กองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ตั้งอยู่ที่เมืองชุมพรเป็นเวลานาน  และได้ปราบปรามทำลายกองทัพพม่าจนหมดสิ้นจึงเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร
รัชกาลที่  ๓

                พ.ศ. ๒๓๖๗  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ร่วมกับอังกฤษรบกับพม่า  โดยโปรดให้จัดกองทัพไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ และโปรดให้เกณฑ์กองทัพเมืองชุมพรและเมืองไชยา โปรดให้พระยาชุมพร  (ซุย)  เจ้าเมืองชุมพรเป็นแม่ทัพคุมกองทัพเรือยกไปทางเมืองมะริดและเมืองทวายอีกทางหนึ่งเพื่อขัดตาทัพฟังข้อราชการว่าการศึกจะเปลี่ยนแปรไปอย่างไร  โดยยังมิให้รบกับพม่า    แต่พระยาชุมพรได้คุม
กองเรือรบ  ๙  ลำ ไปจับชาวพม่าที่ปากน้ำทวายมาเป็นเชลยได้  ๔๐๐  คน ซึ่งขณะนั้นอังกฤษตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรี    และเมืองมะริดจากพม่าได้แล้ว    จึงร้องเรียนเข้ามายังกรุงเทพฯ    ว่าพระยาชุมพรไปกวาดต้อนพลเมืองของพม่าซึ่งอังกฤษได้ยึดครองอยู่มาเป็นเชลย  ครั้งนั้นพระยาชุมพรอ้างว่าในระหว่างนำเรือกลับจากลาดตระเวนพบครอบครัวชาวมะริดขอสมัครมาอยู่ด้วย  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สอบสวนข้อเท็จจริงพบว่ามิได้เป็นไปตามที่พระยาชุมพรอ้าง  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดพระยาชุมพรออกจากบรรดาศักดิ์แล้วนำตัวมาไว้ที่กรุงเทพฯ  (พระยาชุมพร (ซุย) ได้ถูกกักบริเวณอยู่ที่กรุงเทพฯ  จนถึงแก่กรรมในรัชกาลที่  ๓)
                เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองและตั้งมั่นอยู่ในเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีเรียบร้อยแล้ว  จึงขอปักปันดินแดนระหว่างสองเมืองที่ตนครอบครองอยู่กับประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีแผนที่แสดงเส้นเขตแดนที่แน่นอน โดยอังกฤษจะถือเอาแม่น้ำกระ (แม่น้ำปากจั่น) เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยคนละครึ่งแม่น้ำทำให้ฝ่ายไทยไม่สามารถยินยอมตามข้อเสนอนี้ได้  เนื่องจากมีเมืองมะลิวัน  ( เมืองมะลิวันเป็นเมืองของไทยที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทำเนียบศักดินาทหารหัวเมืองว่าเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร)  ตั้งอยู่  แต่อังกฤษยังยืนกรานเหมือนเดิม  จึงไม่อาจตกลงกันได้และระงับไปจนสิ้นรัชกาลที่  ๓
                พ.ศ. ๒๓๘๙  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คอซู้เจียง เป็นหลวงรัตนเศษรฐี  ขุนนางนายอากรเมืองระนอง
รัชกาลที่  ๔

                พ.ศ. ๒๓๙๗  เจ้าเมืองระนองถึงแก่กรรม (ในขณะนั้นเมืองระนองยังเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพร)  พระยาชุมพรจึงกราบบังคมทูลว่าตำแหน่งเจ้าเมืองระนองว่างอยู่  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนหลวงรัตนเศษรฐี  (คอซู้เจียง)  เป็นพระรัตนเศษรฐี  ผู้สำเร็จราชการเมืองระนอง  (ผู้ว่าราชการเมืองระนองคนแรก)
พ.ศ. ๒๔๐๕  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองตระ (เมืองกระ)  ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับเมืองชุมพรไปขึ้นกับเมืองระนอง  และโปรดเกล้าฯ  ให้เมืองระนองซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับเมืองชุมพรเป็นหัวเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร
                พ.ศ. ๒๔๐๗ อังกฤษได้รื้อฟื้นเรื่องเส้นเขตแดนมาเจรจากับไทยอีกครั้งหนึ่ง    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้าฯ  ให้พระยาเพชรบุรี  พระยากำแหงสงครามกับพระยาชุมพร  เป็นผู้แทนฝ่ายไทยไปเจรจา โดยให้แนวเขาทางทิศตะวันตกของเมืองกระบุรีซึ่งเป็นทิวจนตกทะเลในอ่าวเบลกอลเป็นเส้นแบ่งเขตแดน  การเจรจาครั้งแรกนี้ไม่สามารถตกลงกันเนื่องจากอังกฤษยืนกรานตามข้อเสนอเดิม  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าว่า ถ้าฝ่ายไทยยืนกรานตามความเห็นเดิมคงตกลงกันไม่ได้  และเพื่อดำรงสัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษต่อไป จึงควรจะประนีประนอมตามที่ฝ่ายอังกฤษเสนอมา   โดยโปรดเกล้าฯ  ให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนฝ่ายไทยทำความตกลงกับฝ่ายอังกฤษ คือ  โปรดให้ถือเส้นเขตแดนของแต่ละประเทศตรงกึ่งกลางแม่น้ำกระ (แม่น้ำปากจั่น)  ไปจนจดทะเลในมหาสมุทรอินเดีย
เมื่ออังกฤษได้การปักปันเขตแดนตามที่ต้องการแล้ว จึงยอมให้ไทยมีอำนาจดำเนินเรื่องผู้ร้ายข้ามแดนได้  และเมื่อจัดทำแผนที่เส้นเขตแดนแล้วเมืองมะลิวันซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำกระบุรี  (แม่น้ำปากจั่น)  ทางตะวันตกของประเทศไทยและเป็นเมืองขึ้นของเมืองชุมพรมาแต่เดิมนั้นได้ตกไปเป็นของอังกฤษตั้งแต่นั้นมา
รัชกาลที่  ๕
                ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว   ได้โปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองหลังสวนออกจากเมืองชุมพรโดยยกขึ้นเป็นเมืองตรีขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร  และได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปกครองแบบใหม่    โดยแบ่งท้องที่เมืองชุมพรออกเป็น  ๑๒   แขวงหรืออำเภอ    คือ  ท่ายาง, ท่าสะเภาบางหมาก,  บ้านนาทุ่ง บ้านตากแดด, บ้านวังไผ่, บ้านนา,  บ้านขุนทิ้ง  (ขุนกระทิง), บ้านบางลึก, บ้านหาดพันไกร, บ้านเสพสี  และบ้านบางสน
พ.ศ. ๒๔๒๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายคอซิมก๊อง  ณ  ระนอง  เป็นพระยารัตนเศรษฐี  ผู้ว่าราชการเมืองระนอง  นายคอซิมเต็ก  ณ  ระนอง  เป็นพระยาจรูญราชโภคากร  ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน
สำหรับตัวเมืองชุมพรนั้นมีการย้ายเมืองหลายครั้งตามการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำชุมพร  สันนิษฐานว่าตัวเมืองเดิมตั้งอยู่แถบวัดประเดิมฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพร  ต่อมาย้ายไปตั้งเมืองที่ท่ายาง  และตำบลท่าสะเภา (ท่าตะเภา)  เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเสด็จประพาสจวนเจ้าเมืองชุมพรที่ตำบลท่าสะเภา (ท่าตะเภา) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ทรงบันทึกไว้ว่า 
“ …หมู่บ้านท่าตะเภาซึ่งเจ้าเมืองตั้งบ้านนั้น  อยู่ข้างฝั่งเหนือไม่เป็นที่ทำเลค้าขาย  ต้องถือว่าที่ท่ายาง
  เป็นที่สำคัญของเมืองชุมพร…”
สำหรับบ้านท่ายางได้บันทึกไว้ว่า 
“…อีกครึ่งเลี้ยวถึงท้ายบ้านท่ายาง  ฝั่งตะวันออกที่บ้านท่ายางนั้น  มีโรงกงสีภาษีรังนกอยู่หมู่หนึ่ง  แล้วมีถนนไปเป็นตลาด  กว้างประมาณ  ๔  ศอก  เป็นดินทรายขี้เป็ด  มีโรงเรือนราษฎร์ค้าขายริมถนน  ๒  ฟากแน่นหนาตลอดไป  มีโรงเตาสุรา  ๒  ข้างถนน  แล้วถึงศาลเจ้าจีน…ตลาดขายของนั้นเป็นร้านชำ   ของเครื่องนุ่งห่ม  เครื่องสอยบ้าง   มีร้านค้าขายเก็บสินค้าเสียเป็นอันมาก..”
                 พ.ศ. ๒๔๓๙  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล  ตั้งเมืองชุมพรเป็นมณฑลชุมพร  มีพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี  (คอซิมก๊อง  ณ  ระนอง) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพรคนแรก
                 พ.ศ. ๒๔๔๐โปรดเกล้าฯ ให้ยุบเมืองปทิว (ประทิว) และเมืองท่าแซะ  เป็นอำเภอขึ้นกับมณฑล ชุมพร  และยุบเมืองตะโกเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอสวี  (เดิมอำเภอสวีเป็นเมืองแต่ถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองหลังสวนในรัชกาลที่  ๕)
                พ.ศ. ๒๔๔๘  ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เมืองชุมพร  และท่วมศาลาว่าการมณฑลชุมพร  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลาว่าการมณฑลชุมพรจากเมืองชุมพรไปตั้งที่บ้านดอน  สุราษฎร์ธานี
                พ.ศ. ๒๔๔๙  โปรดเกล้าฯ  ให้เมืองกำเนิดนพคุณ (บางสะพาน) เป็นอำเภอหนึ่งของมณฑลชุมพร  และให้รวมอำเภอกำเนิดนพคุณเข้ากับเมืองปราณบุรี  (เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบางสะพานภายหลังเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อเมืองปราณบุรีเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว  ได้เสด็จประพาสแหลมมลายูต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๒พ.ศ. ๒๔๔๑, พ.ศ. ๒๔๔๓, พ.ศ. ๒๔๔๘  และ พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยชุมพรเป็นเมืองที่อยู่ในเส้นทางประพาสแหลมมลายูที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว  ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จปร. พร้อมปีที่เสด็จประพาสไว้ตามสถานที่ต่างๆ  ดังนี้  คือ  (เฉพาะในชุมพร)
-          ถ้ำวังนกนางแอ่น  บนเกาะลังกาจิว (ร.ศ. ๑๐๘ / พ.ศ. ๒๔๓๒)
-          เขตต่อระหว่างชุมพรระนอง (ร.ศ. ๑๑๗ / พ.ศ. ๒๔๔๑)
-          ถ้ำเขาเงิน  อำเภอหลังสวน  (ร.ศ.๑๑๗ / พ.ศ. ๒๔๔๑)
รัชกาลที่  ๖

                พ.ศ. ๒๔๕๖   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ  ให้เปลี่ยนชื่อเมืองบ้านดอนเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี    และให้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลชุมพรเป็นมณฑลสุราษฎร์
                พ.ศ. ๒๔๕๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองชุมพร  ระหว่างวันที่  ๑๘  – ๒๑  กรกฎาคม โดยประทับแรมที่พลับพลาเมืองชุมพร
                พ.ศ. ๒๔๕๙  โปรดเกล้าฯ  ให้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย  เปลี่ยนเมืองเป็นจังหวัด  และเปลี่ยนผู้ว่าราชการเมืองเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  เมืองหลังสวนเป็นจังหวัดหลังสวน
รัชกาลที่  ๗

                พ.ศ. ๒๔๖๘  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ทรงประกาศยกเลิกมณฑลสุราษฎร์  และโปรดให้มณฑลต่างๆ ซึ่งอยู่ในการปกครองของมณฑลสุราษฎร์ไปขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช  จังหวัดชุมพรจึงได้ไปขึ้นอยู่กับมณฑลนครศรีธรรมราช  (เป็นเวลา  ๗  ปี)
                พ.ศ.๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบอบเทศาภิบาล  และให้ยุบจังหวัดหลังสวนเป็นอำเภอและขึ้นตรงต่อจังหวัดชุมพร
พ.ศ. ๒๔๗๖  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกระบอบเทศาภิบาล  ยุบมณฑลต่างๆ ทั้งหมด  เหลือเพียงหน่วยจังหวัดเท่านั้น  และให้จังหวัดต่างๆ ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย  จังหวัดชุมพรจึ้งได้ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทยมาจนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๔๘๔  วันที่  ๘  ธันวาคม (ปลายสงครามโลกครั้งที่  ๒)  กองกำลังทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนกำลังจากอินโดจีนเข้าสู่ประเทศไทยทางอรัญประเทศ  และส่วนหนึ่งเดินทางด้วยเรือโดยยกพลขึ้นบกที่สมุทรปราการ  ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  สงขลา  และปัตตานี  ที่จังหวัดชุมพรกองกำลังญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่บริเวณริมทะเลบ้านคอสน  ตำบลท่ายาง  อำเภอเมือง โดยแบ่งกำลังเป็น  ๒  สาย  คือ  สายที่  ๑  เคลื่อนกองกำลังตัดข้ามทุ่งนาสู่ท่านาสังข์  สายที่  ๒  เคลื่อนกองกำลังสู่วัดท่ายางใต้  บริเวณปากคลองท่ายางต่อกับแม่น้ำท่าตะเภาได้ 
กองกำลังญี่ปุ่น ปะทะกับกองกำลังยุวชนทหารหน่วยที่ ๕๒ ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนศรียาภัย บริเวณสะพานข้ามคลองท่านางสังข์ (สะพานท่านางสังข์เป็นสะพานเหล็ก ปัจจุบันเหลือแต่ตอม่อ)  การรบของยุวชนทหารในครั้งนั้นแสดงให้เห็นถึงความรักชาติบ้านเมืองของคนไทยถึงแม้จะเป็นเพียงเด็กนักเรียนก็สามารถร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ในการป้องกันประเทศชาติได้อย่างภาคภูมิใจ
             ในปัจจุบันจังหวัดชุมพรแบ่งการปกครองเป็น  ๘  อำเภอ  คือ  อำเภอเมืองชุมพร  อำเภอหลังสวน  อำเภอสวี  อำเภอท่าแซะ  อำเภอทุ่งตะโก  อำเภอปะทิว  อำเภอพะโต๊ะ  และอำเภอละแม   มีตำบล ๗๐  ตำบล  หมู่บ้าน  ๖๘๓  หมู่บ้าน   มีประชากรทั้งสิ้น  ๔๕๒,๓๑๙  คน  (ข้อมูลปี  ๒๕๔๑)  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  อาชีพทำประมงและเกษตรกรรม

หมายเลขบันทึก: 3871เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2005 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท