ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๒๘. คำนิยม หนังสือเคล็ด(ไม่)ลับคุณอำนวย R2R



          สวรส. และภาคี จัดพิมพ์หนังสือ เคล็ด(ไม่)ลับคุณอำนวย R2R ออกเผยแพร่    ผมได้เขียนคำนิยมให้ ดังต่อไปนี้

 

คำนิยม
หนังสือ เคล็ด(ไม่)ลับคุณอำนวย R2R


R2R เริ่มจากใจ  สู่การลงมือปฏิบัติ

 

          การเป็น “คุณอำนวย” R2R เริ่มจากใจ   และการทำ R2R ก็เริ่มจากใจ   ไม่ใช่เริ่มจากความรู้  ไม่ใช่เริ่มจากเทคโนโลยี  ไม่ใช่เริ่มจากวิธีวิทยาด้านการวิจัย

          นี่คือข้อสรุปของผม หลังจากอ่านต้นฉบับหนังสือ เคล็ด(ไม่)ลับคุณอำนวย R2R จบ

          จุดเริ่มต้นของ R2R คือความปรารถนาที่จะช่วยผู้ป่วย ให้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น   หรือเริ่มจากใจที่มุ่งทำเพื่อผู้อื่นนั่นเอง

          R2R ที่เริ่มจากใจ มีพลังมากกว่า R2R ที่เริ่มจากสมอง

          ตรงตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนก

          “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง   ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง    ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง   ...”  

          จิตที่มุ่งทำเพื่อผู้อื่นเป็นจิตที่มีพลัง   และเมื่อลงมือปฏิบัติ ณ จุดเล็กๆ ที่หน้างานประจำอย่างมีจุดมุ่งหมายชัดเจน   มีวิธีการที่ชัดเจนและง่ายคือ PDCA (Deming Cycle)   เพื่อให้เกิด CQI ทีละน้อย แต่ทำต่อเนื่อง   และเสาะหาเทคนิคหรือวิธีการมาลองใช้    ในที่สุดก็จะบรรลุผลที่น่าพอใจ น่าภูมิใจ   

         กระบวนการทั้งหมดนั้น หากบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ    นำมาเขียนรายงานอย่างมีการวิเคราะห์โดยใช้กรอบทฤษฎี   สังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ที่ผู้อื่นนำไปใช้ต่อได้   ก็จะกลายเป็นผลงานวิจัย   เป็นผลงานวิจัยชนิดที่เรียกว่า R2R

          R2R เริ่มจากใจ แล้วเข้าสู่การปฏิบัติ   ไม่ใช่เริ่มที่ใจ แล้วก็อยู่ที่ใจ ล่องลอยอยู่ไม่ผูกพันกับชีวิตการงานที่ทำอยู่ในชีวิตประจำวัน   R2R จึงเป็นเรื่องของการลงมือทำ ทำอย่างมีเป้าหมาย อย่างมีวิธีการ ทำโดยเรียนรู้วิธีการที่จะให้ได้ผลดี

          “คุณอำนวย” R2R ทำหน้าที่อย่างไร   ต้องการทักษะอะไรบ้าง   มีอยู่แล้วในหนังสือเล่มนี้   สรุปได้ว่า “คุณอำนวย” R2R มีได้หลากหลายสไตล์   ทุกคนสามารถพัฒนาสไตล์ที่เหมาะสมแก่ตนเอง และแก่หน่วยงานได้   รวมทั้งเมื่อกิจกรรม R2R ของหน่วยงานก้าวหน้าไป “คุณอำนวย” R2R ก็ต้องปรับบทบาทไปด้วย  

          “คุณอำนวย” R2R ไม่ใช่ครู  ไม่ใช่ครูฝึก  ไม่ใช่วิทยากร  ไม่ใช่ผู้รู้  ไม่ใช่เจ้าของโครงการหรือกิจกรรม R2R

          “คุณอำนวย” เป็นคำที่ผมคิดขึ้นจากคำภาษาอังกฤษว่า facilitator ซึ่งแปลตรงตัวว่าผู้อำนวยความสะดวก   ในที่นี้หมายถึงอำนวยความสะดวกต่อกิจกรรม R2R   ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างกระแสขึ้นภายในองค์กร ให้ผู้คนเห็นคุณค่า และได้ตระหนักว่าเป็นกิจกรรมที่ทำได้ไม่ยาก และก่อคุณประโยชน์หลากหลายด้าน   ทำหน้าที่ช่วยพูดคุยให้ประเด็นวิจัยชัดเจนขึ้น   และช่วยเชื่อมโยงผู้มีความรู้ทางเทคนิควิธีการที่ต้องการใช้   และช่วยอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้แก่ผู้ต้องการทำ R2R  

           ช่วยแค่ไหนพอดี ไม่น้อยไป ไม่มากไป เป็นศิลปะและเป็นวิจารณญาณของ “คุณอำนวย” แต่ละคน   ซึ่งจะต้องปรับตามนักวิจัย R2R แต่ละคน แต่ละกลุ่ม ที่ไม่เหมือนกัน

          หลักการที่สำคัญคือ ช่วยให้ช่วยตัวเองได้   หรือ “ช่วยแบบไม่ช่วย”   ให้นักวิจัย R2R เกิดความมั่นใจภูมิใจในตนเอง และในผลงานของตน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคุณประโยชน์ที่ตนทำให้แก่ผู้ป่วยและญาติ

          หลักการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “คุณอำนวย” ไม่ใช่ผู้ร่วมวิจัย   ไม่ร่วมเป็นเจ้าของผลงานวิจัย   แต่ผลงานของนักวิจัย R2R และความก้าวหน้า ความสุข ของนักวิจัย R2R นั้นเอง คือความภาคภูมิใจของ “คุณอำนวย”

         นักวิจัยเป็นเจ้าของ และภาคภูมิใจในผลงานของตน   “คุณอำนวย” ภาคภูมิใจและมีความสุขในผลงานของผู้อื่น

          นักวิจัยสร้างผลงาน R2R ของตนทีละชิ้น ด้วยการโฟกัสจุดสนใจในงานประจำของตน    “คุณอำนวย” R2R ส่งเสริม เชียร์ อำนวยความสะดวก ให้เกิดผลงาน R2R ทีละหลายชิ้น    ด้วยการมองภาพใหญ่ในงานบริการของหน่วยงาน

          “คุณอำนวย” R2R ต้องมีทักษะด้านการสื่อความ (communication)   นอกจากสื่อความกับนักวิจัยแล้ว   “คุณอำนวย” R2R ยังทำหน้าที่สื่อสารกับผู้บริหารหรือหัวหน้างาน   นำเอาวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายของหน่วยงานหรือองค์กรมาสู่กิจกรรม R2R อย่างแนบเนียน (ไม่กระโตกกระตาก)    และนำเอาผลงาน R2R อันทรงคุณค่าไปสู่ความสนใจของผู้บริหาร   ให้ผู้บริหารได้แสดงความชื่นชมต่อผลงานเล็กๆ แต่ทรงคุณค่าเหล่านั้น   ให้ผู้บริหารได้มีโอกาสชี้ ว่าผลงาน R2R นั้น จะช่วยขับเคลื่อนให้เข้าไปใกล้เป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ขององค์กรอีกนิดหนึ่งได้อย่างไร

          “คุณอำนวย” R2R ทำงานเป็นทีม ในหมู่ “คุณอำนวย” ด้วยกัน   และเป็นทีมกับผู้มีความรู้หรือทักษะต่างๆ ที่จะหนุนงาน R2R ได้  

          “คุณอำนวย” R2R เป็นนักจัดเวที ทั้งเวทีจริงและเวทีเสมือน   เพื่อนำผลงานและวิธีการ R2R มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในและภายนอกหน่วยงาน   ภายใต้บรรยากาศชื่นชมยินดี   นั่นคือ “คุณอำนวย” R2R เป็นนักสร้างบรรยากาศเชิงบวก นักจิตวิทยาเชิงบวก

          “คุณอำนวย” R2R เป็นนักเชื่อมโยงเครือข่าย   ทั้งภายในองค์กร และเชื่อมโยงกับภายนอกองค์กร   เพื่อสร้างกระแสความเอาจริงเอาจัง และความสนุกสนานในขบวนการ R2R   เป็นวงจรกระตุ้นจิตใจที่ต้องการทำเพื่อผู้อื่น ให้ลุกโพลงอยู่ตลอดเวลา    โดยมีการลงมือทำและผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นทั้งเชื้อไฟและตัวไฟ

           คาถาสำหรับ “คุณอำนวย” R2R คือ 5 ช  3 ก

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๓

       
         
        

หมายเลขบันทึก: 372131เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2010 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาอ่านครับ

ขอบพระคุณครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท