ช่างคิด VS ช่างทำ...!


ปัญหาของวงการวิชาการบ้านเราในทุกวันนี้ก็คือ "ปัญหาที่คนช่างคิดมาเถียงกัน" ต่างคนก็ต่างคิด เวลาคนคิดมันก็คิดกันไปได้เรื่อย

แต่ถ้าคนทำงานจริง ๆ เขาไม่เถียงกัน แต่เขา "คุยกัน" นำประสบการณ์ที่ทำมา "แชร์" กัน

การแชร์ความคิดนั้น "วุ่นวาย" แต่การแชร์ประสบการณ์นั้นคือ "การหมุนเกลียวทางความรู้"

คนเก่งมาก จินตนาการยิ่งบรรเจิดมาก ไอเดีย แนวคิดไร้ขีดจำกัด ต่างคนก็ต่างคิดได้ คิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ ถ้าหากเจอกรรมการที่ไม่ดีด้วยแล้วความบรรเจิดก็ยิ่งเตลิดไปใหญ่

ผมเคยนั่งฟังคนที่เรามักเรียกว่า "กรรมกร" เขาคุยกัน เขาคุยกันสนุก แลกเปลี่ยนความรู้กันที่เมื่อก่อนต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำ ทำงานนี่โน่นเป็นอย่างไร ทำงานนี่เป็นอย่างไร ใครใช้วัสดุอุปกรณ์เท่าไหร่ มากมาย ต่ำกว่าหรือเกินมาตรฐานแค่ไหน

การคุยแบบนี้จะไม่มีการเถียงกันเพราะสิ่งที่เขาคุยนั้น คือ "ความจริง (Facts)"

เป็นความจริงที่ต่างคนต่างได้ไปประสบพบเจอกันมา มีอะไรเขาก็ "เล่าสู่กันฟัง"

ด้วยโอกาสที่ได้มาทำงานก่อสร้างนี้ ผมจึงมีโอกาสได้ฟัง "สุนทรียสนทนาแบบแท้ ๆ" แทบทุกวัน เห็นพี่สอนน้องให้ทำงาน เห็นเทคนิควิธีการง่าย ๆ ที่เขาใช้ประสบการณ์กลั่นกรองเทคนิควิธีการทำงาน ซึ่งนักวิชาการอาจจะเรียกอย่างหรูหราว่า R2R (Research to Routine)

สุนทรียสนทนาแบบแท้ ๆ คือ การคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อจะนำไปใช้ในงานของแต่ละคน ไม่มีลาภ มียศ มีเกียรติใด ๆ เขามาเจือปนในทุกถ้อยคำของการสนทนานั้น ๆ ไม่ได้ทำไปเพื่อสร้างเอกสาร ตำรา แต่ทำเืพื่อคุณค่าของคำว่า "งาน..."

 

การกลั่นกรองความรู้ด้วยชีวิตนั้นจะมีทั้งแรงบีบ แรงเค้น อาจจะด้วยฐานะก็ดีหรืออาจจะด้วยรายได้และค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบ บุคคลที่ถูกแรงเค้นมาก ๆ การทำ R2R ของเขาก็จะบรรเจิดมาก เพราะการวิจัยของเขาต้องแลกด้วยชีวิตเขาและ "ครอบครัว"

นักวิชาการที่กินเงินเดือนแล้วทำงานวิจัยเป็นงานอดิเรก จะมีแรงบีบแรงคั้นน้อย ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ทำดีก็ถือว่าเป็น "โบนัส" ทำไม่ดีก็มีเงินเดือนกิน...

คนหนึ่งทำวิจัยเพื่อพัฒนางานของตนเองเพื่อมีอยู่ มีกิน วิจัยแบบ "หาเช้า กินค่ำ"

อีกคนหนึ่งทำวิจัยเพื่อพัฒนาตำแหน่ง หน้าที่ เกียรติยศของตนเอง เพื่อเสริมหน้า เสริมตา เพิ่มความหรูหราในการอยู่ การกิน

สังคมวิชาการในบ้านเราเกิดช่องว่างระหว่างนักวิชาการกับผู้ปฏิบัติงานมาก คนยิ่งเรียนสูงยิ่งมองคนเรียนน้อยว่าไร้ค่า

สังคมวิชาการไทยอาจจะมีเอกสาร ตำราที่หรูหรา แต่ทว่าขาดคุณค่าแห่ง "ปัญญา" ที่แท้จริง...

หมายเลขบันทึก: 371408เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีท่านอาจารย์ปภังกรครับ

แวะมาเรียนรู้ครับ

>> สุนทรียสนทนาแบบแท้ ๆ คือ การคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อจะนำไปใช้ในงานของแต่ละคน ไม่มีลาภ มียศ มีเกียรติใดๆเขามาเจือปนในทุกถ้อยคำของการสนทนานั้น ๆไม่ได้ทำไปเพื่อสร้างเอกสารตำราแต่ทำเืพื่อคุณค่าของคำว่า "งาน..." <<

ขอบพระคุณมากครับ...

ขอเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมสักครั้งค่ะ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท