บันทึกคนสานเครือข่าย MS-PCARE ๑๗: สปสช. กับงานบุญครั้งใหญ่


   ๘​- ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ผมมีโอกาสไปร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ โรงแรมลองบีชการ์เด็นโฮเต็ลแอนด์สปา พัทยาเหนือ ในฐานะวิทยากรคนหนึ่ง

   การประชุมครั้งนี้เป็นการให้โรงพยาบาลที่รับทุนของสปสช.ไปเมื่อปีที่ผ่านมา ได้นำสิ่งที่ตนเองได้ดำเนินการไปมาแลกเปลี่ยนกันและกัน สรุปเป็นบทเรียน และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของสปสช.ในปีต่อไป

   ผมประทับใจการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างโรงพยาบาลทั้ง ๑๔ แห่งมาก และได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการปฏิบัติจากปากของตัวจริงเสียงจริงทุกคนมาก แต่จะขอเก็บไว้เขียนในบันทึกแยกต่างหาก บันทึกนี้จะขอพูดถึง แนวทางในการดำเนินการต่อไปของสปสช. ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าสามารถดำเนินการได้สำเร็จ จะเป็นคุณูปการต่อวงการ palliative care ของไทยเราอย่างยิ่ง เรียกได้ว่า เป็นการทำบุญครั้งใหญ่ เลยทีเดียว

   สปสช. มีดำริจะดำเนินการเรื่อง การจัดสรรยายาระงับปวดคือมอร์ฟีนชนิดรับประทานให้มีใช้และมีเพียงพอให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

   เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป ในกลุ่มคนที่ทำงานดูแลคนไข้มะเร็งและคนไข้ระยะสุดท้ายว่า มอร์ฟีนชนิดรับประทาน คือยาที่สำคัญที่สุดสำหรับคนไข้กลุ่มนี้ แต่ที่ผ่านมา คนไข้บางส่วนเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าถึงยากลุ่มนี้ ปัญหาคาราคาซังคือ โรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มียากลุ่มนี้จ่ายให้คนไข้ จะต้องมารับที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือศูนย์มะเร็งเท่านั้น หรือถ้ามีก็จะเป็นยาราคาแพงที่มีจำนวนจำกัด และโรงพยาบาลที่มียากลุ่มนี้แต่ละแห่งก็ประสบปัญหาขาดแคลนอยู่เป็นระยะ ตามบันทึกนี้

   เรื่องนี้จะต้องชื่นชมผู้หลักผู้ใหญ่ในสปสช. ทั้ง นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ พญ. สุนทรี ฉัตรศิริมงคล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพบริการ และ นพ. ปานเทพ คณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพบริการ ที่รับฟัง เห็นความสำคัญและผลักดันให้เกิดขึ้น

   ในปี ๒๕๕๔ สปสช. จะมีงบประมาณจำนวนหนึ่ง ซึ่งพี่ปานเทพเล่าว่า ถูกสำนักงบประมาณแซวว่าทำไมน้อยจัง เพื่อดำเนินการโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อน เพื่อจัดเตรียมยาให้เพียงพอ ให้โรงพยาบาลในพื้นที่สามารถสั่งจ่ายให้กับคนไข้ในระดับชุมชนได้

                เราจะร่วมงานบุญครั้งนี้ได้อย่างไร

  •   คนไข้และครอบครัว 

ถ่ายทอดความยากลำบาก ทุกข์ทรมานของท่านที่ไม่มียาระงับปวดกลุ่มนี้ใช้เมื่อจำเป็นให้สื่อสารมวลชนรับทราบ ขอให้ร่วมแสดงพลัง ร่วมใช้สิทธิของท่าน เพราะ สิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาความปวด เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน

  •   บุคลากรสุขภาพ

เรียนรู้และพัฒนาทักษะของตนเองเรื่องการดูแลรักษาความปวดตามมาตฐานสากล กระตุ้นเตือนให้โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของตนจัดหายาระงับปวดกลุ่มนี้ให้เพียงพอ นำข้อเท็จจริงและหลักฐานความขาดแคลนออกเปิดเผยต่อสาธารณะ

  •   โรงพยาบาลและหน่วยงาน

จัดเตรียมยาให้เพียงพอ เข้าร่วมในโครงการนำร่องนี้ของสปสช. เพื่อช่วยกันรวบรวมข้อมูลปริมาณยาที่ต้องใช้ต่อปี ปัญหาและแนวทางปฏิบัติเรื่องระบบบริการต่างๆ จะทำให้มีข้อมูลในภาพรวมที่สามารถพัฒนาระบบนี้ทั้งประเทศ ทุกพื้นที่ในอนาคตต่อไป

  •  องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะต้องรับฟังปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้นนี้ และดำเนินการจัดสรรวัตถุดิบหรือตัวยาให้มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้

   บทบาทของเครือข่าย palliative care ในโรงเรียนแพทย์

  • ร่วมกับ สปสช. จัดการประชุมเกี่ยวกับเรื่องปัญหาและระบบบริการยาระงับปวดกลุ่มนี้ ในการประชุมวิชาการเครือข่ายฯ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นเจ้าภาพ ในต้นปี ๒๕๕๔ เพื่อเปิดเวทีสาธารณะ ร่วมกันหาทางออกและวางระบบที่เหมาะสม
  • เป็นเจ้าภาพเสนอโครงการจัดตั้ง สมัชชา palliative care แห่งประเทศไทย (Thai Palliative Care Assembly) ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการสุชภาพแห่งชาติ และผลักดันการดูแลรักษาความปวดให้เป็นนโยบายระดับประเทศ

มาร่วมงานบุญใหญ่ครั้งนี้กันนะครับ

หมายเลขบันทึก: 374036เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีครับอาจารย์ หมอเต็มศักดิ์

มาร่วมรับอานิสงฆ์ ในการทำบุญของ สปสช

สิทธิที่รับทราบข้อมูลข่าวสารทางยา เป็นสิทธิของประชาชน

"สิทธิที่จะได้รับการดูแลรักษาความปวด เป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคน

ขอบคุณคะอาจารย์ ข้อมูลดี ๆ ที่นำมาแบ่งปัน

P

  • สวัสดีครับพี่บ่าว
  • ผมว่าการขยับรุกครั้งนี้ของสปสช. จะเป็นประโยชน์กับคนไข้ของเรามากครับ

P

  • พี่ศรีเวียงและทุกคนที่อยู่ในวงการมองเห็นปัญหานี้ทุกคนครับ ดีใจที่สปสช.มีนโยบายนี้

สวัสดีค่ะ

คุณหมอสบายดีนะคะ  มาส่งกำลังใจให้คุณหมอและทีมงาน "งานบุญ" ค่ะ

P

  • สวัสดีครับพี่คิม
  • ผมสบายดีแต่เดินทางตลอดเดือนครับ

P

  • ตอนนี้เวลาพูดถึง สิทธิมนุษยชน รู้สึกต้องระมัดระวังตัวยังไงไม่รู้
พงศ์ภารดี เจาฑะเกษตริน

ขอบคุณ สำหรับแรงสนับสนุนด้านการมียา ขณะนี้ยาแก้ปวดเริ่มจะมี แต่ปัญหาที่พบคือ มีอย่างไม่สม่าเสมอ และคุณภาพไม่เต็มร้อย ตามปริมาณ ผู้ใช้จะพบกับข้อผิดพลาดอยู่เสมอ เนื่องจาก ขนาด ของยา มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า ชนิดของยา เพราะในระยะสุดท้าย การตอบสนองมักจะเปลี่ยนไปตาม สภาพร่างกายและการทำงานของ ตับ ไต อัลบูมิน และบางครั้งก็กินไม่ได้ ยาที่ดีและคาดหวังประสิทธิภาพได้เท่านั้น ที่จะช่วยผู้ป่วยได้เต็มที่ ไม่เช่นนั้น ก็เหมือนทำบุญครึ่งๆ กลางๆ หรือจะมีบาปปะปน เพราะ หายปวดแต่มีอาการข้างเคียงก็ไม่อาจรู้ได้ ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยไม่อยู่รอให้เราแก้ตัวนะคะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์หมอเต็ม

มาร่วมอนุโมทนาบุญนี้ด้วยความหวังๆดี ในการบรรเทาความเจ็บปวด

 human's right, non discrimination for pain free

การปชส. ให้ทุกคนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกพื้นที่ ขอบพระคุณค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์พงศ์ภารดี เจาฑะเกษตริน มากครับ

  • ประเด็นของอาจารย์สำคัญมากนะครับ บางครั้งเราก็งงๆว่า ทำไมให้ยาแล้วไม่ได้ผล มันเป็นเรื่องคุณภาพของยา ซึ่งจะต้องควบคุมในขั้นตอนการผลิต จัดเก็บให้ถูกต้องด้วย
  • เรื่องนี้ ผู้ผลิตอย่างองค์การเภสัชกรรม จะต้องดูแลและสร้างมาตรฐานให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็น บุญครึ่งๆ กลางๆ หรือมีบาปปะปน อย่างที่อาจารย์ว่านะครับ

P

  • เรื่องนี้ ภาคประชาชน จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากๆครับ

ขอบคุณอาจารย์เต็มศักดิ์มากครับ

นานปีทีหนจึงจะมีคนพูดถึง สปสช.ในเชิงบวก

ส่วนใหญ่จะพุดเป็นเสียงเดียวว่า เ สื อ ก คิดอะไรอีก

ส่งเงินรายหัวมาให้ครบเถอะ เดี๋ยวตูทำเองได้ทุกเรื่อง ไม่ต้องคิดแทน

ขอบคุณอาจารย์พงศ์ภารดีมากครับ สำหรับประเด็นปัญหาของการใช้ยา

การลงมาให้ความสนใจเรื่อง palliative care เป็นการต่อยอดจากการที่ สปสช. มีการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิเฉพาะด้าน

ซึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งมีการพัฒนาไปพอสมควรทั้งในด้านเคมีบำบัดและรังสีรักษา จนเกิดเป็นเครือข่ายมะเร็งตามเขตพื้นที่ สปสช.

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้ครบวงจร หนีไม่พ้น palliative care หรือ end of life care

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องข้อมูล แปละรูปแบบการให้บริการที่มีหลากหลาย

ในเบื้องต้นปีงบประมาณ ๒๕๕๔ สปสช.จึงของบไม่มากนักเป็นค่ายามอร์ฟีน เพื่อนำร่องในหน่วยบริการบางแห่งก่อน

เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อจะได้มีข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เพื่อนำไปเสนอของบประมาณในปีต่อๆไปครับ

พี่ปานเทพครับ

  • การมียาระงับปวดกลุ่มมอร์ฟีนให้คนไข้ทั่วไปได้ใช้ เป็นก้าวแรกของ palliative care ของทุกประเทศครับ และจากเกณฑ์การจัดลำดับระเทศเรื่องคุณภาพการเสียชีวิต การมียานี้ เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพการให้บริการ ด้านนี้ครับ
  • ขอบคุณพี่และ สปสช. ที่ผลักดันเรื่องนี้ ผมหวังไว้มากเลยครับ ขอให้สำเร็จ..สำเร็จ นะครับ

อาจารย์คะ หนูเป็นตัวแทนจากหน่วย palliative care รพ. มหาราชนครศรีฯ ได้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนกับสปสช. ครั้งที่ผ่านมาที่พัทยาเช่นกันและรู้สึกดีใจและขอบคุณสปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยกลุ่มมะเร็งที่มีความปวด เพราะคนกลุ่มนี้ทุกข์ทรมาณมากบางรายแทบจะฆ่าตัวตายเพื่อให้หลุดพ้นจากความปวด ยามอร์ฟีน/เฟนทานิลชนิดแผ่นแปะขาด stock ถ้าการทำบุญครั้งใหญ่นี้ได้ผลก็ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

ไม่แสดงตน

  • ตอนนี้ผมเห็นรพท. รพศ. สั่งมอร์ฟีนเม็ดชนิดออกฤทธิ์ยาวขององค์การแภสัชฯให้คนไข้กัน ก็หวังว่าถ้ามีชนิดออกฤทธิ์เร็วผลิตออกมาด้วย สถานการณ์น่าจะดีขึ้นนะครับ

ดีใจ ที่เห็นหลายท่าน เป็นที่พึ่งของผู้เฝ้ารอความเข้าใจ ในทุกขเวทนา  สปสช.ก็เป็นชิ้นส่วนหนึ่งเติมเต็มภาพให้สมบูรณ์ เพราะภาพทั้งหมดถูกสร้างมาแล้วจะพี่ๆในทีมทุกคน  ขอบคุณจริงๆ สำหรับผู้ที่มีใจ มีจิต อันเอื้ออาทร เหมือนญาติทุกท่าน จะเป็นกำลังใจเสมอ

ชาวบูรพา

  • งานนี้ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมครับ ทั้งภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคนโยบาย

เรียนอ.เต็มศักดิ์ค่ะ

ตามที่ทางสปสช.ได้ลองประสานกับกองควบคุมวัตถุเสพยติด ของ อย. ตอนนี้ทาง อย.เองเค้าได้เริ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของยา MO syrup เพื่อให้คนไข้ได้ใช้มากขึ้น ทางอย.เองได้ประสานกับทางองค์การเภสัชเพื่อจดซื้อจัดจ้างในการผลิต MO syrup หวังว่าอีกไม่นานนี้น่าจะมียาที่ผลิตเรียบร้อยออกมาให้ใช้ค่ะ และเห็นทางอย.แจ้งน่าจะเพียงพอต่อการใช้นะค่ะ

อ้อม สปสช.

  • ขอบคุณครับที่ส่งข่าว
  • ผมติดต่อขอ email ของกลุ่มที่นำเสนอผลงานที่พัทยาวันนั้นมาเพื่อเวียนแจ้งเรื่องน่าสนใจ ผ่านทางคุณนฤมล นะครับ
  • ถ้าองค์การเภสัชผลิตทั้งอย่างเม็ดและน้ำได้ คราวนี้ก็จะครบวงจรครับ
  • แต่ก็ต้องควบคุมคุณภาพอย่างที่ท่านอาจารย์พงศ์ภารดีทักไว้ด้วยครับ

อาจารย์เต็มศักดิ์คะ

- ตามที่ได้ลองปรึกษาของ อย.ที่เค้าจะจัดซื้อจัดจ้างองค์การเภสัชเพื่อควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของยาด้วยค่ะเพราะทาง อย.ได้แจ้งว่าเกรงว่า รพ.ที่รับชนิดผงไปผลิตเองอาจจะไม่ได้คุณภาพนัก

- หนูได้ส่งรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมไปให้อาจารย์แล้วนะคะพร้อมกับคุณสี่ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้รับหรือเปล่าคะ

ต้องขอขอบพระคุณทั้งอาจารย์และคุณสี่ที่ให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือเป็นอย่างดีค่ะ

อ้อม สปสช.(นฤมล)

  • ถ้า อย. อภ. รับปากได้ว่าจะผลิตให้พอและมีคุณภาพ คงไม่มีโรงพยาบาลไหนอยากวุ่นวายเรื่องผลิตเองต่อไปหรอกครับ
  • ยังไม่ได้นะครับ ช่วยส่งอีกที
  • ยินดีครับ ผมก็อยากให้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องนี้มากๆ ไม่สนใจหรอกครับว่า งานนี้งานใคร ถ้าช่วยกันได้ก็ควรทำ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท