ความรู้สึกต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐


ข้อใหญ่ที่สุดที่ค้างคาใจผม คือความไม่ชัดเจนในแนวคิดเรื่อง สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน หรือสังคมเรียนรู้ สังคมอุดมปัญญา ผมยังรู้สึกว่าผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ที่จะทำหน้าที่ประสานแผน และประยุกต์แผน ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง

ความรู้สึกต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๐

           ผมไปร่วมประชุมประจำปีของสภาพัฒน์ "แผนพัฒนาฉบับที่ ๑๐ : สังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน" เมื่อวันที่ ๓๐ มิย. ๔๙ ด้วย     กลับมาแล้วก็ยังมีความรู้สึกลึกๆ ติดอยู่ในใจ

           ความรู้สึกแรกเป็นความสงสัย     ว่ามีการพูดกันแบบจริงใจแค่ไหน    เป็นแค่คำหวาน หรือ lip service แค่ไหน โดยใคร     วิธีการเชิญผู้นำชุมชนมาร่วมด้วยนั้น เป็นมิติใหม่ที่ไม่ใหม่นัก ค่อนข้างเป็นสูตรของสภาพัฒน์แล้ว     ผมสงสัยว่าควรจะมีการพัฒนา "การมีส่วนร่วม" ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ได้อย่างไร      ผมสงสัยว่า สภาพัฒน์ทำงานให้ประเทศไทย หรือทำงานให้รัฐบาล     สภาพัฒน์มีความเป็นอิสระแค่ไหน มีความกล้าหาญแค่ไหน ในการเสนอสิ่งที่อาจจะไม่ตรงกับ "ท่านผู้นำ" นัก     ผมสงสัยว่า มีการพูดกันเรื่องเศรษฐกิจคู่ขนาน (dual track) มันคู่กันอย่างเท่าเทียมกันแค่ไหน    หรือว่าเศรษฐกิจพอเพียงต้องยอมให้แก่เศรษฐกิจแข่งขันโดยไม่รู้ตัว ในทางเลือกเชิงนโยบาย      ผมมีข้อสงสัยมากกว่านี้เยอะ

           ความรู้สึกชัดๆ ก็คือ ตอนฟัง "ท่านผู้นำ" พูด     ผมรู้สึกเหมือนที่ นสพ. สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ ๕ - ๗ กค. ๔๙ ระบุว่า "ตะลึง!  ทักษิณสอนศีลธรรม จริยธรรม และประชาธิปไตย กลางเวทีประชุมแผนฯ ๑๐ - - -  เหน็บนักวิชาการมีแต่ความคิด แต่ไม่ทำวิจัย - - - "     คือระหว่างฟัง ผมหันไปกระซิบกับคนข้างๆ ว่า ในห้องประชุมที่มีคนอยู่ ๒๐๐๐ คนนี้     มีคนฉลาดอยู่คนเดียว

           เรื่องนี้มีคนพูดเข้าหูผมมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นโรคจิตชนิดหนึ่ง

           ข้อใหญ่ที่สุดที่ค้างคาใจผม คือความไม่ชัดเจนในแนวคิดเรื่อง สังคมที่มีความรู้เป็นฐาน หรือสังคมเรียนรู้ สังคมอุดมปัญญา     ผมยังรู้สึกว่าผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ที่จะทำหน้าที่ประสานแผน และประยุกต์แผน ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง     เรื่องนี้เป็นเรื่องลึก เขียนออกมายาก    อุปสรรคสำคัญคือวิธีคิดแบบอำนาจนำ  ไม่ใช่ปัญญานำ     และคิดว่า "ข้าฉลาดคนเดียว"  หรือ "เฉพาะพวกกูเท่านั้นที่มีปัญญา"  หรือ "เฉพาะคนที่เรียนสูง  อยู่ในเศรษฐกิจแข่งขันเท่านั้นที่มีความรู้"  หรือ "ความรู้คือสิ่งที่มาจากวิชาการ มาจากต่างประเทศ"   "วิธีบรรลุความสำเร็จตามแผนฯ มีทางเดียวคือทำตาม 'นโยบาย' หรือแผน ที่หน่วยราชการที่เป็น 'หน่วยเหนือ' กำหนด"     วิธีคิดเหล่านี้คืออุปสรรค ของการดำเนินการตามแผนฯ ๑๐

        อ่านมติชนรายวันฉบับวันนี้ (๗ กค. ๔๙) ได้คำพูดที่ตรงใจจาก ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ประธานสถาบัน ทีดีอาร์ไอ ว่า "การที่รัฐบาลแจกเงินมากเกินไป  ส่งผลเสียกับประชาชน - - - "

วิจารณ์ พานิช
๗ กค. ๔๙
บนเครื่องบินไปอุดร
ปรับปรุง ๙ กค. ๔๙



ความเห็น (2)
ท่านผู้นำไม่ได้ป่วยอย่างเดียวดายหรอกครับ ท่านมีสหายป่วยทางจิตห้อมล้อมอยู่เพียบ ป่วยกันเป็นทีมอย่างนี้ สังคมก็ป่วยหนักขึ้นไปด้วย สงสารคนจนครับ
     ผมได้ ลปรร.กับอนุกรรมการบริหารงานหลักประกันสุขภาพ จว.พัทลุง ที่ได้ไปร่วมเวที ที่ จว.สุราษฎ์ธานี พบว่าเป็นการมีส่วนร่วมแบบเอามาวางไว้ให้อ่าน ถกกันนิดหน่อย เสร็จก็ไม่เห็นปรับอะไรเลย เลยเป็นแค่ภาพการมีส่วนร่วมเท่านั้นครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท