เล่าเรื่อง ... ครูสอนศิลปะคนหนึ่งในคณะฯ


ครูให้เด็ก เด็กให้ครู

เล่าเรื่อง ... ครูสอนศิลปะคนหนึ่งในคณะฯ

          พูดถึงชื่อของ สุรสิทธิ์ เสาว์คง ในวงการศิลปะเมืองไทย ไม่มีใครไม่รู้จักศิลปินผู้นี้  ผลงานศิลปินผู้นี้มีต่อเนื่อง เข้าร่วมงานนิทรรศการทางศิลปกรรมทั้งในระดับ ชาติ และนานาชาติ ให้สาธารณะชนได้ชื่นชมกันเสมอมา  อีกทั้งรางวัลต่างๆ ที่ได้มามีมากมายไม่สามารถที่จะกล่าวได้หมด ถ้าลอง ค้นหาหรือ Search ดูทางอินเตอร์เน็ต จะเห็นว่า ศิลปินผู้นี้ในประวัติท่าน ได้รับรางวัลมากมาย    ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์ เรื่อง “ความสงบ”     ด้วยการสร้างบรรยากาศของความสงบ นำมาสะท้อน สาระ จากรูปทรงที่เกี่ยวข้อกับความเชื่อ ศรัทธา ต่อพระพุทธศาสนา แสงเทียน เปรียบประดุจ ปัญญาที่ แผ่กระจาย สู่ความมืดให้หลักธรรมของพระพุทธองค์คงอยู่ในจิตตลอดไป

           ตัวอย่างผลงาน ความสงบ ของอาจารย์ สุรสิทธิ์ เสาว์คง

  

                แต่ในแง่มุมที่จะเล่าสู่กัน  ณ  ที่นี้  จะกล่าวถึง     บทบาทที่ท่านอาจารย์สุรสิทธิ์ ภูมิใจที่สุด คือความเป็นครู   ครูสอนศิลปะมาชั่วชีวิตการรับราชการมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2517     อาจารย์สุรสิทธิ์ จะให้บทบาทหน้าที่การสอนหนังสือมาก่อนภารกิจอื่นๆ     ผมเห็นอาจารย์ มาแต่เช้า  เนื่องจากห้องพักครูท่าน อยู่ด้านบนห้องผม อาจารย์ต้องเดินผ่านบันไดหน้าห้องผมทุกเช้า  เพื่อเตรียมอุปกรณ์การสอน จัดเตรียมหุ่นนิ่งเพื่อเป็นแบบให้นักศึกษาวาดเขียน (Drawing) หรืองานระบายสี (Painting)   สมัยก่อนอาจารย์เตรียม เครื่อง ฉายภาพข้ามศีรษะ (Over head projector)  ท่านแบกเครื่องจากชั้น 3 ลงมาสอนที่ห้องบรรยาย ชั้น 2 หรือ เครื่องฉายสไลด์    แต่สมัยนี้ ท่านใช้ Laptop  ผ่านเครื่องฉาย LCD  นับว่าเป็นครูสอนศิลปะที่มีความไฮเทค  ทันยุค ICT คนหนึ่ง    ทรรศนะของอาจารย์สุรสิทธิ์ ที่เป็นครูสอนศิลปะ     ท่านบอกว่า   มีอยู่ 2 สิ่ง ที่ภูมิใจมาก คือ .....

          1. เราต้องเป็นผู้ค้นคว้า หมั่นศึกษา และสร้างสรรค์ด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้ได้ความรู้ ทักษะ มาสอนเด็ก       

          2. ความรู้เกิดจากการได้ถ่ายทอดการสอนศิลปะ  ได้วิจารณ์ผลงานนักศึกษา ตอบโต้แลก เปลี่ยนความคิดเห็นกับนักศึกษา ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกับเขา  อาจารย์ใช้คำว่า   ครูให้เด็ก เด็กให้ครู   ผมได้ฟังตรงนี้แล้วโยงไปถึง กรอบการเรียนรู้สมัยใหม่เรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ว่า  กิจกรรมการเรียนในชั้นเรียนต้องมา 2 ทางคือ “ผู้เรียนและผู้สอน”   ครูเป็นเพียงผู้แนะนำ ที่ปรึกษา ความรู้บางอย่าง ครูกับผู้เรียนสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกันได้      แสดงว่าครูสอนศิลปะ ได้สร้างกิจกรรมลักษณะนี้มานานแล้ว    อาจเกิดก่อน ทฤษฎีการบริหารการศึกษาต่างๆ  ที่เป็นของใหม่เสียอีก 

       ตัวอย่างผลงาน ความสงบ ของอาจารย์ สุรสิทธิ์ เสาว์คง อีกแนวทางหนึ่ง

  

                อาจารย์สุรสิทธิ์  กล่าว เพิ่มเติมถึง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูต้องสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของตนเอง ควบคู่ไปกับการสอน      วิชาที่สำคัญมาคือทฤษฎีศิลป์    ทฤษฎีศิลป์ ที่ครูถ่ายทอดให้กับนักศึกษา มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นหลักของการสร้างสรรค์ศิลปะ มีผู้คนที่ปราดเปรื่องในวิชาการสาขาอื่น ๆ ซึ่งเขาศึกษามาจนเจนจบ แต่มิได้เกี่ยวข้องกับศิลปะ เมื่อเขาอยากทำงานศิลปะขึ้นมา จะไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักวิชาโครงสร้างศิลปะ นับตั้งแต่ทฤษฎีพื้นฐานได้เลย เพราะเขามิได้ผ่านกระบวนการ ขั้นตอนการศึกษาทฤษฎีศิลปะมาก่อน  ที่แท้จริงแล้ว ทฤษฎี ก็คือรากฝอย ที่คอยดูดซึมซับอาหาร ไปหล่อเลี้ยงลำต้นพฤกษา ให้เกิดการพัฒนาเติบโต ส่วนรากแก้วที่ค้ำจุน คือการปฏิบัติงานสร้างสรรค์ ให้มีความจัดเจนในฝีมือ ทักษะ   ทฤษฎีศิลป์ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้เกิดความละเมียดละไม ถูกต้องหมดจด      ตัวอย่าง เช่น งานศิลปะยุคแรกเริ่ม (Primitive)  จะมีแต่พลังของความจริงใจในผลงาน ถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อ ๆ บริสุทธิ์    มาถึงยุคคลาสสิค ศิลปินเริ่มมีความรู้ตามหลักทฤษฎี  ก็จะนำทฤษฎีมาควบคุมการสร้างผลงาน ทำให้เกิดความละเมียดละไม  นุ่มนวล  และมีความงดงามตรึงตา

              แต่ ทฤษฎีศิลป์ เป็นแค่เครื่องช่วยให้รูปลักษณ์ของศิลปะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น  การศึกษาในระดับปริญญาตรี นักศึกษาสร้างงานศิลปะ ต้องใช้ทฤษฎีมาเป็นตัวหล่อเลี้ยง ผลงานให้พัฒนาเติบโต ในสัดส่วนเกือบ 100%        แต่ระดับปริญญาโท เรื่องของทฤษฎีเป็นแค่ส่วนรอง เพราะนักศึกษาเหล่านั้น ได้เดินทางผ่านความเข้มข้นของทฤษฎีมาแล้ว    ฉะนั้นเรื่องของอารมณ์ และจิตใจ บวกกับปรัชญาความคิด สร้างสรรค์ผลงานจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า และยิ่งใหญ่ที่สุด”

--------------------------------------------------------------------------------------

ทรรศนะและความเห็นทางศิลปะ บางส่วน นำมาจาก ตลาดนัดศิลปะออนไลน์ http://www.thaiartmart.com/

อ้างอิงจาก ศรีวรรณา เสาว์คง Courtesy of : FINE ART , The art news magazine of ThailandJULY 2006 Volume 3 No.22

 

      ตัวอย่างผลงาน ความสงบ ของอาจารย์ สุรสิทธิ์ เสาว์คง อีกแนวทางหนึ่ง

 

สังคมกับน้องๆ ผู้ร่วมงานที่คณะฯ

               ในสังคมการทำงานกับเพื่อนร่วมงานของอาจารย์ที่คณะฯ   อาจารย์สุรสิทธิ์  มีอัธยาศัยดี สนุกสนาน เข้ากับน้องๆเพื่อนร่วมงาน    เป็นที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์สูง ในด้านของงานศิลปะทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ แก่อาจารย์รุ่น น้องๆ  และแก่มหาวิทยาลัยฯ  เมื่อปลอดจากภาระกิจการสอน ช่วง Summer  ผมเห็นท่าน เดินทางไปหลายๆประเทศด้วยทุนส่วนตัว   อาจารย์บอกว่าต้องไปไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศอยู่เสมอ เพื่อศึกษาเรียนรู้ เปิดใจสัมผัสกับหลากหลายกระแสศิลปะของโลกภายนอก สภาพภูมิประเทศที่น่าพิศวง สถาปัตยกรรม ศิลปะร่วมสมัย ศิลปกรรมซึ่งสืบเนื่องมาจาก อารยธรรมโลก เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมาสอนลูกศิษย์ และแชร์ประสบการณ์แก่อาจารย์ในคณะฯ   นับว่าใครได้เรียนกับท่านถือเป็นความโชคดีอย่างมาก ท่านจึงมีลูกศิษย์ ที่จบออกไปเป็นศิลปินมีชื่อเสียงหลายคนด้วยกัน          ในอีกประเด็นหนึ่งที่ขอชื่นชม ยกย่องอาจารย์สุรสิทธิ์  คือ ท่านให้ความร่วมมือกับกิจกรรมทุกระดับที่เป็น งานในระดับคณะ และระดับมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ  ไม่เคยขาด นับเป็นตัวอย่างที่ดีแก่อาจารย์รุ่นน้องๆ  ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่  จะได้รับความร่วมมือจากอาจารย์สุรสิทธิ์ ทุกงานไป

  ตัวอย่างผลงาน ความประทับใจจากต่างแดน ของ อาจารย์ สุรสิทธิ์ เสาว์คง

  เมื่อไปต่างประเทศจะนำความประทับใจเหล่านั้นมาถ่ายทอดเป็นผลงาน

 

               ท่านฝากคำพูดให้กับน้องๆอาจารย์ ในคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ใ  นงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เมื่อ 28 กค.53  ว่า ... สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเรียนการสอนศิลปกรรม หรืองานด้านการออกแบบ คือ ผลิตผล หมายถึงงานที่สำเร็จของผู้เรียนจะต้องถ่ายทอดให้สาธารณะ  ชุมชน ได้เห็นและได้รู้   ด้วยการร่วมกันจัดงานนิทรรศการ   งานนิทรรศการถือเป็นสิ่งสูงสุดของงานศิลปะ ที่ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน   นอกจากนี้ ท่านยังได้ฝากสิ่งที่ท่านได้ต่อสู่มานาน นับหลายๆ สิบปี นั่นคือ "หอศิลป์ ของมหาวิทยาลัย      ด้วยความที่ศิลปะ กับศาสตร์ทางด้านอื่นๆ ที่มีมากหลากหลายในองค์กร    ศิลปะเลยเป็นจุดอ่อนในบางมหาวิทยาลัยตามสายตาของศาสตร์กลุ่มมาก  ประกอบกับ งบประมาณมีน้อย   ไม่สามารถที่จะสร้างหอศิลป์ ให้เกิดตามเจตนาของอาจารย์ ที่หวังดีต่องานสอนศิลปะของพวกเรา และเด็กเยาวชนที่สนใจศิลปะ    ท่านก็ฝากอาจารย์รุ่นน้องๆ สานต่อเรื่องนี้ต่อไป    ก็ต้องช่วยสานต่อเจตนาท่าน    เราคงมี "หอศิลป์"  เหมือน มหาวิทยาลัยอื่นๆ บ้างไม่ช้าก็เร็ว

       

 ภาพอาจารย์สุรสิทธิ์ ได้รับรางวัลนักสร้างสรรค์งานศิลป์ยอดเยี่ยมของมหาวิทยาลัยฯเมื่อเดือน ส.ค.2553 และภาพกำลัง แชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับน้องๆ อาจารย์เมื่อ ปลายเดือน  ก.ค. 2553

 

          โอกาสนี้ ลูกศิษย์อาจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง ประมาณ 130 คน แต่ละคน จะนำผลงานมา ร่วมกันจัดงานนิทรรศการเพื่อเชิดชูเกียรติแก่ อาจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง  ระหว่าง 3 – 15 กันยายน 2553  ที่ จ. เชียงใหม่     ภายใต้ชื่องาน   “สานใจ  สายใย  ศิลปกรรม”      ดังตัวอย่าง 1 ในภาพที่จะร่วมแสดง เป็นผลงานลูกศิษย์ ชื่อ สุทธิชัย กันไพรี ได้สร้างสรรค์ภาพเขียนรูปอาจารย์สุรสิทธิ์ กับผลงานท่าน  และใช้เป็นโปสเตอร์งานด้วย   (ดังภาพด้านล่าง)

           การเกษียณอายุ 60 ปี เป็นกฎเกณฑ์ ที่ทางราชการกำหนดขึ้นเท่านั้น   แต่ความคิดและประสบการณ์ที่ท่านได้สั่งสมมาชั่วชีวิตความเป็นครูของอาจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คงนั้น   ไม่ได้เกษียณไปไหน   เชื่อว่ารุ่นน้องๆอาจารย์  ลูกศิษย์ของชาวศิลปกรรมทุกคน    จะยังคง ธำรงค์ รักษาเอาไว้    และขอคำแนะนำจากท่าน เพื่อพัฒนาความเป็นครูสอนศิลปะที่ดี   และสานต่องานสร้างสรรค์ทางศิลปกรรมต่อไป    

ผลงานภาพเขียนของลูกศิษย์ สุทธิชัย กันไพรี  หนึ่งในอีกหลายๆภาพที่ร่วมนิทรรศการ

--------------------------------------------------------------------------------------

ชื่อครูสอนศิลปะคนนี้ :   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรสิทธิ์ เสาว์คง      

                               เกิด 13 พ.ย. 2492   จังหวัดร้อยเอ็ด

                               การศึกษา ศบ.จิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

                               สถานที่ทำงาน สาขาศิลปกรรม  

                               คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์

                               มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 

                               ภาคพายัพ เชียงใหม่   เกษียณ ราชการ กันยายน  2553

หมายเลขบันทึก: 386791เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2010 08:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง ครู........ปูชนียบุคคลเปี่ยมล้นค่า

ครู.......ผู้ชี้นำพาศิษย์ ถึงเป้าหมายปลายทางตามที่ศิษย์ต้องการ

ครู......ผู้หล่อหลอม สร้างเสริมชี้แนะ สร้างคน ให้เป็นคนอย่างแท้จริง

ครู......ผู้ทุ่มเท กำลังกาย กำลังใจ มอบความรู้ให้กับศิษย์อย่างจริงใจ

ครู.....ผู้เสียสละแรงกาย แรงใจ ถ่ายทอดทักษะทางศิลปกรรมให้กับศิษย์อย่างมุ่งมั่น

หวังให้ศิษย์ประสบความสำเร็จในชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง ปูชนียบุคคล ผู้เป็นศิลปินที่เป็นครูศิลปกรรม และเป็นครู ของ ศิลปิน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยรัตน ปานสุวรรณจิตร์

คณบดีคณะศิลปกรรมฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ เสาวคง ด้วยความเคารพและศรัธทา ท่านประสพผลสำเร็จได้ท่านมี อิทธิบาท 4

อิทธิบาท 4 ที่ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์ การจะประสพผลสำเร็จอย่างสูงสุดต้องมีธรรมทั้ง 4คือ

1.ฉันทะ คือ ความชอบ ความพอใจ

2.วิริยะ คือความเพียร

3.จิตตะ คือจิตมุ่งมั่น

4.วิมังสา คือการคิดวิเคราะห์

ทั้งหมดมีในต้วตนของคนชื่อ ปูชนียบุคคล นามผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ เสาวคง

อ่านบทความแล้วรู้สึกซาบซึ้งใจค่ะ รู้สึกได้จริง ๆ ว่าอาจารย์สุรสิทธิ์เป็นพ่อพิมพ์และแรงบันดาลใจของศิษย์ศิลปกรรม

แม้จะอยู่คนละสาขาแต่ก็ไม่ได้ไกลเกินกว่าจะรู้จักกับอาจารย์

เคารพ ยกย่อง และชื่นชมอาจารยฺ์เสมอมาค่ะ

และความรู้สึกที่มีต่ออาจารย์นี้ก็คงจะเป็นความรู้สึกที่จะคงอยู่แบบนี้ตลอดไป

ขอบคุณอาจารย์ธีระชัยมากค่ะที่เขียนบทความดี ๆ ถึงพ่อครูคนนี้

อ.อรนุช

เรือจ้างลำนี้ ยังมีศิษย์อยู่เต็มลำตลอดเวลา

(ไม่มีคำบรรยายใดๆ ที่ลึกซึ้ง) ถึงจะไม่ได้เรียนศิลปะ แต่เมื่อได้มารู้จักกับอาจารย์ศิลปะ และศิลปิน ก็ทำให้มีความรู้สึกว่าศิลปะเป็นสิ่งที่มหัสจรรย์ เป็นสิ่งที่น่าหลงไหล หากจะพูดถึงอ.สุรสิทธิ์ เสาว์คง ท่านเป็นอาจารย์ เป็นศิลปิน ที่น่านำเป็นแบบอย่างมากๆคะ

สาวๆ สำนักงานเจ้า....

ลูกศิษย์อาจารย์คนนี้ ยังศรัทธา และเคารพรักอาจารย์ไม่เสื่อมคลายค่ะ

อยากให้อาจารย์มาถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์รุ่นต่อรุ่น ไปอีกนานๆ

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง เป็นหนุ่มพันปี อย่างนี้ตลอดไปนะคะ

มีความรู้สึกตั้งแต่วันที่ เป็นลูกศิษย์ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ จนถึงวันนี้ ผ่านไปนาน แต่อาจารย์คงคุณภาพไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ

สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดย้อนหลัง ๑ วันนะคะท่านอาจารย์ ขอบพระคุณสำหรับบันทึกศิลป์งามๆ และภาพบรรเจิดค่ะ ;)

  • ผมยังรักและบูชาครูเสมอมาถึงแม้จะเรียนจบมากว่า30ปีแล้ว วิชาที่อาจารย์เคยพร่ำสอนยังฝังอยู่ในจิตสำนึกไม่รู้คลายและหากินได้ตลอดชีวิต..... ..... รักครูมาก มงคลส่วนบุญฯ

เยี่ยมค่ะ

นับถือ

น่าเสียดายที่ได้ไม่ได้เข้าร่วมชมนิทรรศการ  สมัยก่อนเคยเดินผ่านตึกคณะศิลปกรรมบ่อยๆ ชื่นชมผลงานของสาขาศิลปกรรมค่ะ

 

อยากจะขอบคุณอ.สุรสิทธิ์ เสาว์คง ที่หล่อหลอมให้ความรู้ คำชี้แนะจากอาจารย์ ขอบคุณที่อาจารย์สอนอย่างเต็มที่อย่าไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ขอให้อาจารย์เป็นที่รักของลูกศิษย์ทุกคน ขอให้ร่างกายแข็งแรงมีความสุขมากๆ รักและเคารพอย่างสูง

เพิ่งไปศรีลังกาจัดนิทรรศการที่นั่นของมหาจุฬาฯ ดีใจมากได้เจอและร่วมงานกับอาจารย์ สุดยอดแห่งครู อาจารย์น่ารักมาก คุยสนุก ประทับใจ ศิลปินในดวงใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท