ชีวิตที่พอเพียง : 66. ไม่เอาพวก


        เมื่อวันก่อน ศ. ดร. สุภางค์ จันทวานิช เมธีวิจัยอาวุโส สกว. บอกว่า ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และอดีตกรรมการนโยบาย สกว. ชุดแรก เคยพูดว่ากุญแจของความสำเร็จของ สกว. คือการที่ได้ผมมาเป็น ผอ. คนแรก    และผมเป็นคนไม่มีพวก ไม่เล่นพวก     นี่เป็นมุมมองเชิงสรรเสริญ

        ผมเคยได้รับคำวิจารณ์มามาก โดยเฉพาะจากคนที่ มอ. ว่าเป็นคนไม่เอาพวก    นี่เป็นมุมมองเชิงตำหนิ    ว่าผมไม่ช่วยเหลือพวกพ้อง ที่เป็นคนคณะเดียวกัน อาชีพเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ฯลฯ  

       ลักษณะเดียวกัน ของคนคนเดียวกัน มองเป็นบวกก็ได้ มองเป็นลบก็ได้

       ไม่ใช่แค่มองนะครับ    แต่มีผลต่อชีวิตคนต่างกันด้วย    ก็ต่อชีวิตของผมนี่แหละ

       ผมจะไม่มีทางได้รับตำแหน่งเชิงการเมืองได้เลย    เพราะไม่มีพวก    เวลาเขาสรรหาอธิการบดีในมหาวิทยาลัย     กระบวนการมันเป็นกระบวนการทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้     คนไม่มีพวกอย่างผมก็จะไม่มีทางได้รับการสนับสนุนจากพวกหัวคะแนนทั้งหลาย    เรื่องการเป็น candidate อธิการบดีนี้จะเล่าวันหลัง   
   
       การไม่มีพวก หรือไม่เล่นพวกนี้ก่อผลดีต่อชีวิตผมไม่น้อย    และก่อข้อจำกัดไม่น้อยด้วย   

       ข้อดีคือผมได้รับความเชื่อถือในความตรงไปตรงมา     ไม่เล่นพวก   (และนอกจากนั้นยังไม่กลัวคนมีตำแหน่งใหญ่หรืออำนาจมากอีกด้วย)         เวลาเขาต้องการคนตรงไปตรงมาไปทำงานเขาก็จะมาตามผม     ทำให้ผมมีงานมากเกินไปอย่างในขณะนี้    กลายเป็นข้อเสียไป    จะเห็นว่าทุกเรื่องมีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น

วิจารณ์ พานิช
๒๙ มิย. ๔๙

     

     

หมายเลขบันทึก: 38698เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท