แค่ชื่อหัวข้อของบันทึกก็ยากแล้วครับ ขนาดนายบอนเอง จะเขียนบันทึกนี้ เพื่อบอกเล่าสิ่งที่กำลังพบเจออยู่ ยังต้องตั้งสติพอสมควร ว่า จะบอกออกมายังไง
เป็นอีก 1 บันทึกที่เขียนยาก
มีนิสิต ส.ม.1 มมส. ภาคพิเศษ อยู่ที่ จ.อุบล ราชธานี เป็นหมออนามัยครับ งานที่โน่นเยอะจนแทบจะทำไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาในช่วงเรียน เพราะเรียนได้ไม่เต็มที่นัก แต่เมื่อพี่เขามีโอกาสได้มาเรียน ได้นำเสนอผลงาน ได้สัมผัสความคิด มุมมอง ประสบการณ์ ต้องยอมรับว่า พี่เขาเก่งจริงๆ
แต่ทำงานทั้งวัน จนไม่มีเวลา ไม่มีสมาธิในการเรียน และทำวิจัย
ยิ่งนานวัน ยิ่งห่างเหิน แต่ละวัน ยุ่งแต่เรื่องงาน เลิกงาน ก็ดูแลคนในครอบครัวกันต่อ … จนเรื่องเรียน เรื่องทำวิจัย แทบจะจำไม่ได้แล้ว ว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนใดบ้าง
แต่พรรคพวก และอาจารย์ในคณะ พยายามช่วยเหลือเต็มที่ ดุจกัลยาณมิตรในยามยาก
เวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ กรณีแบบนี้ หลายที่ขาดการติดต่อ และหายไปเลย….
แต่นิสิตกลุ่มนี้ กลมเกลียวเหนียวแน่น ยังตามช่วยเหลือ ห่วงใยกันอยู่..
แล้วปัญหาที่ยากยิ่ง อย่างชื่อหัวข้อที่ตั้งไว้ จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง
1) เมื่อห่างเหิน ก็ต้องดึงบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้กลับคืนมา
2) การโทรไปกระตุ้นให้กำลังใจเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ห่างหายเกินไป
3) ประสานงานกันเป็นทีม ช่วยกันโทร ช่วยกันกระตุ้น ซึ่งเขาก็ยังคงไม่มีเวลา สมาธิในเรื่องเรียนอยู่ดี ต้องเติมกำลังใจไปเรื่อยๆ
4) ระยะเวลาที่ยาวนาน คนที่โทรไปกระตุ้น เมื่อโทรไปแล้ว ยังไม่เห็นสิ่งที่หวังไว้ เกิดขึ้น คนโทรกระตุ้นก็เริ่มท้อเหมือนกัน พรรคพวกส่วนหนึ่งก็คอยให้กำลังใจกับคนที่โทรกระตุ้นอีกที ชี้ให้มองเห็นเป้าหมายที่หวังไว้ คือ วันแห่งความสำเร็จ จบตามหลักสูตรเหมือนคนอื่นๆ…..
5) วางเป้าหมาย กำหนดช่วงเวลาที่จะโทรกระตุ้นให้บ่อยครั้ง ให้อีกฝ่ายเกิดความรู้สึกเกรงใจ จนต้องลงมือทำอะไรเสียบ้าง เกี่ยวกับเรื่องเรียน
6) แต่ หลายช่วง อีกฝ่ายติดงานอยู่ตลอด จึงต้องเว้นช่วงในการกระตุ้นไปหลายเดือน เพราะคนที่คอยกระตุ้นก็ยุ่งเหมือนกัน แต่ก็วางแผนไว้ล่วงหน้าว่า จะกลับมากระตุ้นกันต่อในเดือนไหน
(กัดไม่ปล่อย เหนื่อยแล้วก็ทิ้งช่วงเป็นระยะๆ)
7) ตอนนี้ รอดูว่า ใครจะอึดกว่ากัน ระหว่างฝ่ายกระตุ้นกับฝ่ายที่ถูกกระตุ้น