การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการเขตพื้นที่การศึกษา


คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาชุดปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จึงต้องมีการสรรหาคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาชุดใหม่แทนภายในหกสิบวัน (ภายในต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๓)

การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหากรรมการเขตพื้นที่การศึกษา

 

          ๑. คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาชุดปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๓ จึงต้องมีการสรรหาคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาชุดใหม่แทนภายในหกสิบวัน (ภายในต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๓)

          ๒. การสรรหากรรมการเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ วิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้แทนผู้รับใบอนุญาตและผู้แทนครูเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๒ สำหรับกฎกระทรวงใช้มาแล้วเป็นเวลา ๗ ปี โดยได้สรรหากรรมการเขตพื้นที่การศึกษาไปแล้ว ๓ รอบ ยังไม่มีการประเมินผลการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขปรับปรุง กฎกระทรวงฉบับนี้มีปัญหาในเชิงความไม่เหมาะสม ๕ ประการ คือ

                   ๒.๑ กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา วาระละ ๒ ปี ซึ่งสั้นเกินไป ทำให้ต้องสรรหากรรมการบ่อย การปฏิบัติงานของคณะกรรมการจึงไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันเขตพื้นที่การศึกษามีองค์คณะบุคคลอยู่ ๓ ชุด ได้แก่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (กพท.เขตพื้นที่การศึกษา) มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๒ ปี คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา (ก.ต.ป.น.เขตพื้นที่การศึกษา) มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๔ ปี คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเป็นคณะกรรมการนโยบาย ไม่มีอำนาจบริหารจัดการ แต่ให้มีวาระเพียง ๒ ปี งานริเริ่มพัฒนาจึงไม่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังจำกัดวาระให้ดำรงตำแหน่งไม่เกิน ๒ วาระ คือไม่เกิน ๔ ปี แต่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีอำนาจบริหารงานบุคคล มีอำนาจมากและสามารถสร้างอิทธิพลได้ กลับกำหนดวาระให้ดำรงตำแหน่ง ๔ ปี เป็นได้ ๒ วาระคือ ๘ ปี ดังนั้นควรแก้ไขให้กรรมการเขตพื้นที่การศึกษามีวาระการดำรงตำแหน่งมากกว่า ๒ ปี

                   ๒.๒ การตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามิได้มีข้อห้ามมิให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในเขตพื้นที่การศึกษาของตัวเอง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงมีสิทธิเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้ และมีสิทธิได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาด้วย หากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นประธานกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา เวลาประชุมคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเลขานุการการประชุม โดยเลขานุการเป็นผู้บังคับบัญชาของประธานกรรมการ ทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นแบบประธานเกรงใจเลขานุการ จะแสดงความเห็นหรือก็กลัวกระทบผู้บังคับบัญชา เลขานุการก็อึดอัดเพราะผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นประธานที่ประชุม เขตพื้นที่การศึกษาที่มีสถานการณ์อย่างนี้มักจะไม่ค่อยมีผลงานของคณะกรรมการออกมาให้เห็นเด่นชัด หรือไม่ก็เกิดการขัดแย้งกันจนเป็นอันไม่ประชุมหรือประชุมน้อยหรือไม่ได้งานเท่าที่ควร ควรกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษานั้น นอกจากนั้นควรห้ามเจ้าของ ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนในเขตพื้นที่การศึกษานั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาด้วย เนื่องจากในคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามีผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้แทนสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพบริหารการศึกษา ผู้แทนผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชน และผู้แทนครูโรงเรียนเอกชนเป็นกรรมการอยู่แล้ว

                   ๒.๓ กระบวนการสรรหาผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดขั้นตอนที่สร้างภาระให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากเกินไป เช่น ให้สภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องประชุมกันเพื่อเสนอชื่อผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒ คน โดยประธานสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ลงชื่อเสนอ เพื่อเข้ารับการสรรหาด้วยการเลือกกันเองเพื่อให้มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงประเภทละ ๑ คนเท่านั้น การบังคับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อการลงมติเสนอชื่อฝ่ายบริหารไปเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาจึงเป็นการไม่สมควรและทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะดำเนินการ ควรแก้ไขโดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือนายกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจเสนอชื่อได้เอง สำหรับการจัดกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่มีความเหมาะสมโดยจัดให้เทศบาลหรือเมืองพัทยามีโควตา ๑ คน ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมกันมีโควตาอีก ๑ คน ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งมีความเหมาะที่จะเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาอย่างยิ่งไม่ได้รับเลือกเพราะองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมีมากกว่าบล็อกโหวตให้ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลด้วยกันเองเป็น จึงควรให้ อบจ. และ กทม.ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดเป็นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาได้เลย ๑ คน อีก ๑ คนจึงให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลด้วยกันเลือกกันเอง

                   ๒.๔ บังคับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องแต่งตั้งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้นเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ไม่สามารถแต่งตั้งบุคคลอื่นที่โดยตำแหน่งมีความเหมาะสมเช่นผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนเป็นผู้ช่วยเลขานุการเพิ่มเติมได้ หากจะแต่งตั้งก็เบิกเบี้ยประชุมไม่ได้เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้แต่งตั้งจากรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเท่านั้น จึงควรแก้ไขกฎกระทรวงในส่วนนี้เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน

                   ๒.๕ การกำหนดกลไกการสรรหาแล้วเสนอชื่อให้ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีคำสั่งแต่งตั้ง พบข้อมูลสำหรับคณะกรรมการรุ่นปัจจุบัน ดังนี้

          (๑) มีคำสั่งตั้งกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาในส่วนที่เป็นผู้แทนองค์กรหรือสมาคมมีผลตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๑

          (๒) มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีผลตั้งแต่วันที่ ๖สิงหาคม ๒๕๕๑

          (๓) มีคำสั่งแต่งตั้งประธานกรรมการมีผลตั้งแต่วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๑

เมื่อกฎกระทรวงกำหนดไว้ การมีคำสั่งแต่งตั้งจึงเป็นสาระสำคัญกล่าวคือถ้ายังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งก็ยังไม่มีสถานภาพเป็นกรรมการหรือประธานแม้จะได้รับการเลือกตั้งมาแล้ว แม้จะมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาในส่วนที่เป็นผู้แทนองค์กรหรือสมาคมแล้วก็ยังไม่เกิดคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นเพราะยังไม่ครบองค์ประกอบ และแม้จะมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วก็ยังไม่ครบองค์ประกอบอีกต้องรอการตั้งประธานเสียก่อน ดังนั้นระยะเวลาที่สรรหาและแต่งตั้งรอบที่แล้วตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม - ๘ กันยายน ๒๕๕๑ เป็นเวลา ๒ เดือน จึงเป็นการเสียเวลามาก จำต้องให้คณะกรรมการชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไป และแม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิเกิดขึ้นและกรรมการมาประชุมเลือกประธานแล้ว ยังต้องรออีกเป็นเวลา ๑ เดือนกว่าจะได้ตั้งประธาน ดังนั้นจึงควรปรับปรุงแก้ไข ๒ ประการ คือ

                          ๒.๕.๑ กำหนดการสรรหากรรมการทั้งที่เป็นผู้แทนองค์กรหรือสมาคม พร้อมกันไปกับการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมิต้องให้กรรมการผู้แทนองค์กรหรือสมาคมมาเป็นกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิอีก ซึ่งเป็นการเสียเวลาและก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นในการบริหารงานคณะกรรมการ

                          ๒.๕.๒ เมื่อได้กรรมการครบแล้วให้นัดกรรมการมาประชุมเลือกประธานกรรมการและให้มีผลทันทีที่ที่ประชุมมีมติเลือก ส่วนการออกคำสั่งแต่งตั้งนั้นให้เปลี่ยนเป็นประกาศและให้มีผลย้อนไปในวันเลือกประธานกรรมการเพื่อให้คณะกรรมการชุดใหม่เริ่มงานได้ทันทีที่ครบองค์ประกอบ

 

วิพล นาคพันธ์

หมายเลขบันทึก: 371499เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สพม กับสพป มีจำนวนเท่ากันใช่มั้ยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท