KM ชุมชน กับโครงการของหน่วยราชการ
หมู่นี้ภรรยาเขาชม ว่าผมเอาใจเขามากขึ้น ลดการตะลอนๆ เดินทางไปร่วมกิจกรรมต่างจังหวัดในวันหยุด ทำให้เขาไม่ต้องเหงาอยู่กับบ้านคนเดียวอย่างที่เป็นมานาน การได้รับคำชมจากภรรยาทำให้หัวใจเบิกบาน ความคิดสร้างสรรค์ผุด ผมจึงบันทึกความคิดนี้ในวันอาทิตย์ที่ ๑๐ กย. ๔๘ ถ้าบันทึกนี้จะก่อผลต่อเนื่องเกิดคุณประโยชน์แก่สังคม ขอให้ความดีนี้ตกแก่ ศ. พญ. อมรา พานิช ภรรยาผมนะครับ นี่เป็นนวัตกรรมในการเขียน บล็อก คือมีการอนุโมทนาบุญกุศล
การไปเยี่ยมชุมชนแพรกหนามแดง และได้ฟังการบรรยายสรุปโดยคุณสุรจิต ชิรเวทย์, คุณปัญญา โตกทอง และผู้นำชุมชนท่านอื่นๆ เมื่อวันที่ ๑๐ กย. ๔๘ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจเขียนบันทึกนี้ เป็นการเขียนด้วยเจตนาสร้างสรรค์ เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาชุมชนในรูปแบบเน้นการพึ่งตนเอง ชาวบ้านรวมตัวกันเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่แบบพอเพียง
ฟันธงลงไปเลยว่าผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งมองว่าวิธีทำงานเข้าไปดำเนินการในชุมชนของหน่วยราชการต่างๆ ในหลายกรณี ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. หน่วยราชการต่างๆ ลงชุมชนแบบต่างหน่วยต่างลง ทำงานแบบแยกส่วน ไม่ประสานกันเป็นเนื้อเดียว ไม่รู้กันว่าหน่วยไหนลงไปทำอะไรบ้าง ชุมชนที่เข้มแข็งอยากให้ทางราชการตกลงกันเสียก่อนว่าจะเข้าไปทำอะไรที่ชุมชนบ้าง แล้วลงชุมชนแบบเป็นหน่วยเดียวกัน
2. หน่วยราชการต่างก็เรียกประชุมกันแบบจ้าละหวั่น ทำให้ผู้นำชุมชนโดนเชิญประชุมมากจนไม่มีเวลาทำมาหากิน ถ้าไม่ไปร่วมก็จะโดนต่อว่า ว่าไม่ให้ความร่วมมือ
3. หน่วยราชการเรียกประชุมแบบด่วน ชาวบ้านบอกว่าหนังสือของราชการแจ้งเชิญประชุมมี ๒ แบบเท่านั้น คือด่วนมาก กับด่วนที่สุด ชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน เพราะชาวบ้านก็มีกำหนดการทำงานของตนเหมือนกัน อันนี้ผมว่าสะท้อนการทำงานแบบไร้แผน หรือทำแบบลุกรี้ลุกลน ที่ไม่ใช่เกิดต่อชาวบ้านเท่านั้น ตัวผมเองก็เห็นอยู่เกือบจะทุกวัน หนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมจากหน่วยราชการเชิญแบบ “ไม่มี KM” คือไม่ทำความเข้าใจตัวผู้รับเชิญ ว่าเขามีธุระยุ่งแค่ไหน ก็จะไม่ได้ตัวคนที่ตนต้องการเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น หรือมิฉะนั้นก็เป็นการเชิญแบบเหวี่ยงแห หรือไม่ได้ต้องการความเห็น แต่ต้องการจำนวนคนเข้าร่วม ผมมองว่า กพร. น่าจะหาคนทำวิจัยวิธีเชิญประชุมของหน่วยราชการต่างๆ ก็จะใช้เป็นดัชนีบอกคุณภาพของหน่วยราชการได้อย่างหนึ่ง
4. หน่วยราชการลงชุมชนแบบเร่งทำผลงาน ทำงานเป็นชิ้นๆ ไม่ต่อเนื่อง ชาวบ้านไม่เห็นความจริงจังของหน่วยราชการ
5. หน่วยราชการลงพื้นที่แบบเอาโครงการสำเร็จรูปมาลง ให้ชุมชนดำเนินการ แล้วหน่วยราชการเก็บเกี่ยวผลงาน หลายโครงการไม่ก่อผลยั่งยืนต่อชุมชน หรือบางโครงการเป็นผลลบด้วยซ้ำ มีหลายชุมชนที่เข้มแข็งมากทำความตกลงกันในชุมชนว่าจะไม่รับโครงการจากหน่วยราชการก่อนจะหารือกันในกลุ่มแกนนำชุมชนเสียก่อน ว่าเป็นโครงการที่ชุมชนควรเข้าร่วมหรือไม่ คือชาวบ้านจะไม่ร่วมมือกับหน่วยราชการแบบตัวใครตัวมัน แต่จะร่วมมือแบบกลุ่ม และกลุ่มจะไม่ผลีผลามรับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการ จะร่วมกันพิจารณาไตร่ตรองเสียก่อน และอาจร่วมมือโดยขอปรับปรุงโครงการให้เหมาะต่อชุมชน ถ้าเจรจาต่อรองกันไม่สำเร็จ ชุมชนก็ปฏิเสธโครงการ ตัวอย่างของชุมชนที่เก่งถึงขนาดนี้คือชุมชนไม้เรียง จ. นครศรีธรรมราช ที่นำโดยผู้นำระดับรางวัลแมกไซไซ ประยงค์ รณรงค์ กับชุมชนบ้านผารังหมี อ. เนินมะปราง จ. พิษณุโลก
6. หน่วยราชการเข้าไปด้วยวิธีคิดและความเชื่อแบบเศรษฐกิจแข่งขัน เน้นพัฒนาแบบทุนนิยม วัตถุนิยม กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายรัฐบาล ในขณะที่ชุมชนที่เข้มแข็งเน้นความเป็นอยู่แบบพอเพียง ซึ่งตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจสังคมแข่งขัน กล่าวแรงๆ ก็คือ หน่วยราชการเน้นพัฒนาโดยใช้กิเลสนำ แต่ชุมชนที่เข้มแข็งมุ่งพัฒนาโดยใช้ปัญญานำ
7. หน่วยราชการ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ ซีอีโอ ต้องสนองนโยบายรัฐบาล ต้องทำงานเพื่อให้โดนใจต้องตาคณะรัฐมนตรี/นายกรัฐมนตรี เป็นสำคัญ ไม่ได้ทำงานเพื่อสนองความต้องการของชาวบ้านและชุมชน เป็นเป้าหมายหลัก
8. หลายโครงการใช้เงินมากเกินจำเป็น จนชาวบ้านมองว่าเป็นโครงการคอรัปชั่น ชาวบ้านที่แพรกหนามแดงเรียกว่า “โครงการกินน้ำข้าว” หมายถึงสุนัขกินน้ำข้าว เป็นการเรียกแบบดูถูกคนโกงว่าเป็นเหมือนสุนัข เรื่องความระแวงว่าโครงการมีขึ้นเพื่อเป็นช่องทางหาเงินเข้ากระเป๋าตนเองและพวกพ้องนี้มีอยู่ทั่วไปหมด บางจังหวัดชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะเข้าไปจัดการงบก่อสร้างใหญ่ๆ ทั้งหมดในจังหวัด เพื่อหาประโยชน์เอาเงินเข้ากระเป๋า ๒๐ – ๓๐% ของงบทั้งหมด ผมไม่ทราบว่าจริงหรือเท็จ แต่ความไม่เชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะบั่นทอนความสามัคคีและความเจริญของบ้านเมืองของเราอย่างน่าวิตก
9. โครงการใหม่ๆ ของรัฐบาลผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีผลให้หน่วยราชการทำงานสนองนโยบายแบบฉาบฉวย แต่ผู้รับผลร้ายจากความฉาบฉวยคือชาวบ้าน
ความเห็นเหล่านี้ผมเก็บมาจากการลงพื้นที่และพูดคุยหลากหลายพื้นที่ หลากหลายกลุ่ม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีหน่วยราชการและข้าราชการดีๆ ที่ไม่เป็นตามนี้นะครับ หน่วยราชการดีๆ ข้าราชการดีๆ ตามความคิดเห็นของชาวบ้าน/ชุมชนก็มี และ กพร. น่าจะจัดโครงการเสาะหาหน่วยราชการขวัญใจชุมชนเข้มแข็ง ให้ชุมชนที่เข้มแข็งช่วยกันบอกว่ามีกิจกรรม/หน่วยงาน/โครงการ ใดบ้างที่ทำงานแบบ “คุณอำนวย” เป็นขวัญใจชุมชน ไม่ทำงานแบบ “คุณอำนาจ” กพร. ก็จะได้ตัวอย่างหน่วยงานที่ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ ตามที่ กพร. อยากได้ เอามา ลปรร. เพื่อขยายผลไปสู่หน่วยราชการอื่นๆ ต่อไป
จะเห็นว่าในหลายกรณี ต้นเหตุของความอ่อนแอของชุมชน ก็คือโครงการที่เขียนหรืออ้างกันว่ามีเป้าหมายพัฒนาชุมชนนั้นเอง ทำอย่างไรเราจะช่วยกันขจัด “ผลร้ายจากความปรารถนาดี” เหล่านี้ได้ ผมมีคำตอบว่า ต้องใช้ KM เอาตัวอย่างวิธีที่ชาวบ้านดำเนินการสร้าง “ผลดีจากความปรารถนาดี” ออกสู่สังคม เอา ความรู้ปฏิบัติ ของชาวบ้าน มา ลปรร. กันในสังคม
ขอย้ำนะครับ ว่าผมเสนอให้พุ่งไปที่ความสำเร็จของชาวบ้าน/ชุมชน ไม่ใช่ความสำเร็จของหน่วยราชการ แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันบอกว่าความสำเร็จของเขาเกิดจากหน่วยงานราชการใดทำหน้าที่ “คุณอำนวย” เราก็จะได้หน่วยราชการขวัญใจชาวบ้าน วิธีทำงานของหน่วยราชการขวัญใจชุมชน นี่คือนวัตกรรมของ KM หน่วยราชการนะครับ
ขอสื่อถึงคุณตุ่ม น้ำ และแขกว่า โปรดพิจารณา สื่อสารความคิดนี้ไปสู่สื่อมวลชนด้วยนะครับ เป็นเรื่องสำคัญเพื่อบ้านเมืองของเราและขอให้คุณอ้อช่วยบอกให้ผู้ประสานงานกับ สคส. ที่ กพร. ได้พิจารณาเอาความเห็นนี้เสนอผู้ใหญ่ใน กพร. ด้วยครับ
วิจารณ์ พานิช
๑๓ กย. ๔๘
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand