คิดเรื่องงาน (63) : สกัดความรู้ลงสู่เอกสาร (หวานรูป...จูบหอม)


สกัดความรู้จากคนสู่ทีม, จากทีมสู่เอกสาร จากเอกสารสู่ความเป็นนวัตกรรม หรืองานสร้างสรรค์ จนที่สุดก็จบลงตรงการเป็นเครื่องมือ หรือคลังความรู้แห่งการพัฒนาคน, พัฒนางานและพัฒนาองค์กรของเราเอง...

คำชี้แจง...

เรื่องนี้ยาวสักนิด  และเขียนด้วยความรู้สึกอันดีงาม  เพียงแต่เริ่มต้นจากการหยิบเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง เพื่อนำไปสู่การสะสาง-ต่อยอดตามแนวคิด “ปัญหาเก่าห้ามเกิด ...ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน” เท่านั้นเอง  และยืนยันเสียงแข็งว่า  ไม่ใช่การเขียนบันทึกด้วยมุมมองแบบคนมองโลกในแง่ร้าย...นะครับ 

 




(๑) 

ก่อนหน้านั้น  ผมตั้งคำถาม หรือแม้แต่เสนอให้องค์กรได้ทบทวนกระบวนการทำงานที่ว่าด้วยเรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน”  หรือแม้แต่ “การปฏิบัติราชการตามแผนปฏิบัติราชการ”  (กพร) มาแล้วหลายยก  โดยสาระหลักคือ  การทำงานแบบเป็น “ทีม”  ไม่ใช่ทำงานเพียงคนใดคนหนึ่ง  พร้อมๆ กับการมอบหมายให้คนอื่นๆ มีหน้าที่เพียงแค่รวบรวมเอกสารเพื่อส่งมอบให้ผู้รับผิดชอบเพียง “หนึ่งเดียว”  ได้ขีดเขียน หรือบันทึกเป็นรูปเล่มเสนอต่อผู้บังคับบัญชา  หรือแม้แต่ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง 

นั่นคือสิ่งที่พูดหรือสะท้อนมาอย่างต่อเนื่อง  แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าสองสามปีที่ล่วงผ่านมานั้น  กระบวนการเหล่านั้นไม่เกิดขึ้นเลยสักนิด  “คนต้นเรื่อง” ยังคงต้องก้มๆ เงยๆ และสาละวนอยู่กับการทำหน้าที่รวบรวมเอกสาร พร้อมๆ กับการถ่ายสำเนาเอกสารอย่างมากมายก่ายกองเพื่อส่งมอบไปให้ผู้รับผิดชอบ  เพื่อผู้รับผิดชอบจะได้ทำการขีดๆ เขียนๆ หรือแม้แต่จัดพิมพ์ข้อมูลลงไปในระบบ  ซึ่งบางทีต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่ายังขาดความตระหนักในความสำคัญของการสังเคราะห์เอาจุดเด่น จุดด้อยออกมาฉายชัดให้เห็นแบบจะๆ เพื่อเป็น "ทุน" แห่งการศึกษา-พัฒนา-และต่อยอด 

วิธีการทำนองนั้น  ผมมองว่าไม่เกิดกระบวนการทำงานแบบ “มีส่วนร่วม”  อย่างที่ควรจะเป็น -  หนักสุดคือการไม่พยายามที่จะ “สกัดความรู้ลงสู่เอกสาร” และไม่มีการ “สกัดเอกสาร” 
มา “ต่อยอด”  ในเชิงปฏิบัติ 
พลอยให้เอกสารไร้ราคาค่างวดไปโดยปริยาย  ซ้ำร้ายยังแตะต้องสัมผัสไม่ได้  คล้าย หวานรูป แต่จูบไม่หอม !” ...

 



หลายต่อหลายครั้ง-ในยามที่ผมต้องถูกขับส่งให้ต้องตอบคำถาม หรือแม้แต่นำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องที่มาประเมิน  สิ่งที่ผมสะท้อนไปนั้น  กลับไม่ปรากฏในเอกสาร หรือรูปเล่มสวยงามนั้นๆ เลยสักนิด  จนกรรมการทักถามในทำนองว่า “สิ่งเหล่านั้นคือจุดเด่น ไฉนเลยไม่ถูกขีดเขียนไว้ในเล่มสวยๆ งามๆ นั้นเลย !” 

แน่นอนครับ กระบวนการที่ว่านั้น  มันคือภาพสะท้อนที่ทำให้เราเห็นชัดว่า  กระบวนการดังกล่าว น่าจะไม่ใช่ทางออก หรือทางเลือกที่ดีนัก  ตรงกันข้ามกลับฉายชัดถึงความอ่อนด้อยเรื่องทีมและรวมถึงความอ่อนด้อยในเรื่องการจัดการความรู้ในองค์กรด้วยเหมือนกัน 

และนั่นบางทีก็ยังอาจรวมความว่า ...เราไม่ฉลาดพอที่จะสร้าง “นวัตกรรม” หรือ "งานสร้างสรรค์" เพื่อการเรียนรู้  ซึ่งหมายถึงการที่เราไม่หาญกล้าพอที่จะสกัดความคิด หรือความรู้ลงสู่เอกสารอย่างเป็นรูปธรรม... เมื่อเป็นเช่นนั้น  เอกสารดังกล่าวก็ย่อมไม่มีค่าพอต่อการเป็น “คลังความรู้” หรือแม้แต่การยกฐานะเป็น “จดหมายเหตุ” ขององค์กรในอนาคต  

หรือหากจะด่วนสรุปความแบบหักดิบว่าเอกสารทั้งปวงนั้น ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน พัฒนางาน หรือแม้แต่การพัฒนาองค์กร (ก็คงไม่ผิดเพี้ยนนักกระมัง)

จนท้ายที่สุด  การประเมินเมื่อหลายปีที่แล้ว  จึงกลายเป็นบทสรุปที่ชัดเจนว่า “เรา” ซึ่งหมายถึงองค์กรหาใช่องค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างที่ควรจะเป็น  เพราะดูจากค่าคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดีนัก ทั้งที่เรามีอะไรๆ มากมายเหลือล้น แต่กลับไม่สามารถ “บอกเล่า หรือแม้แต่ยืนยัน”  ได้เลยว่า “เราทำจริง...มีกระบวนการจริง”  (เพียงแต่สอบตกเรื่องการจัดการความรู้ลงสู่เอกสาร-เท่านั้นเอง)

กระทั่งปลายปีที่แล้ว  ผมจึงขันอาสามาพลิกกระบวนการที่ว่านั้นด้วยตนเอง  สร้างกระบวนการทำงานเรื่อง “แผนปฏิบัติราชการ” (กพร) ด้วยตนเอง  โดยมุ่งเน้นให้ทำงานกันเป็นทีม  ใครทำเรื่องอะไร ก็ให้รวมรวมและสังเคราะห์ในเรื่องดังกล่าว  เสร็จจากนั้นก็เขียนถึงเรื่องที่ตนเองทำด้วยตนเอง  ไม่ใช่โยนมาที่ส่วนกลางให้คนๆ เดียวๆ หรือคนเพียงไม่กี่คนที่ไม่ใช่ "นักปฏิบัติ" ในเรื่องนั้นๆ มานั่งจุดเทียนเขียนเรื่องต่างๆ แทนเหมือนเช่นที่ผ่านมา...


ครับ,  ผมไม่เคยมีความรู้ในเรื่องการอบรมทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว  ไม่เคยได้รับฟัง หรือแม้แต่อบรมการเขียน “กพร” กับใครเขา  แต่ก็ทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้กระบวนการเช่นนั้น
เติบโตขึ้นในองค์กร  จนกลายเป็น “ค่านิยม” หรือ “วัฒนธรรม” ที่บิดเบี้ยวแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์  แต่ทั้งปวงนั้น  ผมก็ใช้กระบวนยุทธ “เอาใจนำพา...เอาศรัทธานำทาง” เข้าขับเคลื่อนเป็นระยะๆ  เพราะโดยส่วนตัวนั้น  ผมเชื่อมั่นเสมอว่า “เรื่องของเรา...เราต้องเล่าด้วยวิธีของเราเอง”  เช่นเดียวกับที่ผมพยายามขับเคลื่อนภายใต้วาทกรรมที่ผมชูเป็นกลวิธีเรื่อยมาว่า “เขียนในสิ่งที่ทำ...ย้ำ (หลักฐาน) ในสิ่งที่มี”  

ซึ่งที่สุดแล้ว  ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี  จนได้รับคำชมในทำนองว่า  “เรามีพัฒนาที่ดี, ข้อมูลที่ปรากฏในรูปเล่มเป็นสิ่งแตะต้องสัมผัสได้, อ่านแล้วเห็นภาพ (มีชีวิต) ...และตอบโจทย์ความเป็นวัฒนธรรม หรือสไตล์ของเราได้อย่างชัดเจน  จนดูคล้ายกับว่า  อ่านเนื้อหาได้เพลินราวกับอ่านสารคดี  เนื้อหาชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องสัมภาษณ์เพิ่มเติม หรือแม้แต่การหอบเอกสาร หรือหลักฐานต่างๆ มายืนยันให้เมื่อยมือ เมื่อยแขน แถมบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องถ่ายเอกสารอย่างมากมายก่ายกอง” 

นั่นคือเรื่องจริงในโค้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว..และหลายต่อหลายเรื่องก็ปริ้นออกจากบล็อก gotoknow.org  ของผองเรานี่แหละไปช่วยยืนยันกับกรรมการจนเกิดเป็นดอกเป็นผลอันสง่างามอย่างน่าประทับใจ

 

 

 

(๒)

ปีนี้  ผมยังได้รับมอบหมาย (แกมบังคับ) ให้ดูแลในเรื่องดังกล่าวอีกรอบ  ซึ่งผมก็ยังคงต้องแบกรับอย่างเลี่ยงไม่ได้  เพราะตัวเองเผลอตัวไปสร้างกระบวนการ หรือสร้างกลวิธีเหล่านั้นด้วยตนเอง
จึงต้องขับเคลื่อนต่อยอดให้ถึง “ฝั่ง” ...ซึ่งฝั่งที่ว่านั้นก็คือ การสร้างค่านิยมใหม่ในเรื่องการ “สกัดความรู้ลงสู่เอกสาร” นั่นเอง 

ครั้งนี้  ผมใช้ทีมทำงานมากมายภายใต้แนวคิด “งานของเรา...เรื่องของเรา...เราต้องเล่าด้วยวิธีของเราเอง”   พร้อมๆ กับการย้ำแนวคิดที่ว่า  เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของเราทุกคน,  เป็นเรื่องขององค์กร ทุกคนต้องช่วยกัน, เราสามารถพัฒนาองค์กรจากกระบวนการเหล่านี้ได้ด้วยการถอดความรู้ลงสู่เอกสาร เพื่อให้เอกสารกลายเป็น “นวัตกรรม” หรือ “งานสร้างสรรค์”  และที่สำคัญก็คือ ดีชั่ว,เด่นด้อยจากเอกสารที่จะนำไปสู่การประเมินนั้น  ทุกคนคือผู้กำหนด  และเอกสารที่ว่านั้น ก็คือกระจกเงาที่สะท้อนความเป็นเราและองค์กรของเราอย่างชัดแจ้ง... 

ดังนั้น  ก่อนขีดเขียนออกมาเป็นเอกสาร  ผมจึงย้ำกระบวนการแต่ละภาคส่วนทำการถอดความรู้ร่วมกันในหมู่เหล่าที่เกี่ยวข้อง  จากนั้นก็นำไปสู่การแปลงความคิดหรือความรู้ลงสู่เอกสาร  ภายใต้แนวคิด “เขียนในสิ่งที่ทำ...ย้ำ (หลักฐาน) ในสิ่งที่มี”  ควบคู่ไปกับการทำงานในลักษณะของ “ปัญหาเก่าห้ามเกิด...ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน” ด้วยการต่อยอดและสะสางเป็นเดือนๆ  รวมถึงเอกสารของเราต้องเป็นคลังความรู้, เป็นจดหมายเหตุ, หรือแม้แต่เป็นสิ่งที่แตะต้องสัมผัสได้ (นำไปใช้ได้จริง)  ไม่ใช่นิยามประโลมโลก...(หวานรูป แต่จูบไม่หอม

เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง  ผมก็คงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเศร้ากับต้นไม้หลายๆ ต้นที่ถูกโค่นลงมาแปรรูปเป็นกระดาษ..  แต่เรากลับใช้กระดาษอย่างไม่คุ้มค่า...(นั่นคือความจริงที่ผมเปรียบเปรยเพื่อให้เกิดความท้าทายในทีมงาน)

 



ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  ภายหลังการจัดทำข้อมูลเป็นรูปเล่มในแต่ละห้วงเดือนนั้น  ผมจึงพยายามชวนให้ใครๆ มาร่วมสะท้อนผลการดำเนินงานร่วมกัน  โดยกำหนดให้มีการสะท้อนผลการเรียนรู้จากเอกสารเพื่อนำไปสู่การต่อยอด หรือปรับแก้ปัญหาต่างๆ ภายใต้บริบทข้อมูลที่ถูกสังเคราะห์และขีดเขียนขึ้น 

ครั้งนั้น  เราเชิญผู้บริหารมานั่งฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับผลพวงของการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา  โดยผมหวังว่าเวทีที่ว่านี้  จะเป็นการสอนให้ทีมงานได้เห็นความสำคัญของ "กระบวนการ"  ที่ควรต้องมีขึ้นในองค์กร เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันอย่างไม่รู้จบ 

ครั้งนั้น  ทุกคนเห็นตรงกันว่าเราทำงานกันหนักมาก  และงานของเราก็ไม่ได้ด้อยอย่างที่คิด  แต่ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ  บุคลากรของเราขาดความรู้และทักษะในการสังเคราะห์ข้อมูลและการเขียนข้อมูลออกมาให้เป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง  (ทำจริง แต่เขียนไม่มีพลัง...จนพลอยให้งานของเราดูเบาบางไม่ชวนอ่าน ไม่ชวนคิด)

สาบานได้เลย- ในความเป็นจริงผมแอบพยากรณ์อย่างเงียบๆ มาโดยตลอดว่า ที่สุดแล้วคงต้องออกมาในรูปนี้อย่างแน่นอน  เพียงแต่พยายามอดทนและอดกลั้นให้มากที่สุด  เพื่อปล่อยให้แต่ละภาคส่วนได้ทำงานของตัวเองตามทักษะของตัวเองเสียก่อน  อันเป็นการเปิดพื้นที่ให้แต่ละส่วนได้หลอมละลายเข้าหากันโดยปราศจากทฤษฎีใดๆ มากำกับดูแล  หรือหากจำต้องมีทฤษฎีใดๆ  มาข้องแวะ  ก็ขอให้เกิดจากกระบวนการคิดร่วม หรือสังเคราะห์ร่วมของพวกเขาเองเป็นสำคัญเท่านั้นเอง... 

เมื่อผลพวงออกมาในทำนองนั้น  ผมจึงตบท้ายด้วยกระบวนการเสนอแนะกระบวนการเขียนเรื่องราวของเราเองภายใต้แนวคิด หรือค่านิยมว่า “เขียนในสิ่งที่ทำ...ย้ำ (หลักฐาน) ในสิ่งที่มี”  โดยเริ่มจากการชวนให้ทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่กำลังขีดเขียนอยู่นั้นว่า  มันเป็นเสมือนการ “ทำนาบนกระดาษ”  มันไม่ต่างอะไรจากการ “ปลูกข้าวบนนากระดาษ”  โดยอธิบายผ่านกรอบแนวคิดกว้างๆ ว่าสิ่งที่กำลังทำกันอยู่นี้  แท้จริงต้องเชื่อว่า...
         - เป็น เครื่องมือ / กลไกในการพัฒนาตน พัฒนางาน  พัฒนาองค์กร
         - เป็น การการันตีคุณภาพของงาน  
         - เป็น กระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์  และต่อยอด
         - เป็น กระบวนการสกัดความรู้จากคนและเอกสาร
         - เป็น กระบวนการยกระดับเอกสารเป็นคลังความรู้/จดหมายเหตุ

ถัดจากนั้น  ก็นำเสนอแนวคิดการเขียนในกรอบกว้างๆ  ว่า... 

         1.ภาพแจ่มชัด  (เขียนในสิ่งที่ทำ ย้ำ (หลักฐาน)  ในสิ่งที่มี)
         2.สกัดปัจจัย
         3.ใส่ใจปัญหา
         4.นำพาสู่การแก้ไข (พัฒนาการ)
 

ครับ  นั่นคือกรอบแนวคิดกว้างๆ ที่ผมนำมาขายฝันให้กับคนในองค์กรได้ลองนำไปประยุกต์ใช้ และปรับแต่งเนื้อหาของตัวเองให้มีหน้าตา หรือสไตล์ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อนำไปสู่ความเป็นเอกภาพในทางรูปแบบและเนื้อหาของ “องค์กร” 

สิ่งเหล่านี้  ผมถือว่าเป็นกระบวนการเล็กๆ น้อยๆ ที่พยายามชวนคิด หรือชวนไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแบบฉบับที่คิดว่ามันน่าจะเป็นทางออก หรือทางเลือกที่ดีเกี่ยวกับการ “สกัดความรู้ลงสู่เอกสาร”  ในมุมมองของผม ....เพราะผมมีความเชื่อว่า  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  กระบวนการที่กล่าวถึงนั้น  ก็น่าจะหมายถึงการจัดการความรู้ในองค์กรด้วยเช่นกัน  เพราะมันคือการสกัดความรู้จากคนสู่ทีม, จากทีมสู่เอกสาร  จากเอกสารสู่ความเป็นนวัตกรรม หรืองานสร้างสรรค์  จนที่สุดก็จบลงตรงการเป็นเครื่องมือ หรือคลังความรู้แห่งการพัฒนาคน, พัฒนางานและพัฒนาองค์กรของเราเอง... 


ครับ- ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  เอกสารรูปเล่มสวยๆ ที่ว่านั้น  ก็คงได้เวลาเปลี่ยนเป็นวาทกรรมใหม่ ว่า “หวานรูป...จูบหอม” แล้วกระมัง...เพราะยังไงๆ เอกสารมันก็สร้างมาจากคน (เอกสารจึงเป็นภาพสะท้อน หรือกระจกเงาสะท้อนความเป็นคนและความเป็นงานขององค์กรไปโดยปริยาย) 

และที่สำคัญ  กระบวนการที่ผมขายฝัน หรือพร่ำเล่ามานี้  มันคือค่านิยม/วัฒนธรรมของการทำงานที่ควรจะต้องช่วยกันรังสรรค์ให้เกิดขึ้นในองค์กร มิใช่หรือ... 

แต่สำหรับผมแล้ว  นั่นคือสิ่งที่ผมคิด..ผมเชื่อ  และศรัทธาเสมอมา ! และกำลังขับเคลื่อนอยู่อย่างท้าทาย  อีกไม่กี่เดือนถัดจากนี้  ก็รู้ผลแน่ชัดว่า จะออกหัว...ออกก้อย ! 

คงต้องลุ้น..(ช่วยลุ้นเป็นเพื่อน หน่อยนะครับ)

 

...

หมายเหตุ...
ภาพ โดย  งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ

 

หมายเลขบันทึก: 385431เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2010 23:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)

 เรียนท่านอาจารย์แผ่นดินที่นับถือ

      แวะมาทักทายก่อนนอนค่ะ และช่วยอาจารย์ลุ้นด้วยคนค่ะ ขอให้ความฝันเป็นจริงในเร็ววันนะคะ ดิฉันขอร่วมเป็นกำลังใจให้ทุกอย่างประสบกับความสำเร็จนะคะ

สวัสดีครับ พี่มนัสดา (คุณยาย)

ผมพยายามอย่างมากกับการชูปัญหาเป็นความท้าทายในการทำงาน
และยากมากกับการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของผู้คน...
แต่สำคัญ  การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดก็ไม่ใช่เรื่องที่ผมต้องคาดหวังเต็มร้อย
ที่จริงนั้น  ผมหวังแต่เพียงการเปิดใจที่จะฟังและร่วมคิดในสิ่งที่แตกต่างจากวิธีการเดิมๆ ภายใต้บริบทความเป็นปัจจุบันของวันนี้...

 นั่นคือ  การเฝ้ามอง และวิเคราะห์เพื่อขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้..

ขอบพระคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ

มาช่วยลุ้นค่ะ

^_^

ป.ล.

ดิฉันก็อยากบวชค่ะ รอเวลาที่เหมาะอยู่

สกัดความรู้จากคนสู่ทีม, จากทีมสู่เอกสาร จากเอกสารสู่ความเป็นนวัตกรรม หรืองานสร้างสรรค์ จนที่สุดก็จบลงตรงการเป็นเครื่องมือ หรือคลังความรู้แห่งการพัฒนาคน, พัฒนางานและพัฒนาองค์กรของเราเอง...

เชื่อในผีมือ ให้กำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

การสกัดความรู้จากคนสู่ทีม, จากทีมสู่เอกสาร  จากเอกสารสู่ความเป็นนวัตกรรม หรืองานสร้างสรรค์  จนที่สุดก็จบลงตรงการเป็นเครื่องมือ หรือคลังความรู้แห่งการพัฒนาคน, พัฒนางานและพัฒนาองค์กร... 

 

จากการอ่านบทความของอาจารย์ ทำให้มองเห็นตัวตน และแนวคิด แนวทางในการทำงานที่ชัดเจนมาก  อาจารย์ใช้ความเชื่อ และศรัทธาเป็นกำลังขับเคลื่อนงานที่ท้าทาย จนประสบความสำเร็จในการพัฒนางานและองค์กร

อ่านแล้วได้แนวคิดมากมายที่จะนำไปเป็นแนวทางการทำงานของตัวเอง และองค์กร.....อาจารย์เหมาะสมกับงานสำคัญที่ได้รับมอบหมาย ที่อาจารย์บอกว่า "แกมบังคับ"   ได้อย่างน่าพอใจที่สุด

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับแนวคิดแนวที่ดีเยี่ยมนี้ค่ะ

ช่วยลุ้นๆๆๆๆๆ ค่ะ

 

 

สวัสดีค่ะ

คนที่ทำงานเก่ง แต่ไม่เก่งเอกสารก็มักถูกมองข้าม

ยุคนี้วัดกันที่รูปภาพ ทำเสร็จถ่ายรูปเป็นหลักฐาน

เขียนในสิ่งที่ทำ ย้ำ(หลักฐาน)ในสิ่งที่มี

ถอดความรู้สู่เอกสาร คือกระจกเงาที่สะท้อนความเป็น"เรา"

ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

อยากทราบค่ะ

ว่าทำไมถึงมีการเปลี่ยนระบบจากที่ให้พี่หอนอนหอพัก กลายเป็นจะนอนหรือไม่นอนก็ได้

เรียน คุณ Genetics

ก่อหน้านั้น ที่จริงพี่หอก็ไม่จำเป็นต้องนอนหอนะครับ นั่นคือสิ่งที่ผมรับทราบมาจากระบบที่เจ้าหน้าที่ได้สะท้อนและนำเสนอมา  งานของพี่หอแล้วเสร็จในเวลาราชการ คือ 16.00 หรือ 16.30 น. เท่านั้น  ส่วนจะนอนที่หอหรือไม่นั้น  เป็นสิทธิของเจ้าหน้าที่  เพราะยังไงก็มีห้องหับให้พักอยู่แล้ว...ไม่นอน ก็ไม่ใช่ความผิด...

ปัจจุบัน ระบบนั้นก็ยังเหมือนเดิม  เพียงแต่เราเพิ่มระบบเข้ามาใหม่ว่า  อย่างน้อยต้องมีคนเข้าเวรคืนละ 1 คนหมุนเวียนกัน..ส่วนคนอื่นๆ ก็ใช้ชีวิตตามปกติ  จะนอน หรือไม่นอนก็ยังสามารถดำเนินการได้เหมือนที่ผ่านมา...ซึ่งผมก็ย้ำแล้วว่า เรื่องนี้เห็นใจทุกคน  และเชื่อว่าที่ผ่านมาก็คือจิตอาสาล้วนๆ...

นั่นคือข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ได้รับรู้มา...

ทุกอย่างยังเหมือนเดิม  เป็นสิทธิของพี่หอ..มหาวิทยาลัยแห่งอื่น  ส่วนใหญ่ก็ทำงานในเวลาปกติเท่านั้น  เจ้าหน้าที่หนึ่งคนรับผิดชอบหลายหอ  พอเลิกงานก็กลับบ้าน...

นั่นคือความจริงที่เราสำรวจ,ศึกษา และดูงาน รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ที่มาดูงานที่มหาวิทยาลัยของเรา..

....ผมยืนยันครับว่าระบบเหมือนเดิม แต่เพิ่มให้มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบภาพรวมอย่างชัดเจนคืนละ 1 คนเท่านั้น...

แต่ถ้าหากทำงานไม่เต็มที่ ไม่มีประสิทธิภาพ ก็แจ้งข้อมูลผมได้...หรือมีข้อเสนอแนะอื่นใด ก็ยินดีรับฟังและนำไปสู่การหารือและแก้ปัญหา..

ขอบคุณครับ

 

เห็นบรรยากาศห้องประชุมแล้ว คิดถึงกองกิจครับพี่ เป็นกำัลังในให้ครับ

  • ได้ความรู้มากเรื่องการสกัดความรู้ การพัฒนางาน ตลอดจนถึงการนำเสนอผลงานที่ดี..
  • เชียร์ครับอาจารย์ บางคราวเรื่องราวระหว่างทางสำคัญกว่าจุดหมายเสียอีกนะครับ
  • ขอบคุณสาระดีๆนี้ครับ

สวัสดีค่ะ

ปัญหาสำคัญของคนคือไม่สามารถเขียนเรื่องราวเรียงร้อยออกมาได้

สิ่งที่ทำกับสิ่งที่เขียนจึงอาจไม่ตรงกันนัก จึงทำสิ่งที่เราเขียนคุรค่าด้อยลงไป

คำพูดของอาจารย์โดนทีเดียวค่ะ

"เขียนในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี"

  • มาร่วมด้วย ช่วยลุ้น...ด้วยคนครับ

สวัสดีค่ะ พี่พนัส 

การเรียนรู้ที่จะก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน คงต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ปัญหาและต้องก้าวข้ามอุปสรรค จนได้วิถีแห่งทางเดินที่เหมาะสมกับองค์กร 

บันทึกนี้ที่สะท้อนความเป็นองค์กรที่ต้องผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน จนก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมกันพัฒนางาน

ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับทีม มมส. ด้วยนะคะ :)

สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน

เป็นสมาชิกใหม่เข้ามาสำรวจเรื่องเล่าดีๆ อ่านแล้วก็จะมองเห็นภาพรวมว่า การสกัดความรู้สู่จากการปฏิบัติสู่งานเอกสาร สู่การเป็นนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ เห็นด้วยกับคำว่า"ปลูกข้าวบนกระดาษ" ฟังดูแล้วรู้สึกถึงการทำให้กระดาษกลับมาคืนชีพมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

สวัสดีครับ อาจารย์แผ่นดิน

ผมเขียนคิดจะเขียนเรื่องเล่าของผม ในลักษณะเหมือนของอาจารย์เขียนอยู่หลายรอบแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ ที่ไม่ได้ทำไม่ได้หมายความว่าไม่มีเวลาเขียน เพียงแต่จด ๆ จ้องๆ อยู่เท่านั้นจะเขียนดีไม่เขียนดี สุดท้ายก็ยังไม่เขียน อาจารย์สะท้อนออกมาให้เห็นภาพชัดเจน ตัวผมรับผิดชอบการจัดการความรู้ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ(PMQA) ขององค์กร สร้างความเข้าใจให้เพื่อนในองค์กรสักเท่าไหร่ ทั้งเวลาและปริมาณครั้ง แต่ทุกคนก็ยังคิดว่ามันเป็นงานอยู่ดี เขาว่า "ทำยาก เข้าใจยาก" สุดท้ายผมก็ไม่ค่อยได้อะไรกลับมา บ้างครั้งเขายังบอกว่าให้ไปหาน้อง.... (เจ้าหน้าทีบันทึกข้อมูล) เรื่องของเขาอยู่แฟ้มหมายเลขนั้นหมายเลขนี้ นั้นคือผมอยากได้อะไรก็รื้อเอาเอง เขาคิดว่าเป้าหมายคือรายงานของผมที่เสร็จเพื่อตอบตัวชี้วัดในหลาย ๆ เรื่องของการพัฒนาที่ ก.พ.ร. ต้องการให้เป็น แต่ไม่เขาเข้าใจว่านั่นคือกระดาษ ที่มีตัวอักษร เขียนเสร็จคือเสร็จ แต่ในความเป็นจริงเกิดอะไรขึ้น ดีขึ้น เท่าเดิม แย่ลง เข้าไม่ได้สนใจครับ คล้าย ๆ กัน เปี๊ยบ

มาทักทายแลกเปลี่ยนพอหอมปากหอมคอครับ

ชาญวิทย์-นครศรีฯ

มาเชียร์มาลุ้นมาให้กำลังใจ

พี่เชื่อว่าเหนือการประเมินคือไม่ต้องประเมิน

ก็มันเห็นๆอยู่แล้วว่าทำอะไร อย่างไร

ผลเป็นที่ประจักษ์ แล้วจะประเมินอะไร

พี่ชื่นชมการทำงานและแนวคิดของน้องอ.แผ่นดินค่ะ

กลางน้ำสดใสออกอย่างนั้น 

ปลายน้ำย่อมอุดมสมบรูณ์ค่ะ

เจ้าของบล็อกนี้แจ่ม

 

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์แผ่นดิน

อ่านแล้วคอยลุ้นตามไปด้วยค่ะ

เชื่อว่าผลของการทำงานหนักย่อมได้รับผลตอบแทนที่มีคุณค่ากลับมาค่ะ

ชอบข้อความที่เขียนหลายประโยคมากๆค่ะ โดยเฉพาะกิจกรรม

ของการสะท้อนผลการดำเนินงานที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าที่นั่นมีของดีแต่ยังไม่ได้

เอาออกมาแสดงให้คนอื่นเห็นเท่านั้น การสะท้อนผลเป็นสิ่งที่ดีมากทำให้คนที่

เข้าร่วมทุกคนร่วมกันรับรู้ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่คืออะไร(What is it ?)

เรารู้มันได้อย่างไร(How do we know it?)

  และสุดท้ายนำไปสู่ผลที่ว่า

รู้ได้อย่างไรว่าเรารู้ (How do we know what we do know ?)

เมื่อมีครบทั้งสามองค์ประกอบนี้คิดว่างานนี้และต่อๆไปอาจารย์คง

ไม่ต้องหนักใจแล้วล่ะค่ะ

มาช่วยลุ้นและเป็นกำลังใจให้คนทำงานนะคะ

คนมาใหม่ค่ะ

สมาชิกใหม่ค่ะขอเชียร์อาจารย์นะคะไอเดียดีมากค่ะ

เห็นด้วยมากๆค่ะ

เมื่อก่อนไม่ค่อยเขียน พอรู้จักgotoknowก็เขียนมากขึ้นค่ะ

-สวัสดีค่ะ ขอบคุณสำหรับกระบวนการทำงานที่ดีค่ะ

-กับคำว่า "ครองตน ครองคน ครองงาน" ครูแหม่มคิดว่ายังไม่ตกยุคนะคะ หากจะพัฒนาสิ่งใด ให้เริ่มที่ตัวเราก่อน ทำให้เห็น แล้วเรียนรู้ร่วมกันไป ทำให้เกิดประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง

อาจารย์เขียนได้โดนใจมากครับ

สวัสดีค่ะ

อ่านแล้วนึกถึงตัวเองในขณะที่รับราชการอยู่ มันเป็นการยากมากที่จะเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานให้ออกมาในรูปของเอกสารและให้ตรงกับผลงานที่ทำไป ทฤษฎี กับ การปฏิบัติ เป็นของคู่กัน แต่การปฏิบัติจะมีรายละเอียดมากกว่า บางครั้งก็เขียนออกมาไม่ได้ เช่น ปัญหา และอุปสรรค แต่การทำงานมันต้องมีปัญหาและอุปสรรคแน่นอนอยู่แล้วไม่มากก็น้อย การแก้ปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ และวิธีการก็มากมาย แล้วแต่เทคนิคของผู้ปฏิบัติงานนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่อาจที่จะเขียนลงในเอกสารได้ และอีกข้อที่สำคัญ คือ ผู้ใหญ่ไม่ชอบฟังปัญหา ทำให้เด็กๆ ไม่กล้าที่จะพูดถึงปัญหา ปัญหาก็ถูกเก็บไว้ หลายต่อหลายสมัยก็ยังไม่ถูกแก้ไข ระบบมันก็เลยเป็นอย่างนี้แหละ

ขอเป็นกำลังใจให้คนรุ่นใหม่ได้สานต่อนะค่ะ

สวัสดีค่ะ

แวะมาทักทาย อ่านข้อความแล้วประทับใจว่าสมัยน้ียังมีคนเข็นครกขึ้นภูเขาอีกหรือ

เป้นพยาบาลค่ะ ก็รับงาน KM ด้วย มีปัญาหาคล้ายกัน

ก็ลองใช้การดับทุกข์ของศาสนาเรา หาเหตุเห่งทุกข์ พบว่า คนทำงานมักไม่ค่อยเขียน และอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้พูดคุยกันแบบเปิดอก ทำให้ปัญหาไม่ได้นำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ลองแก้ปัญหาด้วยการให้เขาเล่าแล้วเราจับประเด็นปัญหา ก็ดีขึ้น แต่คนที่เหนื่อยก็คือเราต้องมาสรุปตามประเด็นที่ได้ ก็ยังเริ่มต้นเรียนรู้ไปค่ะ อย่างไรก็เป็นกำลังใจให้ค่ะ

  • เพิ่งว่างมาทักทาย
  • งานจะยุ่งอะไรปานนั้น
  • ฮ่าๆๆๆ
  • มารอลุ้นด้วยคนครับ

แวะมาช่วยเติม ฝันของคุณแผ่นดิน นะครับ

...

ด้วยความระลึกถึง

สวัสดีครับ ยอดข้าว

เป็นยังไงบ้างน้อ...เติบโต  และประดับดาวเต็มบ่าหรือยัง..
ที่ตรงนี้ยังคงเหมือนเดิม  การงานคือชีวิต ว่างๆ แวะเวียนมาเติมเต็มกำลังใจให้กันและกันนะครับ

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็น กำลังสงสัยกับคำถามที่ว่า"ทำไมถึงมีการเปลี่ยนระบบจากที่ให้พี่หอนอนหอพัก กลายเป็นจะนอนหรือไม่นอนก็ได้" คำถามนี้ถ้าเป็นพี่หอจริงยิ่งไม่ควรถาม เพราะที่เราคุยกันมาเราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอะไรจากเดิมเลย หน้าที่พี่หอต้องทำอะไร ต้องทำอย่างไร และต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่อย่างไรต่างหากที่เราคุยกัน ที่สำคัญการที่เราตั้งเวรให้มี จนท.1 คน ดูแลความเรียบร้อยโดยทั่วไปในแต่ละวัน มันก็คือสิทธิประโยชน์ที่เราควรได้รับทั้งนั้น ซึ่งปกติพี่หอทุกคนก็ทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราทำเพิ่มขึ้นมานั้น จะช่วยให้เรามีขวัญ กำลังใจ และเห็นระบบการทำงานที่ชัดเจนขึ้นต่างหาก..ช่วงหลังเลิกงาน เมื่อเกิดปัญหาหรือมีเหตุฉุกเฉินประการใด ต้องติดต่อใคร ที่ไหน อย่างไร คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้..และตอนนี้อยากบอกว่าเพราะมีคนช่วยคิด ช่วยแก้ไขปัญหาเก่าเช่นนี้ไม่ใช่หรือ จึงทำให้เรามีกิน มีใช้ กันจนทุกวันนี้..อยากบอกอย่างนั้นกับคนที่ไม่รู้อะไรจริง(แต่สักแต่อยากพูด)

...จบประเด็นแรกนะคะ..เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับวาทกรรมที่ว่า สกัดความรู้ลงสู่เอกสาร (หวานรูป...จูบหอม) เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเอกสารหลายอย่างสวยงามจริง แต่จะหวานรูป...จูบหอมหรือเปล่า เป็นอีกเรื่องนึงนะคะ เพราะการเขียน การนำเสนองานที่เราทำนั้นมันช่างดูบอบบาง ไม่ยิ่งใหญ่ ไม่สมกับความเหน็ดเหนื่อย ที่ได้ทุ่มพลังกาย พลังใจลงไปซะจริงๆ หรือแม้แต่การสื่อสารออกมาเป็นคำพูดเอง ก็ช่างไม่ได้กินใจ หรือไม่ได้ช่วยให้ใครต่อใครที่ไม่เคยรู้เรื่องในเรื่องของเรา ในงานของเรา ได้เข้าใจในแบบฉบับที่ควรจะเป็น ซึ่งนั่นก็คือจุดด้อยอย่างหนึ่งในการสื่อสาร หรือแม้แต่การสกัดความรู้สู่เอกสารเองก็ตาม พวกเราก็มักจะทำแบบฉาบฉวย ไม่ลงประเด็นลึกพอ ที่จะช่วยให้มีการต่อยอดได้ และนั่นคือสิ่งใหม่ที่ได้เรียนรู้มา และอยากเดินตามรอยที่ควรจะต้องเดิน..ขอบคุณพี่พนัสมากคะ ที่ได้ช่วยปูทางไว้ให้กับพวกเราคนรุ่นหลังที่อาจจะเดินต่อไปไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มีการถางป่าไว้รอแล้ว ในทางเดินที่จะต้องเดินไปในอนาคต..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท