ความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์


เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ได้มีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อรองรับกับข้าราชการพลเรือนที่เข้าสู่ระบบการจำแนกตำแหน่งใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ตามระเบียบนี้ทำให้ข้าราชการพลเรือนได้รับสิทธิในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพิ่มขึ้น

ความไม่เท่าเทียมกันในสิทธิ

ที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ระหว่างข้าราชการพลเรือน

และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒)

กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

ตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

               

เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๒ ได้มีการประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ เพื่อรองรับกับข้าราชการพลเรือนที่เข้าสู่ระบบการจำแนกตำแหน่งใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ตามระเบียบนี้ทำให้ข้าราชการพลเรือนได้รับสิทธิในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพิ่มขึ้นคือ

๑. ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการที่ดำรงตำแหน่งระดับ ๖ เดิม เมื่อเปลี่ยนเป็นตำแหน่งระดับชำนาญการแล้ว หากเงินเดือนถึงขั้นต่ำของระดับชำนาญการพิเศษคือ ๒๑,๐๘๐ บาท สามารถขอพระราชทาน ท.ม.ได้ (เดิมตำแหน่งระดับ ๖ ขอได้สูงสุด ต.ช.)

๒. ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่ได้รับเงินเดือนขั้นสูงคือ ๕๐,๕๕๐ บาท ขอพระราชทานชั้น ป.ม.ซึ่งเป็นชั้นสายสะพายได้ (เดิมขอได้เมื่อได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของระดับ ๘ ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา และให้ขอได้ในปีก่อนที่จะเกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น)

สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และใช้ระบบการกำหนดตำแหน่ง การได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ก็ได้อานิสงส์ไปกับข้าราชการพลเรือนด้วย เนื่องจากใช้ระบบการจำแนกประเภทตำแหน่งและรับเงินเดือนเหมือนกับข้าราชการพลเรือนทุกประการ

แต่สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่ ได้แก่ ครู ผู้บริหารสถานศึกษาผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ กว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน จะยังไม่ได้รับสิทธิในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เท่ากับข้าราชการพลเรือนและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกันที่ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒) โดยในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ผ่านพ้นไปแล้วและในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่กำลังดำเนินการอยู่ ยังขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ตามเดิม คือขอตามบัญชีหมายเลข ๗ แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยเทียบวิทยฐานะและเงินเดือนกับกับระดับตำแหน่งเดิม เช่น

(๑) เทียบระดับ ๓-๔ ขอ จ.ม.-จ.ช.

(๒) เทียบระดับ ๕-๖ขอ ต.ม.-ต.ช.

(๓) เทียบระดับ ๗-๘ ขอ ท.ม.-ท.ช.

(๔) เทียบระดับ ๘ ที่ได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของระดับ ๘ (คือขั้น ๔๗,๔๕๐ บาท) ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา (เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา) ขอ   ป.ม.ได้ปีก่อนที่จะเกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น

ถึงแม้ว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะยกเลิกระบบซีไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่เมื่อยังไม่มีการแก้ไขสิทธิการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้สอดคล้องกับระบบการจำแนกตำแหน่งตามวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงยังคงต้องขอพระราชทานเหมือนกับยังไม่มีระบบการจำแนกตำแหน่งตามวิทยฐานะ โดยใช้วิธีเทียบเอา (หรือสมมุติเอา) ว่าวิทยฐานะใดเทียบซีใด เพื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เช่น

(๑) ครู ยังไม่มีวิทยฐานะซึ่งรับเงินเดือนในอันดับ คศ. ๑ (เทียบระดับ ๕) ขอ ต.ม.

(๒) ครู ยังไม่มีวิทยฐานะซึ่งรับเงินเดือนในอันดับ คศ. ๑ ไม่น้อยกว่าขั้น ๑๐,๑๙๐ บาท (เทียบระดับ ๕-๖) ขอ ต.ช.

(๓) ครู วิทยฐานะครูชำนาญการ (เทียบระดับ ๗) ขอ ท.ม.

(๔) ครูวิทยฐานะครูชำนาญการซึ่งรับเงินเดือนในอันดับ คศ. ๑ ไม่น้อยกว่าขั้น ๑๕,๔๑๐ บาท (เทียบระดับ ๗) ขอ ท.ช.

(๕) ครูวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ (เทียบระดับ ๘) ขอ ท.ช.

(๖) ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ซึ่งรับเงินเดือนเต็มขั้น ขอพระราชทาน ป.ม.ได้ในปีก่อนเกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการ (เดิมผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ ไม่มีสิทธิได้รับพระราชทาน ป.ม. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพังงาได้เสนอขอพระราชทานให้นายประเสริฐ ขอบุตร ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพังงาเป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และต้องต่อสู้ข้อกฎหมายว่าผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นตำแหน่งบังคับบัญชาหรือไม่อยู่นาน จนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีวินิจฉัยให้ขอพระราชทานได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ก็ยังไม่ยอมให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอพระราชทานเนื่องจากไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อน)

เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ที่ได้รับเงินเดือนขั้นสูงคือ ๕๐,๕๕๐ บาท ขอพระราชทานชั้น ป.ม.ซึ่งเป็นชั้นสายสะพายได้ จากเดิมขอได้เมื่อได้รับเงินเดือนเต็มขั้นของระดับ ๘ ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชา และให้ขอได้ปีก่อนที่จะเกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น ทำให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพซึ่งมีเงินเดือนน้อยกว่าข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ได้สิทธิในการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์น้อยกว่าตามไปด้วยดังตารางเปรียบเทียบคือ

 

 

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒)

เงินเดือนขั้นสูงของวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เทียบกับตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ

๔๗,๔๕๐ บาท

๕๐,๕๕๐ บาท

สิทธิการขอพระราชทาน ป.ม.

ขอได้เมื่อได้รับเงินเดือนขั้น๔๗,๔๕๐ บาท แต่ต้องดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและขอได้ในปีก่อนเกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น

ขอได้เมื่อได้รับเงินเดือนขั้น๕๐,๕๕๐ บาท โดยไม่จำต้องดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาและไม่ต้องรอขอในปีก่อนเกษียณอายุราชการหรือในปีที่เกษียณอายุราชการ

 

การกำหนดสิทธิให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้เท่ากับข้าราชการพลเรือนตำแหน่งประเภทวิชาการ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีวิธีการเดียวเท่านั้นและต้องดำเนินการตามลำดับ คือ

(๑) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้เงินเดือนขั้นสูงของวิทยฐานะชำนาญการพิเศษไม่น้อยกว่า ๕๐,๕๕๐ บาท

(๒) แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ โดยกำหนดบัญชีการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นการเฉพาะ

ปัญหามีอยู่ตรงที่ว่าใครมีหน้าที่ทำเรื่องนี้ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้อย่างแท้จริง ปัญหาเชิงระบบของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเรื่องสำคัญที่เห็น ๆ อยู่ ก็ไม่มีใครเอาใจใส่ช่วยแก้ไขผลักดันให้อย่างจริงจัง อย่างเช่น นับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นต้นมา รัฐจ้างข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการตำแหน่งที่ไม่ต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพด้วยอัตราค่าจ้างที่สูงกว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งที่รัฐควบคุมการประกอบวิชาชีพอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความคิดว่าถ้าอย่างนั้นจะยังต้องควบคุมการประกอบวิชาชีพไปทำไม ควรจะยกเลิกพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ เสียเลยดีกว่า ขณะนี้ ข้าราชการพลเรือนมีเงินเดือนมากกว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจากการเลื่อนเงินเดือนมาแล้ว ๓ ครั้ง ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ และวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓ ทำให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญมากกว่า และในปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๓ หรือไม่เกินปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้าราชการพลเรือนระดับชำนาญการพิเศษแทบทุกคนก็จะได้รับสายสะพาย ป.ม. กันแล้ว ขณะที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งยังมีเงินเดือนเท่าเดิมต้องรอให้เงินเดือนเต็มขั้นในปีก่อนเกษียณหรือในปีที่จะเกษียณอายุราชการเสียก่อนจึงจะขอกับเขาได้ และขอได้เฉพาะตำแหน่งบังคับบัญชา ดังนั้น หากไม่แก้ไขโดยการปรับปรุงบัญชีเงินเดือนย้อนหลังไปในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็จะตามหลังข้าราชการพลเรือนตลอดกาล

 

วิพล นาคพันธ์ เรียบเรียง

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

 

หมายเลขบันทึก: 371496เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ทุกอย่างเป็นสิ่งสมมติ มนุษย์ชอบทำอะไรให้ยุ่งยากเกินความจำเป็น...

สุดท้ายก็ไม่เห็นมีใครได้อะไรติดตัวไปได้....

นายณรงค์ศักดิ์ มหัทธนอภิกรม

ขอแสดงความเห็นด้วยอย่างยิ่งยวด ในการวิเคราะห์ความเป็นธรรมข้างต้น แม้พระพุทธองค์สอนสั่งว่า "จงพอใจในสิ่งที่มีอยู่" แต่สิทธิอันชอบธรรมเหล่านั้นควรจะถือว่าเป็นสิ่งที่เราหรือผู้ที่ชอบธรรมหรือครูฯทั้งหลาย รวมทั้ง บางกลุ่มตำแหน่งฯ ควรจะได้มานานแล้ว แต่เนื่องจากเหตุทางการเมือง เหตุทางภาวะการเงินของภาครัฐที่จะต้องลงทุนกับสิทธิของเหล่าข้าราชการครูฯ ถ้าจะให้เทียมทันพลเรือนอื่น(เพราะครูก็คือข้าราชการพลเรือนเช่นเดียวกัน แต่มีจำนวนมากกว่า สิ้นเปลืองกว่าหากจะให้ความเป็นธรรม) เมื่อให้ ผอ.สถานศึกษา เกิดสิทธิ์ขอพราะราชทานเครื่องราชฯดังกล่าวแล้ว ผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย เช่น รอง ผอ.สพท.ตามกฎหมายฯ ควรจะได้สิทธินั้นหรือไม่ หรือเพียงตอบสั้นๆ ว่า ยังไม่มีประเพณีปฏิบัติฯ ระดับท่านผู้บังคับบัญชาทั้งหลายที่ท่านร่วมกันปฏิรูปการศึกษามาตั้งแต่ 2546-47 แล้ว มองเห็นความเป็นธรรมเหล่านั้นหรือไม่.... หรือเมื่อปัจจุบันท่านผู้มีอำนาจบังคับบัญชาทั้งหลายเป็นพลเรือนเต็มตัว......ข้าราชการครูฯ ใต้บังคับบัญชา.... คงปล่อยตามยะถากรรมไป เมื่อไรที่ชนฯกลุ่มใดเรียกร้องสิทธิ์เป็นกลุ่มฯ ที่ใหญ่ๆพอ จึงจะพิจารณาฯ..เป็นกลุ่ม ๆ ไป...ดังเห็นกันมากมาย...จะดีกว่า ท่านที่ประสบโชคดีจากการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาก็อาจยอมทนต่อเรื่องนี้ได้ แต่หลายคนที่ประสบภัยปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยในวงการบริหารการศึกษาแล้ว ต้องลาออกจากระบบราชการก็มาก ทนอยู่อย่างหวานอม ขมกลืนก็เยอะ หาก ผู้บังคับบัญชาฯ ทุกระดับ จะช่วยส่งเสริมสิทธิประโยชน์บ้าง น่าจะเป็นกุศลบารมีต่อท่านนะครับ ขอบพระคุณท่านวิพลฯ ที่วิเคราะห์ได้อย่างตรงไปตรงมา อยากให้นักบริหารการศึกษาชั้นสูงได้อ่านกันบ้าง..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท