อิฐก้อนหนึ่งของการวิจัยปฏิบัติการสร้างสุขภาวะสังคมแนว Community-Based Research ของชาวมหิดล


ผมได้รับมอบหมายจากคณะทำงานพัฒนากลุ่มภารกิจการวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทบทวนบทเรียนของการวิจัยชุมชนในระยะ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาที่ทำในแนวบูรณาการการวิจัยและปฏิบัติการสังคมเชิงพื้นที่แบบ Area-Based Research และ Community-Based Research ในชุมชนอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และในแง่ของพื้นที่การวิจัยก็เป็นภาพสะท้อนความเป็นชุมชนและพัฒนาการความเป็นเมืองในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนหลากหลายของสังคม

เป็นกระบวนการนำเอาประสบการณ์มาทบทวนเรียนรู้  รวมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาต่อยอดให้สะท้อนสู่การยกระดับการวิจัยเพื่อสร้างผลกระทบให้เกิดต่อสังคม(Social Impacts) และสะท้อนไปสู่การสร้างสุขภาวะภาคสาธารณะด้วยประเด็นส่วนรวมในทางเลือกใหม่ๆ เพื่อทำเป็นกรอบแผนงานการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในกลุ่มภารกิจการวิจัยชุมชน พร้อมทั้งเป็นแนวพัฒนาโครงการต่อเนื่องที่จะสามารถขยายผลโดยแผนงานที่ทำขึ้น

กล่าวได้ว่าเป็นการช่วยกันทำทั้งในระดับแนวนโยบาย กรอบยุทธศาสตร์ การออกแบบระบบและโครงสร้างบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลทางการปฏิบัติ และการทำโครงการนำร่องชี้นำการปฏิบัติเพื่อจัดการความรู้และทำให้เกิดมิติดังกล่าวนี้มากๆขึ้นในความเป็นมหาวิทยาลัยมหิดลของคณะและสถาบันต่างๆทุกวิทยาเขต ทั้งในกรุงเทพฯและในภูมิภาค

ผมเห็นความสำคัญมากต่อภารกิจเล็กๆนี้ด้วยหลายเหตุผล เลยนอกจากจะเตรียมการทบทวน คิด ใคร่ครวญ ซ้อมและทำงานในใจได้ดีพอสมควร รวมทั้งทำสื่อนำเสนอด้วยพาวเวอร์พ้อยต์เพื่อนำเสนอต่อคณะทำงานของมหาวิทยาลัยให้เห็นภาพรวมที่กระชับและได้ประเด็นแนวคิดให้ดีที่สุดแล้ว ผมเองนั้น ก็ได้บทเรียนแก่ตนเองอยู่เสมอว่าเมื่อมีงานสำคัญอย่างนี้ ก็มักต้องได้เจออุปสรรคอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะสื่อและข้อมูลที่เตรียมไว้เกิดความเสียหาย ดังนั้น เมื่อเตรียมเสร็จจึงทำข้อมูลสำรองไว้ ๓-๔ แหล่งเพื่อป้องกันความผิดพลาดไว้หลายๆทางเลือก คือ

  • สำรองไฟล์ไว้ในโน๊ตบุ๊ค ๒ ชุด
  • สำรองไว้ในแท่งเก็บข้อมูล Handy Drive ๑ ชุด
  • โยนเข้าอินเตอร์เน็ตและออนไลน์ให้เข้าถึงและเรียกใช้ได้ทันทีอีก ๑ ชุด
  • สำรองไฟล์ไว้ใน External Hard Disk อีก ๑ ชุด

เสร็จแล้วก็เดินทางไปประชุมและนำเสนออย่างสบายใจ หากเกิดติดขัดอีกก็จะได้พอทำใจได้ว่าได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว

                           ภาพที่ ๑ ทบทวนบนเรียนการวิจัยชุมชนในแนวประชาคม ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ในระยะกว่า ๑๐ ปีหลังภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก

งานวิจัยในแนวทางดังกล่าวนี้ ทำอย่างเชื่อมโยงกับชุมชนเชิงพื้นที่โดยเชื่อว่าฐานชุมชนจะช่วยลดแรงกระทบจากภาวะวิกฤตได้ อีกทั้งการวิจัยในแนวนี้จะช่วยเสริมสร้างทุนทางสังคมที่อยู่ในคน สังคม ถิ่นฐาน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ของสังคมไทย ที่จะมั่นคงและยั่งยืนกว่าความมั่งคั่งของสังคมในรูปเงินตราและทางวัตถุซึ่งสามารถไหลล่มสลายไปได้ง่าย จากนั้น ก็ประมวลภาพให้เห็นพัฒนาการและสิ่งที่ก่อเกิด ควบคู่ไปกับการรายงานให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วย กระทั่งสรุปให้เห็นถึงสิ่งที่จะสามารถเป็นทุนตั้งต้นให้กับการดำเนินงานเพื่อยกระดับดำเนินการให้ดียิ่งๆขึ้นทั้งต่อมหาวิทยาลัยและต่อสังคม ที่สำคัญคือ สิ่งที่เป็นทุนทางสังคม องค์ความรู้ในหลายมิติ ทักษะเชิงกระบวนการและเครื่องมือการทำงานในระเบียบวิธีที่เหมาะสม

                          ภาพที่ ๒ ทุนทางสังคมและทักษะการทำงานเชิงพื้นที่ในแนวทางใหม่ๆที่ก่อเกิดและเป็นทุนการสร้างสุขภาวะสังคมที่อยู่กับตัวคน ชุมชน และสังคม

วิธีทำงานและรวมกลุ่มในรูปของกลุ่มประชาคม ชมรม และกลุ่มความสนใจ ที่สามารถบูรณาการปฏิบัติการเชิงสังคมและปฏิบัติการวิจัยให้ผสมกลมกลืนไปด้วยเหมือนกับเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้บนการทำงานและการดำเนินชีวิต เป็นตัวอย่างหนึ่งของบทเรียนในการบูรณาการ Community Action และ Social Tools เข้ากับกระบวนการวิจัย และสามารถพัฒนาวิธีการวิจัยแบบ Social Research and Social Action ให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย

                                  ภาพที่ ๓,,  Connection and Interaction for Social Learning and gaining public mind :  เวทีสาธารณะและ Dialogue and Learning Space ที่บูรณาการภาคีทางศิลปะ ภาคีวิชาการ สื่อมวลชน ปัจเจก ประชาสังคมและชุมชนในเขตเมืองหลวง

การสานเครือข่ายปฏิบัติการและสื่อสารเรียนรู้กับสื่อมวลชนและภาคสาธารณะ ในสังคมเมืองและชนบท ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายศิษย์เก่าของสาขาจิตรกรรมสากล เพาะช่าง กับกลุ่มจิตรกรรับเชิญ ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู [๑] อาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง และกลุ่มจิตรกรสีน้ำกลุ่ม Six Point จัดแสดงงาน ๑ เดือน ณ หอศิลป์จามจุรี [๒]จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใกล้ศูนย์การค้ามาบุญครองและสยามแสควร์ ทดลองประมวลข้อมูลและองค์ความรู้ท้องถิ่นให้สามารถนำเสนอเพื่อสะท้อนสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ในมิติที่ต่างออกไปจากการนำเสนอด้วยการพรรณาความรู้ การแสดงสถิติด้วยตารางและกราฟข้อมูล ทำให้งานความรู้จากการวิจัยชุมชนบูรณาการเข้ากับจิตตปัญญาและสุนทรียปัญญาได้อย่างลงตัว สะท้อนบริบทเฉพาะของยุทธศาสตร์การวิจัยแนวนี้ของชาวมหิดล

การถ่ายทอดความรู้และนำเสนอประสบการณ์ด้วยวิธีการศิลปะ เป็นการวิจัยผ่านปฏิบัติการและเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงความรู้ ความเป็นวิทยาศาสตร์ กับการเข้าถึงมิติสุนทรียภาพและความงามของความรู้ เพื่อเห็นแนวในการสร้างความรู้และปฏิบัติการเรียนรู้ของสังคมให้สามารถกระทบต่อความรู้สึกซาบซึ้ง ทุกข์ร้อนร่วมกัน เข้าถึงความละเอียดอ่อน และเข้าถึงความเป็นใจเขา-ใจเราร่วมกันได้

                            ภาพที่ ๔ เครือข่ายจัดการความรู้และปฏิบัติการวิจัยทางอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับชุมชนในขอบเขตที่กว้างขวางทั้งในประเทศและทั่วโลก

การผสมผสานนวัตกรรมการศึกษาและเทคโนโลยี IT ทั้งบริหารจัดการความรู้ สื่อและทรัพยากรการเรียนรู้ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อขยายผลวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลและการสร้างความรู้ขึ้นจากท้องถิ่น จัดเก็บและสามารถจัดการเพื่อใช้ประโยชน์ได้ดียิ่งๆขึ้นด้วยเทคโนโลยี IT ที่ก้าวหน้าและผสมผสานกับการปฏิบัติการในวิถีชุมชนที่เหมาะสมกับชาวบ้านทั่วไป บทเรียนและทุนทางสังคมดังกล่าวนี้ เป็นฐานประสบการณ์อยางดีสำหรับการพัฒนาโมเดลผสมผสาน IT-กับวิถีชุมชนท้องถิ่นให้เป็น Virtual-Community-Based ที่เชื่อมโยงภาคสร้างความรู้สมัยใหม่ให้บูรณาการเข้ากับความรู้และความเป็นจริงของสังคมไทยในระดับชุมชนได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยมีตัวอย่างและเครือข่ายที่ดำเนินการได้อย่างเป็นปรกตินำร่องครบวงจรได้บ้างแล้วจำนวนหนึ่ง

                           ภาพที่ ๖  เครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการและเรียนรู้สร้าง Critical Mass สำหรับเครือข่ายผู้นำในแนวทางใหม่ๆที่สอดคล้องกับการทำงานวิจัยและมุ่งสู่การสร้างสุขภาวะสังคมในแนวทางนี้ [๓][๔]

การทำให้สิ่งที่เป็นความริเริ่มและเกิดขึ้นได้ยาก หากสามารถทำได้ก็เป็นความงอกเงยขึ้นทีละเล็กละน้อย ซึ่งเปราะบางและเกิดผลกระทบให้สูญเสียและล่มสลายได้อย่างง่ายดาย ให้มีกำลังพอในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคม สร้างการเรียนรู้และขยายผลให้สามารถเป็นทางเลือกและความหลากหลายเพิ่มขึ้นของสังคม จำเป็นต้องมีเครือข่ายเชิงระบบปฏิบัติการ ทั้งเพื่อให้กลุ่มสนใจได้มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมได้อย่างสอดคล้องกับความสนใจ และสามารถสร้าง Critical Mass ได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากนั้น จึงนำเสนอแนวดำเนินการต่อยอดที่บ่งชี้และสะท้อนให้เห็นประเด็นข้อเสนอแนะจากบทเรียนในระยะกว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา เพื่อสะท้อนสู่การทำกรอบแผนงานเชิงยุทธศาสตร์การวิจัยของคนมหิดลที่จะสร้างผลดีให้ก่อเกิดต่อสังคมหรือการเน้นการสร้าง Social Impact โดยวิธีการเชิงบูรณาการศาสตร์ด้วยปฏิบัติการเชิงพื้นที่ในระดับชุมชน และเป็นแนวพัฒนาชุดโครงการวิจัยขยายผลต่อไป

นำเสนอเสร็จ ผมก็รู้สึกเหมือนทำภารกิจที่ตั้งใจได้คืบหน้าขึ้น เหมือนกับการได้วางอิฐก้อนเล็กๆสำหรับเป็นทางเดินสู่เบื้องหน้าของคนมหิดลและเครือข่ายชุมชนที่เชื่อมั่นในการทำงานแนวนี้ ต่อไปอีก แม้นเล็กน้อยแต่ก็รู้สึกมีกำลังใจมาก

พอกลับถึงห้องพักเลยให้คะแนนและกำลังใจตนเองโดยการควักเหรียญสตางค์หยอดกระปุกบุญออมสินรูปบาตรเล็กๆ ๓ ใบซึ่งผมตั้งไว้ในห้อง กระปุกละ ๑๐ กว่าบาทตามจำนวนปีของบทเรียนที่ได้นำเอามาแบ่งปันกับชาวมหิดล ที่ทำให้ได้มีโอกาสร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆในครั้งนี้.

..........................................................................................................................................................................

หมายเหตุและเชิงอรรถ :

[๑] ปฏิบัติและเรียนรู้ไปด้วยกัน : ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู โรงเรียนเพาะช่าง.วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ใน ครูพักลักจำ. เข้าชมและอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/livelesson/305595
[๒] ศิลปะและสุนทรียภาพของชีวิตการงาน. วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ใน ประชาสังคมศึกษา-ประชากรศึกษา. เข้าชมและอ่านได้ที่  http://gotoknow.org/blog/civil-learning/223609 
[๓] คนเฝ้าโคมในทุ่งแล้ง.... เยือนงานวัดห้วยส้ม สันป่าตอง เชียงใหม่. วิรัตน์ คำศรีจันทร์. แมกไม้บนรายทางชีวิต ใน  OKnation blog เข้าชมและอ่านได้ที่ http://www.oknation.net/blog/moy/2009/05/17/entry-1
[๔] ศิลปะเพื่อการวิจัยและพัฒนาสุขภาวะ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์. ใน ศิลปะและสื่อเพื่อการพัฒนา. เข้าชมและอ่านได้ที่ http://gotoknow.org/blog/wiratkmsr-art/311162?page=1

หมายเลขบันทึก: 385784เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2010 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์

จะเรียนอาจารย์ว่า  โชคดีที่ได้พบเจอชาวมหิดล  มีโอกาสได้เรียนรู้ความเป็นวิทยากรกระบวนการ

การถอดบทเรียนการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ  ที่กระบี่ค่ะ

สวัสดีครับคุณครูคิมครับ

  • อะไรจะช่างบังเอิญขนาดนี้นะครับ
  • คนทำงานสุขภาพชุมชนและที่เน้นทำงานเชิงป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพในหน่วยบริการสุขภาพ ก็โชคดีด้วยเช่นกันละครับที่ได้พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูคิม ทั้งในฐานะคนทำงานมีประสบการณ์ และตัวแทนบทเรียนจากคนทำงานภาคการศึกษา สุขภาพกับการศึกษา เป็นองค์ประกอบความสำเร็จของกันและกันอย่างใกล้ชิดเลยนะครับ
  • ที่เรียกว่าช่างบังเอิญเสียจริงก็เนื่องจาก ผมเคยร่วมมือกับ สสจ.จังหวัดกระบี่ เคลื่อนงานถอดบทเรียนและจัดการความรู้เพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชน เต็มทั้งพื้นที่จังหวัด ผ่านการสร้างเครือข่ายวิทยากรกระบวนการ ซึ่งผสมผสานทั้งหมออนามัย อสม. กลุ่มผู้นำเยาวชน ผู้นำชุมชน สาธารณสุขอำเภอ และนักวิชาการสาธารณสุข ผมไปทำกับท่านรองศาสตราจารย์ ดร.บุญยง เกี่ยวการค้า ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน ผมขอเชิญอาจารย์ไปเป็นทีม Facilitator คอย React ทางวิชาการในฐานะนักสาธารณสุขและนักวิชาการที่เชี่ยวชาญงานสุขศึกษาทั้งในแนว Population-Based และ Community-Based ที่มีประสบการณ์ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอสมเด็จพระยุพราช ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอคนแรกของประเทศที่ไม่ใช่แพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหมอที่ทำงานในพื้นที่ซึ่งเป็นศิษย์เก่าดีเด่นท่านหนึ่งของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนที่ผมเคยทำงาน 
  • เป็นการทำทั้งเพื่อสนับสนุนทางวิชาการให้กับเครือข่ายการทำงานเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัด ขณะเดียวกัน ก็ทำกันเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัดเพื่อหารูปแบบและได้บทเรียนพอเป็นแนวสร้างคนและพัฒนาเครือข่ายหน่วยงานขยายผลไปตามแหล่งอื่นๆที่ต้องการต่อไป ผมก็เลยทำอย่างสุดเหวี่ยงแต่ก็หมดแรงในภายหลัง.....หงอยเลยละครับ
  • ผมได้บทเรียนมากอย่างยิ่งเลย เพราะการทำงานครั้งนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่พร้อมรอบด้านที่สุดซึ่งจะหาโอกาสอย่างนั้นได้ยากอย่างยิ่ง เกือบจะไม่มีเลย เพราะกระบวนการต่างๆดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ เราทำบทเรียนที่กลมกลืนไปกับสภาพการทำงานจริงได้มากที่สุด
  • ผมทำการบ้านล่วงหน้าและเตรียมสิ่งต่างๆเพื่อไปหาบทเรียนการทำงานจริงๆอย่างรอบด้านมาก ทำสื่อมากที่สุด ไปถึงพื้นที่ก็ปรับแก้และพร้อมกับเก็บบันทึกทุกแง่ทุกมุมไว้ได้มากที่สุด ทีมอาจารย์และนักวิชาการที่กล่าวถึงข้างต้นก็ให้ Contribution มากมาย ด้วยบรรยากาศสบายๆ อย่างเต็มที่ คนของจังหวัดก็ประสบการณ์ดีและทำงานกันอย่างจริงจัง ได้ประเด็นและบทเรียนเพื่อสร้างความรู้ผสมผสานกับการทำงานในสภาพความเป็นจริงที่ดีมากทีเดียวครับ
  • แต่กลับมาแล้วข้อมูลหายไปมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งหายและคอมพิวเตอร์ก็พังชนิดที่กู้คืนไม่ได้ จนต้องซื้อใหม่ แล้วก็นั่งหมดแรงเหมือนคนหอบแดดจากการเดินทางไกลอย่างว่างเปล่า
  • หงอยเลยละครับ เสียดายมากเหมือนกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท