เรื่องราวคนนอกกะลา [2] : ทางเลือกที่มีพลังของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา


การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ดีที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถือว่าเป็นการสร้างสังคม หากมองในภาพใหญ่ เป็นการปฏิวัติการเรียนรู้แบบใหม่ ปฏิรูปคลี่คลายพันธนาการที่เกิดจากการศึกษาที่ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ เปิดโอกาสการเรียนรู้ที่แท้จริงอย่างมีพลัง เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

เรื่องราวคนนอกกะลา  [2] : ทางเลือกที่มีพลังของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

 

ตั้งใจว่าจะทำสมองว่างๆเมื่อไปที่ลำปลายมาศพัฒนา โดยคิดหวังว่าประสบการณ์ใหม่ที่อยู่เบื้องหน้าเป็นแรงบันดาลใจบางอย่างของผม โดยเฉพาะ กระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นมนุษย์ กระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติกลืนไปกับวิถีประจำวันของผู้คน โดยส่วนตัวผมเชื่อมั่นในแนวทางการสร้างความรู้ในแนวทางนี้

ผมมักปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง และถึงแม้จะฝืนทำแต่ก็ฝีนอยู่ก็ไม่ได้นาน ในที่สุดก็ต้องหาช่องทางผ่อนคลายให้ตัวเองหลุดออกจากพันธนาการบางอย่างจนได้ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็เช่นเดียวกัน ทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากฉันทะและแรงขับที่มาสนใจใคร่รู้ของตนเอง

ที่ลำปลายมาศพัฒนา ถึงแม้ผมไม่รู้อะไรมากไปกว่าหนังสือที่เขียนถึงและผมมีโอกาสได้อ่าน สื่อออนไลน์บางบทบางตอนที่ได้อ่าน ทุกอย่างเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้ผมวาดภาพสำนักนอกกะลานี้ เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และให้โอกาส

โรงเรียนระดับประถมศึกษา มีนักเรียนอยู่ราวสองร้อยกว่าคน ถือว่าเป็นโรงเรียนเล็กๆ มองเผินๆเราก็คิดว่าก็คงคล้ายกับโรงเรียนโดยทั่วไป แต่เมื่อมีโอกาสมาสัมผัสจึงได้รู้ว่าโรงเรียนเอกชนเล็กๆแห่งนี้มีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้มากมายเลยทีเดียว

โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจุดเริ่มต้นเกิดจากความตั้งใจที่อยากให้ชาวชนบทมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพของ คุณมีชัย วีระไวทยะ  และมีแนวร่วมที่สำคัญอีกท่านหนึ่งก็คือ คุณ James Clarkที่ประสงค์จะมอบเงินทุนเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนจนกระทั่งการบริจาคเงินเพื่อสร้างโรงเรียนเพื่อพัฒนาเด็กขึ้น เป็นทางเลือกชุดหลังที่คุณ Clark ทุ่มเทเงินก้อนใหญ่สร้างโรงเรียนและบริหารจัดการโรงเรียนทางเลือก โดยมีครูวิเชียรทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่สำหรับเคลื่อนไปข้างหน้าจากเรือที่ประกอบสร้างขึ้นมา การเดินไปข้างหน้าเป็นเรื่องของฟ้าลิขิตส่วนหนึ่ง และอีกส่วนก็คือทิศทางที่แนวแน่นำทางด้วย แสงจากประภาคารที่อยู่ไกลออกไป เป็นอุดมการณ์และความศรัทธาพร้อมที่จะเรียนรู้กับสิ่งใหม่ ที่ให้ความเชื่อมั่นในการ “สร้างความรู้”

ผมคิดว่าไม่ง่ายนักที่จะผ่านวันผ่านคืน พิสูจน์ตัวเองของโรงเรียนเอกชนเล็กๆแห่งนี้ จนประสบความสำเร็จตามวิถีที่เป็นยุทธศาสตร์ของโรงเรียน ผลงานที่ได้รับจากการเดินทางมาระยะหนึ่ง เป็นสิ่งการันตีได้ว่า การสร้างคนมาถูกทางและแนวทางนี้เอื้อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพมนุษย์อย่างแท้จริง สอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ และศักยภาพที่เด็กๆมีอยู่

หากมองเรื่องของการรับรองมาตรฐานโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการประเมินจากมหาวิทยาลัย Tasmania ว่าโรงเรียนนี้อยู่ในระดับ World class standard  และในระดับประเทศก็ได้รับการรับรองจาก สมศ.

แต่ผมคิดว่าการประเมินแบบไหนก็แล้วแต่ไม่ได้สำคัญเท่ากับ สิ่งที่ทำจริงๆและเกิดมรรคผลที่แท้จริง โดยเฉพาะวิถีการเรียนรู้ ผลลัพธ์ระยะยาวที่เกิดขึ้นก็อาจวัดไม่ได้เป็นรูปธรรม หากใช้วิธีคิดที่คับแคบของการประเมินที่ใช้รูปแบบแข็งตัวจากวิธีคิดของทุนนิยมแห่งอุตสาหกรรม อาจเดินไม่ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆของการเรียนรู้ เข้าไม่ถึงคุณค่าของสิ่งที่ดำรงอยู่

ก่อนที่เราจะได้มาซึ่งผลลัพธ์ของการสร้างความรู้ กระบวนการที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนานั้นมีรูปแบบที่แตกต่างจากกระบวนการเรียนรู้ที่เราคุ้นชิน ก็คือ ที่นี่ไม่มีแบบเรียน ไม่มีหนังสือ

ครูเองมีหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ หรือ Facilitator จริงๆ (ย้ำว่าเป็น Facilitatorโดยแท้จริง) ที่คอยหมุนวงล้อผ่านความสนใจใคร่รู้ของเด็ก ที่ครูมีสำคัญที่จะกระตุ้นและเร้าความสนใจของพวกเขา ความสนใจที่มีพลังทำให้เกิดการเคลื่อนของกระบวนการเรียนรู้แบบมีพลังเช่นกัน ครูกับนักเรียนมาร่วมด้วยช่วยกันวางแผนการเรียนรู้หาทางเลือกว่า จะเดินทางไปสู่การคลี่คลายความอยากรู้นั้นอย่างไร สร้างกิจกรรมทดลองทำ ผิด ถูก ก็เป็นเรื่องของการเรียนรู้ ตรงนี้เองเป็นที่มาของการสะสมประสบการณ์ที่เชื่อว่า ผลผลึกที่เกิดจากการเรียนรู้แบบไร้พันธนาการเช่นนี้จะต่อยอดความรู้ใหม่ๆได้อย่างไม่รู้จบ


"การนำเสนอความคิด โดยเด็กนักเรียน ชั้น ป. ๑" 

ภาพนี้เป็นการสะท้อนของเด็กที่มีต่อคุณครูของพวกเขา เราจะเห็นว่า การสะท้อนที่เปิดโอกาสฟังเสียงเด็กทำให้เราได้ใคร่ครวญย้อนหลังในสิ่งที่เราปฏิบัติ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราทำให้เด็กมั่นใจที่จะเเลกเปลี่ยน ผมคิดว่าเป็นความสำเร็จในกระบวนการเรียนรู้


การให้ความสำคัญกับวิธีคิดเป็นแนวทางตั้งต้นก่อนจะถึงตัวกิจกรรม โดยมีความเชื่อมั่นว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องมาจากวิธีคิดและมุมมองที่ดี เราไม่ได้หยิบแค่ปรากฏการณ์ที่เห็นมาพูดคุย วิเคราะห์ แต่ สืบสาวลงไปก่อนหน้านั้นว่า ผลที่เกิดขึ้นเช่นนี้แล้วมีที่มาอย่างไร?  ที่นี่จึงให้ความสำคัญกับการสอนวิธีปลูก “ต้นคิด” (คิดเชิงตรรกะ,คิดสร้างสรรค์,คิดเชิงวิสัยทรรศน์) เปิดโลกจินตนาการไร้ขอบเขตให้กับเด็กนักเรียน เชื่อมั่นและเข้าใจในวิธีการแสวงหาความรู้ ก่อนที่จะปล่อย “ต้นคิด” ให้เติบโตงอกงามตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ครูเป็นผู้รดน้ำ พรวนดิน เมล็ดพันธุ์ที่รอคอยการผลิดอก ออกผล เหล่านั้น

การศึกษาที่แท้จริง คือการคืนเสรีภาพให้กับความไม่รู้ที่ถูกจองจำ  

ที่นี่ไม่มีเสียงระฆัง ไม่มีการกำหนดเวลาแต่ปล่อยให้เป็นการฝึกเรื่องของวินัยส่วนตนจึงเป็นความรับผิดชอบของเด็กนักเรียน

ที่นี่ไม่มีการใช้คำพูดด้านลบกับเด็กนักเรียน ไม่มีการขู่ ตะคอก ว่ากล่าว แต่เน้นการใช้คำพูดเชิงบวกให้กำลังใจ และให้โอกาส

ความเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ทุกคนมีส่วนดีที่แตกต่าง เพียงแต่รอคอยโอกาสการชี้แนะ และพื้นที่ในการแสดงศักยภาพ ไม่มีการแข่งขัน เปรียบเทียบที่จะนำมาซึ่งความคับแคบในการตัดสิน กร่อนพลังของการเรียนรู้อย่างน่าเสียดาย

เมื่อมีการทำผิดไม่มีการลงโทษ โดยครูแต่ให้โอกาสเด็กได้ใคร่ครวญตัวเองว่าควรมีวิธีจัดการอย่างไร?

การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ดีที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ถือว่าเป็นการสร้างสังคม หากมองในภาพใหญ่ เป็นการปฏิวัติการเรียนรู้แบบใหม่ ปฏิรูปคลี่คลายพันธนาการที่เกิดจากการศึกษาที่ไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ เปิดโอกาสการเรียนรู้ที่แท้จริงอย่างมีพลัง เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 379361เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 18:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (31)

สวัสดีค่ะ

น่ารักมาก ๆ น้องเอก แบบนี้เป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ  ทานข้าวหรือยัง เจอใครบ้างที่ขอนแก่น เจอน้องหนานหรือยัง

พี่คำเอ้ยครับ

ถึงขอนแก่นช่วงบ่ายๆเเล้วครับ ตอนนี้รอเพื่อนร่วมทางอีกท่านครับผม

คิดว่าสักพักจะออกไปหาเพื่อนก่อนมานั่งเขียนงานต่อ

ขอบคุณครับ >> น้องคำปัน

ดีจ๊ะน้องคำปัน

ลืมถามไปว่า ที่โรงเรียนนี้มีหนังสือเล่มอื่นอีกไหมคะ นอกจากเล่มที่น้องเอกให้พี่  ถ้ามีเก็บ ๆ เผื่อพี่ด้วยนะคะ  เป็นชาวบ้านก็อ่านเรื่องเรื่องครูได้เน่อ

ขอบคุณค่ะ..ทุก key words ที่หยิบยกในบันทึกนี้ คือหัวใจของการเรียนรู้ด้วยจิตวิญาณและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน..พี่ใหญ่เคยสัมผัสโรงเรียนนี้อย่างชื่นชมในเชิงลึกๆครั้งหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ..ดีใจที่คุณเอกนำมาเล่าได้อย่างชัดเจนในมิติดีๆเช่นนี้

                

ตามมาจาก  fb ค่ะคุณเอก

อ่านหนังสือโรงเรียนนอกกะลาแล้วค่ะ

อยากรู้จังค่ะ ท่านผอ.วิเชียร มีระบบการประกันคุณภาพภายในอย่างไรบ้างคะ จึงบริหารโรงเรียนได้ดีขนาดนี้

เดินทางบ่อยรักษาสุขภาพด้วยค่ะ 

พี่คำเอ้ยครับ

หนังสือที่ผมมีเยอะครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีหนังสือเข้ามาประมาณ ๕๐ + เล่มครับ ก็เก็บเอาไปฝากกัลยาณมิตรคนอื่นๆได้อ่านครับ

ตอนนี้ก็มีบางส่วนเเล้วผมจะส่งไปให้ครับ

ไม่ว่าพี่คำเอ้ยจะเป็นชาวบ้าน หรือ ครู ก็จำเป็นต้องอ่านทั้งนั้นครับ เพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์ของเราครับ อีกอย่างเราก็จะได้รู้เท่าทันด้วย

พี่คำเอ้ยรู้ไหมว่าโดยเฉลี่ยปีหนึ่งๆคนไทยเราอ่านหนังสือกันน้อยมาก

จากข้อมูล คนไทยซื้อหนังสือเฉลี่ยเพียง ๑.๖ เล่ม ต่อคน ต่อปีหรือ คิดเป็นเงินเฉลี่ย ๒๖๐ บาท ต่อคนต่อปี

เห็นไหมครับว่า เราต้องเร่งสร้างปัญญากันขนาดไหน ทำอย่างไรดีครับ ที่จะทำให้คนไทยเราอ่านหนังสือมากขึ้น 

หนังสือที่ว่าไม่ใช่ ซุบซิบดารา ไม่ใช่หนังสือศาลาคนเศร้า นะครับพี่คำเอ้ย

 

ด้วยความนับถือ

น้องคำปัน

พี่ใหญ่ครับ

ขอคารวะพี่ครับ ด้วยพี่เป็นคนหนึ่งที่คอยเอื้อโอกาสให้เด็กเเละเยาวชนได้มีพื้นที่ในสร้างการเรียนรู้ตลอดมา

บันทึกนี้เขียนยากเหมือนกันครับ โดยผมนั่งคิดมาหลายชั่วโมงว่าจะสื่อสารอย่างไรดี การเดินทางไปลำปลายมาศพัฒนาครั้งนี้ของผม ก็ด้วยกัลยาณมิตรที่ผมเคารพเช่น ครูวิเชียร ท่านได้ให้โอกาส ดังนั้นโอกาสที่ผมได้ ผู้อ่านที่ติดตามงานของผมก็ควรได้สัมผัส เรียนรู้ร่วมกับผมด้วยครับ

ขอบคุณมากครับพี่ใหญ่...

ให้กำลังใจงานดีๆของพี่ใหญ่ด้วยเช่นกันครับ ฝากความระลึกถึงทีมงาน พี่รัตนา กิติกร,น้องเซ้ง ฯลฯ เเละอีกหลายท่านที่สยามกัมมาจลด้วยครับ

ครู NU

ในมิติของการประกันคุณภาพภายใน กระผมไม่ค่อยเข้าใจครับ อาจต้องเรียนถามโดยตรงกับทางลำปลายมาศพัฒนา หรือ ยังไงไปเยี่ยมเวปของโรงเรียนได้นะครับ จริงๆมีในเวปผมสังเกตว่ามี file ที่สามารถ Download ได้ด้วย น่าสนใจมากๆครับ

อ.เอก นี่เป็น จอมยุทธกระบี่ไร้เทียมทาน จริงๆ

ข้าผู้น้อยขอคารวะ

ถ้าเมืองไทยมีคนแบบนี้เยอะๆ ก็คงจะดี

เป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์เพื่อชาติต่อไปนะคะ

 

หนังสือที่อ่านจบอีกเล่มในวันนี้ ชื่อ" อธิษฐานสิจ๊ะ กับนางฟ้าสีเขียว" ของครูวิเชียร ไชยบัง เรื่องราวของการวาดรูปนางฟ้าของเด็กชายคนหนึ่ง (ที่เด็กชายคิดว่าเขาวาดได้สวยที่สุด) เเต่ก็ถูกตัดสินด้วยการให้ "ดาว" ของครู นัยยะการสื่อสารให้เข้าใจถึง การตัดสิน การลดทอนความเป็นมนุษย์ การทำลายพลังของการเรียนรู้ที่ไม่ตั้งใจของครู

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

คุณ Jaja ครับ

ต้องขอบคุณครับที่ยกให้เป็นจอมยุทธกระบี่ไร้เทียมทาน ผมรู้สึกว่าผมเหมือนพระเอกหนังจีนกำลังภายในเลยครับ :)

เขียนเล่าตามที่เห็นเเละรู้สึกครับ เป็นจดหมายเหตุระหว่างการเดินทาง เเบ่งปันให้ทุกท่านได้ต่อยอดครับผม

พี่เอกคะ

หนูเองมีความเชื่ออย่างนึงว่า ทุกคนมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาตนเองได้ เพียงแต่ต้องอาศัยกระบวนการและโอกาสจากผู้เป็นครู ที่จะช่วยออกแบบการสอนและการเรียนรู้ที่จะให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพได้ตามกำลังที่ตนเอง และสามารถพัฒนาให้เหนือขีดข้อจำกัดของตนเอง จนสามารถเติมเต็มศักยภาพที่มี ให้เติบโตได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ

หากเห็นภาพแบบนี้ในระบบการศึกษายิ่งมากเท่าไร น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมโดยรวมพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้นนะคะ

ได้อ่านบันทึกนี้แล้ว ต้องขอชื่นชมโรงเรียนและพี่เอก ที่นำเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันค่ะ :)

  • สวัสดีค่ะ อ. เอก
  • ติดตามเรื่องราวโรงเรียนแห่งนี้ทาง ที.วี. อยู่ น่าทึ่งมากเลยค่ะ

สวัสดีพี่เอกครับ

โรงเรียนที่น่ายกย่อง แต่ส่วนใหญ่ มักเรียกว่า โรงเรียนนอกระบบนะครับ

เพราะระบบ มักมีแต่การแข่งขัน แย่งกันทำงาน แย่งกันกิน กันใช้ ซึ่งหลายครั้งลืมแกนกลางของความเป็นมนุษย์

การเรียนรู้ที่สุดแล้วน่าจะเป็นไปเพื่อสัจจะ ความจริง รู้ดี รู้ชั่ว และ เรียนรู้ที่จะเข้าใจเพื่อนมนุษย์ และ ลด ละ อัตตา นะครับ

ขอบพระคุณสำหรับบันทึก และ รูปงามครับ...

  • สวัสดีครับน้องเอก
  • ตามมาอ่านบันทึกต่อครับ
  • เป็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่ค่อยได้พบเห็น
  • ขอบคุณครับ

เรียนท่านอาจารย์เอก เด็ก สะท้อน ได้ คันคัน นิ "ให้เวลาเด็กทำงาน" โห สุด ยอด

สวัสดีครับ มะปรางครับ

โดยสรุปเเล้วก็ขอเพียงเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ เข้าใจเเละให้เกียรติศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ทุกคนเท่าเทียม

การศึกษาก็เช่นเดียวกัน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน 

กระบวนการ วิธีคิดบางอย่างที่เราอาจปรารถนาดี เเต่ก็อาจลดทอนพลังของผู้คนลงไปอย่างน่าเสียดาย

ไปขอนแก่นไปนั่งฟังพี่คนหนึ่งเล่าเรื่อง การถูกวิพากษ์จากเวทีระบาดวิทยา จากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่วิพากษ์แรง รวมไปถึงกระบวนการที่ไม่ค่อยเป็นมิตร ผมว่าสิ่งที่ย่อยยับคือคนทำงาน เเละผลของการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ส่งผลดีต่อใครในระยะยาว

ผมมองว่าวิพากษ์เพื่อสร้างสรรค์ พูด(เว้า) ดีๆก็ได้ :)

มะปราง >>> สบายดีนะครับ ขอบคุณสำหรับเสื้อ Healthy นะครับ :)

สวัสดีค่ะน้องเอกเปลี่ยนไป๋แบบ น้องคำปันเกย เลยนิ อิอิ มาชมกระบวนการของการบริหารงานของโรงเรียนระบบดี อะไรก็ดีตามนะคะ

เรียนนอกฤดู...ครบ 1 ปี แล้วนะครับ...
กำลังเขียนเล่มใหม่...กะจะให้คลอดเดือนตุลาคม
อยากได้ข้อเสนอแนะ...

ส่วนลำนำ "ว่าด้วยความรัก..ความคิดถึง..ความฝัน"  ภายใต้ชื่อ โลกไม่เงียบเหงา...เพียงเพราะมีคนให้เราได้คิดถึง"  กำลังทำต้นฉบับส่งพิจารณา..
บางทีอาจขอภาพคุณเอก ประกอบหนังสือ...

มีเวลา  แวะไปทักทายเรียนนอกฤดูในวาระ 1 ปีบ้างนะครับ

http://gotoknow.org/blog/pandin/380232

สวัสดีค่ะ

ครูยุได้แน่ะนำให้เพื่อนครูท่านหนึ่งเข้ามาอ่าน เรื่องราวร.ร.นอกกะลา

ยังคุยกันเล่นๆว่า นักเรียนแลกเปลี่ยนรุ่นต่อไปน่าส่งมาร.ร.นอกกะลา

มีธรรมชาติหลายอย่างที่น่าเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ขอบคุณบันทึกที่ให้ความรู้นี้ค่ะ

  • สวัสดีครับพี่เอก
  • ขอบคุณกับเรื่องเล่าจากการเดินทางถอดประสบการณ์ที่ลำปลายมาศ
  • เคยอ่านแต่หนังสือ  ชื่นชมครูที่โรงเรียนนี้
  • แต่ละจังหวัดน่าจะมีโรงเรียนแบบนี้ อย่างน้อยจังหวัดละ 1
  • การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ผู้บริหาร และครูที่ต้องเปลี่ยนแปลงตนก่อน
  • หากมีโอกาสคงได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้กับพี่นะครับ
  • ก่อนนี้ มาอ่านเรื่องโรงเรียนนอกกะลา"ลำปลายมาศพัฒนา"กับคุณเอกไปบ้างแล้ว
  • คล้ายๆครอบครัวที่พ่อแม่พร้อมๆนะครับ หมายถึง พ่อ-แม่มีทั้งความรู้ในเรื่องการจัดการ(ศึกษา) รวมทั้งทรัพยากรที่จำเป็น แค่อยู่กับลูก คลุกคลีกับลูก ทำกิจกรรมกับลูก เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก พร้อมๆกับปล่อยให้ลูกเรียนรู้เองตามธรรมชาติ ตามสังคมที่ต้องประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เราเพียงชี้แนะบางเรื่องหรือบางอย่างที่จำเป็นเท่านั้น ปกติความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ จะมีอยู่ในตัวเขาเป็นกระบุงโกยอยู่แล้ว..อยากไปเห็นการจัดการที่โรงเรียนจริงๆครับ
  • ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยือน แม้ตัวเองจะห่างหายไปนาน มีโอกาสผ่านมาทางพิษณุโลกเมื่อใด หากได้พบ ได้คุยกันบ้าง จะเป็นเกียรติอย่างยิ่งเลยครับ
  • สวัสดีค่ะ อ. เอก
  • ได้รับหนังสือ "ถอดบทเรียน"(นอกกรอบ) เรียบร้อยแล้วค่ะ
  • ขอบพระคุณมากค่ะ

ขอบคุณที่พี่เอกเก็บเกี่ยวเรื่องราวจากสำนักนอกกะลามาเล่าต่อให้ชาว G2K ครับ

เป็นกำลังใจให้ อ.เอกนะครับ ......สุดยอดมาก

  • ดีครับ
  • ลุยต่อไปครับ น้องบ่าวสุดหล่อ
  • แต่อย่าลืม สุขภาพ .. ของยืมเขามา ต้องถนอมหน่อย จะได้ใช้ได้นานๆ
  • อิ อิ อิ

พี่ kumfun  

พรุ่งเจอกันบนเวที ที่โรงเเรมดิเอ็มเพรส นะครับ :)

Phornphon พรพล

ผมตื่นเต้นมากครับ เมื่อได้ไปเรียนรู้หลายเรื่องราวที่นั่น 

เเละที่ผ่านมาเป็นวันเกิดของน้องพรพล ขอให้น้องมีความสุขมากๆครับ คิดสิ่งใดให้สมความปรารถนานะครับผม

สิงห์ป่าสัก พี่สิงห์ป่าสัก

ด้วยความเคารพครับ ช่วงหลังไม่ค่อยได้อ่านบันทึกดีๆของพี่เลย งานคงยุ่งนะครับ

บล้อกเกอร์ฝีมือดีๆ หายไปเยอะเลย มาช่วยกันเขียนนะครับ

เเลกเปลี่ยนกัน

อาจารย์หมอJJ   ครับ

งาน Gotoknow ที่ขอนแก่นไม่ได้ไปเจอท่าน เสียดายมากครับ

ผมมีไปถอดบทเรียนที่อุบลรัตน์อีกไม่นานี้คงได้ไปคารวะท่านนะครับ

 

  • พี่ชื่นชมโรงเรียนนี้นับตั้งแต่ได้อ่านหนังสือที่น้องเอกส่งไปให้
  • ทุกครั้งที่พี่ได้รู้จักโรงเรียนดีๆ พี่พบว่าคนสำคัญที่ขับเคลื่อนสิ่งดีๆ คือผู้บริหาร  ทำให้เกิดคำถามในใจเสมอว่า  ถ้าไม่มีคนอย่าง "ครูวิเชียร" โรงเรียนนอกกะลาจะเป็นอย่างไร
  • คำถามนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากความกระหายที่จะเห็นโรงเรียนแบบนี้ผุดขึ้นทุกหนแห่งในประเทศนี้ค่ะ
  • อ่านบันทึกของน้องเอกแล้วทำให้พี่คิดถึงความหลังสมัยพี่เป็นนักเรียนชั้น ป.๕ ที่ถูกไม้เรียวแม่หวดเลือดอาบ ลากตัวไปโรงเรียน  ต่อด้วยการถูกครูใหญ่ประจานหน้าเสาธง...มันเป็นความทรงจำเกี่ยวกับโรงเรียนที่ลืมไม่ลงจริงๆ 
  • ความทรงจำนี้ยิ่งทำให้พี่อยากเห็นเด็กทุกคนได้เรียนในโรงเรียนนอกกะลา
  • พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท